ลูกจ้างขโมยของ นายจ้างเลยให้เขียนใบลาออก หากไม่ยอม จะแจ้งความดำเนินคดี แบบนี้ ถือว่าบีบออกไหม ฟ้องบริษัทได้ไหมคะ??
คราวนี้เป็นคำถามฝังลูกจ้างที่เล่าให้ฟังว่าตัวเองขโมยของจากบริษัทจริงก็รับแล้วขอโทษไปแล้ว และจะพยายามหามาชดใช้แต่นายจ้างกับข่มขู่ว่าให้ลาออกเองแต่โดยดีถ้าไม่อย่างนั้นจะเลิกจ้าง และจะพิจารณาในการแจ้งความด้วย ได้เกิดเป็นคำถามว่าแบบนี้ฟ้องนายจ้างได้ไหมคะ พี่ทนายรับว่าความไหม??
อันนี้ตอบไปไวๆได้เลยนะคะว่า “ไม่รับค่ะ” อย่างแรกเลยคือ การที่ขโมยของเขาไม่ใช่แค่ขอโทษและจบ ไม่ใช่รับปากว่าจะหามาคืนแล้วจบๆกันไป คดีลักทรัพย์เป็นอาญาแผ่นดินโดยเฉพาะคดีลักทรัพย์นายจ้างมีโทษหนักขึ้นกว่าเดิมอีก การอยู่ต่อก็ต้องเกิดความไม่ไว้ใจในการทำงานร่วมกันอยู่แล้ว
ดังนั้น ถ้าทัศนคติความคิดคือทำไมนายจ้างต้องทำให้เป็นเรื่องใหญ่ และสิ่งที่นายจ้างทำมันไม่ถูกต้อง เพราะแค่ขโมยเล็กน้อย ไม่ได้เสียหายไรมากมาย พี่ว่าความคิด ตรรกะแบบนี้คงร่วมงานกันยาก แต่หากผู้ถามประสงค์จะใช้สิทธิ์ทางกฎหมาย ลองหาทนายคนอื่น ที่รับทำคดีก็ได้ค่ะ น่าจะมีอยู่บ้างเพราะแต่ละคนก็มีความคิดไม่เหมือนกันไม่มีถูกไม่มีผิดแค่คิดต่างเท่านั้น
คราวนี้มาดูข้อกฎหมายบ้าง
กรณีที่นายจ้างข่มขู่ว่าจะใช้สิทธิตามกฎหมาย (ขู่ว่าจะใช้สิทธิตามกฎหมาย) ทำให้ลูกจ้างเกรงกลัวและลงนามในใบลาออกด้วยตัวเอง ซึ่งหากลูกจ้างไม่ได้กระทำความผิด ก็มีสิทธิที่จะไม่ลงนามในใบลาออก แต่เมื่อลูกจ้างลงนามในใบลาออกด้วยตนเองแล้วนั้น ถือเป็นการแสดงความต้องการสิ้นสุดสัญญาจากมาจากฝ่ายลูกจ้าง แปลว่าลูกจ้างจะไม่มีสิทธิได้ค่าจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า ค่าชดเชย และค่าเสียหายจากการเลิกจ้างไม่เป็นธรรม
(คำพิพากษาฎีกาที่ 2053/2552)
โจทก์ฟ้องว่า จำเลยเลิกจ้างโจทก์โดยโจทก์ไม่มีความผิดและไม่ได้บอกกล่าวล่วงหน้า ไม่จ่ายเงินค่าชดเชย ไม่จ่ายสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าและเป็นการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรม ขอให้บังคับจำเลยจ่ายสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า 45,800 บาท ค่าชดเชย 228,900 บาท เงินโบนัสประจำปี 2547 เป็นเงิน 19,900 บาท ค่าเสียหายอีก 412,200 บาทพร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี นับแต่วันที่ 5 ตุลาคม 2547 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ
จำเลยให้การว่า เนื่องจากจำเลยตรวจพบว่าโจทก์ซึ่งมีหน้าที่ดูแลและนำเงินของจำเลยเข้าฝากธนาคาร แต่โจทก์กลับทุจริตแสวงหาประโยชน์อันมิชอบด้วยกฎหมายสำหรับตนเองด้วยการนำเงินไปใช้ประโยชน์ส่วนตัวและโจทก์กลัวความผิดที่ได้กระทำจึงสมัครใจเขียนใบลาออกและทำหนังสือรับสภาพหนี้ให้แก่จำเลยไว้โดยที่จำเลยไม่ได้เลิกจ้างโจทก์ ขอให้ยกฟ้อง
ศาลแรงงานกลางพิจารณาแล้ว พิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานพิพากษายืนว่า
หากในกรณีที่นายจ้างข่มขู่ว่าจะใช้สิทธิตามปกตินิยม (ขู่ว่าจะใช้สิทธิตามกฎหมาย) ทำให้ลูกจ้างเกรงกลัวและลงนามในใบลาออกด้วยตัวเอง ซึ่งหากลูกจ้างไม่ได้กระทำความผิด ก็มีสิทธิที่จะไม่ลงนามในใบลาออก แต่เมื่อลูกจ้างลงนามในใบลาออกด้วยตนเองแล้วนั้น ถือเป็นการแสดงความต้องการสิ้นสุดสัญญาจากมาจากฝ่ายลูกจ้าง แปลว่าลูกจ้างจะไม่มีสิทธิได้ค่าจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า ค่าชดเชย และค่าเสียหายจากการเลิกจ้างไม่เป็นธรรม นั่นเอง