กรุณารอสักครู่

 

HomeBlog

ทำงานทิพย์ แต่มีประกันสังคม เจ็บป่วยขึ้นมาระวังให้ดี ประกันสังคมมีสิทธิ์ ไม่จ่าย!!!

ทำงานทิพย์ แต่มีประกันสังคม เจ็บป่วยขึ้นมาระวังให้ดีประกันสังคมมีสิทธิ์ ไม่จ่าย!!! ตามหัวข้อเรื่องเลยจ้ะในช่วงนี้บริษัทเกิดขึ้นง่ายเป็นดอกเห็ดเลยทีเดียวบางคนมีลูกมีหลานมีเพื่อนอยากได้รับสิทธิ์ตามประกันสังคมก็เอาชื่อญาติติโกโหติกามาใส่กันเข้าไว้ในบริษัทเพื่อให้ได้รับสิทธิ์ต่างๆของผู้ประกันตนตามพรบ.ประกันสังคม แต่อย่าลืมว่าเจตนาของพระราชบัญญัติประกันสังคมนั้นเป็นการผู้รกษาการสร้างหลักประกันให้แก่ “ลูกจ้าง” โดยจัดตั้งกองทุนประกันสังคม ขึ้นเพื่อให้การสงเคราะห์แก่ลูกจ้าง ….” ดังนั้นหากปรากฏว่ามีการ ส่งประกันสังคมแต่ไม่มีการทำงานหรือไม่มีนิติสัมพันธ์แบบนายจ้างลูกจ้างจริง หากมีการเจ็บป่วยและมีการเบิกการรักษาพยาบาลกองทุนสังคมก็มีสิทธิ์ปฏิเสธการจ่ายค่ารักษาพยาบาลดังกล่าวนะคะ แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น ประกันสังคมก็ยังได้จำกัดความว่าประกันสังคมนั้นเป็นการสร้างหลักประกันให้แก่ลูกจ้าง “และบุคคลอื่น” ซึ่งบุคคลอื่นในที่นี้ก็คือผู้ประกันตนอย่างอิสระด้วย ดังนั้นลองศึกษาให้ดีปรับใช้อย่างสุจริตและส่งอย่างสุจริต เพื่อให้ได้มาซึ่งผิดอันชอบธรรมค่ะ

พูดระบายความในใจ…ไม่ถึงขั้นด่า ก็อาจถูกเลิกจ้างได้นะ !

พูดระบายความในใจ…ไม่ถึงขั้นด่า ก็อาจถูกเลิกจ้างได้นะ!! ในเรื่องของการโพสต์ด่านายจ้างใน Facebook หรือโพสต์ระบายความในใจแล้วถูกเลิกจ้างทั้งที่มีกฎหมายแรงงานของเราได้นำเสนอไปหลายครั้งหลายหนแล้ว แต่ดูเหมือนว่าหลายคนยังจะไม่ได้อ่าน วันนี้เลยจะนำเสนออีกรอบนึงกับเรื่องที่ว่าการระบายความในใจไม่ถึงขั้นที่จะต้องด่านายจ้างก็มีสิทธิ์ถูกเลิกจ้างได้ วันนี้ขอยกตัวอย่างคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8206/2560 เพื่อให้เห็นชัดๆเลยว่าลูกจ้างโพสต์ว่าอย่างไรและนายจ้างจึงเลิกจ้างได้โดยไม่ต้องจ่ายค่าชดเชย ” เมื่อไหร่จะได้สิ่งที่ควรได้วะ…ต้องกินต้องใช้ไม่ได้แดกลมนะ” “ใครเกลียดเจ้านายเป็นบ้าเป็นหลังโดนกลั่นแกล้งก็ให้หยุดความเกลียดความโกรธปล่อยให้เขาเป็นอย่างนั้นไปคนเดียวเพราะถ้ามีเจ้านายเฮงซวยก็ถือว่าเจ้านายของคุณมีทุกข์เยอะชีวิตเขาจะมาเจอลูกน้องเกลียดและเขาก็จะไม่มีความสุขในสิ่งที่เขาเป็นยุ่งเหยิงยิ่งกว่าหมอย…” สังเกตนะคะลูกจ้างอ้างว่าลูกจ้างโพสต์ข้อความดังกล่าวมีลักษณะเป็นการระบายความคับข้องใจแถมไม่ได้ระบุชื่อนายจ้างอีกต่างหากแต่ศาลแรงงานก็มองว่าการที่ใครอ่านก็ทราบได้ว่าลูกจ้าง กล่าวถึงนายจ้างของตนเอง ข้อความดังกล่าวก็อาจทำให้กระทบต่อภาพลักษณ์ในการบริหารของนายจ้างซึ่งมีความสำคัญต่อการตัดสินใจเลือกใช้บริการของลูกค้าการกระทำดังกล่าวที่เรียกว่าโพสระบายความคับข้องหมองใจจึงเป็นการจงใจทำให้นายจ้างได้รับความเสียหายนายจ้างสามารถเลือกจ้างได้โดยไม่ต้องจ่ายค่าชดเชยโดยอ้างอิงตามพรบคุ้มครองแรงงานมาตรา 119 รวมไปถึงประมวลกฎหมายแพ่งและอาคารนี้มาตรา 583 ซึ่งนายจ้างสามารถเลิกจ้างได้โดยไม่ต้องจ่ายค่าชดเชยและไม่ต้องจ่ายค่าตกใจให้แก่ลูกจ้างด้วย ลูกจ้างท่านไหนอ่านมาถึงตรงนี้แล้วทอดถอนใจว่า “อะไรกันก็แค่บ่นศาลเข้าข้างนายจ้างจังเลยนะ” ก็ให้รู้ไว้นะคะการบ่นมีหลายแบบ เช่น เหนื่อยจริงโว้ยยยยย … วันนี้งานยุ่งยิ่งกว่ายุงตีกัน กรณีเช่นนี้หากโพสต์ลงไปก็ไม่ได้ทำให้รู้สึกว่านายจ้างเป็นคนไม่ดี หรือองค์กรบริหารงานไม่ดีหากเป็นเท่านี้ก็น่าจะไม่เข้ากับฎีกาที่ยกตัวอย่างมาค่ะ แต่อย่างไรก็ตาม Facebook เป็นสื่อสาธารณะ ถ้าอยากระบายความคับข้องหมองใจก็ช่วยทำให้เห็น คนเดียวหรือระบายลงไดอารี่ก็ว่าไปอย่างในช่วงข้าวยากหมากแพงและงานหายากแบบนี้หากควบคุมใจไม่ได้ช่วยควบคุมพฤติกรรมและคำพูดด้วย ก็จะเป็นประโยชน์กับตัวเองไม่น้อยค่ะ

ขโมยเงินนายจ้างจริงแต่ก็คืนครบแล้ว มีสิทธิ์ไล่ออกด้วยหรอคะ?? แบบนี้ฟ้องเรียกค่าชดเชยได้ไหมคะ??

ขโมยเงินนายจ้างจริงแต่ก็คืนครบแล้ว มีสิทธิ์ไล่ออกด้วยหรอคะ?? แบบนี้ฟ้องเรียกค่าชดเชยได้ไหมคะ?? เจอคำถามนี้จาก inbox เข้าไปใครไม่อ่อน เราอ่อนนะ ไม่ใช่ใจอ่อนนะ แต่หมายถึงอ่อนใจต่างหาก… เพราะการที่ลูกจ้างกระทำความผิดทุจริตต่อหน้าที่หรือกระทำความผิดอาญาโดยเจตนาแก่นายจ้าง รวมไปถึงจงใจทำให้นายจ้างได้รับความเสียหาย แบบนี้ เข้าข้อยกเว้นที่นายจ้างจะสามารถเลิกจ้างได้โดยไม่ต้องจ่ายค่าชดเชยตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงานมาตรา 119 กรณีที่นายจ้างไม่ติดใจเอาผิด ฟ้องเป็นคดีอาญาในข้อหาลักทรัพย์นายจ้างนั้นก็บุญแล้วน้องเอ๋ย… การที่เอาเงินไปคืนเขา ก็ไม่ได้หมายความว่าน้องไม่ได้ทำผิดและถ้าหากจะพูดในมุมอื่นที่นอกจากมุมกฎหมายแล้วล่ะก็ลองนึกถึงตัวเราเป็นนายจ้างดูเสียตังค์จ่ายค่าจ้างตอบแทนการทำงานทุกเดือนในวันนี้เขามาขโมยของของเราไปแม้ว่าจะเอามาคืนแล้วความไว้เนื้อเชื่อใจกันก็คงไม่มี ดังนั้นต่างคนต่างแยกย้ายเถอะการที่จะไปฟ้องนายจ้างเรื่องเลิกจ้างไม่เป็นธรรม เดี๋ยวโดนสวนมาข้อหาลักทรัพย์นายจ้างนะ

จันทร์ถึงศุกร์ทำงานกับนายจ้างคนหนึ่งเสาร์อาทิตย์ไปทำงานกับอีกที่นึงแบบนี้ผิดไหม ?

จันทร์ถึงศุกร์ทำงานกับนายจ้างคนหนึ่งเสาร์อาทิตย์ไปทำงานกับอีกที่นึงแบบนี้ผิดไหมคะพี่ทนาย ก่อนจะตอบเกี่ยวกับข้อกฎหมายขอชื่นชมก่อนว่าใช้ชีวิตได้ทรหดอนทนมากค่ะ ที่ทำ 6 วันต่อสัปดาห์ วันอาทิตย์ตอบ คำถามใน inbox เล็กๆน้อยๆ แล้วนำมาเขียน บทความล่วงหน้า ยังแทบฮากเลือด กฎหมายแรงงานไม่ได้ห้ามลูกจ้างที่จะมีนายจ้างมากกว่า 1 ราย แต่โดยปกติแล้วเมื่อเราทำงานกับบริษัทใดบริษัทหนึ่งนายจ้างก็มักจะเขียนสัญญาหรือข้อบังคับบริษัทเลยว่าห้ามไปทำงานกับบริษัทคู่แข่ง ที่ประกอบกิจการประเภทเดียวกัน หรือบางที่หนักหน่อย คือห้ามไปทำงานกับบริษัทอื่นๆแม้ในเวลาเลิกงานแล้ว ในกรณีที่บริษัทไม่ได้กำหนดอะไรแบบนี้ไว้เลยหากงานที่ลูกจ้างไปทำในวันเสาร์อาทิตย์ และไม่ได้นำเอาข้อมูลนายจ้างไปใช้ ก็ไม่ได้เป็นการทำผิดแต่อย่างใด แต่ตรงกันข้ามหาในสัญญาจ้างหรือระเบียบข้อบังคับมีการระบุไว้ว่าห้ามไปทำงานกับบริษัทคู่แข่ง ที่ประกอบกิจการประเภทเดียวกัน หรือบางที่หนักหน่อย คือห้ามไปทำงานกับบริษัทอื่นๆแม้ในเวลาเลิกงานแล้ว ข้อบังคับนั้นก็ใช้ได้ค่ะ ดังนั้นจึงต้องให้น้องกลับไปดูสัญญาจ้างงานและข้อบังคับของบริษัทนะคะว่ามีกำหนดไว้หรือไม่… แต่อย่างไรก็ตามการทำงาน 7 วันอาจจะมีผลต่อสุขภาพได้นะคะ อันนี้ไม่ได้เตือนเกี่ยวกับกฎหมายเลย แต่เตือนด้วยความเป็นห่วงล้วนๆจากคนที่สุขภาพพังมาก่อนและปัจจุบันก็ยังคงพังอยู่ เข้าใจว่าภาระของแต่ละคนไม่เหมือนกันถ้าวันนี้ยังต้องทำงาน 7 วันอยู่ก็พยายามรักษาสุขภาพด้านอื่นๆด้วยนะคะ ดูแลเรื่องการกินออกกำลังกายบ้างอันนี้เตือนแฟนเพจด้วยเตือนตัวเองด้วยค่ะ

สามีของนายจ้างไล่เราออกแบบนี้มีสิทธิ์ได้ค่าชดเชยหรือไม่?

สามีของนายจ้างไล่เราออกแบบนี้มีสิทธิ์ได้ค่าชดเชยหรือไม่?? อ่านคำถามใน inbox วันนี้แล้วถึงกับเอ๊ะ!! แว๊บแรกเกิดคำตอบขึ้นในใจว่าแล้วสามีนายจ้างมาเกี่ยวอะไรก๊อนนนนนน.. แต่ก่อนจะตอบอะไรไป ในฐานะทนายความก็ต้องฟังข้อเท็จจริงให้รอบคอบก่อน เพื่อไม่ให้เกิดความผิดพลาดในการให้ความเห็น หลังจากฟังข้อเท็จจริงแล้ว ปรากฏว่าสามีของนายจ้าง ก็เป็นพนักงานคนนึงของบริษัท ซึ่งอยู่ในฝ่าย HR และมีอำนาจในการควบคุมดูแลลงโทษจ้างและเลิกจ้างพนักงานด้วย ดังนั้นหากข้อเท็จจริงปรากฏว่า “ที่ผ่านมา สามีของนายจ้างซึ่งมีอำนาจในการควบคุมดูแลลงโทษและจ้างงานแทนนายจ้าง จะเท่ากับว่านายจ้างได้มอบอำนาจให้สามีในการเลิกจ้างพนักงานแล้ว” และหากพนักงานคนที่ถูกเลิกจ้างโดยไม่มีความผิดจึงสามารถฟ้องร้องเรียกค่าชดเชยและค่าเสียหายจากการเลิกจ้างไม่เป็นธรรมได้ (คำพิพากษาอุทธรณ์ คดีชำนาญพิเศษ 94/2563) จริงๆคำถามนี้จะ พิจารณาและตอบได้ง่ายขึ้นหากไม่ได้มองว่าเขามีความสัมพันธ์ส่วนตัวอย่างไรกับนายจ้าง แต่มองว่าเขาเป็นบุคคลที่ได้รับมอบอำนาจจากนายจ้างในการเลิกจ้างจ้างพนักงานหรือไม่ ซึ่งหากใช่ก็เท่ากับว่าเขาเป็นตัวแทนนายจ้างแล้วแต่ในทางกลับกันสมมติว่าเขาเป็นสามีของนายจ้างแต่ไม่ได้เกี่ยวข้องอะไรในบริษัทเลย…วันนึงเดินเข้ามาในบริษัทแล้วปรากฏว่าไม่ชอบขี้หน้าอยากจะเลิกจ้างอันนี้ก็ไม่เข้าข่ายว่านายจ้างเลิกจ้างนะคะเพราะเขาไม่ได้มีนิติสัมพันธ์หรือเป็นผู้รับมอบอำนาจใดๆเลย

ชิ่งลาออกหนีความผิด = ลาออกโดยไม่สุจริต ไม่มีผลใช้บังคับ !!

ชิ่งลาออกหนีความผิด = ลาออกโดยไม่สุจริต ไม่มีผลใช้บังคับ !! วันนี้สดๆร้อนๆกับการให้คำปรึกษา กับการที่ลูกจ้างทุจริต พอได้กลิ่นตุๆได้ข่าวแว่วๆว่านายจ้างมีหลักฐาน เลยลาออกก่อนเลย จะได้ไม่เสียชื่อ ไม่เสียสิทธิกับประกันสังคม รวมถึงไม่เสียสิทธิ เงินสมทบกองทุนสำรองเลี้ยงชีพหรือสิทธิประโยชน์อื่นที่อาจจะได้รับตามกฎหมาย กรณีแบบนี้ถือว่าลาออกโดยไม่สุจริต ไม่มีผลใช้บังคับ ใครอ่านแล้วนึกไม่ออกมาดูกรณีตัวอย่างจาก คำพิพากษาฎีกาที่ 6998/2557 บริษัท A ยื่นคำร้องขออนุญาตต่อศาลแรงงานกลางเพื่อลงโทษลูกจ้างซึ่งเป็นกรรมการลูกจ้างโดยการไล่ออก เนื่องจากลูกจ้างรายนี้ ทำผิดทุจริตต่อหน้าที่ โดยเรียกเงินจากลูกหนี้ของ บริษัท A ซึ่งในระหว่างฟ้องกันอยู่ ลูกจ้างก็ลาออกก่อนวันนัดฟังคำพิพากษาซะอีก หากลูกจ้างไม่ลาออกศาลแรงงานกลางก็ต้องพิจารณาว่าลูกจ้างกระทำผิดทุจริตต่อหน้าที่หรือไม่ หากลูกจ้างทำผิดศาลแรงงานกลางก็ต้องมีคำสั่งอนุญาตให้บริษัท A ลงโทษไล่ลูกจ้างออกได้ อาจจะความกลัวหรืออะไรไม่ทราบ ลูกจ้างจึงชิงลาออกเสียก่อนเพื่อไม่ให้กระบวนการพิจารณาในการขอลงโทษกรรมการลูกจ้างตามกฎหมายดำเนินต่อไปได้ พฤติการณ์ทั้งหลายส่อให้เห็นถึงความไม่สุจริตในการลาออกของของลูกจ้าง เพื่อที่จะแสวงหาประโยชน์จากการลาออกเนื่องจากหากลูกจ้างถูกเลิกจ้างหรือไล่ออกเพราะเหตุทุจริต ย่อมทำให้ลูกจ้างคนดังกล่าวเสียสิทธิที่จะได้รับเงินสมทบกองทุนสำรองเลี้ยงชีพหรือสิทธิประโยชน์อื่นที่อาจจะได้รับตามกฎหมาย จึงเป็นการแสวงหาประโยชน์โดยอา ศัยบทบัญญัติแห่งกฎหมายอย่างผิดทำนองคลองธรรมและขัดต่อต่อวัตถุประสงค์ของกฎหมาย ดังนั้น เมื่อลูกจ้างลาออกดดยไม่สุจริต ลาออกหนีความผิด แม้บริษัท A จะมีคำสั่งเลิกจ้างหลังจากลูกจ้างลาออก ย่อมทำได้ ดังนั้น ลูกจ้างรายนี้ถูกบริษัทเลิกจ้างเพราะเหตุโจทก์กระทำการทุจริตในหน้าที่ผิดวินัยอย่างร้ายแรง บริษัทจึงมีเหตุเลิกจ้างและคดีนี้ไม่เข้าเกณฑ์เลิกจ้างอันไม่เป็นธรรมที่ลูกจ้างจะเรียกค่าเสียหายได้

ค่าโทรศัพท์ เหมาจ่าย ถือเป็นค่าจ้าง ที่นำมาคำนวนค่าชดเชย

ค่าโทรศัพท์ เหมาจ่าย ถือเป็นค่าจ้าง ที่นำมาคำนวนค่าชดเชย ที่ผ่านมาเรามักจะเห็นหลายบริษัท แบ่งค่าจ้างและเงินอื่นๆในสัญญาจ้างออกเป็นจำนวนย่อยๆ เช่น เงินเดือน ค่าตำแหน่ง ค่าภาษา ค่าโทรศัพท์ ค่ารถ ค่ากันดาล มากมายหลายค่า โดยบางบริษัท ก็แบ่งออกมาเพราะเป็นรายจ่ายเช่นว่าจริงๆ แต่บางบริษัทคำนวนเช่นว่า เพื่อให้ฐานเงินเดือนน้อยลง เวลาคำนวนโบนัส หรือค่าชดเชย ก็จะได้คำนวนจากเงินเดือนซึ่งน้อยหน่อย ดังนั้นเมื่อเกิดข้อพิพาท คำนวนค่าชดเชย จึงต้องมาพิจารณาดูว่าแท้จริงแล้วอะไรคือค่าจ้างบ้าง โดยวันนี้อาจารย์ขอยกตัวอย่างจากคำถามใน INBOX มี่ถามว่าค่าโทรศัพท์เป็นค่าจ้างหรือไม่ ในกรณีนี้ อ.เสนอให้พิจารณาว่า บริษัทจ่ายค่าโทรศัพท์อย่างไร เช่น ใช้เท่าไหร่จ่ายเท่านั้น โดยเอาใบเสร็จค่าโทรศัพท์เป็นหลักฐานในการรับเงิน หรือ ใช้-ไม่ใช้ ไม่รู้ ไมเป็นไร จ่ายแบบเหมาๆไปเลย ซึ่งหากเป็นลักษณะเหมาจ่ายเป็นเงินเท่ากันทุกเดือน โดยไม่คำนึงว่าพนักงานจะใช้จ่ายเป็นค่าโทรศัพท์หรือไม่หรือได้ใช้เป็นจำนวนมากน้อยแค่ไหน แบบนี้โป๊ะเช๊ะ ค่าจ้างแน่นอน ดังนั้นหากเป็นกรณีนี้ ค่าโทรศัพท์จึงเป็นเงินที่นายจ้างจ่ายเป็นค่าตอบแทนในการทำงานให้แก่ลูกจ้างตามสัญญาจ้างแรงงาน ถือได้ว่าเป็นค่าจ้างตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 มาตรา 5 ที่จะสามารถนำมาคำนวนเป็นค่าชดเชย ใครสนใจอ่านฎีกาใกล้เคียงลองไปคำพิพากษาฎีกาที่ 2873/2557

พนักงานขับรถ ขับเร็วเกินกฎหมายกำหนด + เกินข้อบังคับ เลิกจ้างได้ไม่ต้องจ่ายค่าชดเชย

พนักงานขับรถ ขับเร็วเกินกฎหมายกำหนด + เกินข้อบังคับ เลิกจ้างได้ไม่ต้องจ่ายค่าชดเชย วันนี้เจอรถบรรทุกคันนึง เขียนท้ายรถว่า “ขับไม่สุภาพโปรดแจ้ง XXXXXX” คือมากกว่าคำว่าไม่สุภาพอีกจ้า เบียดซ้ายขวา บีบแตรด่าคนอื่น ไม่พอขับไวมากกกก สรุปคือขับได้แย่มากจริงๆ โอกาศเกิดอุบัติเหตุแก่ผู้ใช้ทางท่านอื่นๆก็มีสูงมาก ไอ่เราก็อยากจะแจ้งแต่ขับแบบนั้น ดูเบอร์โทรยังไม่ทันเลย ….นั่งหงุดหงิดสักพัก คิดได้ว่าเดี๋ยวซูมกล้องหน้ารถดูเบอร์โทรก่อน เดี๋ยวแม่จัดให้เลยค่ะ และเพื่อความเกี่ยวข้อง จึงจัดประเด็นนี้มาให้นายจ้าง ว่าถ้ามีคนโทรแจ้งว่า ลูกจ้างขับรถทั้งแย่ทั้งเร็วกว่ากฎหมายและข้อบังคับกำหนด เลิกจ้างได้เลยไม่ต้องจ่ายค่าชดเชย ในคดีคำพิพาษาฎีกาที่ 16305/2557 ก็เป็นเคสนี้เลย พนักงานขับรถ 18 ล้อ ของบริษัทนี้ (18 แปดล้อเลยนะแก ชั้นเจอสี่ล้อยังกรี๊ดดดดดด) มีหน้าที่ต้องปฏิบัติตามข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานที่กำหนดให้ใช้ความเร็วไม่เกิน 60 กิโลเมตรต่อชั่วโมงซึ่งเป็นระเบียบที่กำหนดขึ้นเพื่อความปลอดภัยในการทำงาน แต่กลับละเลยขับรถบรรทุกพ่วง 18 ล้อ ด้วยความเร็วเกินกว่าข้อบังคับที่กำหนดไว้ซึ่งเกินกว่าอัตราความเร็วที่กำหนดไว้ในกฎกระทรวงที่ออกตามพระราชบัญญัติจราจรทางบก พ.ศ. 2522 มาตรา 5 และมาตรา 67 และกฎกระทรวง ฉบับที่ 6 ( พ.ศ. 2522 )...

สัญญาส่งไปฝึกอบรม นายจ้างกำหนดเบี้ยปรับได้ !!

สัญญาส่งไปฝึกอบรม นายจ้างกำหนดเบี้ยปรับได้ !! แน่นอนว่าการส่งพนักงานไปเรียนอะไรสักอย่างนั่นย่อมเป็นไปเพื่อส่วเสริมความร้ความสามารถ เพิ่มทักษะ ให้พนักงานนำมาปฏิบัติงานให้เกิดประโยชน์แก่บริษัท ดังนั้นหากนายจ้างจะกำหนดค่าปรับ กรณีที่พนักงานไปเรียนมาแล้วขอออกเลยย่อมเป็นข้อกำหนดที่มีลักษณะปกป้องกิจการของนายจ้างไม่ให้สูญเสียพนักงานที่นายจ้างลงทุนส่งไปฝึกอบรมปรับคุณสมบัติให้ครบถ้วน ข้อกำหนดค่าปรับ จึงไม่ใช่ข้อกำหนดที่ทำให้เสียเปรียบ และไม่ใช่ข้อสัญญาที่ไม่เป็นธรรมตามพระราชบัญญัติว่าด้วยข้อสัญญาที่ไม่เป็นธรรม ใช้บังคับได้ (ฎีกาที่ 2477/2557)

ศาลแรงงานมีอำนาจสั่งรับพยานเอกสารได้ แม้ไม่ได้ส่งสำเนาให้คู่ความอีกฝ่ายก็ตาม

ศาลแรงงานมีอำนาจสั่งรับพยานเอกสารได้ แม้ไม่ได้ส่งสำเนาให้คู่ความอีกฝ่ายก็ตาม โพสนี้ลึกหน่อย แต่น่าจะเป็นประโยชน์กับ HR และทนายความคดีแรงงาน โดยปกติ เมื่อมีคดีความในชั้นศาล เรามักจะเห็นทนายเตรียมเอกสารกันเป็นกองๆ สำเนาส่งศาล สำเนาส่งอีกฝ่าย และหากไม่ได้สำเนาส่งก็เป็นเรื่อง อาจจะถูกคัดค้านและไม่สามารถใช้พยานหลักฐานในชั้นศาลได้เลย แต่ไม่ใช่ในคดีแรงงาน!! เพราะในคดีแรงงาน แม้เป็นการส่งสำเนาเอกสารโดยที่ไม่ยื่นสำเนาต่อศาลและไม่ส่งสำเนาให้คู่ความอีกฝ่ายก่อนวันสืบพยานก็ตาม แต่เมื่อศาลแรงงานกลางเห็นว่าเพื่อประโยชน์แห่งความยุติธรรมจำเป็นต้องสืบพยาน และเอกสารดังกล่าวเป็นเอกสารสำคัญ และเกี่ยวกับประเด็นข้อสำคัญในคดี ย่อมสั่งรับและรับฟังพยานหลักฐานดังกล่าวประกอบคำเบิกความของพยานได้ตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. 2522มาตรา 45 วรรคหนึ่ง อ่านฎีกานี้จบปุ๊ป คิดเลยว่า ศาลแรงงานเป็นทุกอย่างให้เธอแล้ว…ดังนั้นเลิกพูดสักทีว่าไปศาลแรงงาน ศาลก็เข้าข้างนายจ้าง ยืดหยุ่นขนาดนี้ ศาลอื่นไม่มีนะบอกเลย