กรุณารอสักครู่

 

HomeCategoryกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ Archives - Page 6 of 11 - บริษัท ลีกัล คลินิก แอนด์ เอดดูเคชั่น จำกัด

ถ้าตั้งใจจะหย่าขาดแล้ว ห้ามใจอ่อน!! มิฉะนั้นอาจหมดสิทธิในการฟ้องหย่า

ถ้าตั้งใจจะหย่าขาดแล้ว ห้ามใจอ่อน!! มิฉะนั้นอาจหมดสิทธิในการฟ้องหย่า คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2561/2561 แม้จะฟังได้ว่าข้อกล่าวหาของโจทก์เป็นเหตุหย่าตามกฎหมายก็ตาม แต่เมื่อโจทก์ได้ให้อภัยในการกระทำของจำเลยแล้ว สิทธิฟ้องหย่าของโจทก์ย่อมหมดไปตาม ป.พ.พ. มาตรา 1518 โจทก์นำ จ.มาอยู่ในบ้านโจทก์และอยู่กินด้วยกันฉันสามีภรรยาจนมีบุตรด้วยกัน 1 คน โดยโจทก์ให้ใช้นามสกุลของโจทก์ พฤติการณ์ดังกล่าวถือได้ว่าโจทก์อุปการะเลี้ยงดูหรือยกย่องหญิงอื่นฉันภรรยา เมื่อไม่ปรากฏว่าจำเลยได้ให้อภัยในการกระทำของโจทก์ จำเลยจึงมีเหตุฟ้องหย่าโจทก์ได้ตาม ป.พ.พ. มาตรา1516 (1) เหตุแห่งการหย่าเป็นความผิดของโจทก์ฝ่ายเดียว ทั้งจำเลยไม่ได้ประกอบอาชีพอะไรโดยโจทก์เคยให้เงินจำเลยเป็นค่าใช้จ่าย การที่โจทก์หย่ากับจำเลยทำให้จำเลยยากจนลง จำเลยจึงมีสิทธิได้รับค่าเลี้ยงชีพจากโจทก์ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1526

จะฟ้องใครฐานฉ้อโกง ให้ดูว่าครบตามองค์ประกอบนี้ไหม !!

จะฟ้องใครฐานฉ้อโกงให้ดูว่าครบตามองค์ประกอบตามนี้ไหม!! ความผิดฐานฉ้อโกงประชาชน ไม่ได้ถือเอาจำนวนผู้เสียหายที่ถูกหลอกลวงว่ามากหรือน่้อย แต่ถือเอาเจตนาแสดงข้อความอันเป็นเท็จต่อประชาชนเป็นสำคัญ และต้องกระทำการดังกล่าวด้วยตนเองมาแต่ต้นทุกครั้งเพียงแต่จำเลยแสดงข้อความอันเป็นเท็จแก่ผู้เสียหายบางคนแล้วมีการบอกกันต่อๆไปเป็นทอดๆ เมื่อผู้เสียหายคนหลังทราบข่าวและมาสอบถามจำเลย จำเลยได้ยืนยันแสดงข้อความอันเป็นเท็จนั้น และให้ผู้เสียหายไปติดต่อที่แฟลตทุกครั้ง อันถือได้ว่าเป็นสำนักงานของจำเลยกับพวก แม้ไม่มีประกาศรับสมัครงานปิดไว้ก็ตาม ก็เป็นการฉ้อโกงประชาชน คำพิพากษาฏีกา ๕๒๙๒/๒๕๔๐ ข้อสังเกต ๑. ฉ้อโกงประชาชนไม่ได้ถือเอาจำนวนคนมาเป็นเกณท์พิจารณาว่ามีคนเท่าใดจึงถือเป็นประชาชน แต่ถือเอาลักษณะการกระทำว่ามีการแสดงข้อความเท็จที่ประชาชนโดยทั่วไปอาจทราบและหลงเชื่อและอาจถูกหลอกได้ ๒.การหลอกลวงดังกล่าวไม่จำต้องกระทำด้วยตัวเองมาตั้งแต่ต้น อาจมาทำในช่วงหลัง โดยมีการพูดต่อๆกันมาถึงการหลอกลวงดังกล่าว แต่เมื่อจำเลยมายืนยันข้อความดังกล่าวแม้จะไม่ได้กระทำมาตั้งแต่ต้น ก็เป็นความผิดฐานฉ้อโกงประชาชนได้ ๓.ในสำนักงานของจำเลยแม้ไม่มีการปิดประกาศข้อความอันเป็นการหลอกลวงประชาชนก็ตาม แต่พฤติการณ์ที่ยืนยันด้วยปากเปล่าถึงข้อความหลอกลวงอันเป็นเท็จที่มุ่งหลอกลวงคนทั่วไป ก็เป็นการฉ้อโกงประชาชนได้ ๔.ความผิดดังกล่าวเป็นความผิดที่เป็นความผิดอาญาแผ่นดิน ไม่ใช่ความผิดต่อส่วนตัว ๕.การหลอกลวงดังกล่าวหากมีการหลอกลวงผ่านทางสื่อสาธารณะต่างๆ ไม่ว่าเป็นหนังสือพิมพ์ วิทยุหรือโทรทัศน์ แล้วผู้เสียหายหลงเชื่อ และการหลงเชื่อ ได้ไปซึ่งเงินของผู้เสียหาย ทุกท้องที่ซึ่งผ่านทางสื่อเป็นสถานที่ความผิดเกิดได้หมดเหมือนการลงหนังสือพิมพ์ด้วยข้อความหมิ่นประมาททุกท้องที่ซึ่งหนังสือพิมพ์ไปถึงเป็นท้องที่เกิดเหตุได้หมด เป็นกรณีที่ความผิดส่วนหนึ่งเกิดในท้องที่หนึ่งความผิดอีกส่วนหนึ่งเกิดในอีกท้องที่หนึ่งและเป็นความผิดต่อเนื่องและกระทำการต่อเนื่องในท้องที่ต่างๆกันมากกว่าท้องที่หนึ่งขึ้นไป พนักงานสอบสวนทุกท้องที่มีอำนาจในการสอบสวน แต่หากยังจับผู้กระทำผิดไม่ได้ พนักงานสอบสวนท้องที่ที่พบความผิดก่อน เป็นพนักงานสอบสวนผู้รับผิดชอบในการสอบสวน แต่หากยังจับผู้กระทำผิดแล้วได้ พนักงานสอบสวนในท้องที่ที่จับกุมได้ เป็นพนักงานสอบสวนที่รับผิดชอบ ในกรณีนี้พนักงานอัยการจะรวมสำนวนเพื่อพิจารณาสั่งในคราวเดียวกัน

เป็นผู้จัดการมรดกแต่ไม่แบ่งทรัพย์มรดก ระวังคุก !!

เป็นผู้จัดการมรดกแต่ไม่แบ่งทรัพย์มรดก ระวังคุก !! ผู้จัดการมรดกตามคำสั่งศาล รู้ว่าทรัพย์มรดกต้องแบ่งให้ทายาททุกคนเท่าๆกัน แต่ไม่ยอมแบ่งทรัพย์มรดกให้ แต่กลับโอนเป็นของตนแล้วโอนต่อให้นาย ส. เป็นกรณีได้รับมอบหมายให้จัดการทรัพย์สินของผู้อื่นตามคำสั่งศาล กระทำผิดหน้าที่ด้วยการโอนทรัพย์สินนั้นเป็นของตัวเองและโอนต่อให้คนอื่นโดยทุจริต เป็นเหตุให้เกิดความเสียหายในลักษณะที่เป็นทรัพย์สินแก่ทายาท มีความผิดฐานยักยอกทรัพย์ ตาม ป.อ. มาตรา ๓๕๒,๓๕๔ คำพพิพากษาฏีกา ๑๒๘/๒๕๓๗ ข้อสังเกต ๑. ผู้จัดการมรดกเป็นเพียงตัวแทนของทายาทที่จะเก็บรวบรวมทรัพย์คนตายเพื่อโอนให้แก่ทายาทโดยธรรม แต่คนทั่วไปเข้าใจว่า เมื่อตนเป็นผู้จัดการมรดกแล้วสามารถนำทรัพย์ออกจำหน่ายได้ ๒. การที่ผู้จัดการมรดกเบียดบังเอาทรัพย์มรดกเป็นของตนเองอันเป็นความผิดตามกฏหมายแล้ว ถือได้ว่าการกระทำดังกล่าวละเลยไม่กระทำการตามหน้าที่ของผู้จัดการมรดก เป็นเหตุให้ผู้มีส่วนได้เสียคนหนึ่งคนใดร้องขอต่อศาลเพื่อสั่งถอนผู้จัดการมรดกได้ แต่การร้องขอต้องกระทำก่อนมีการแบ่งปันทรัพย์มรดกเสร็จ ๓.ผู้จัดการมรดกกฏหมายให้รับผิดทางแพ่งเสมือนเป็นตัวแทนของทายาท จึงต้องรับผิดต่อทายาทเนื่องจากเหตุที่ตนไม่กระทำการตามหน้าที่ในความเสียหายใดๆที่พึงเกิดขึ้น

สินส่วนตัว vs สินสมรส

สินส่วนตัว vs สินสมรส สินส่วนตัว ได้แก่ ทรัพย์สิน ๑.มีอยู่ก่อนสมรส(ก่อนจดทะเบียนสมรส ) ๒.เครื่องใช้สรอยส่วนตัว เครื่องแต่งกาย เครื่องประดับกายตามควรแก่ฐานะ เครื่องมือเครื่องใช้ที่จำเป็นในการประกอบอาชีพหรือวิชาชีพของคู่สมรสฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง ๓.ได้มาระหว่างสมรสโดยการรับมรดกหรือการให้โดยเสนหา ๔.ที่เป็นของหมั้น สินสมรสได้แก่ทรัพย์สิน ๑.ที่คู่สมรสได้มาระหว่างสมรส ๒.ได้มาระหว่างสมรสโดยพินัยกรรมหรือการยกให้เป็นหนังสือ เมื่อหนังสือยกให้หรือพินัยกรรมระบุให้เป็นสินสมรส(หากไม่ได้ระบุก็เป็นสินส่วนตัว) ๓.ดอกผลสินส่วนตัว(ก่อนจดทะเบียนสมรสมีสวนมะม่วง พอจดทะเบียนสมรสมะม่วงออกผล ผลที่เกิดเป็นสิ่งที่เกิดตามธรรมชาติของทรัพย์ซึ่งได้มาจากตัวทรัพย์คือต้นมะม่วง โดยการมีและใช้ทรัพย์นั้นตามปกตินิยม สามารถถือเอาได้เมื่อขาดจากตัวทรัพย์คือต้นมะม่วง ผลมะม่วงจึงเป็นดอกผลของสินส่วนตัวจึงเป็นสินสมรสแม้ต้นมะม่วงเป็นสินส่วนตัวก็ตาม เมื่อขายมะม่วงได้เงิน เงินดังกล่าวจึงเป็นสินสมรส หรือกรณีมีเงินฝากธนาคารก่อนจดทะเบียนสมรส เมื่อมีดอกเบี้ยเกิดหลังวันจดทะเบียนสมรส ดอกเบี้ยเงินฝากเป็นทรัพย์หรือประโยชน์ที่ได้มาเป็นครั้งตราวแก่เจ้าของทรัพย์จากผู้อื่น(ธนาคาร)เพื่อที่การได้ใช้ทรัพย์นั้น(คือเอาเงินฝากเราไปหมุนให้ได้กำไรเกิดดอกเบี้ยเอามาให้เรา) ซึ่งสามารถคำนวณและถือเอาได้เป็นรายวันหรือตามระยะเวลาที่กำหนด(คือระยะเวลาที่ฝากเช่นครบ ๑ ปีจะได้ดอกเบี้ย) ดอกเบี้ยเงินฝากจึงเป็นดอกผลนิตินัย เมื่อเป็นดอกผลที่ได้มาระหว่างสมรส ดอกเบี้ยจึงเป็นสินสมรสในขณะที่ต้นเงินยังคงเป็นสินส่วนตัวอยู่ กรณีที่เป็นข้อสงสัยว่าทรัพย์สินบางอย่างเป็นสินสมรสหรือไม่ ให้ัสันนิษฐานไว้ก่อนว่าเป็นิสินสมรส(คือใช้คำว่าสันนิษฐานหากมีหลักฐานว่าไม่ใช่สินสมรสก็เป็นสินส่วนตัวครับ) ดอกเบี้ยสินส่วนตัว เป็นสินสมรส เช่น ฝ่ายชายมีเงินฝากในธนาคาร ๑ ล้านบาท ครั้นแต่งงานแล้วจดทะเบียนสมรสดอกเบี้ยของเงิน ๑ ล้านบาทที่เกิดภายหลังจดทะเบียนสมรสเป็นสินสมรส ส่วนต้นเงิน ๑ ล้านบาทยังคงเป็นสินส่วนตัวของฝ่ายชาย

การตีความ “ถ้อยคำ” ในประมวลกฎหมายอาญา ต้องตีความโดยเคร่งครัด

การตีความ “ถ้อยคำ” ในประมวลกฎหมายอาญา ต้องตีความโดยเคร่งครัด คำพิพากษาฎีกาที่ 456/2509 คำว่า สืบสันดาน ตามพจนานุกรม หมายความว่า สืบเชื้อสายมาโดยตรงและตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1586, 1587, 1627 แสดงว่าบุตรบุญธรรมย่อมมีฐานะแตกต่างกับบุตรชอบด้วย กฎหมายของผู้รับบุตรบุญธรรมและผู้รับบุตรบุญธรรมก็มีฐานะต่างกับบุพการีโดยตรงของบุตรบุญธรรมอยู่หลายประการ มาตรา 1586, 1627 เป็นบทบัญญัติพิเศษให้สิทธิบางประการแก่บุตรบุญธรรมในทางแพ่งเกี่ยวกับสัมพันธ์ทางครอบครัวและมรดกของผู้รับบุตรบุญธรรมเท่านั้น ต้องใช้โดยเคร่งครัด เฉพาะการตีความถ้อยคำในประมวลกฎหมายอาญาก็ต้องตีความโดยเคร่งครัดจึงหาชอบที่จะนําบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาใช้ตีความคำว่า ผู้สืบสันดาน ตามป.อ.มาตรา 71 วรรค 2 ไม่ บุตรบุญธรรมจึงไม่ใช่ผู้สืบสันดานกระทำต่อบุพการรตาม ป.อ.มาตรา 71 จึงยอมความไม่ได้

การทำสัญญาประนีประนอมยอมความในศาลเพื่อให้ศาลมีคำพิพากษาตามยอมต้องทำอย่างรอบครอบและรัดกุม เพราะหากนำคดีเรื่องเดิมมารื้อร้องฟ้องกันใหม่จะเป็น “ฟ้องซ้ำ”

การทำสัญญาประนีประนอมยอมความในศาลเพื่อให้ศาลมีคำพิพากษาตามยอมต้องทำอย่างรอบครอบและรัดกุม เพราะหากนำคดีเรื่องเดิมมารื้อร้องฟ้องกันใหม่จะเป็น “ฟ้องซ้ำ” คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6221/2537 จำเลยเคยฟ้องโจทก์ขอให้ส่งมอบสินส่วนตัวและแบ่งสินสมรสโจทก์ให้การว่าโจทก์เป็นหนี้ธนาคารซึ่งโจทก์กู้มาใช้ในครอบครัว หากต้องแบ่งสินสมรสให้จำเลยแล้วต้องหักเงินดังกล่าวกึ่งหนึ่งให้โจทก์ด้วย ต่อมาโจทก์จำเลยทำสัญญาประนีประนอมยอมความโดยไม่ได้กล่าวถึงหนี้ดังกล่าวศาลชั้นต้นพิพากษาตามยอม คดีถึงที่สุด การที่โจทก์นำหนี้สินซึ่งเป็นประเด็นข้อพิพาทในคดีก่อนมาฟ้องเป็นคดีนี้อีก จึงเป็นการรื้อร้องฟ้องกันอีกในประเด็นที่ได้วินิจฉัยโดยอาศัยเหตุอย่างเดียวกันเป็นฟ้องซ้ำตาม ป.วิ.พ. มาตรา 148 วรรคแรก คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4801/2546 คดีก่อนโจทก์ฟ้องว่าจำเลยอาศัยอยู่ในที่ดินและบ้านของโจทก์ขอให้ขับไล่ แต่เมื่อโจทก์และจำเลยได้ตกลงทำสัญญาประนีประนอมยอมความและศาลพิพากษาตามยอมว่าโจทก์ตกลงโอนที่ดินและบ้านพิพาทให้จำเลย โดยจำเลยยอมชำระเงินจำนวน 600,000 บาท ข้อโต้แย้งสิทธิตามคำฟ้อง คำให้การและฟ้องแย้งได้ถูกแปลงเป็นสัญญาประนีประนอมยอมความ ถือว่าประเด็นแห่งคดีได้มีการวินิจฉัยเสร็จเด็ดขาดไปแล้วโดยคำพิพากษาตามยอม โจทก์จำเลยมีหน้าที่ปฏิบัติตามนั้น จำเลยจึงครอบครองที่ดินและบ้านพิพาทโดยอาศัยสัญญาประนีประนอมยอมความ เมื่อจำเลยผิดสัญญาฯ โจทก์ย่อมมีสิทธิบังคับคดีให้จำเลยชำระเงินจำนวน 600,000 บาทในคดีดังกล่าว แต่การที่โจทก์ฟ้องจำเลยเป็นคดีนี้อ้างว่าจำเลยผิดสัญญาประนีประนอมยอมความ ขอให้บังคับจำเลยและบริวารออกจากที่ดินและบ้านพิพาท เป็นคำฟ้องที่มีสภาพแห่งข้อหาและข้ออ้างที่อาศัยเป็นหลักแห่งข้อหาที่เกิดขึ้นใหม่จากการที่จำเลยทำสัญญาประนีประนอมยอมความในคดีก่อน ซึ่งจำเลยผิดสัญญาและเป็นเรื่องที่โจทก์โต้แย้งสิทธิของจำเลยนอกเหนือจากการบังคับคดีตามคำพิพากษาตามคำฟ้องคดีนี้จึงมีประเด็นที่ต้องวินิจฉัยโดยอาศัยเหตุคนละอย่างกับคดีก่อน ฟ้องโจทก์คดีนี้จึงไม่เป็นฟ้องซ้ำ

หากศาลมีคำพิพากษาตามยอมแล้ว จำเลยผิดนัดไม่ชำระหนี้ให้ตรงตามกำหนด แม้ภายหลังจำเลยจะนำเงินมาชำระหนี้ โจทก์ก็มีสิทธิบังคับคดีได้

หากศาลมีคำพิพากษาตามยอมแล้ว จำเลยผิดนัดไม่ชำระหนี้ให้ตรงตามกำหนด แม้ภายหลังจำเลยจะนำเงินมาชำระหนี้ โจทก์ก็มีสิทธิบังคับคดีได้ คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4355/2539 คำพิพากษาตามสัญญาประนีประนอมยอมความ ได้กำหนดวันและจำนวนหนี้ที่ต้องชำระไว้แน่นอน เมื่อจำเลยไม่ชำระหนี้ภายในกำหนด ถือว่าจำเลยผิดนัดไม่ปฏิบัติให้ถูกต้องตามคำพิพากษา โจทก์มีอำนาจที่จะบังคับคดีในยอดเงินที่จำเลยค้างชำระพร้อมดอกเบี้ยได้ทันที แม้ว่าหลังผิดนัดไม่กี่วันจำเลยได้ชำระหนี้ให้โจทก์และงวดต่อไปก็ชำระให้โจทก์ตรงตามคำพิพากษาก็ไม่ทำให้จำเลยพ้นจากการเป็นผู้ผิดนัด โจทก์มีสิทธิที่จะบังคับคดียึดทรัพย์ขายทอดตลาดได้ ถ้าทรัพย์ที่ยึดเป็นของ ธ.ก็เป็นเรื่องของ ธ.ผู้ได้รับความเสียหายที่จะดำเนินการตามสิทธิของตนที่มีอยู่มิใช่เป็นเรื่องของจำเลยที่จะมาร้องขอให้เพิกถอนการยึด

ถ้าลูกหนี้ไม่มีทรัพย์สินให้ยึดทรัพย์บังคับคดีได้เลย เจ้าหนี้จะทำยังไง ?

ถ้าลูกหนี้ไม่มีทรัพย์สินให้ยึดทรัพย์บังคับคดีได้เลย เจ้าหนี้จะทำยังไง? จ้างสืบทรัพย์ก็แล้วแต่ลูกหนี้ไม่มีอะไรจะให้ยึดหรืออายัด ทรัพย์สินก็ไม่มี เงินเดือนก็ไม่เกิน 20,000 หรืออาชีพอิสระไม่ได้มีรายได้ประจำเป็นเงินเดือนที่แน่นอน หรือเป็นข้าราชการก็ห้ามอายัดเงินเดือนอีก แล้วจะทำอย่างไรต่อ? เรื่องน่าปวดหัวของการบังคับคดีเจ้าหนี้ยังไม่จบ แต่ลูกหนี้ก็อย่างเพิ่งดีใจไป เมื่อเจ้าหนี้ได้เริ่มกระบวนการบังคับคดีภายใน 10 ปีนับตั้งแต่วันพิพากษาตามที่กฎหมายกำหนด เจ้าพนักงานบังคับคดีก็สามารถดำเนินการยึดหรืออายัดทรัพย์สินดังกล่าวได้ โดยไม่มีกำหนดเวลาหมดอายุจนกว่าลูกหนี้จะชำระเงินครบตามจำนวน แปลว่าเจ้าพนักงานบังคับคดีสามารถยึดทรัพย์ลูกหนี้ได้ตลอด ขอแค่เจ้าหนี้ร้องขอให้บังคับคดีภายใน 10 ปีนับแต่วันพิพากษาก็พอ เอาแล้วสิคุณลูกหนี้อย่าเข้าใจผิด คิดว่า 10 ปีแล้วเจ้าหนี้จะหมดสิทธิยึดทรัพย์นะ เข้ารอยึดได้ตลอดนะฉะนั้นเป็นหนี้ก็ต้องใช้นะคะ

โดนบังคับคดีแล้วยังไกล่เกลี่ยได้อยู่ไหม ?

โดนบังคับคดีแล้วยังไกล่เกลี่ยได้อยู่ไหม ?? แม้ว่าจะมีคำพิพากษาแล้ว ตั้งเรื่องบังคับคดีแล้ว แต่เรายังอยากขอเจรจากับเจ้าหนี้อีกครั้ง เผื่อว่าเจ้าหนี้จะเห็นใจลดหนี้บางส่วนหรือให้ผ่อนชำระได้บ้าง เราก็ยังสามารถไกล่เกลี่ยข้อพิพาทนั้นได้ที่ศูนย์ไกล่เกลี่ยข้อพิพาทของกรมบังคับคดี โดยเราสามารถยื่นคำร้องแสดงความประสงค์เพื่อขอให้ศูนย์ไกล่เกลี่ยดำเนินการให้ได้ทั้งก่อนและหลังมีการดำเนินการบังคับคดี 1) การไกล่เกลี่ยก่อนการบังคับคดี คือ การไกล่เกลี่ยก่อนที่จะมีการบังคับคดียึดทรัพย์ อายัดทรัพย์ ของลูกหนี้ เพื่อชำระหนี้ตามคำพิพากษา คู่กรณีสามารถขอให้มีการไกล่เกลี่ยได้ โดยไม่ให้ดำเนินการบังคับคดี เพื่อนำไปสู่การถอนการบังคับคดีต่อไปได้ 2) การไกล่เกลี่ยภายหลังการบังคับคดีแล้ว คือ การไกล่เกลี่ยภายหลังจากที่มีการบังคับคดียึดทรัพย์ อายัดทรัพย์ หรือขายทอดตลาดทรัพย์ของลูกหนี้แล้ว ซึ่งหากคู่ความสามารถตกลงกันได้จะมีผลให้มีการ ถอนการยึดทรัพย์ ถอนการอายัดทรัพย์ หรือถอนการบังคับคดีต่อไป แล้วทำบันทึกข้อตกลงระหว่างกัน เพื่อใช้บังคับตามที่ตกลง หรือหากตกลงกันได้เพียงบางส่วน ประเด็นที่ตกลงกันไม่ได้ก็สามารถดำเนินการบังคับคดีต่อไปได้

“เจ้าหนี้” ก็ถือว่าเป็นผู้มีส่วนได้เสีย สามารถร้องจัดการมรดกของลูกหนี้ได้

เจ้าหนี้ ก็ถือว่าเป็นผู้มีส่วนได้เสีย สามารถร้องจัดการมรดกของลูกหนี้ได้ คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5644/2545 ศาลชั้นต้นเคยยกคำร้องขอของผู้ร้องมาครั้งหนึ่งเพราะเห็นว่าการที่หุ้นของผู้ตายตกเป็นของแผ่นดินมิใช่เหตุขัดข้องในการจัดการมรดกที่จะร้องขอให้ตั้งผู้ร้องเป็นผู้จัดการมรดก โดยเห็นว่าผู้ร้องยังสามารถขวนขวายหาทางร้องขอเพื่อรับชำระหนี้จากกระทรวงการคลังได้ แต่ประเด็นสำคัญในคดีนี้มีอยู่ว่า ภายหลังต่อมาผู้ร้องได้ร้องขอรับชำระหนี้ต่อกระทรวงการคลังแล้ว แต่กระทรวงการคลังปฏิเสธไม่ยอมชำระหนี้และแจ้งให้ผู้ร้องไปดำเนินการตามขั้นตอนของกฎหมายก่อน อันเป็นเรื่องใหม่ที่เกิดขึ้นหลังจากที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งยกคำร้องขอของผู้ร้องแล้ว เหตุขัดข้องในการจัดการมรดกของผู้ตายตามคำร้องขอในคดีนี้ เป็นคนละเหตุกับที่ผู้ร้องยกขึ้นอ้างในการขอจัดการมรดกในคดีก่อน และศาลชั้นต้นในคดีก่อนยังมิได้วินิจฉัยถึงเหตุขัดข้องอันเกิดแต่การที่กระทรวงการคลังปฏิเสธไม่ยอมชำระหนี้แก่ผู้ร้อง ดังนี้ คำสั่งของศาลชั้นต้นในคดีก่อนที่วินิจฉัยถึงเหตุที่ผู้ร้องอ้างว่าเป็นข้อขัดข้องในการจัดการมรดกของผู้ตาย ซึ่งเป็นการวินิจฉัยถึงเหตุอื่นซึ่งไม่ใช่เหตุขัดข้องตามคำร้องขอในคดีนี้ คำร้องขอของผู้ร้องในคดีนี้จึงไม่เป็นการรื้อร้องฟ้องกันอีกในประเด็นที่ได้วินิจฉัยโดยอาศัยเหตุอย่างเดียวกันอันจะเป็นฟ้องซ้ำ ผู้ตายไม่มีทายาทและไม่มีผู้รับพินัยกรรม หุ้นของผู้ตายย่อมตกทอดแก่แผ่นดินตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1753 แผ่นดินหาใช่ทายาทของผู้ตายไม่ดังนั้นแม้หุ้นของผู้ตายจะตกเป็นของแผ่นดิน แต่หากไม่มีผู้จัดการมรดกอยู่ตราบใดผู้ร้องซึ่งเป็นเจ้าหนี้ของผู้ตายย่อมไม่สามารถบังคับชำระหนี้ของตนได้ จึงต้องถือว่าผู้ร้องเป็นผู้มีส่วนได้เสียและมีสิทธิร้องขอต่อศาลให้ตั้งตนเป็นผู้จัดการมรดกได้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1713 หลักกฎหมายที่ได้จากคำพิพากษาฎีกาที่ 5644/2545 1.ผู้ตายไม่มีทายาทและไม่มีผู้รับพินัยกรรม ทรัพย์มรดกของผู้ตายย่อมตกทอดแก่แผ่นดินตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1753 2.เหตุขัดข้องในการจัดการมรดกของผู้ตายตามคำร้องขอในคดีนี้ เป็นคนละเหตุกับที่ผู้ร้องยกขึ้นอ้างในการขอจัดการมรดกในคดีก่อน คำสั่งของศาลชั้นต้นในคดีก่อนที่วินิจฉัยถึงเหตุที่ผู้ร้องอ้างว่าเป็นข้อขัดข้องในการจัดการมรดกของผู้ตาย ซึ่งเป็นการวินิจฉัยถึงเหตุอื่นซึ่งไม่ใช่เหตุขัดข้องตามคำร้องขอในคดีนี้ คำร้องขอของผู้ร้องในคดีนี้จึงไม่เป็นฟ้องซ้ำ ตาม ป.วิแพ่ง มาตรา 148 3.แม้ทรัพย์ของผู้ตายจะตกเป็นของแผ่นดิน แต่หากไม่มีผู้จัดการมรดกอยู่ตราบใดผู้ร้องซึ่งเป็นเจ้าหนี้ของผู้ตายย่อมไม่สามารถบังคับชำระหนี้ของตนได้ จึงต้องถือว่าผู้ร้องเป็นผู้มีส่วนได้เสียและมีสิทธิร้องขอต่อศาลให้ตั้งตนเป็นผู้จัดการมรดกได้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1713 ติดต่องาน