กรุณารอสักครู่

 

HomeCategoryกฏหมายแรงงาน Archives - Page 22 of 64 - บริษัท ลีกัล คลินิก แอนด์ เอดดูเคชั่น จำกัด

จ้างนักเรียน นักศึกษาให้ทำงานวันเสาร์-อาทิตย์ วันหยุด ไม่ใช่ลูกจ้าง

จ้างนักเรียน นักศึกษาให้ทำงานวันเสาร์-อาทิตย์ วันหยุด ไม่ใช่ลูกจ้าง สำหรับกรณีที่นายจ้างบางคนได้จ้างนักเรียน นักศึกษา ให้ทำงานตามช่วงเวลาเสาร์ อาทิตย์ วันหยุดนักขัตฤกษ์ และช่วงวันปิดภาคเรียน แต่มีเงื่อนไขการทำงานว่า นักเรียน นักศึกษาจะไปทำงานหรือไม่ก็ได้ หากนักเรียน นักศึกษาไม่ไปทำงานก็เพียงแต่แจ้งทางโทรศัพท์ให้นายจ้างทราบโดยไม่ต้องยื่นใบลา และนักเรียน นักศึกษาที่มาทำงานจะได้รับค่าตอบแทนตามจำนวนชั่วโมงทำงานที่ทำได้ในแต่ละวัน หากไม่ไปทำงานก็จะไม่ได้รับค่าตอบแทน นอกจากนี้แล้วยังไม่มีการกำหนดวันหยุด วันลา และสวัสดิการสำหรับนักเรียน นักศึกษา ดังนั้นแสดงให้เห็นว่านักเรียน นักศึกษามีอิสระในการทำงานให้แก่นายจ้าง ไม่อยู่ในอำนาจบังคับบัญชา และไม่ต้องปฏิบัติตามกฎระเบียบของนายจ้าง อีกทั้งแม้นายจ้างจะต้องจ่ายค่าจ้างตามจำนวนชั่วโมงที่ลงทำงานไว้ก็ไม่ใช่กรณีที่นายจ้างใช้อำนาจบังคับบัญชา แต่เป็นการวางกฎเกณฑ์เพื่อให้การทำงานและคำนวณชั่วโมงทำงานได้ถูกต้องและมีประสิทธิภาพ ดังนั้นความสัมพันธ์ระหว่างนายจ้างและนักเรียนนักศึกษาจึงไม่ได้อยู่ในฐานะนายจ้างและลูกจ้างกัน นายจ้างไม่ต้องส่งเงินสมทบตามพรบ.ประกันสังคม พ.ศ. 2535 (คำพิพากษาศาลอุทธรณ์ชำนัญคดีพิเศษที่ 141/2562)

การเปลี่ยนแปลงผู้มีอำนาจอนุมัติในการลา ไม่เป็นการแก้ไขเพิ่มเติมข้อตกลงสภาพการจ้าง

การเปลี่ยนแปลงผู้มีอำนาจอนุมัติในการลา ไม่เป็นการแก้ไขเพิ่มเติมข้อตกลงสภาพการจ้าง การที่นายจ้างแก้ไขเพิ่มเติมข้อบังคับการทำงานฯ โดยเปลี่ยนแปลงผู้มีอำนาจอนุมัติให้ลูกจ้างลากิจฉุกเฉินหรือลาป่วยนั้น เป็นเพียงการเปลี่ยนผู้มีอำนาจอนุมัติการลาของลูกจ้างที่ทำให้การลาของลูกจ้างได้รับการพิจารณาจากผู้บังคับบัญชาในระดับสูงขึ้นไปเท่านั้น กรณีนี้ไม่ได้เป็นการเปลี่ยนแปลงวิธีการลาให้ยุ่งยากขึ้น ซึ่งถือเป็นอำนาจบริหารจัดการของนายจ้างที่มีอำนาจกระทำได้ตามที่เห็นสมควรเพื่อให้เกิดประโยชน์แก่องค์กร ดังนั้นจึงไม่เป็นการแก้ไขเพิ่มเติมข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้าง (คำพิพากษาศาลอุทธรณ์ชำนัญคดีพิเศษที่ 84/2561)

นายจ้าง..จ่ายเงินให้ลูกจ้างเพื่อแลกกับการให้ลูกจ้าง “ลงลายมือชื่อในใบลาออก” ไม่ได้ถือว่าเป็นการเลิกจ้างเสมอไป

นายจ้าง จ่ายเงินให้ลูกจ้างเพื่อแลกกับการให้ลูกจ้าง ลงลายมือชื่อในใบลาออก ไม่ได้ถือว่าเป็นการเลิกจ้างเสมอไป ในคดีนี้เรื่องมีอยู่ว่า ลูกจ้างมีพฤติการณ์เล่นอินเทอร์เน็ตเข้าดูเว็บไซต์ลามกอนาจารและเว็บไซต์เกี่ยวกับตารางการซื้อขายหุ้นในเวลาทำงาน มีความประพฤติทางด้านชู้สาวกับลูกจ้างของนายจ้างคนอื่นทั้งที่มีครอบครัวอยู่แล้ว ดังนั้นนายจ้างจึงเรียกลูกจ้างเข้าไปหาและแจ้งว่า “ผมนำเช็คมาให้ 3 เดือน ไม่ต้องมาทำงาน โดยจะจ่ายเงินให้ถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2557 แต่ต้องช่วยเซ็นเอกสารฉบับนี้ให้ผมด้วย เพื่อไปยืนยันกับบัญชีว่าคุณได้รับเงินสดนี้แล้ว” และลูกจ้างจึงได้ลงลายมือชื่อในหนังสือแจ้งความประสงค์จะลาออก โดยรับเงินสด 141,000 บาท อย่างไรก็ตาม ในขณะที่ลูกจ้างลงนาม ลูกจ้างได้ขีดฆ่าข้อความในหนังสือว่า “ลูกจ้างจะไม่เรียกร้อง ฟ้องร้องหรือกระทำการใดเพื่อให้เกิดความเสื่อมเสียหรือเสียหาย” ต่อมาลูกจ้างได้นำคดีมาฟ้องต่อศาลโดยอ้างว่าลูกจ้างลงลายมือชื่อในหนังสือลาออกโดยไม่สมัครใจ การกระทำของนายจ้างจึงถือว่าเป็นการเลิกจ้าง ศาลแรงงานพิจารณาแล้วเห็นว่า จากพฤติการณ์ไม่น่าเชื่อว่าถูกบังคับให้ลงลายมือชื่อในใบลาออก กรณีนี้จึงไม่ใช่การเลิกจ้าง ดังนั้นก่อนลงนามในหนังสือลาออกใดๆ ไม่ใช่ว่าลูกจ้างจะนำคดีมาฟ้องและอ้างว่าถูกนายจ้างบังคับขู่เข็ญได้เสมอไป ต้องพิจารณาข้อเท็จจริงประกอบด้วยว่าจากพฤติการณ์มีพฤติการณ์ที่เป็นการบังคับขู่เข็ญหรือไม่ ดังคดีตัวอย่างข้างต้นนั่นเอง (คำพิพากษาศาลอุทธรณ์ชำนัญคดีพิเศษที่ 3578/2561)

ถ่ายรูป โพสต์ข้อความลงเฟสบุ๊คไม่เหมาะสม อาจถูกเลิกจ้างโดยไม่จ่ายค่าชดเชยได้

ถ่ายรูป โพสต์ข้อความลงเฟสบุ๊คไม่เหมาะสม อาจถูกเลิกจ้างโดยไม่จ่ายค่าชดเชยได้ เรื่องมีอยู่ว่า ในเวลาทำงานปกติ ลูกจ้างได้ถ่ายรูปพนักงานระดับบังคับบัญชาและระดับบริหาร และพิมพ์ข้อความว่า “ผู้ชายหน้าตัวเมีย หน้า ห. หน้า ต. แย่งที่จอดรถกุเฉย มึนนะไอ้ควาย” และโพสต์ลงในเฟสบุ๊คไปยังเพื่อนร่วมงานในบริษัทและบริษัทในเครือของจำเลย ศาลวินิจฉัยว่า การที่ลูกจ้างพิมพ์ข้อความไปในลักษณะดังกล่าวถือเป็นคำด่าและคำหยาบคาย จึงถือเป็นการดูหมิ่นผู้อื่นด้วยการโฆษณา ทั้งนี้ แม้คนที่ถูกหมิ่นจะไม่ใช่ลูกจ้างของบริษัท แต่ก็เป็นลูกจ้างระดับบังคับบัญชาของบริษัทในเครือ ซึ่งถือว่าเป็นการประจานผู้อื่นต่อสื่อสังคมออนไลน์ที่มีนิยมใช้กันอย่างแพร่หลาย โดยไม่สนใจไยดีในความเดือดร้อนของผู้อื่นว่าจะถูกสังคมดูถูกเหยียดหยาม จึงถือเป็นความผิดร้ายแรง ดังนั้นนายจ้างเลิกจ้างลูกจ้างได้โดยไม่ต้องจ่ายค่าชดเชย เพราะฉะนั้นสำหรับใครที่เสพติดโซเชียลและชอบโพสต์รูปลงบ่อยๆ ต้องระวังการใช้งานให้ได้ดีๆ นะคะ (คำพิพากษาศาลอุทธรณ์ชำนัญคดีพิเศษที่ 73/2562)

จ้างแรงงานต่างด้าว ต้องมีใบอนุญาต

จ้างแรงงานต่างด้าว ต้องมีใบอนุญาต นายจ้างที่จ้างแรงงานต่างด้าวสัญชาติเมียนมา, ลาว กัมพูชา ทำงานโดยไม่มีใบอนุญาตทำงานหรือทำงานนอกเหนือจากที่มีสิทธิจะทำได้ นายจ้างมีความผิดจะต้องถูกดำเนินคดีตามกฎหมาย มีโทษปรับ 10,000 – 100,000 บาทต่อคนต่างด้าวที่จ้างหนึ่งคน และถ้ากระทำผิดซ้ำมีโทษหนักขึ้นและมีโทษทั้งจำทั้งปรับ และห้ามจ้างคนต่างด้าวทำงานเป็นเวลา 3 ปี ต้องแจ้งแรงงานต่างด้าวเข้าประกันสังคมและนำเงินส่งสบทบทุกเดือนด้วยนะคะ

แม้นายจ้างจะเสนอให้ออก แต่ถ้าลูกจ้างได้มีเวลาคิดไตร่ตรอง ได้ต่อรองขอค่าชดเชยเพิ่ม อาจเป็นการลาออกด้วยความสมัครใจ ไม่ถือเป็นเลิกจ้าง

แม้นายจ้างจะเสนอให้ออก แต่ถ้าลูกจ้างได้มีเวลาคิดไตร่ตรอง ได้ต่อรองขอค่าชดเชยเพิ่ม อาจเป็นการลาออกด้วยความสมัครใจ ไม่ถือเป็นเลิกจ้าง ในกรณีนี้ลูกจ้างฟ้องว่านายจ้างข่มขูหลอกลวงให้ลงนามในที่นายจ้างจัดเตรียมไว้ล่วงหน้า แต่ในขณะที่อยู่ในห้องประชุมลูกจ้างได้มีโอกาสและเวลาพิจารณาคิดไตร่ตรองก่อนตัดสินใจดำเนินการตามเจตนารมณ์ของลูกจ้าง และยังได้ต่อรองขอเพิ่มค่าชดเชยจากนายจ้างและนายจ้างก็ตกลงตามเงื่อนไขของลูกจ้างจนเป็นที่พอใจแล้ว ลูกจ้างจึงกรอกแบบฟอร์มใบลาออกและร่วมกับนายจ้างทำข้อตกลงสิ้นสุดสภาพการจ้าง พฤติการณ์ดังกล่าวจึงเป็นการที่ลูกจ้างยอมรับเงินและสิทธฺประโยชน์ต่างๆ ที่นายจ้างมอบให้เพื่อแลกเปลี่ยนในการตัดสินใจลาออกจากการเป็นลูกจ้างด้วยความสมัครใจ ตามพิพากษาศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษที่ 191/2560 จากคำพิพากษานี้ ศาลไม่ได้พิจารณาจากพฤติการณ์ของนายจ้างว่าเสนอให้ลูกจ้างกรอกหนังสือลาออกแล้วจึงถือว่าเป็นการเลิกจ้างเท่านั้น แต่พิจารณาพฤติการณ์ของลูกจ้างด้วยนะคะ

เสพกัญชาในวันที่กฎหมายไม่ถือว่าเป็นยาเสพติดแล้วนายจ้างสามารถเลิกจ้างได้หรือไม่ ?

เสพกัญชาในวันที่กฎหมายไม่ถือว่าเป็นยาเสพติดแล้วนายจ้างสามารถเลิกจ้างได้หรือไม่?? คำถามนี้มีทั้งใน inbox จากแฟนเพจและบริษัทที่พวกเราเป็นที่ปรึกษาอยู่นะคะก่อนที่จะตอบคำถามก็ขอแสดงความเห็นหน่อยว่าเดี๋ยวน้ำท่อมบ้างเดี๋ยวกัญชาบ้างพอนายจ้างเรียกเตือนก็บอกว่ามันถูกกฎหมายแล้วนายจ้างไม่มีสิทธิ์เลิกจ้างเพราะถามถึงรายละเอียดลึกๆก็กลายเป็นว่าเสพกัญชา จนทำงานไม่ได้เดี๋ยวเยอะเดี๋ยวลอยสวนน้ำท่อมก็ไม่ใช่น้ำท่อมต้มธรรมดาเป็นชนิด 4 x 100 เลยทีเดียว… คืองานช่วงนี้ก็หายากอยู่แล้วเศรษฐกิจก็ยังเหี้ยมเลย.. อยู่ให้มันดีๆในขณะทำงานไม่เอาตัวไปยุ่งเกี่ยวไม่เอาไปเสี่ยง มันดีกว่าเห็นๆ… บ่นจบละขอเข้าเรื่องกันหน่อย.. ในปัจจุบันนี้ก็อย่างที่ทราบกันนั่นแหละค่ะว่ากัญชาและใบกระท่อมไม่ได้เป็นสารเสพติดเช่นเคยแล้ว ดังนั้นแม้ลูกจ้างจะฝ่าฝืนข้อบังคับ ประพฤติชั่วยุ่งเกี่ยวกับยาเสพติด การเตือนด้วยข้อหานี้ก็ย่อมไม่ชอบและไม่เป็นความผิดร้ายแรงเหมือนเมื่อก่อนหน้านี้แล้ว แต่ก็ใช่ว่านายจ้างจะทำอะไรไม่ได้นะคะ นายจ้างเองก็จะต้องสืบสาวราวเรื่อง ถึงข้อเท็จจริงว่าการเสพกัญชาหรือดื่มน้ำท่อมนั้นมันมีผลกระทบกับการทำงานหรือเปล่า ถ้าจากตัวอย่างที่มีคนมาปรึกษาแล้วเขียนไปด้านบนนั้นคือ เสพกัญชาจนเยิ้มทำงานไม่ได้ พูดคุยไม่รู้เรื่องหรือดื่มน้ำกระท่อมที่มีส่วนผสมของสารเสพติดอื่นๆหรือมีส่วนผสมของแอลกอฮอล์จนทำงานไม่ได้ประสิทธิภาพในการทำงานลดลงอาจเกิดอุบัติเหตุอุบัติภัยในงานที่ทำอยู่หรือแม้แต่เกิดผลกระทบต่อเพื่อนร่วมงาน เช่น นี้ก็อาจถือว่าเป็นความผิดได้แต่จะถือว่าเป็นความผิดที่สามารถเลิกจ้างได้ทันทีโดยไม่ต้องจ่ายค่าชดเชยไหมก็ต้องมาพิจารณาก่อนว่าปัจจุบันระเบียบภายในได้แก้ไขหรือยัง รวมทั้งขึ้นอยู่กับสถานการณ์ที่เกิดขึ้นตำแหน่งงานลักษณะของธุรกิจนายจ้างก็ต้องดูรวมประกอบกันด้วย ว่าร้ายแรงหรือไม่เพราะถ้าร้ายแรงก็สามารถเลิกจ้างได้โดยไม่ต้องจ่ายค่าชดเชยเช่นกัน คืออันนี้ก็ฝากนะในมุมของลูกจ้าง รู้อยู่แล้วว่างานการหายากเศรษฐกิจก็ค่อนข้างแย่ หากอะไรที่ไปยุ่งเกี่ยวแล้วมันไม่ดีหรือมีแนวโน้มที่จะทำให้ตัวเองสุ่มเสี่ยงต่อการถูกหนังสือเตือนและเลิกจ้างก็อย่าไปยุ่งมันเลยค่ะทำมาหากินขยันประหยัดอดออม พยุงตัวเองให้รอดในปี 2 ปีนี้ไปให้ได้นะคะ ส่วนตัวนายจ้างเองอ่านบทความนี้จบแล้วอาจไปปรับปรุงข้อบังคับและสัญญาจ้างด้วยแต่หากไม่มีเวลาส่งงานมาให้ทำได้ค่ะ ทนายยังว่างจ้างได้

ผ่านทดลองงาน แต่นายจ้างไม่ขึ้นเงินเดือนให้ แบบนี้ผิดกฎหมายไหมคะ ?

ผ่านทดลองงาน แต่นายจ้างไม่ขึ้นเงินเดือนให้ แบบนี้ผิดกฎหมายไหมคะ ? คุ้นๆว่าคำถามนี้เคยตอบไปแล้ว แต่ในเมื่อมีคนถามมาอีกรอบนึงก็จะตอบให้ ในเรื่องผ่านทดลองงานนี้หลายๆคนก็จะเข้าใจว่าเมื่อผ่านทดลองงานแล้วย่อมจะต้องได้สิทธิ์ที่ดีขึ้นทกว่าตอนที่เป็นพนักงานในช่วงทดลองงาน เช่นได้เงินเดือนเพิ่มขึ้นได้สวัสดิการต่างๆของบริษัทเพิ่มขึ้น จึงเกิดเป็นคำถามว่า ก็เมื่อพ้นระยะเวลาทดลองงานแล้วแต่นายจ้างไม่ปรับเงินเดือนให้แบบนี้ถือว่าผิดไหมแจ้ง กรมสวัสดิการคุ้มครองแรงงานหรือฟ้องต่อศาลแรงงาน ได้หรือเปล่า คำตอบคือ “หากไม่ได้ตกลงไว้ในสัญญาก็ไม่ได้ค่ะ” เนื่องจากกฎหมายไม่เคยกำหนดระยะเวลาทดลองงานไว้ แล้วไม่ได้บอกด้วยว่าเมื่อทดลองงานผ่านแล้วจะได้อะไรเพิ่มเติมขึ้นดังนั้นจึงเป็นสิทธิ์ของลูกจ้างที่จะต่อรองกับนายจ้างตั้งแต่แรกเริ่มเข้าทำงานและให้ระบุไว้ในสัญญาจ้างหรือหากมีภาระหน้าที่ขอบเขตงานเกินกว่าที่ตกลงไว้เมื่อครั้งสมัครงานและทำงานได้ดีจนผ่านช่วงทดลองงานก็อาจจะหารือกับหัวหน้างานถึงเหตุผลและความจำเป็นเพื่อขอปรับดูค่ะแต่ทั้งนี้ทั้งนั้นก็ไม่ได้มีผลผูกพันว่าบริษัทจะต้องให้เมื่อผ่านช่วงทดลองงานนะคะ

จะให้ไม่ผ่านทดลองงานก็ต้องบอกกล่าวล่วงหน้า!!

จะให้ไม่ผ่านทดลองงานก็ต้องบอกกล่าวล่วงหน้า!! หลายครั้งที่นายจ้างหรือตัวแทนนายจ้างบอกว่ากฎหมายไม่ยุติธรรมเลยก็ลูกจ้างทำงานไม่ดีจะให้ไม่ผ่านทดลองงานทำไมต้องแจ้งล่วงหน้า… เอาจริงๆนะแก มันไม่ได้มายุติธรรมหรอกแต่มันก็มีขั้นตอนของมันไง นึกในมุมลูกจ้างบ้างว่าถ้าเกิดว่าวันนี้ทำงานแล้วคิดว่าเราทำเต็มที่อยู่ดีๆบอกว่ายังไม่เป็นไปตามเป้ายังไม่เข้าตา พรุ่งนี้ไม่ต้องมาทำงานแล้วนะและเธอก็ไม่มีสิทธิ์ได้อะไรทั้งนั้นเพราะเธออยู่ในช่วงทดลองงานเธอเซ็นเอกสารไว้แล้ว… ดังนั้นกฎหมายเขาจึงคุ้มครองไว้ว่าช่วยบอกลูกจ้างซัก 1 งวดการจ่ายค่าจ้างเถอะให้เขาได้เตรียมตัวเตรียมใจไว้ด้วยบางคนเพื่อมาทำงานก็ย้ายที่อยู่เป็นผีตองเหลืองมาใกล้ที่ที่ทำงานเลยเขามีการลงทุนมีการมัดจำค่าหอไปแล้ว อันนี้ต้องเข้าใจเขาด้วย ส่วนในมุมนายจ้างเองกฎหมายก็ไม่ได้เอาเปรียบนายจ้างเลยนะที่ต้องบอกกล่าวล่วงหน้าไม่น้อยกว่า 1 งวดการจ่ายค่าจ้างเพียงแต่นายจ้างเองก็จะต้องเป็นคนที่เข้าใจในเรื่องราวเหล่านี้ เช่น ทำงานร่วมกันมา 30 วันถ้ามองเราว่าน้องเขายังมีความเข้าใจไม่ตรงกับเราทำงานไม่เป็นไปตามเป้าอาจจะต้องเรียกเขาเข้ามาเจรจาและแนะนำเขาสอนงานเขาตำหนิตักเตือนเขาแล้วแต่กรณีไปแล้วก็ดูไปอีกสักระยะเวลานึงเช่นดูไปอีก 30 วัน (60วันละนะ) แล้วถ้าคราวนี้เขายังทำงานไม่ดีอีกไม่ว่าจะด้วยนิสัยทัศนคติหรือความสามารถที่อาจจะไม่ตรงกับงานก็แจ้งเขาล่วงหน้าเลยว่าเดือนหน้าไม่ต้องมาทำงานแล้วนะ (อีก 30วัน) ซึ่งจริงๆกฎหมายไม่ได้ให้แจ้ง 1 เดือนด้วยนะกฎหมายกำหนดให้แจ้ง 1 งวดการจ่ายค่าจ้างนั่นหมายถึงว่าถ้าจ่ายราย 15 วันก็แจ้งล่วงหน้า 1 งวดการจ่ายค่าจ้างของ 15 วันนั้น ก็ต้องใจเขาใจเรานิดนึง แล้วอ่านมาถึงตรงนี้อย่ามาบอกว่าทนายฝ้ายไม่เข้าใจหรอกเพราะว่าไม่เคยเป็นนายจ้าง…แกรู้ได้ยังไงฉันจ่ายค่าจ้างอยู่ทุกเดือน ปัญหาในการบริหารการจ้างก็มีแต่สุดท้ายเราแนะนำว่าการอยู่ร่วมกันไม่ว่าสถานะนายจ้างลูกจ้างในฐานะเพื่อนพี่น้องที่ทำงานร่วมกันการสื่อสารอย่างตรงไปตรงมาเกรงใจในจุดที่ควรเกรงใจและไม่จำเป็นต้องเกรงใจในเรื่องที่ไม่ควรต้องเกรงใจก็ยังเป็นการสื่อสารที่ส่งประสิทธิภาพที่สุด สรุปนะไม่ว่าจะทำงานอยู่ในช่วงทดลองงานหรือ เป็นพนักงานประจำแล้วหากจะมีการเลิกจ้างก็ต้องบอกก่อน 1 งวดการจ่ายค่าจ้างไม่เช่นนั้นนายจ้างก็จะต้องเสียค่าตกใจให้แก่ลูกจ้าง.. ส่วนข้าตกใจได้ยังไงบ้างได้แค่ 1 เดือนหรือได้มากกว่านั้นเดี๋ยวไว้มาเล่าให้ฟังวันหลังนะใครสนใจจะฟังกด 1 ไว้เลย

ขายของได้ไม่ตรงตามเป้า ไม่เข้าตามยอด นายจ้างสามารถเลิกจ้างโดยไม่จ่ายค่าชดเชยได้หรือไม่ ?

ขายของได้ไม่ตรงตามเป้า ไม่เข้าตามยอด นายจ้างสามารถเลิกจ้างโดยไม่จ่ายค่าชดเชยได้หรือไม่ ? ” พี่ทนายคะหนูเป็นเซลล์ค่ะ ในสัญญาจ้างระบุไว้ว่าถ้าหนูทำยอดขายได้ไม่ถึงเป้านายจ้างมีสิทธิ์เลิกจ้างโดยไม่ต้องบอกล่วงหน้าแล้วก็ไม่ต้องจ่ายค่าชดเชย ในกรณีนี้นายจ้างทำได้ไหมคะ พอดีหนูอ่านเพจพี่มาหนูเข้าใจว่าทำไม่ได้แต่ในสัญญาระบุแบบนั้น บางคนเลยบอกว่าหากสัญญาระบุข้อบังคับได้…ยังไงช่วยตอบหนูทีนะคะ” ถามชัดเจนแบบนี้แล้วมีการหาข้อมูลเบื้องต้นด้วย ถ้าไม่ตอบเลยก็จะใจร้ายไปหน่อย และเนื่องจากว่าคำถามนี้เป็นประโยชน์ และมีคนถามบ่อยมาก เลยนำมาตอบหน้าเพจเพื่อเป็นความรู้ให้แก่บุคคลอื่นด้วย ก่อนอื่น ต้องบอกก่อนว่าการทำสัญญาหากไม่ขัดกับกฎหมาย จะระบุอะไรลงไปก็มีผลใช้บังคับแต่จะบังคับได้แค่ไหนก็อาจจะต้องดูอีกเรื่องนึงด้วย พิจารณาเป็นเรื่องๆไปแต่ตามเรื่องที่น้องสอบถามเข้ามาในวันนี้เรื่องที่ขายไม่ได้ตามเป้า นายจ้างมีสิทธิ์เลิกจ้างได้โดยไม่ต้องบอกกล่าวล่วงหน้าและไม่ต้องจ่ายค่าชดเชยนั้นในสัญญาข้อนี้แม้น้องเซ็นไปแล้ว “ก็ไม่มีผลทางกฎหมายค่ะ” หากจะมีการเลิกจ้าง นายจ้างยังคงต้องบอกเลิกจ้างก่อน 1 งวดการจ่ายค่าจ้างและหากน้องทำงานกับเขาครบ 120 วันแล้วการเลิกจ้างนั้นไม่ได้เกิดจากความผิดทางวินัยไม่ได้มีการเตือนที่ถูกต้อง หรือไม่ได้เป็นความผิดร้ายแรง การสละสิทธิ์ดังกล่าวก็เป็นโมฆะหรือถ้าให้พูดเป็นภาษาบ้านๆก็คือว่าต่อให้น้องเซ็นไปนายจ้างก็บังคับใช้ไม่ได้ น้องยังมีสิทธิ์นำไปฟ้องร้องต่อศาลแรงงานหรือร้องเรียนกับกรมสวัสดิการคุ้มครองแรงงานเพื่อเรียกสิทธิ์ตามกฎหมายค่ะ ดังเช่นในคำพิพากษาที่ 504/2525 ที่ศาลได้โปรดวินิจฉัยว่าแม้ว่านายจ้างกับลูกจ้างจะทำข้อตกลงดังกล่าวเรื่องยอดขายว่าจะต้องทำให้ได้ตามเป้าแต่ข้อสัญญาดังกล่าวก็ขัดต่อกฎหมายจึงมีผลเป็นโมฆะเพราะขัดต่อกฎหมายคุ้มครองแรงงาน หวังว่าคำตอบนี้จะเป็นประโยชน์กับน้องที่ถามเข้ามาแล้วเป็นประโยชน์กับท่านผู้อ่านคนอื่นด้วยนะคะ