กรุณารอสักครู่

 

HomeBlog

ผ่านทดลองงาน แต่นายจ้างไม่ขึ้นเงินเดือนให้ แบบนี้ผิดกฎหมายไหมคะ ?

ผ่านทดลองงาน แต่นายจ้างไม่ขึ้นเงินเดือนให้ แบบนี้ผิดกฎหมายไหมคะ ? คุ้นๆว่าคำถามนี้เคยตอบไปแล้ว แต่ในเมื่อมีคนถามมาอีกรอบนึงก็จะตอบให้ ในเรื่องผ่านทดลองงานนี้หลายๆคนก็จะเข้าใจว่าเมื่อผ่านทดลองงานแล้วย่อมจะต้องได้สิทธิ์ที่ดีขึ้นทกว่าตอนที่เป็นพนักงานในช่วงทดลองงาน เช่นได้เงินเดือนเพิ่มขึ้นได้สวัสดิการต่างๆของบริษัทเพิ่มขึ้น จึงเกิดเป็นคำถามว่า ก็เมื่อพ้นระยะเวลาทดลองงานแล้วแต่นายจ้างไม่ปรับเงินเดือนให้แบบนี้ถือว่าผิดไหมแจ้ง กรมสวัสดิการคุ้มครองแรงงานหรือฟ้องต่อศาลแรงงาน ได้หรือเปล่า คำตอบคือ “หากไม่ได้ตกลงไว้ในสัญญาก็ไม่ได้ค่ะ” เนื่องจากกฎหมายไม่เคยกำหนดระยะเวลาทดลองงานไว้ แล้วไม่ได้บอกด้วยว่าเมื่อทดลองงานผ่านแล้วจะได้อะไรเพิ่มเติมขึ้นดังนั้นจึงเป็นสิทธิ์ของลูกจ้างที่จะต่อรองกับนายจ้างตั้งแต่แรกเริ่มเข้าทำงานและให้ระบุไว้ในสัญญาจ้างหรือหากมีภาระหน้าที่ขอบเขตงานเกินกว่าที่ตกลงไว้เมื่อครั้งสมัครงานและทำงานได้ดีจนผ่านช่วงทดลองงานก็อาจจะหารือกับหัวหน้างานถึงเหตุผลและความจำเป็นเพื่อขอปรับดูค่ะแต่ทั้งนี้ทั้งนั้นก็ไม่ได้มีผลผูกพันว่าบริษัทจะต้องให้เมื่อผ่านช่วงทดลองงานนะคะ

รู้หรือไม่? ทรัพย์สินของสามีภรรยาจะไม่เป็นสินสมรสก็ได้ ถ้าทำสัญญาก่อนสมรส

รู้หรือไม่? ทรัพย์สินของสามีภรรยาจะไม่เป็นสินสมรสก็ได้ ถ้าทำสัญญาก่อนสมรส คิดจะตกลงปลงใจกับใครสักคน แต่ก็กังวลว่าหากจดทะเบียนสมรสไปแล้ว ทรัพย์สินต่างๆที่เราหาได้หลังจากจดทะเบียนจะกลายเป็นสินสมรส หรือต้องรับผิดชอบหนี้ร่วมกับคู่สมรส ทนายมีคำแนะนำ คือ “สัญญาก่อนสมรส” เพื่อเป็นการตกลงเรื่องทรัพย์สินที่จะเป็นสินสมรส การกระทำ ภาระหนี้ของคู่สมรส โดยต้องทำสัญญาก่อนการจดทะเบียนสมรส ทั้งนี้ สัญญาก่อนสมรสนั้น กฎหมายกำหนดให้ คู่สมรสที่จะจดข้อสัญญากันไว้ในทะเบียนสมรสต้องทำดังต่อไปนี้ 1. จะต้องจดแจ้งข้อตกลงไว้ในทะเบียนสมรสพร้อมกับการจดทะเบียนสมรส 2. ต้องทำเป็นหนังสือและคู่สมรสทั้งสองฝ่ายลงลายมือชื่อ 3. ต้องมีพยานอย่างน้อย 2 คน 4. ต้องนำสัญญาแนบท้ายทะเบียนสมรสและต้องระบุในทะเบียนสมรสว่ามีสัญญาแนบท้ายไว้ด้วย หากไม่ให้ครบตามแบบที่กำหนด สัญญาจะเป็นโฆมะ ไม่มีผลบังคับนะคะ

จะให้ไม่ผ่านทดลองงานก็ต้องบอกกล่าวล่วงหน้า!!

จะให้ไม่ผ่านทดลองงานก็ต้องบอกกล่าวล่วงหน้า!! หลายครั้งที่นายจ้างหรือตัวแทนนายจ้างบอกว่ากฎหมายไม่ยุติธรรมเลยก็ลูกจ้างทำงานไม่ดีจะให้ไม่ผ่านทดลองงานทำไมต้องแจ้งล่วงหน้า… เอาจริงๆนะแก มันไม่ได้มายุติธรรมหรอกแต่มันก็มีขั้นตอนของมันไง นึกในมุมลูกจ้างบ้างว่าถ้าเกิดว่าวันนี้ทำงานแล้วคิดว่าเราทำเต็มที่อยู่ดีๆบอกว่ายังไม่เป็นไปตามเป้ายังไม่เข้าตา พรุ่งนี้ไม่ต้องมาทำงานแล้วนะและเธอก็ไม่มีสิทธิ์ได้อะไรทั้งนั้นเพราะเธออยู่ในช่วงทดลองงานเธอเซ็นเอกสารไว้แล้ว… ดังนั้นกฎหมายเขาจึงคุ้มครองไว้ว่าช่วยบอกลูกจ้างซัก 1 งวดการจ่ายค่าจ้างเถอะให้เขาได้เตรียมตัวเตรียมใจไว้ด้วยบางคนเพื่อมาทำงานก็ย้ายที่อยู่เป็นผีตองเหลืองมาใกล้ที่ที่ทำงานเลยเขามีการลงทุนมีการมัดจำค่าหอไปแล้ว อันนี้ต้องเข้าใจเขาด้วย ส่วนในมุมนายจ้างเองกฎหมายก็ไม่ได้เอาเปรียบนายจ้างเลยนะที่ต้องบอกกล่าวล่วงหน้าไม่น้อยกว่า 1 งวดการจ่ายค่าจ้างเพียงแต่นายจ้างเองก็จะต้องเป็นคนที่เข้าใจในเรื่องราวเหล่านี้ เช่น ทำงานร่วมกันมา 30 วันถ้ามองเราว่าน้องเขายังมีความเข้าใจไม่ตรงกับเราทำงานไม่เป็นไปตามเป้าอาจจะต้องเรียกเขาเข้ามาเจรจาและแนะนำเขาสอนงานเขาตำหนิตักเตือนเขาแล้วแต่กรณีไปแล้วก็ดูไปอีกสักระยะเวลานึงเช่นดูไปอีก 30 วัน (60วันละนะ) แล้วถ้าคราวนี้เขายังทำงานไม่ดีอีกไม่ว่าจะด้วยนิสัยทัศนคติหรือความสามารถที่อาจจะไม่ตรงกับงานก็แจ้งเขาล่วงหน้าเลยว่าเดือนหน้าไม่ต้องมาทำงานแล้วนะ (อีก 30วัน) ซึ่งจริงๆกฎหมายไม่ได้ให้แจ้ง 1 เดือนด้วยนะกฎหมายกำหนดให้แจ้ง 1 งวดการจ่ายค่าจ้างนั่นหมายถึงว่าถ้าจ่ายราย 15 วันก็แจ้งล่วงหน้า 1 งวดการจ่ายค่าจ้างของ 15 วันนั้น ก็ต้องใจเขาใจเรานิดนึง แล้วอ่านมาถึงตรงนี้อย่ามาบอกว่าทนายฝ้ายไม่เข้าใจหรอกเพราะว่าไม่เคยเป็นนายจ้าง…แกรู้ได้ยังไงฉันจ่ายค่าจ้างอยู่ทุกเดือน ปัญหาในการบริหารการจ้างก็มีแต่สุดท้ายเราแนะนำว่าการอยู่ร่วมกันไม่ว่าสถานะนายจ้างลูกจ้างในฐานะเพื่อนพี่น้องที่ทำงานร่วมกันการสื่อสารอย่างตรงไปตรงมาเกรงใจในจุดที่ควรเกรงใจและไม่จำเป็นต้องเกรงใจในเรื่องที่ไม่ควรต้องเกรงใจก็ยังเป็นการสื่อสารที่ส่งประสิทธิภาพที่สุด สรุปนะไม่ว่าจะทำงานอยู่ในช่วงทดลองงานหรือ เป็นพนักงานประจำแล้วหากจะมีการเลิกจ้างก็ต้องบอกก่อน 1 งวดการจ่ายค่าจ้างไม่เช่นนั้นนายจ้างก็จะต้องเสียค่าตกใจให้แก่ลูกจ้าง.. ส่วนข้าตกใจได้ยังไงบ้างได้แค่ 1 เดือนหรือได้มากกว่านั้นเดี๋ยวไว้มาเล่าให้ฟังวันหลังนะใครสนใจจะฟังกด 1 ไว้เลย

ขายของได้ไม่ตรงตามเป้า ไม่เข้าตามยอด นายจ้างสามารถเลิกจ้างโดยไม่จ่ายค่าชดเชยได้หรือไม่ ?

ขายของได้ไม่ตรงตามเป้า ไม่เข้าตามยอด นายจ้างสามารถเลิกจ้างโดยไม่จ่ายค่าชดเชยได้หรือไม่ ? ” พี่ทนายคะหนูเป็นเซลล์ค่ะ ในสัญญาจ้างระบุไว้ว่าถ้าหนูทำยอดขายได้ไม่ถึงเป้านายจ้างมีสิทธิ์เลิกจ้างโดยไม่ต้องบอกล่วงหน้าแล้วก็ไม่ต้องจ่ายค่าชดเชย ในกรณีนี้นายจ้างทำได้ไหมคะ พอดีหนูอ่านเพจพี่มาหนูเข้าใจว่าทำไม่ได้แต่ในสัญญาระบุแบบนั้น บางคนเลยบอกว่าหากสัญญาระบุข้อบังคับได้…ยังไงช่วยตอบหนูทีนะคะ” ถามชัดเจนแบบนี้แล้วมีการหาข้อมูลเบื้องต้นด้วย ถ้าไม่ตอบเลยก็จะใจร้ายไปหน่อย และเนื่องจากว่าคำถามนี้เป็นประโยชน์ และมีคนถามบ่อยมาก เลยนำมาตอบหน้าเพจเพื่อเป็นความรู้ให้แก่บุคคลอื่นด้วย ก่อนอื่น ต้องบอกก่อนว่าการทำสัญญาหากไม่ขัดกับกฎหมาย จะระบุอะไรลงไปก็มีผลใช้บังคับแต่จะบังคับได้แค่ไหนก็อาจจะต้องดูอีกเรื่องนึงด้วย พิจารณาเป็นเรื่องๆไปแต่ตามเรื่องที่น้องสอบถามเข้ามาในวันนี้เรื่องที่ขายไม่ได้ตามเป้า นายจ้างมีสิทธิ์เลิกจ้างได้โดยไม่ต้องบอกกล่าวล่วงหน้าและไม่ต้องจ่ายค่าชดเชยนั้นในสัญญาข้อนี้แม้น้องเซ็นไปแล้ว “ก็ไม่มีผลทางกฎหมายค่ะ” หากจะมีการเลิกจ้าง นายจ้างยังคงต้องบอกเลิกจ้างก่อน 1 งวดการจ่ายค่าจ้างและหากน้องทำงานกับเขาครบ 120 วันแล้วการเลิกจ้างนั้นไม่ได้เกิดจากความผิดทางวินัยไม่ได้มีการเตือนที่ถูกต้อง หรือไม่ได้เป็นความผิดร้ายแรง การสละสิทธิ์ดังกล่าวก็เป็นโมฆะหรือถ้าให้พูดเป็นภาษาบ้านๆก็คือว่าต่อให้น้องเซ็นไปนายจ้างก็บังคับใช้ไม่ได้ น้องยังมีสิทธิ์นำไปฟ้องร้องต่อศาลแรงงานหรือร้องเรียนกับกรมสวัสดิการคุ้มครองแรงงานเพื่อเรียกสิทธิ์ตามกฎหมายค่ะ ดังเช่นในคำพิพากษาที่ 504/2525 ที่ศาลได้โปรดวินิจฉัยว่าแม้ว่านายจ้างกับลูกจ้างจะทำข้อตกลงดังกล่าวเรื่องยอดขายว่าจะต้องทำให้ได้ตามเป้าแต่ข้อสัญญาดังกล่าวก็ขัดต่อกฎหมายจึงมีผลเป็นโมฆะเพราะขัดต่อกฎหมายคุ้มครองแรงงาน หวังว่าคำตอบนี้จะเป็นประโยชน์กับน้องที่ถามเข้ามาแล้วเป็นประโยชน์กับท่านผู้อ่านคนอื่นด้วยนะคะ

ลูกจ้างไม่ทำงานให้นายจ้างครบเวลา ลูกจ้างต้องคืนค่าจ้าง ตามหลักสัญญาต่างตอบแทน

ลูกจ้างไม่ทำงานให้นายจ้างครบเวลา ลูกจ้างต้องคืนค่าจ้าง ตามหลักสัญญาต่างตอบแทน สัญญาจ้างแรงงานเป็นสัญญาต่างตอบแทนที่ก่อหนี้ให้แก่คู่สัญญา คือ ลูกจ้างมีหนี้ที่จะต้องทำงานให้แก่นายจ้าง นายจ้างก็มีหนี้ที่จะต้องจ่ายค่าจ้างให้แก่ลูกจ้างตลอดเวลาที่ทำงาน ดังนั้น ถ้าลูกจ้างไม่ชำระหนี้ คือ ไม่ทำงาน นายจ้างก็ย่อมมีสิทธิที่จะไม่ชำระหนี้ คือ ไม่จ่ายค่าจ้างได้เช่นกัน ตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษที่ 6435/2562 ลูกจ้างสแกนลายนิ้วมือเข้าทำงานแล้วแต่ไม่อยู่ทำงานให้นายจ้างจบครบ 8 ชั่วโมง เป็นการบันทึกเวลาอันเป็นเท็จ แต่กลับพาพนักงานไปทำงานให้กับนายจ้างอื่นและได้รับค่าจ้างมาแบ่งปันกัน โดยนายจ้างได้จ่ายค่าจ้างให้ด้วย เมื่อลูกจ้างมิได้ทำงานให้นายจ้างเต็มเวลาการทำงาน ลูกจ้างจึงต้องคืนค่าจ้างในส่วนที่ไม่ได้ทำงานให้แก่นายจ้างตามหลักสัญญาต่างตอบแทน

การที่นายจ้างย้ายลูกจ้างไปทำงานต่างประเทศ ถือเป็นคำสั่งที่ชอบธรรมและเป็นประโยชน์แก่ลูกจ้างหรือไม่ ?

การที่นายจ้างย้ายลูกจ้างไปทำงานต่างประเทศ ถือเป็นคำสั่งที่ชอบธรรมและเป็นประโยชน์แก่ลูกจ้างหรือไม่ ? การที่นายจ้างมีคำสั่งให้ลูกจ้างไปทำงานเป็นวิศวกรประจำโครงการที่กัมพูชาโดยลูกจ้างไม่ยินยอม แม้ว่าจะทำให้ลูกจ้างได้เลื่อนตำแหน่ง ค่าจ้าง และสวัสดิการสูงขึ้นก็ตาม แต่เมื่อลูกจ้างไม่ยินยอม ย่อมเป็นภาระอย่างมากแก่ลูกจ้างและครอบครัว ยากที่จะปฏิบัติตามคำสั่งได้ กรณีนี้เช่นนี้จึงไม่ถือว่าเป็นการใช้อำนาจจัดการบริหารงานบุคคลตามความเหมาะสมหรือความจำเป็น ถือเป็นคำสั่งที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายและไม่เป็นธรรม ดังนั้นเมื่อนายจ้างเลิกจ้างด้วยเหตุลูกจ้างไม่ปฏิบัติตามคำสั่ง นายจ้างต้องจ่ายค่าชดเชย สินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า และค่าเสียหายจากการเลิกจ้างไม่เป็นธรรม (คำพิพากษาศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษที่ 46/2563)

นายจ้างส่งตัวลูกจ้างไปทำงานกับบริษัทอื่น  ต่อมาบริษัทอื่นส่งคืนตัวลูกจ้างให้แก่นายจ้าง  กรณีเช่นนี้จะถือใครว่านายจ้างของลูกจ้างกันแน่ ?​

กรณีเช่นนี้จะถือใครว่านายจ้างของลูกจ้างกันแน่??​ จากชื่อหัวข้ออาจจะงงๆ หน่อย แต่ข้อเท็จจริงในคดีนี้เป็นเรื่องที่น่าสนใจจึงอยากนำมาแชร์ให้แฟนเพจได้ฟัง เรื่องเกิดจากนายจ้างบริษัท A ได้ส่งให้ลูกจ้างไปทำงานให้แก่บริษัท B โดยบริษัท B ได้กำหนดให้ลูกจ้างปฏิบัติหน้าที่ควบคุมนั่งร้ายที่สถานประกอบการของบริษัท B ต่อมาบริษัท B ได้มีหนังสือแจ้งบริษัท A ว่า ให้การปฏิบัติงานของลูกจ้างสิ้นสุดลงตามสัญญา จึงมีปัญหาว่า สรุปแล้วลูกจ้างเป็นลูกจ้างของบริษัท A หรือ B??? และใครเป็นผู้เลิกจ้างลูกจ้างกันแน่??? คดีนี้ศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษ 43/2523 ได้พิพากษาไว้ว่า “แม้ว่าบริษัท A จะส่งลูกจ้างไปทำงานให้แก่บริษัท B ก็ตาม แต่บริษัท A เป็นผู้ดำเนินการขอวีซ่าและต่อใบอนุญาตทำงาน รวมถึงหักเงินนำส่งประกันสังคมในนามบริษัท A ถึงบริษัท B จะมีอำนาจบัญชาและอนุมัติการลาของลูกจ้างก็ตาม แต่ถือเป็นการมอบอำนาจบางส่วนให้แก่บริษัท B เท่านั้น “ ดังนั้นการที่บริษัท B มีหนังสือแจ้งบริษัท A ว่า ให้การปฏิบัติงานของลูกจ้างสิ้นสุดลงตามสัญญาพร้อมทั้งส่งตัวลูกจ้างคืนให้บริษัท A จึงไม่ใช่กรณีที่บริษัท B บอกเลิกสัญญาจ้างลูกจ้าง จึงเป็นการแสดงให้เห็นว่าอำนาจในการเลิกจ้างยังอยู่ที่บริษัท...

ผู้เช่าซื้อรถ ผ่อนค่างวดไม่ไหว จะคืนรถไฟแนนซ์โดยไม่เสียค่าส่วนต่าง ต้องทำอย่างไร ?

ผู้เช่าซื้อรถผ่อนค่างวดไม่ไหว จะคืนรถไฟแนนซ์โดยไม่เสียค่าส่วนต่าง ต้องทำอย่างไร ? 1. ผู้เช่าซื้อจะต้องเป็นฝ่ายคืนรถเอง โดยต้องดำเนินการคืนรถให้ไฟแนนซ์ก่อนที่จะผิดนัดชำระค่างวดครบ 3 งวด 2. รถต้องอยู่ในสภาพที่ซ่อมแซมเรียบร้อยและใช้การได้ดี 3. ผู้ให้เช่าซื้อ (ไฟแนนซ์) ยอมรับรถคืน โดยที่ไม่มีการทำบันทึกข้อตกลงหรือโต้แย้งเกี่ยวกับค่าส่วนต่าง ซึ่งหากมีข้อตกลงฯ เพิ่มเติม ผู้เช่าซื้ออาจจะยังคงต้องรับผิดในค่าส่วนต่างอยู่ คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4607/2562 แม้ตามสัญญาเช่าซื้อ ข้อ 12 จะให้สิทธิผู้เช่าซื้อในการบอกเลิกสัญญาเช่าซื้อเสียเมื่อใดก็ได้ โดยผู้เช่าซื้อจะต้องส่งคืนและส่งมอบรถยนต์ในสภาพที่ซ่อมแซมเรียบร้อยและใช้การได้ดีในสภาพเช่นเดียวกับวันที่รับมอบรถยนต์ไปจากเจ้าของพร้อมทั้งอุปกรณ์ และอะไหล่ทั้งหมดให้แก่เจ้าของ ณ สำนักงานของเจ้าของ แต่สัญญาข้อดังกล่าวยังระบุเงื่อนไขต่อไปอีกว่า “และชำระเงินทั้งปวงที่ถึงกำหนดชำระหรือเป็นหนี้ตามสัญญานี้อยู่ในเวลานั้นทันที…” แสดงให้เห็นว่า กรณีที่จะถือว่าเป็นการเลิกสัญญาตามสัญญาเช่าซื้อข้อดังกล่าว ก็ต่อเมื่อจำเลยที่ 1 ต้องส่งมอบรถยนต์ที่เช่าซื้อคืนโจทก์พร้อมกับชำระเงินทั้งปวงที่ถึงกำหนดชำระหรือเป็นหนี้ตามสัญญานี้อยู่ในเวลาที่ส่งมอบรถยนต์ที่เช่าซื้อคืนแก่โจทก์แล้ว เมื่อโจทก์มิได้นำสืบให้เห็นว่า นอกจากจำเลยที่ 1 จะส่งมอบรถยนต์ที่เช่าซื้อคืนแก่โจทก์แล้ว จำเลยที่ 1 ได้ชำระเงินทั้งปวงที่ถึงกำหนดชำระหรือเป็นหนี้ตามสัญญาแก่โจทก์ทันที อันเป็นการปฏิบัติตามข้อตกลงในสัญญาเพื่อใช้สิทธิเลิกสัญญา กรณีจึงยังถือไม่ได้ว่าเป็นการบอกเลิกสัญญาเช่าซื้อตามสัญญาข้อ 12 ที่จะทำให้โจทก์มีสิทธิเรียกค่าขาดราคาตามสัญญาข้อ 13 พฤติการณ์ที่จำเลยที่ 1 ส่งมอบรถยนต์ที่เช่าซื้อคืนโจทก์โดยไม่ปรากฏข้อโต้แย้งคัดค้านของโจทก์ ถือว่าโจทก์และจำเลยที่ 1 ต่างสมัครใจเลิกสัญญาต่อกันโดยปริยาย โจทก์ย่อมไม่มีสิทธิเรียกค่าขาดราคาอันเป็นค่าเสียหายตามข้อตกลงในสัญญาเช่าซื้อได้

ลูกหนี้โอนย้ายทรัพย์สินของตนภายหลังได้รับหนังสือทวงหรือถูกฟ้อง อาจมีความผิดอาญาฐาน “โกงเจ้าหนี้”

ลูกหนี้โอนย้ายทรัพย์สินของตนภายหลังได้รับหนังสือทวงหรือถูกฟ้อง อาจมีความผิดอาญาฐาน “โกงเจ้าหนี้” คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 16070-16072/2555 ตาม ป.อ. มาตรา 350 บัญญัติไว้ชัดเจนว่า ผู้ใดเพียงแต่รู้ว่าเจ้าหนี้ของตนหรือของผู้อื่นจะใช้สิทธิเรียกร้องทางศาลให้ชำระหนี้ แล้วย้ายไปเสีย ซ่อนเร้นหรือโอนไปให้แก่ผู้อื่นซึ่งทรัพย์ใด แกล้งให้ตนเองเป็นหนี้จำนวนใดอันไม่เป็นความจริง ก็ถือว่าเป็นความผิดตามมาตราดังกล่าวแล้ว เมื่อข้อเท็จจริงได้ความว่าโจทก์เป็นเจ้าหนี้จำเลยที่ 1 ตามคำพิพากษาในคดีแพ่งที่โจทก์ฟ้องให้จำเลยที่ 1 รับผิดในเรื่องผิดสัญญาและเรียกค่าเสียหาย จำเลยที่ 1 ไม่มีทรัพย์สินอื่นใดพอชำระหนี้แก่โจทก์ ขณะที่คดีแพ่งดังกล่าวอยู่ระหว่างบังคับคดีตามคำพิพากษา จำเลยที่ 1 จดทะเบียนโอนที่ดิน 3 แปลง ให้แก่จำเลยที่ 2 โดยเสน่หา แม้คดีแพ่งดังกล่าวจำเลยที่ 1 ได้ฟ้องแย้ง และผลคดีอาจจะเปลี่ยนแปลงโดยศาลฎีกาอาจพิพากษาให้จำเลยที่ 1 ชนะคดีตามฟ้องแย้ง ซึ่งไม่แน่ว่าโจทก์จะเป็นเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาในชั้นที่สุดหรือไม่ก็ตาม ก็ถือว่าจำเลยที่ 1 กระทำความผิดฐานโกงเจ้าหนี้แล้ว ไม่จำต้องถือเอาคำพิพากษาของศาลที่พิพากษาให้จำเลยที่ 1 รับผิดในทางแพ่งมาเป็นองค์ประกอบของความผิดฐานดังกล่าว แต่อย่างไรก็ดีการที่ลูกหนี้จะมีความผิดฐานโกงเจ้าหนี้หรือไม่ ก็ต้องพิจารณาข้อเท็จจริงอื่นๆ ประกอบกับต้องพิจารณาเจตนาพิเศษว่าการโอนย้ายทรัพย์สินของลูกหนี้นั้นทำไปเพื่อไม่ให้เจ้าหนี้ของตนได้รับชำระหนี้ดังกล่าวหรือไม่ด้วย

คดีบัตรเครดิต จะเริ่มนับอายุความเมื่อใด ?

คดีบัตรเครดิต จะเริ่มนับอายุความเมื่อใด ? ในคดีบัตรเครดิตโดยทั่วไปเมื่อเจ้าหนี้ได้แจ้งกำหนดการชำระหนี้ให้แก่ลูกหนี้ทราบแล้ว เมื่อถึงกำหนดลูกหนี้ไม่ชำระหนี้ตามกำหนด อายุความจะเริ่มนับทันทีในวันถัดไป โดยมีอายุความทั้งสิ้น 2 ปีนับจากผิดนัดชำระหนี้ ถ้าหากธนาคารไม่ได้ฟ้องร้องในเวลา 2 ปี คดีก็เป็นอันขาดอายุความ ซึ่งส่งผลให้ธนาคารหมดสิทธิเรียกร้องต่อลูกหนี้ ทั้งนี้ถึงขะขาดอายุความไปแล้ว ทางฝ่ายเจ้าหนี้สามารถยื่นฟ้องได้ โดยศาลก็จะดำเนินการไปตามกระบวนการของกฎหมายต่อไป เช่น ถ้าจะให้ศาลหยิบยกเอาเรื่องการขาดอายุความขึ้นมาพิจารณานั้น ลูกหนี้ต้องยื่นคำให้การต่อสู้คดีในเรื่องของการขาดอายุความ ขึ้นเป็นข้อต่อสู้ในชั้นศาล ซึ่งศาลก็จะนำมาพิจารณาตรวจสอบดูข้อเท็จจริง และถ้าหากเป็นจริงตามที่ลูกหนี้ยื่นคำให้การต่อสู้มา ทางศาลก็จะทำการ”ยกฟ้อง” คือพิพากษาให้คดีตกไป โดยไม่บังคับให้เป็นไปตามคําฟ้องของเจ้าหนี้ต่อไป ซึ่งในเรื่องนี้ได้มีกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ตามมาตรา 193/29 กำหนดไว้ว่า เมื่อไม่ได้ยกอายุความขึ้นเป็นข้อต่อสู้ ศาลจะอ้างเอาอายุความมาเป็นเหตุยกฟ้องไม่ได้ ติดต่องาน Info@legalclinic.co th #ดำเนินคดี #อายุความ #คดีอาญา #สินสมรส #ฟ้องชู้ #อสังหา #ทนายความ #วิทยากรสอนกฎหมาย #ลูกหนี้ #มรดก #หมิ่นประมาท #เจ้าหนี้ #สืบทรัพย์ #ชู้สาว #บัตรเครดิต