ย้ายสถานที่ทำการ เท่ากับบีบออกหรือเปล่า ลาออกจะได้ค่าชดเชยไหม?
ว่ากันในเรื่องบีบออกนี้ถามกันเข้ามาในทางทาง Facebook Tiktok แล้วก็แชทกลุ่มเลยนะคะ
เรื่องนี้เป็นเรื่องที่ ถ้าตอบไม่ถูกหูก็โดนว่าว่า” ทนายไม่เข้าใจหรอก” ทนายเข้าข้างนายจ้าง”
ก็ต้องขออภัยด้วย อยากให้ข้อมูลที่ถูกต้อง มากกว่าข้อมูลที่ถูกใจ เพราะว่าถ้าตอบถูกใจและผลทางกฎหมายมันไม่เป็นไปตาม ที่ท่านผู้ถามอยากได้ยินผลเสียก็จะเกิดแก่ตัวท่านผู้ถามเอง
ในเรื่องของการบีบออกนี้บางคนก็จะเล่าให้ฟังว่าหัวหน้างาน/นายจ้าง พูดไม่ดีไม่เคยถนอมน้ำใจเหน็บแนมประชดประชันตลอดถือว่าบีบออกหรือยัง ถ้าลาออกจะได้ค่าชดเชยไหม??
ถ้าให้ตอบตามหลักกฎหมายก็คือยังไม่ถือว่าบีบออก เพียงแต่มันเป็นนิสัยที่ไม่ดีของผู้พูดเอง และอาจจะพูดจนเคย ติดเป็นนิสัย ซึ่งก็ไม่ได้หมายความว่าดีนะ แต่ก็ไม่ใช่การบีบออกจริงๆถ้าลาออกมาเพราะเหตุนี้ไปฟ้องเรียกค่าชดเชย ก็อาจไม่ได้
สัปดาห์นี้เลยจะมาเรียบเรียงพฤติการณ์ต่างๆที่เกี่ยวกับการบีบออก ลองมาศึกษากันดูนะคะ เผื่อเจอในชีวิตจริง
การโยกย้ายสถานที่ทำงาน หรือเปลี่ยนแปลงจากตำแหน่งหน้าที่เดิม ถือว่าบีบออกหรือไม่??
โดยทั่วไปนายจ้างมักจะจัดทำสัญญาจ้างแรงงานเป็นหนังสือไว้กับลูกจ้างตั้งแต่เริ่มจ้าง ซึ่งมักจะกำหนดเงื่อนไขหนึ่งไว้ในสัญญาจ้างแรงงานไว้อย่างชัดเจนว่า นายจ้างมีสิทธิโยกย้ายเปลี่ยนแปลงหน้าที่การงานของลูกจ้างได้ตามความเหมาะสม หากเจตนาไม่ใช่กรณีกลั่นแกล้งโยกย้าย ทั้งยังมีการจ่ายค่าตอบแทนที่ไม่ได้ต่ำไปกว่าเดิม ลูกจ้างก็ต้องปฏิบัติตามคำสั่งดังกล่าวหากผู้จ้างลาออกเองก็จะไม่ถือว่าเป็นการบีบออก
ส่วนคำว่า “หากเจตนาไม่ใช่กรณีกลั่นแกล้งโยกย้าย + จ่ายค่าตอบแทนที่ไม่ได้ต่ำไปกว่าเดิม” มีลักษณะเป็นยังไงลองฟังฎีกานี้นะคะ
คำพิพากษาที่ 4105 – 4108/2550
การที่จำเลยมีคำสั่งย้ายโจทก์ทั้งสี่ที่ทำงานอยู่ที่หน่วยงานของจำเลยในจังหวัดเชียงใหม่ไปทำงานที่หน่วยงานของจำเลยในจังหวัดระยอง จังหวัดอ่างทอง จังหวัดพระนครศรีอยุธยา และจังหวัดสมุทรปราการกับจังหวัดฉะเชิงเทรา เป็นการย้ายโดยจำเลยมีสิทธิกระทำได้ตามข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานของจำเลย แม้การย้ายสถานที่ทำงานจะมีผลกระทบต่อชีวิตประจำวันในครอบครัวของผู้ถูกย้ายก็เป็นเรื่องธรรมดา แต่ตำแหน่งใหม่ที่จำเลยสั่งย้ายโจทก์ทั้งสี่ไปทำงานและค่าจ้างที่ได้รับก็ไม่ต่ำกว่าตำแหน่งเดิม เมื่อไม่ปรากฏว่าจำเลยมีการกระทำอื่นที่เป็นการกลั่นแกล้งย้ายโจทก์ทั้งสี่ คำสั่งย้ายของจำเลยจึงชอบด้วยข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานและชอบด้วยกฎหมาย โจทก์ทั้งสี่จึงมีหน้าที่ต้องปฏิบัติงานในหน้าที่ ณ หน่วยงานตามคำสั่งย้าย เมื่อโจทก์ทั้งสี่ไม่ไปปฏิบัติงานในหน้าที่ ณ หน่วยงานตามคำสั่งย้ายจึงเป็นการละทิ้งหน้าที่ในตำแหน่งใหม่โดยไม่มีเหตุอันสมควร แม้โจทก์ทั้งสี่จะยังคงปฏิบัติงานตามหน้าที่เดิมที่จังหวัดเชียงใหม่ก็เป็นการละทิ้งหน้าที่ จำเลยให้โจทก์ทั้งสี่ไปปฏิบัติงานในหน้าที่ใหม่ แต่โจทก์ทั้งสี่ไม่ไป เกินกว่าสามวันทำงานถือเป็นการละทิ้งหน้าที่เป็นเวลา 3 วันทำงานติดต่อกัน จำเลยจึงเลิกจ้างโจทก์ทั้งสี่ได้โดยไม่ต้องจ่ายค่าชดเชยตาม พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มาตรา 119 (5)
โจทก์ทั้งสี่ซึ่งเป็นลูกจ้างมีหน้าที่และความรับผิดชอบตามสัญญาจ้างแรงงานและตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ที่จะต้องปฏิบัติตามคำสั่งย้ายดังกล่าว เมื่อโจทก์ทั้งสี่ไม่ปฏิบัติตามโดยไม่ไปทำงานในหน้าที่ใหม่ ณ หน่วยงานตามคำสั่งย้าย จึงเป็นการกระทำอันไม่สมแก่การปฏิบัติหน้าที่ของตนให้ลุล่วงไปโดยถูกต้องและสุจริต จำเลยเลิกจ้างโจทก์ทั้งสี่ได้โดยไม่ต้องบอกกล่าวล่วงหน้าตาม ป.พ.พ. มาตรา 583 จำเลยจึงไม่ต้องจ่ายสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าแก่โจทก์ทั้งสี่ จำเลยเลิกจ้างเพราะโจทก์ทั้งสี่ละทิ้งหน้าที่เป็นเวลา 3 วันทำการติดต่อกันโดยไม่มีเหตุอันสมควร เป็นการเลิกจ้างที่มีเหตุสมควร ไม่เป็นการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรม จำเลยจึงไม่ต้องจ่ายค่าเสียหายจากการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรมแก่โจทก์ทั้งสี่
จากคำพิพาษาดังกล่าวจะเห็นได้ว่าหากนายจ้างโยกย้ายสถานที่ทำงาน ตำแหน่งหน้าที่เดิม ตามข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงาน ซึ่งจากเจตนาไม่ใช่กรณีกลั่นแกล้งโยกย้าย ทั้งยังมีการจ่ายค่าตอบแทนที่ไม่ได้ต่ำไปกว่าเดิม เมื่อลูกจ้างไม่ปฏิบัติตาม ยังคงปฏิบัติงานตามหน้าที่เดิมที่จังหวัดเชียงใหม่ ไม่ยอมไปปฏิบัติงานหน้าที่ในพื้นที่ใหม่ตามที่นายจ้างให้ปฏิบัติ เป็นเวลาติดต่อกัน ถือเป็นการละทิ้งหน้าที่เป็นเวลา 3 วันทำงานติดต่อกัน จำเลยจึงเลิกจ้างโจทก์ทั้งสี่ได้โดยไม่ต้องจ่ายค่าชดเชยตาม พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มาตรา 119 (5) และเป็นการเลิกจ้างที่เป็นธรรม
แต่ถ้ากรณีที่นายจ้างมีการโยกย้ายพนักงานให้ไปปฏิบัติหน้าที่ในพื้นที่ใหม่ ตำแหน่งต่ำกว่าเดิม หรือมีการจ่ายที่น้อยกว่าเดิม รวมถึงยังมีการเอาคนใหม่ในหน้าที่เดียวกันมาปฏิบัติงานแทน แบบนี้ชัดเจนยิ่งกว่าน้ำแร่บริสุทธิ์ ว่านี่คือการย้ายเพื่อกดดันให้เราลาออก แบบนี้เรียกว่าย้ายโดยไม่เป็นธรรม ลูกจ้างก็เก็บรวบรวบหลักฐานและ ไปใช้สิทธิ์ที่ศาลแรงงานได้เลย