กรุณารอสักครู่

 

HomeBlog

เงินตามกฎหมายแรงงานที่นายจ้างต้องจ่ายเมื่อเลิกจ้างมีอะไรบ้าง และต้องจ่ายภายในกี่วัน

เงินตามกฎหมายแรงงานที่นายจ้างต้องจ่ายเมื่อเลิกจ้างมีอะไรบ้าง และต้องจ่ายภายในกี่วัน เมื่อมีการเลิกจ้าง สิ่งที่นายจ้างต้องทำคือ จ่ายเงินค่าจ้างคงค้างหรือเงินอื่นๆ ให้แก่ลูกจ้างจนกว่าจะครบถ้วน อย่างไรก็ตาม เงินที่กฎหมายแรงงานกำหนดมีหลายประเภทมาก วันนี้เลยจะมาสรุปให้ฟังว่า เงินแต่ละประเภทมีกำหนดการจ่ายอย่างไรบ้าง นายจ้างจะได้ไม่สับสนและจ่ายเงินส่วนนี้ให้แก่ลูกจ้างได้อย่างถูกต้อง 1. ประเภทเงินที่ต้องจ่ายในวันที่เลิกจ้าง ได้แก่ ค่าชดเชยมาตรา 118, สินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า, ค่าชดเชยพิเศษมาตรา 120,121 และ 122 ของพรบ.คุ้มครองแรงงานฯ 2. ประเภทเงินที่ต้องจ่ายภายใน 3 วันนับแต่เลิกจ้าง ได้แก่ ค่าจ้าง ค่าล่วงเวลา ค่าทำงานในวันหยุด และค่าล่วงเวลาในวันหยุด (แต่ถ้าลูกจ้างลาออกเอง ไม่ได้เป็นการเลิกจ้างก็รอรอบกำหนดวันจ่ายเงินเดือนตามปกติ ไม่จำเป็นต้องจ่ายก่อนรอบก็ได้) 3. ประเภทของเงินที่ต้องจ่ายและคืนภายใน 7 วัน นับแต่วันที่เลิกจ้าง ได้แก่ ค่าชดเชยกรณีย้ายสถานประกอบการ และการคืนหลักประกัน หากนายจ้างฝ่าฝืนไม่จ่ายเงินให้แก่ลูกจ้างภายในกำหนดดังกล่าว ลูกจ้างสามารถไปแจ้งกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานในเขตพื้นที่ได้เลย เดี๋ยวเค้าจะจัดการเรียกให้นายจ้างจ่ายให้เอง นอกจากนี้นายจ้างยังต้องเสียดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 15 ต่อปี และมีโทษตามมาตรา 144 ของพรบ.คุ้มครองแรงงานฯ ด้วย คือ ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 6...

จ้างนักเรียน นักศึกษาให้ทำงานวันเสาร์-อาทิตย์ วันหยุด ไม่ใช่ลูกจ้าง

จ้างนักเรียน นักศึกษาให้ทำงานวันเสาร์-อาทิตย์ วันหยุด ไม่ใช่ลูกจ้าง สำหรับกรณีที่นายจ้างบางคนได้จ้างนักเรียน นักศึกษา ให้ทำงานตามช่วงเวลาเสาร์ อาทิตย์ วันหยุดนักขัตฤกษ์ และช่วงวันปิดภาคเรียน แต่มีเงื่อนไขการทำงานว่า นักเรียน นักศึกษาจะไปทำงานหรือไม่ก็ได้ หากนักเรียน นักศึกษาไม่ไปทำงานก็เพียงแต่แจ้งทางโทรศัพท์ให้นายจ้างทราบโดยไม่ต้องยื่นใบลา และนักเรียน นักศึกษาที่มาทำงานจะได้รับค่าตอบแทนตามจำนวนชั่วโมงทำงานที่ทำได้ในแต่ละวัน หากไม่ไปทำงานก็จะไม่ได้รับค่าตอบแทน นอกจากนี้แล้วยังไม่มีการกำหนดวันหยุด วันลา และสวัสดิการสำหรับนักเรียน นักศึกษา ดังนั้นแสดงให้เห็นว่านักเรียน นักศึกษามีอิสระในการทำงานให้แก่นายจ้าง ไม่อยู่ในอำนาจบังคับบัญชา และไม่ต้องปฏิบัติตามกฎระเบียบของนายจ้าง อีกทั้งแม้นายจ้างจะต้องจ่ายค่าจ้างตามจำนวนชั่วโมงที่ลงทำงานไว้ก็ไม่ใช่กรณีที่นายจ้างใช้อำนาจบังคับบัญชา แต่เป็นการวางกฎเกณฑ์เพื่อให้การทำงานและคำนวณชั่วโมงทำงานได้ถูกต้องและมีประสิทธิภาพ ดังนั้นความสัมพันธ์ระหว่างนายจ้างและนักเรียนนักศึกษาจึงไม่ได้อยู่ในฐานะนายจ้างและลูกจ้างกัน นายจ้างไม่ต้องส่งเงินสมทบตามพรบ.ประกันสังคม พ.ศ. 2535 (คำพิพากษาศาลอุทธรณ์ชำนัญคดีพิเศษที่ 141/2562)

การเปลี่ยนแปลงผู้มีอำนาจอนุมัติในการลา ไม่เป็นการแก้ไขเพิ่มเติมข้อตกลงสภาพการจ้าง

การเปลี่ยนแปลงผู้มีอำนาจอนุมัติในการลา ไม่เป็นการแก้ไขเพิ่มเติมข้อตกลงสภาพการจ้าง การที่นายจ้างแก้ไขเพิ่มเติมข้อบังคับการทำงานฯ โดยเปลี่ยนแปลงผู้มีอำนาจอนุมัติให้ลูกจ้างลากิจฉุกเฉินหรือลาป่วยนั้น เป็นเพียงการเปลี่ยนผู้มีอำนาจอนุมัติการลาของลูกจ้างที่ทำให้การลาของลูกจ้างได้รับการพิจารณาจากผู้บังคับบัญชาในระดับสูงขึ้นไปเท่านั้น กรณีนี้ไม่ได้เป็นการเปลี่ยนแปลงวิธีการลาให้ยุ่งยากขึ้น ซึ่งถือเป็นอำนาจบริหารจัดการของนายจ้างที่มีอำนาจกระทำได้ตามที่เห็นสมควรเพื่อให้เกิดประโยชน์แก่องค์กร ดังนั้นจึงไม่เป็นการแก้ไขเพิ่มเติมข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้าง (คำพิพากษาศาลอุทธรณ์ชำนัญคดีพิเศษที่ 84/2561)

นายจ้าง..จ่ายเงินให้ลูกจ้างเพื่อแลกกับการให้ลูกจ้าง “ลงลายมือชื่อในใบลาออก” ไม่ได้ถือว่าเป็นการเลิกจ้างเสมอไป

นายจ้าง จ่ายเงินให้ลูกจ้างเพื่อแลกกับการให้ลูกจ้าง ลงลายมือชื่อในใบลาออก ไม่ได้ถือว่าเป็นการเลิกจ้างเสมอไป ในคดีนี้เรื่องมีอยู่ว่า ลูกจ้างมีพฤติการณ์เล่นอินเทอร์เน็ตเข้าดูเว็บไซต์ลามกอนาจารและเว็บไซต์เกี่ยวกับตารางการซื้อขายหุ้นในเวลาทำงาน มีความประพฤติทางด้านชู้สาวกับลูกจ้างของนายจ้างคนอื่นทั้งที่มีครอบครัวอยู่แล้ว ดังนั้นนายจ้างจึงเรียกลูกจ้างเข้าไปหาและแจ้งว่า “ผมนำเช็คมาให้ 3 เดือน ไม่ต้องมาทำงาน โดยจะจ่ายเงินให้ถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2557 แต่ต้องช่วยเซ็นเอกสารฉบับนี้ให้ผมด้วย เพื่อไปยืนยันกับบัญชีว่าคุณได้รับเงินสดนี้แล้ว” และลูกจ้างจึงได้ลงลายมือชื่อในหนังสือแจ้งความประสงค์จะลาออก โดยรับเงินสด 141,000 บาท อย่างไรก็ตาม ในขณะที่ลูกจ้างลงนาม ลูกจ้างได้ขีดฆ่าข้อความในหนังสือว่า “ลูกจ้างจะไม่เรียกร้อง ฟ้องร้องหรือกระทำการใดเพื่อให้เกิดความเสื่อมเสียหรือเสียหาย” ต่อมาลูกจ้างได้นำคดีมาฟ้องต่อศาลโดยอ้างว่าลูกจ้างลงลายมือชื่อในหนังสือลาออกโดยไม่สมัครใจ การกระทำของนายจ้างจึงถือว่าเป็นการเลิกจ้าง ศาลแรงงานพิจารณาแล้วเห็นว่า จากพฤติการณ์ไม่น่าเชื่อว่าถูกบังคับให้ลงลายมือชื่อในใบลาออก กรณีนี้จึงไม่ใช่การเลิกจ้าง ดังนั้นก่อนลงนามในหนังสือลาออกใดๆ ไม่ใช่ว่าลูกจ้างจะนำคดีมาฟ้องและอ้างว่าถูกนายจ้างบังคับขู่เข็ญได้เสมอไป ต้องพิจารณาข้อเท็จจริงประกอบด้วยว่าจากพฤติการณ์มีพฤติการณ์ที่เป็นการบังคับขู่เข็ญหรือไม่ ดังคดีตัวอย่างข้างต้นนั่นเอง (คำพิพากษาศาลอุทธรณ์ชำนัญคดีพิเศษที่ 3578/2561)

ถ่ายรูป โพสต์ข้อความลงเฟสบุ๊คไม่เหมาะสม อาจถูกเลิกจ้างโดยไม่จ่ายค่าชดเชยได้

ถ่ายรูป โพสต์ข้อความลงเฟสบุ๊คไม่เหมาะสม อาจถูกเลิกจ้างโดยไม่จ่ายค่าชดเชยได้ เรื่องมีอยู่ว่า ในเวลาทำงานปกติ ลูกจ้างได้ถ่ายรูปพนักงานระดับบังคับบัญชาและระดับบริหาร และพิมพ์ข้อความว่า “ผู้ชายหน้าตัวเมีย หน้า ห. หน้า ต. แย่งที่จอดรถกุเฉย มึนนะไอ้ควาย” และโพสต์ลงในเฟสบุ๊คไปยังเพื่อนร่วมงานในบริษัทและบริษัทในเครือของจำเลย ศาลวินิจฉัยว่า การที่ลูกจ้างพิมพ์ข้อความไปในลักษณะดังกล่าวถือเป็นคำด่าและคำหยาบคาย จึงถือเป็นการดูหมิ่นผู้อื่นด้วยการโฆษณา ทั้งนี้ แม้คนที่ถูกหมิ่นจะไม่ใช่ลูกจ้างของบริษัท แต่ก็เป็นลูกจ้างระดับบังคับบัญชาของบริษัทในเครือ ซึ่งถือว่าเป็นการประจานผู้อื่นต่อสื่อสังคมออนไลน์ที่มีนิยมใช้กันอย่างแพร่หลาย โดยไม่สนใจไยดีในความเดือดร้อนของผู้อื่นว่าจะถูกสังคมดูถูกเหยียดหยาม จึงถือเป็นความผิดร้ายแรง ดังนั้นนายจ้างเลิกจ้างลูกจ้างได้โดยไม่ต้องจ่ายค่าชดเชย เพราะฉะนั้นสำหรับใครที่เสพติดโซเชียลและชอบโพสต์รูปลงบ่อยๆ ต้องระวังการใช้งานให้ได้ดีๆ นะคะ (คำพิพากษาศาลอุทธรณ์ชำนัญคดีพิเศษที่ 73/2562)

การชักชวน หลอกมาลงทุน ไม่ว่าจะเป็น forex-3d อาจเข้าข่ายความผิดตามกฎหมายเรื่องนี้

การชักชวน หลอกมาลงทุน ไม่ว่าจะเป็น forex-3d อาจเข้าข่ายความผิดตามกฎหมายเรื่องนี้ พ.ร.ก.การกู้ยืมเงินที่เป็นการฉ้อโกงประชาชน พ.ศ.2527 มาตรา 4 วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า “ผู้ใดโฆษณาหรือประกาศให้ปรากฏต่อประชาชน หรือกระทำด้วยประการใด ๆ ให้ปรากฏแก่บุคคลตั้งแต่สิบคนขึ้นไปว่าในการกู้ยืมเงิน ตนหรือบุคคลใดจะจ่ายผลประโยชน์ตอบแทนให้ตามพฤติการณ์แห่งการกู้ยืมเงิน ในอัตราที่สูงกว่าอัตราดอกเบี้ยสูงสุดที่สถาบันการเงินตามกฎหมายว่าด้วยดอกเบี้ยเงินให้กู้ยืมของสถาบันการเงินจะพึงจ่ายได้โดยที่ตนรู้หรือควรรู้อยู่แล้วว่าตนหรือบุคคลนั้นจะนำเงินจากผู้ให้กู้ยืมเงินรายนั้นหรือรายอื่นมาจ่ายหมุนเวียนให้แก่ผู้ให้กู้ยืมเงิน หรือโดยที่ตนรู้หรือควรรู้อยู่แล้วว่าตนหรือบุคคลนั้นไม่สามารถประกอบกิจการใด ๆ โดยชอบด้วยกฎหมายที่จะให้ผลประโยชน์ตอบแทนพอเพียงที่จะนำมาจ่ายในอัตรานั้นได้ และในการนั้นเป็นเหตุให้ตนหรือบุคคลใดได้กู้ยืมเงินไป ผู้นั้นกระทำความผิดฐานกู้ยืมเงินที่เป็นการฉ้อโกงประชาชน” การโฆษณาหรือประกาศให้ปรากฏต่อประชาชนหรือการกระทำด้วยประการใด ๆ ให้ปรากฏแก่บุคคลตั้งแต่สิบคนขึ้นไป อันจะทำให้เป็นความผิดสำเร็จฐานกู้ยืมเงินที่เป็นการฉ้อโกงประชาชน ไม่จำเป็นที่จำเลยทั้งสองจะต้องกระทำการดังกล่าวต่อผู้เสียหายแต่ละคนด้วยตนเองทุกครั้งเป็นคราว ๆ ไป เพียงแต่จำเลยทั้งสองแสดงข้อความดังกล่าวให้ปรากฏแก่ผู้เสียหายแม้เพียงบางคน แล้วเป็นผลให้ประชาชนหลงเชื่อนำเงินมาให้จำเลยทั้งสองกู้ยืม ก็ถือว่าเป็นการกระทำความผิดแล้ว ข้อสำคัญที่ทำให้ความผิดสำเร็จอยู่ที่ในการนั้นเป็นเหตุให้ตนหรือบุคคลใดได้เงินกู้ยืมไปจากผู้ถูกหลอกลวง ทั้งการกระทำดังกล่าวโดยสภาพเป็นการกระทำต่อบุคคลหลายคนจึงอาจกระทำต่อบุคคลเหล่านั้นต่างวาระกันได้ การกระทำที่จะเป็นความผิดกรรมเดียวหรือหลายกรรมย่อมขึ้นอยู่กับลักษณะของการกระทำที่มีเจตนามุ่งกระทำเพื่อให้เกิดผลต่อบุคคลตั้งแต่สิบคนขึ้นไปหรือประชาชนเพียงครั้งเดียวหรือหลายครั้ง มิได้พิจารณาจากองค์ประกอบความผิดที่ต้องกระทำต่อบุคคลตั้งแต่สิบคนขึ้นไปเพียงอย่างเดียวเป็นเครื่องชี้เจตนาของผู้กระทำเมื่อข้อเท็จจริงรับฟังเป็นยุติว่า จำเลยทั้งสองกู้ยืมเงินจากโจทก์ร่วมทั้งสิบเจ็ด ผู้เสียหายที่ 11 และที่ 14 คนละวันเวลาและในสถานที่แตกต่างกัน โดยเจตนาให้เกิดผลต่อโจทก์ร่วมและผู้เสียหายแยกต่างหากจากกัน ดังนั้น การกระทำของจำเลยทั้งสองแต่ละครั้งถือว่าเป็นความผิดสำเร็จสำหรับโจทก์ร่วมและผู้เสียหายแต่ละคนแล้ว จึงเป็นความผิดหลายกรรมตามจำนวนโจทก์ร่วมและผู้เสียหายที่จำเลยทั้งสองร่วมกันหลอกลวง

การให้ที่ไม่สามารถที่จะฟ้องขอเพิกถอนคืนการให้ เพราะเหตุเนรคุณ ได้แก่เหตุดังนี้ !

การให้ที่ไม่สามารถที่จะฟ้องขอเพิกถอนคืนการให้ เพราะเหตุเนรคุณ ได้แก่เหตุดังนี้ ! 1 เมื่อผู้ให้ได้ให้อภัยผู้รับในเหตุประพฤติเนรคุณแล้ว 2 เมื่อผู้ให้ถึงแก่ความตาย โดยไม่ได้ฟ้องคดีไว้ ทายาทจะฟ้องเองไม่ได้ 3 ให้เป็นบำเเหน็จสินจ้างโดยแท้ (ตอบแทนการทำงาน) 4 ให้สิ่งที่มีค่าภาระติดพัน 5 ให้โดยหน้าที่ธรรมจรรยา ตามหน้าที่ศีลธรรม 6 ให้ในการสมรส 7 เมื่อเวลาได้ล่วงไปแล้ว 6 เดือน นับแต่ได้ทราบเหตุเนรคุณ แต่ต้องไม่เกิน 10 ปีนับแต่เหตุเนรคุณนั้นเกิดขึ้น ติดต่องาน info@legalclinic.co.th #หนังสือมอบอำนาจ #ดำเนินคดี #อายุความ #คดีอาญา #ฟ้องชู้ #สินสมรส #ไกล่เกลี่ย #ฟ้อง #อายัตทรัพย์ #บังคับคดี #findmylawyer #ประมวลกฎหมาย #ทนายความ #เงินกู้ #ลูกหนี้ #มรดก #เนรคุณ #เจ้าหนี้ #สืบทรัพย์ #หนี้สิน #กู้

จ้างแรงงานต่างด้าว ต้องมีใบอนุญาต

จ้างแรงงานต่างด้าว ต้องมีใบอนุญาต นายจ้างที่จ้างแรงงานต่างด้าวสัญชาติเมียนมา, ลาว กัมพูชา ทำงานโดยไม่มีใบอนุญาตทำงานหรือทำงานนอกเหนือจากที่มีสิทธิจะทำได้ นายจ้างมีความผิดจะต้องถูกดำเนินคดีตามกฎหมาย มีโทษปรับ 10,000 – 100,000 บาทต่อคนต่างด้าวที่จ้างหนึ่งคน และถ้ากระทำผิดซ้ำมีโทษหนักขึ้นและมีโทษทั้งจำทั้งปรับ และห้ามจ้างคนต่างด้าวทำงานเป็นเวลา 3 ปี ต้องแจ้งแรงงานต่างด้าวเข้าประกันสังคมและนำเงินส่งสบทบทุกเดือนด้วยนะคะ

แม้นายจ้างจะเสนอให้ออก แต่ถ้าลูกจ้างได้มีเวลาคิดไตร่ตรอง ได้ต่อรองขอค่าชดเชยเพิ่ม อาจเป็นการลาออกด้วยความสมัครใจ ไม่ถือเป็นเลิกจ้าง

แม้นายจ้างจะเสนอให้ออก แต่ถ้าลูกจ้างได้มีเวลาคิดไตร่ตรอง ได้ต่อรองขอค่าชดเชยเพิ่ม อาจเป็นการลาออกด้วยความสมัครใจ ไม่ถือเป็นเลิกจ้าง ในกรณีนี้ลูกจ้างฟ้องว่านายจ้างข่มขูหลอกลวงให้ลงนามในที่นายจ้างจัดเตรียมไว้ล่วงหน้า แต่ในขณะที่อยู่ในห้องประชุมลูกจ้างได้มีโอกาสและเวลาพิจารณาคิดไตร่ตรองก่อนตัดสินใจดำเนินการตามเจตนารมณ์ของลูกจ้าง และยังได้ต่อรองขอเพิ่มค่าชดเชยจากนายจ้างและนายจ้างก็ตกลงตามเงื่อนไขของลูกจ้างจนเป็นที่พอใจแล้ว ลูกจ้างจึงกรอกแบบฟอร์มใบลาออกและร่วมกับนายจ้างทำข้อตกลงสิ้นสุดสภาพการจ้าง พฤติการณ์ดังกล่าวจึงเป็นการที่ลูกจ้างยอมรับเงินและสิทธฺประโยชน์ต่างๆ ที่นายจ้างมอบให้เพื่อแลกเปลี่ยนในการตัดสินใจลาออกจากการเป็นลูกจ้างด้วยความสมัครใจ ตามพิพากษาศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษที่ 191/2560 จากคำพิพากษานี้ ศาลไม่ได้พิจารณาจากพฤติการณ์ของนายจ้างว่าเสนอให้ลูกจ้างกรอกหนังสือลาออกแล้วจึงถือว่าเป็นการเลิกจ้างเท่านั้น แต่พิจารณาพฤติการณ์ของลูกจ้างด้วยนะคะ

เสพกัญชาในวันที่กฎหมายไม่ถือว่าเป็นยาเสพติดแล้วนายจ้างสามารถเลิกจ้างได้หรือไม่ ?

เสพกัญชาในวันที่กฎหมายไม่ถือว่าเป็นยาเสพติดแล้วนายจ้างสามารถเลิกจ้างได้หรือไม่?? คำถามนี้มีทั้งใน inbox จากแฟนเพจและบริษัทที่พวกเราเป็นที่ปรึกษาอยู่นะคะก่อนที่จะตอบคำถามก็ขอแสดงความเห็นหน่อยว่าเดี๋ยวน้ำท่อมบ้างเดี๋ยวกัญชาบ้างพอนายจ้างเรียกเตือนก็บอกว่ามันถูกกฎหมายแล้วนายจ้างไม่มีสิทธิ์เลิกจ้างเพราะถามถึงรายละเอียดลึกๆก็กลายเป็นว่าเสพกัญชา จนทำงานไม่ได้เดี๋ยวเยอะเดี๋ยวลอยสวนน้ำท่อมก็ไม่ใช่น้ำท่อมต้มธรรมดาเป็นชนิด 4 x 100 เลยทีเดียว… คืองานช่วงนี้ก็หายากอยู่แล้วเศรษฐกิจก็ยังเหี้ยมเลย.. อยู่ให้มันดีๆในขณะทำงานไม่เอาตัวไปยุ่งเกี่ยวไม่เอาไปเสี่ยง มันดีกว่าเห็นๆ… บ่นจบละขอเข้าเรื่องกันหน่อย.. ในปัจจุบันนี้ก็อย่างที่ทราบกันนั่นแหละค่ะว่ากัญชาและใบกระท่อมไม่ได้เป็นสารเสพติดเช่นเคยแล้ว ดังนั้นแม้ลูกจ้างจะฝ่าฝืนข้อบังคับ ประพฤติชั่วยุ่งเกี่ยวกับยาเสพติด การเตือนด้วยข้อหานี้ก็ย่อมไม่ชอบและไม่เป็นความผิดร้ายแรงเหมือนเมื่อก่อนหน้านี้แล้ว แต่ก็ใช่ว่านายจ้างจะทำอะไรไม่ได้นะคะ นายจ้างเองก็จะต้องสืบสาวราวเรื่อง ถึงข้อเท็จจริงว่าการเสพกัญชาหรือดื่มน้ำท่อมนั้นมันมีผลกระทบกับการทำงานหรือเปล่า ถ้าจากตัวอย่างที่มีคนมาปรึกษาแล้วเขียนไปด้านบนนั้นคือ เสพกัญชาจนเยิ้มทำงานไม่ได้ พูดคุยไม่รู้เรื่องหรือดื่มน้ำกระท่อมที่มีส่วนผสมของสารเสพติดอื่นๆหรือมีส่วนผสมของแอลกอฮอล์จนทำงานไม่ได้ประสิทธิภาพในการทำงานลดลงอาจเกิดอุบัติเหตุอุบัติภัยในงานที่ทำอยู่หรือแม้แต่เกิดผลกระทบต่อเพื่อนร่วมงาน เช่น นี้ก็อาจถือว่าเป็นความผิดได้แต่จะถือว่าเป็นความผิดที่สามารถเลิกจ้างได้ทันทีโดยไม่ต้องจ่ายค่าชดเชยไหมก็ต้องมาพิจารณาก่อนว่าปัจจุบันระเบียบภายในได้แก้ไขหรือยัง รวมทั้งขึ้นอยู่กับสถานการณ์ที่เกิดขึ้นตำแหน่งงานลักษณะของธุรกิจนายจ้างก็ต้องดูรวมประกอบกันด้วย ว่าร้ายแรงหรือไม่เพราะถ้าร้ายแรงก็สามารถเลิกจ้างได้โดยไม่ต้องจ่ายค่าชดเชยเช่นกัน คืออันนี้ก็ฝากนะในมุมของลูกจ้าง รู้อยู่แล้วว่างานการหายากเศรษฐกิจก็ค่อนข้างแย่ หากอะไรที่ไปยุ่งเกี่ยวแล้วมันไม่ดีหรือมีแนวโน้มที่จะทำให้ตัวเองสุ่มเสี่ยงต่อการถูกหนังสือเตือนและเลิกจ้างก็อย่าไปยุ่งมันเลยค่ะทำมาหากินขยันประหยัดอดออม พยุงตัวเองให้รอดในปี 2 ปีนี้ไปให้ได้นะคะ ส่วนตัวนายจ้างเองอ่านบทความนี้จบแล้วอาจไปปรับปรุงข้อบังคับและสัญญาจ้างด้วยแต่หากไม่มีเวลาส่งงานมาให้ทำได้ค่ะ ทนายยังว่างจ้างได้