ชิ่งลาออกหนีความผิด = ลาออกโดยไม่สุจริต ไม่มีผลใช้บังคับ !!
วันนี้สดๆร้อนๆกับการให้คำปรึกษา กับการที่ลูกจ้างทุจริต พอได้กลิ่นตุๆได้ข่าวแว่วๆว่านายจ้างมีหลักฐาน เลยลาออกก่อนเลย จะได้ไม่เสียชื่อ ไม่เสียสิทธิกับประกันสังคม รวมถึงไม่เสียสิทธิ เงินสมทบกองทุนสำรองเลี้ยงชีพหรือสิทธิประโยชน์อื่นที่อาจจะได้รับตามกฎหมาย กรณีแบบนี้ถือว่าลาออกโดยไม่สุจริต ไม่มีผลใช้บังคับ
ใครอ่านแล้วนึกไม่ออกมาดูกรณีตัวอย่างจาก คำพิพากษาฎีกาที่ 6998/2557
บริษัท A ยื่นคำร้องขออนุญาตต่อศาลแรงงานกลางเพื่อลงโทษลูกจ้างซึ่งเป็นกรรมการลูกจ้างโดยการไล่ออก เนื่องจากลูกจ้างรายนี้ ทำผิดทุจริตต่อหน้าที่ โดยเรียกเงินจากลูกหนี้ของ บริษัท A ซึ่งในระหว่างฟ้องกันอยู่ ลูกจ้างก็ลาออกก่อนวันนัดฟังคำพิพากษาซะอีก หากลูกจ้างไม่ลาออกศาลแรงงานกลางก็ต้องพิจารณาว่าลูกจ้างกระทำผิดทุจริตต่อหน้าที่หรือไม่ หากลูกจ้างทำผิดศาลแรงงานกลางก็ต้องมีคำสั่งอนุญาตให้บริษัท A ลงโทษไล่ลูกจ้างออกได้ อาจจะความกลัวหรืออะไรไม่ทราบ ลูกจ้างจึงชิงลาออกเสียก่อนเพื่อไม่ให้กระบวนการพิจารณาในการขอลงโทษกรรมการลูกจ้างตามกฎหมายดำเนินต่อไปได้ พฤติการณ์ทั้งหลายส่อให้เห็นถึงความไม่สุจริตในการลาออกของของลูกจ้าง เพื่อที่จะแสวงหาประโยชน์จากการลาออกเนื่องจากหากลูกจ้างถูกเลิกจ้างหรือไล่ออกเพราะเหตุทุจริต ย่อมทำให้ลูกจ้างคนดังกล่าวเสียสิทธิที่จะได้รับเงินสมทบกองทุนสำรองเลี้ยงชีพหรือสิทธิประโยชน์อื่นที่อาจจะได้รับตามกฎหมาย จึงเป็นการแสวงหาประโยชน์โดยอา ศัยบทบัญญัติแห่งกฎหมายอย่างผิดทำนองคลองธรรมและขัดต่อต่อวัตถุประสงค์ของกฎหมาย
ดังนั้น เมื่อลูกจ้างลาออกดดยไม่สุจริต ลาออกหนีความผิด แม้บริษัท A จะมีคำสั่งเลิกจ้างหลังจากลูกจ้างลาออก ย่อมทำได้ ดังนั้น ลูกจ้างรายนี้ถูกบริษัทเลิกจ้างเพราะเหตุโจทก์กระทำการทุจริตในหน้าที่ผิดวินัยอย่างร้ายแรง บริษัทจึงมีเหตุเลิกจ้างและคดีนี้ไม่เข้าเกณฑ์เลิกจ้างอันไม่เป็นธรรมที่ลูกจ้างจะเรียกค่าเสียหายได้