กรุณารอสักครู่

 

HomeCategoryกฎหมายลิขสิทธิ์ Archives - Page 4 of 7 - บริษัท ลีกัล คลินิก แอนด์ เอดดูเคชั่น จำกัด

เกร็ดความรู้กฎหมาย “การหักกลบลบหนี้”

เกร็ดความรู้กฎหมาย!! หลายคนคงเคยได้ยินเรื่อง การหักกลบลบหนี้ เดี๋ยววันนี้จะมาอธิบายให้ฟังว่าการหักกลบลบหนี้ คืออะไร? “การหักกลบลบหนี้” เป็นวิธีการที่ทำให้หนี้ระงับไปวิธีหนึ่ง เป็นเรื่องระหว่างบุคคลหรือคู่สัญญา 2 ฝ่าย ที่ต่างฝ่ายต่างเป็นลูกหนี้เจ้าหนี้ของและกัน ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ได้กำหนดให้ ลูกหนี้เจ้าหนี้สามารถระงับหนี้ของตนด้วยวิธีการหักกลบลบหนี้ได้ ทำให้หนี้ทั้ง 2 รายระงับไปในส่วนที่เท่ากัน โดยไม่ต้องจ่ายเงินชำระหนี้กันไปมาให้เสียเวลาและค่าใช้จ่าย ทั้งนี้ การหักกลบลบหนี้ที่จะทำให้หนี้ระงับต้องเป็นไปตามหลักเกณฑ์ เงื่อนไข และวิธีการตามที่บัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 341 ถึง มาตาร 348

เจ้าของบ้านเซ็นรับมอบงานจากผู้รับเหมาแล้ว ต่อมาไม่นานหลังคารั่ว ถือเป็นความชำรุดบกพร่องซึ่งไม่พึงพบได้ ขณะรับมอบงาน ผู้รับเหมายังคงต้องรับผิด

เจ้าของบ้านเซ็นรับมอบงานจากผู้รับเหมาแล้ว ต่อมาไม่นานหลังคารั่ว ถือเป็นความชำรุดบกพร่องซึ่งไม่พึงพบได้ ขณะรับมอบงาน ผู้รับเหมายังคงต้องรับผิด ป.พ.พ. มาตรา 598 ถ้าผู้ว่าจ้างยอมรับมอบการที่ทำนั้นแล้วทั้งชำรุดบกพร่องมิได้อิดเอื้อนโดยแสดงออกชัดหรือโดยปริยาย ผู้รับจ้างก็ไม่ต้องรับผิด เว้นแต่ความชำรุดบกพร่องนั้นเป็นเช่นจะไม่พึงพบได้ในขณะเมื่อรับมอบหรือผู้รับจ้างได้ปิดบังความนั้นเสีย คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5201/2549 โจทก์ส่งมอบงานติดตั้งหลังคาอาคารให้แก่จำเลยที่ 1 แล้ว หลังจากนั้นเมื่อฝนตกหลังคารั่วและเปิดออกเมื่อถูกลมตี อันเป็นความชำรุดบกพร่องซึ่งไม่พึงพบได้ในขณะเมื่อรับมอบ โจทก์จึงต้องรับผิดต่อจำเลยที่ 1 ตาม ป.พ.พ. มาตรา 598 โดยจำเลยที่ 1 มีสิทธิยึดหน่วงค่าจ้างไว้ได้เพียงเพื่อให้โจทก์แก้ไขซ่อมแซมการชำรุดบกพร่องดังกล่าว เมื่อโจทก์ยังซ่อมแซมไม่แล้วเสร็จ จำเลยที่ 1 จึงชอบที่จะยึดหน่วงสินจ้างไว้ได้ ทั้งนี้จะต้องดูข้อสัญญาการประกันผลงานและอายุความในการฟ้องร้องคดีประกอบ ติดต่อจ้าง Info@legalclinic.co.th #อสังหา #อสังหาริมทรัพย์ #สัญญาเช่า3ปี #สัญญาเช่า #findmylawyer #ยักยอกทรัพย์ #ทนายความ #ฟ้องร้อง #สัญญา #ผู้รับเหมา #ผู้รับเหมาก่อสร้าง

จ้างก่อสร้างบ้าน แต่ไม่ได้ทำสัญญาไว้ เจ้าของบ้านจะฟ้องได้หรือไม่ ?

จ้างก่อสร้างบ้าน แต่ไม่ได้ทำสัญญาไว้ เจ้าของบ้านจะฟ้องได้หรือไม่ ? สัญญาจ้างรับเหมาก่อสร้าง ถือเป็นสัญญาจ้างทำของประเภทหนึ่งตามกฎหมาย ซึ่ง ป.พ.พ. มาตรา 587 บัญญัติว่า “อันว่าจ้างทำของนั้น คือสัญญาซึ่งบุคคลคนหนึ่งเรียกว่าผู้รับจ้าง ตกลงรับจะทำการงานสิ่งใดสิ่งหนึ่งจนสำเร็จให้แก่บุคคลอีกคนหนึ่ง เรียกว่าผู้ว่าจ้าง และผู้ว่าจ้างตกลงจะให้สินจ้างเพื่อผลสำเร็จแห่งการที่ทำนั้น” จะเห็นได้ว่ากฎหมายไม่ได้กำหนดเกี่ยวกับรูปแบบการทำสัญญาจ้างทำของเอาไว้โดยเฉพาะ ดังนั้นสัญญาจ้างรับเหมาก่อสร้างซึ่งถือเป็นสัญญาจ้างทำของอย่างหนึ่งจึงไม่จำต้องทำเป็นหนังสือ ก็สามารถฟ้องร้องกันได้ แต่อย่างไรก็ดีเพื่อความชัดเจนในการปฏิบัติตามสัญญาและการดำเนินกระบวนการเกี่ยวกับการฟ้องร้อง แม้กฎหมายไม่ได้บังคับให้ทำเป็นหนังสือสัญญา ทางเพจก็ขอแนะนำให้คู่สัญญาทำสัญญาเป็นหนังสือต่อกันไว้จะดีที่สุด

ผู้เช่าจะฟ้องขับไล่บุคคลภายนอกที่อาศัยอยู่ในทรัพย์สินที่เช่าได้หรือไม่ ?

ผู้เช่าจะฟ้องขับไล่บุคคลภายนอกที่อาศัยอยู่ในทรัพย์สินที่เช่าได้หรือไม่ ? เมื่อผู้เช่าทำสัญญาเช่าอสังหาริมทรัพย์แล้ว แต่ปรากฏว่ายังมีบุคคลภายนอกยังคงอาศัยอยู่ในที่ดังกล่าว ผู้เช่าจะฟ้องขับไล่บุคคลภายนอกได้หรือไม่ ต้องพิจารณาดังนี้ 1. กรณีที่ผู้เช่ายังไม่ได้เข้าครอบครองทรัพย์ที่เช่า – ผู้เช่าจะไม่มีอำนาจฟ้องขับไล่บุคคลภายนอกให้ออกจากทรัพย์ที่เช่าได้เนื่องจากผู้เช่ายังไม่ได้เข้าครอบครองทรัพย์ืจึงถือว่ายังไม่มีสิทธิครอบครอง การที่ผู้เช่าจะฟ้องขับไล่นั้นจะต้องเรียกผู้ให้เช่าเข้ามาเป็นโจทก์ร่วม เทียบเคียงคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2504/2551 แม้โจทก์จะมีสิทธิใช้สอยตึกพิพาทในฐานะเป็นผู้เช่าตามสัญญาเช่า แต่โจทก์ก็ยังไม่เคยเข้าครอบครองตึกพิพาทตามสัญญาเช่ามาก่อน ที่จำเลยและบริวารอยู่ในตึกพิพาทก็โดยอาศัยสิทธิของ จ. ไม่ได้อาศัยสิทธิของโจทก์ การที่จำเลยและบริวารยังคงอยู่ในตึกพิพาทโดยไม่ได้รับอนุญาต เป็นการละเมิดต่อเจ้าของตึกหาใช่เป็นการละเมิดต่อโจทก์ซึ่งเป็นผู้เช่ารายใหม่ไม่ จำเลยจึงไม่ได้โต้แย้งสิทธิของโจทก์เนื่องจากโจทก์กับจำเลยต่างไม่มีนิติสัมพันธ์ต่อกัน โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้องขับไล่จำเลยและบริวารให้ออกจากตึกพิพาทโดยลำพังได้ 2. กรณีที่ผู้เช่าเข้าครอบครองทรัพย์สินที่เช่าแล้ว – หากมีบุคคลภายนอกเข้ามายุ่งเกี่ยวกับทรัพย์นั้น ผู้เช่ามีอำนาจฟ้องขับไล่บุคคลภายนอกได้ด้วยตนเอง เทียบเคียงคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1224/2511 แม้สัญญาเช่าที่ดินระหว่างมารดาโจทก์กับกระทรวงศึกษาธิการจะระงับโดยเหตุที่มารดาโจทก์ถึงแก่กรรมก็ตาม แต่โจทก์ก็ย่อมมีสิทธิหน้าที่และความรับผิดต่างๆ ซึ่งตกทอดมาจากมารดาโจทก์ ดังนั้น เมื่อโจทก์ยังคงครอบครองที่พิพาทและต่อมาโจทก์ก็ได้ทำสัญญาเช่าที่พิพาทกับกระทรวงศึกษาธิการต่อไปอีกเช่นนี้ โจทก์ย่อมมีอำนาจฟ้องขับไล่จำเลยซึ่งขออาศัยมารดาโจทก์ปลูกบ้านในที่ดินบางส่วนของที่พิพาทได้ กระทรวงศึกษาธิการไม่จำต้องส่งมอบที่ดินที่เช่าให้แก่โจทก์อีก

เล่นแชร์แล้วโดนลูกแชร์โกง หนีหนี้ไม่ยอมส่งเงิน แถมท้าวแชร์ยังหนีไปอีก เราจะฟ้องเรียกเงินคืนได้ไหม ?

เล่นแชร์แล้วโดนลูกแชร์โกง หนีหนี้ไม่ยอมส่งเงิน แถมท้าวแชร์ยังหนีไปอีก เราจะฟ้องเรียกเงินคืนได้ไหม???   ปัญหาเรื่องแชร์นี่เจอทุกยุคทุกสมัยจริงๆค่ะ ตอนแรกเริ่มเล่นก็ตกลงกันอย่างดี แต่กลายเป็นว่าหนีกันไปหมดทั้งลูกแชร์และท้าวแชร์ คนโดนโกงแบบเราจะทำยังไงได้บ้างมาดูกันค่ะ   การเล่นแชร์ เป็นสัญญาทางแพ่งประเภทหนึ่ง ดังนั้นหากลูกแชร์คนใดคนหนึ่งและท้าวแชร์หนีหนีไปโดยไม่ยอมชำระหนี้ค่าแชร์ไม่ว่าจะกี่งวดก็ตาม เราสามารถฟ้องคดีแพ่งเพื่อบังคับเอากับท้าวแชร์และลูกแชร์ได้นะคะ   อย่างไรก็ตาม ในการฟ้องคดีผิดสัญญาแชร์ ลูกแชร์สามารถฟ้องได้ทั้งท้าวแชร์และลูกแชร์ค่ะ แต่ในทางกลับกัน ถ้าคนที่โดนโกงเป็นท้าวแชร์ (กล่าวคือ ท้าวแชร์โดนลูกแชร์โกง หนีหนี้ไม่ยอมจ่าย) ท้าวแชร์จะฟ้องเรียกเงินกับลูกแชร์ที่หนีไปไม่ได้นะคะ ท้าวแชร์จะต้องรับผิดชอบชำระเงินในส่วนนี้ให้แก่ลูกแชร์คนอื่นเองค่ะ   นอกจากนี้แล้ว การฟ้องคดีแพ่งก็มีค่าใช้จ่ายที่ต้องเสีย กล่าวคือ มีค่าธรรมเนียมศาลที่คิดตามทุนทรัพย์ และค่าทนายความค่ะ ดังนั้นในการฟ้องคดีก็ต้องพิจารณาความคุ้มค่ากับจำนวนเงินที่จะได้รับด้วยค่ะ  

ทำสัญญาเช่าอสังหาริมทรัพย์ 3 ปี หลายฉบับ  นับระยะเวลาต่อเนื่องกัน ผลเป็นอย่างไร ?

ทำสัญญาเช่าอสังหาริมทรัพย์ 3 ปี หลายฉบับ นับระยะเวลาต่อเนื่องกัน ผลเป็นอย่างไร ? สัญญาเช่าอสังหาริมทรัพย์ เช่น สัญญาเช่าที่ดิน สัญญาเช่าบ้าน หรือสัญญาเช่าคอนโด การทำสัญญาเช่าอสังหาริมทรัพย์อาจแบ่งได้เป็น 2 ประเภท คือ 1. สัญญาเช่าที่มีกำหนดระยะเวลาไม่เกิน 3 ปี – ต้องมีหลักฐานเป็นหนังสือลงลายมือชื่อฝ่ายที่จะต้องรับผิดไว้เป็นสำคัญ 2. สัญญาเช่าที่มีกำหนดระยะเวลาเกิน 3 ปี – คู่สัญญาจะต้องไปจดทะเบียนการเช่า ณ สำนักงานที่ดินซึ่งอสังหาริมทรัพย์นั้นตั้งอยู่ในเขต หากมีเพียงสัญญาที่ทำขึ้นกันเอง จะถือว่าสัญญาเช่ามีผลใช้บังคับได้เพียง 3 ปี เท่านั้น การที่คู่สัญญาทำสัญญาเช่ากันเอง ฉบับละ 3 ปี หลายฉบับ นับระยะเวลาติดต่อกัน โดยไม่นำไปจดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ จะมีผลอย่างไร ? ตอบ ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า การกระทำดังกล่าว เป็นการจงใจหลีกเลี่ยงกฎหมาย ดังนั้นสัญญาเช่ามีผลใช้บังคับได้เพียง 3 ปีแรกเท่านั้น หากพ้นระยะเวลา 3 ปีแรกไปแล้ว คู่สัญญาจะฟ้องร้องบังคับกันไม่ได้...

บิดาเสียชีวิตแล้วก็ขอรับรองบุตรได้!!

บิดาเสียชีวิตแล้วก็ขอรับรองบุตรได้!! สำหรับกรณีที่บิดาเสียชีวิตแล้ว วิธีการขอรับรองบุตรทำได้ แต่ต้องดำเนินคดี อย่างคดีไม่มีข้อพิพาท คือ เริ่มคดีโดยยื่นคำร้องขอต่อศาลตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 188(1) ตัวอย่างจากคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8504/2544 การฟ้องคดีขอให้รับเด็กเป็นบุตรชอบด้วยกฎหมายตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1555 หากบิดามีชีวิตอยู่ต้องดำเนินคดีอย่างคดีมีข้อพิพาทคือฟ้องบิดาโดยทำเป็นคำฟ้องตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 172 แต่ถ้าบิดาถึงแก่ความตายไปแล้วต้องดำเนินคดีอย่างคดีไม่มีข้อพิพาทคือเริ่มคดีโดยยื่นคำร้องขอต่อศาลตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 188(1) ดังนั้น เมื่อผู้ตายซึ่งเป็นบิดาได้ถึงแก่ความตายไปแล้ว โจทก์จึงต้องดำเนินคดีอย่างคดีไม่มีข้อพิพาท ส่วนบทบัญญัติมาตรา 1558 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ เป็นเรื่องเกี่ยวกับสิทธิที่จะได้รับมรดกในฐานะทายาทโดยธรรมซึ่งเป็นผลตามมาจากการที่ร้องขอให้ศาลพิพากษาเป็นบุตร มิใช่บทบัญญัติที่ให้อำนาจโจทก์ฟ้องจำเลยในฐานะทายาทผู้ตายเพื่อให้ศาลพิพากษาว่าโจทก์เป็นบุตรชอบด้วยกฎหมายของผู้ตาย

ยึดทรัพย์บังคับคดี คืออะไร ?

ยึดทรัพย์บังคับคดี คืออะไร ?? หลายครั้งที่เราไปฟ้องคดีแม้จะชนะคดีแล้วถ้าลูกหนี้ไม่ชำระหนี้ แต่ไม่ได้ทำอะไรต่อเหมือนว่าได้เพียงกระดาษเปล่า ดังนั้นต้องไปดำเนินการขั้นตอนหนึ่งเพื่อให้ ได้มาซึ่งทรัพย์สินของลูกหนี้นั้นเรี่ยวขั้นตอนของการยึดทรัพย์บังคับคดี เดี๋ยววันนี้จะมาเล่าให้ฟังว่าการยึดทรัพย์บังคับคดีคืออะไร ไปฟังกัน.. เมื่อเราไปฟ้องคดีแล้วคดีเสร็จสิ้น ศาลมีคำพิพากษาให้จำเลยชำระหนี้หรือชำระเงินและได้ส่งคำบังคับให้แก่กลายเป็นลูกหนี้ปฎิบัติตามภายในกำหนดเวลาที่ระบุไว้ ลูกหนี้ก็ต้องนำเงินไปวางที่ศาลเพื่อทำตามคำพิพากษา หากลูกหนี้ไม่ปฏิบัติตามคำบังคับ เจ้าหนี้จะต้องดำเนินการขอให้ศาลออกหมายบังคับคดีเพื่อยึดทรัพย์สินของลูกหนี้ โดยเมื่อได้หมายบังคับคดีถูกส่งไปยังกรมบังคับคดี เจ้าหนี้มีหน้าที่จะต้องไปตั้งเรื่องต่อเจ้าพนักงานบังคับคดี กรมบังคับ เพื่อให้ทำการยึดและการอายัดของลูกหนี้นำทรัพย์สินออกขายทอดตลาดแล้วนำเงินมาชำระให้เจ้าหนี้ ส่วนทรัพย์สินอะไรที่เจ้าพนักงานบังคับคดีมีสิทธิยึดอายัดได้ ติดตามได้ตามโพสต์ต่อไปนะคะ

ถ้าจะร้องขอถอนผู้จัดการมรดก !!! ผู้มีส่วนได้เสียคนใดคนหนึ่งจะต้องร้องขอก่อนที่การแบ่งปันทรัพย์มรดกเสร็จสิ้นลง!!

ถ้าจะร้องขอถอนผู้จัดการมรดก !!! ผู้มีส่วนได้เสียคนใดคนหนึ่งจะต้องร้องขอก่อนที่การแบ่งปันทรัพย์มรดกเสร็จสิ้นลง!! คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2150/2561 การร้องขอศาลสั่งถอนผู้จัดการมรดกตามป.พ.พ. มาตรา 1727 วรรค 1 ผู้มีส่วนได้เสียคนหนึ่งคนใดต้องร้องขอเสียก่อนที่การแบ่งปันทรัพย์มรดกเสร็จสิ้นลง เมื่อข้อเท็จจริงฟังได้ว่าผู้ร้องได้ปันทรัพย์มรดกทั้งหมดแล้ว โดยไม่มีทรัพย์มรดกของผู้ตายหลงเหลือให้จัดการเองต่อไป จึงถือได้ว่าผู้ร้องในฐานะผู้จัดการมรดกได้จัดการมรดกเสร็จสิ้นแล้ว และผู้คัดค้านจะอ้างว่าผู้ร้องยื่นคำร้องขอตั้งผู้จัดการมรดกโดยมีเจตนาทุจริตปกปิดผู้คัดค้านและบุตรซึ่งเป็นทายาทโดยธรรมของผู้ตาย ทั้งได้โอนทรัพย์มรดกให้แก่ผู้ไม่มีสิทธิ์ หรือมีเหตุผลตามกฎหมายอันเป็นเท็จในการร้องขอถอนผู้ร้องจากการเป็นผู้จัดการมรดกได้ก็ตาม ก็ไม่อาจถือได้ว่าการปันมรดกรายดังกล่าวยังไม่เสร็จสิ้น การที่ผู้คัดค้านยื่นคำร้องขอถอนผู้ร้องจากการเป็นผู้จัดการมรดกภายหลังการปันทรัพย์มรดกเสร็จสิ้นแล้ว ย่อมต้องห้ามตามบทบัญญัติดังกล่าว

คู่สัญญาเป็นนิติบุคคลต่างประเทศจะยื่นฟ้องที่ไหนดี

คู่สัญญาเป็นนิติบุคคลต่างประเทศจะยื่นฟ้องที่ไหนดี อ่านโพสนี้!! …การฟ้องคู่สัญญาที่เป็นนิติบุคคลต่างประเทศเป็นจำเลยให้รับผิดในข้อหาผิดสัญญาสามารถยื่นฟ้องต่อศาลไทยที่มูลคดีเกิด กล่าวคือ ผิดสัญญาที่ไหนก็ฟ้องที่ศาลนั้น ต้องดูในข้อสัญญาต่อไปว่ามีข้อตกลงว่าถ้ามีกรณีพิพาทให้ไปดำเนินการในชั้นอนุญาโตตุลาการหรือไม่ โดยให้ถือเอาสำนักทำการที่ประกอบกิจการภายในประเทศไทยเป็นภูมิลำเนาในการส่งหมายเรียกและสำเนาคำฟ้องให้กับจำเลย ที่สำคัญ ถ้าจำเลยมีสิทธิเรียกร้องใดๆ กับบุคคลภายนอกอื่นภายในประเทศ สิ่งที่ต้องทำ คือ ขอคุ้มครองชั่วคราว โดยยื่นพร้อมฟ้องหรือก่อนศาลมีคำพิพากษา ให้อายัดสิทธิเรียกร้องดังกล่าวไว้ก่อน เพื่อง่ายต่อการบังคับชำระหนี้ต่อไป…