กรุณารอสักครู่

 

HomeCategoryกฎหมายลิขสิทธิ์ Archives - Page 2 of 7 - บริษัท ลีกัล คลินิก แอนด์ เอดดูเคชั่น จำกัด

ตัวแทนขายสินค้า ถือว่าเป็นผู้ครอบครองสินค้าหรือเงินค่าสินค้า หากเบียดบังสินค้าหรือเงินไป จะมีความผิดอาญาฐานยักยอกทรัพย์

ตัวแทนขายสินค้า ถือว่าเป็นผู้ครอบครองสินค้าหรือเงินค่าสินค้า หากเบียดบังสินค้าหรือเงินไป จะมีความผิดอาญาฐานยักยอกทรัพย์ คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 445/2536 ส. ภรรยาจำเลยมีหน้าที่จำหน่ายสินค้าและรับเงินค่าสินค้าของโจทก์ร่วม ได้รับเงินสดค่าสินค้าจากลูกค้าของโจทก์ร่วมไว้แล้วไม่นำเงินสดที่รับไว้ส่งมอบให้แก่แคชเชียร์ แต่เบียดบังเอาเงินสดนั้นไปเป็นของตนเองหรือบุคคลที่สามโดยทุจริต จึงเป็นการยักยอกทรัพย์ของโจทก์ร่วม บัญชีกระแสรายวันของจำเลยมีรายการหมุนเวียนทางการเงินมากการนำเงินเข้าฝากและถอนเงินจากบัญชีแต่ละรายการมีจำนวนมากกว่ารายได้ตามปกติของจำเลยและส.ส.นำเงินฝากเข้าบัญชีจำเลยช่วงระยะเวลาเดียวกับที่ ส.ยักยอกเงินของโจทก์ร่วมและเมื่อส.นำเงินเข้าฝากแล้ว จำเลยได้ออกเช็คสั่งจ่ายเงินจากบัญชีใกล้เคียงกับจำนวนเงินที่ ส. นำเข้าฝาก การถอนเงินโดยสั่งจ่ายเช็คบางฉบับจำเลยก็สั่งจ่ายเพื่อชำระค่าที่ดินพร้อมตึกแถวที่จำเลยกับ ส. ไปติดต่อซื้อด้วยกัน โดยที่ดินพร้อมตึกแถวดังกล่าว มีราคาสูงเกินกว่าฐานะและรายได้ตามปกติของจำเลยกับ ส.ที่จะซื้อได้ พฤติการณ์ถือได้ว่าจำเลยได้รับเอาเงินฝากนั้นไว้ทุกคราวที่ ส.นำเข้าฝากโดยจำเลยรู้ว่าส. ได้เงินนั้นมาจากการยักยอกโจทก์ร่วม จำเลยจึงมีความผิดฐานรับของโจร ส. นำเงินเข้าฝากในบัญชีของจำเลยต่างวันเวลากัน จำเลยจึงมีความผิดหลายกรรมต่างกัน ข้อเท็จจริงไม่ปรากฏชัดว่าการบังคับคดี ส. ได้เงินมาชำระหนี้ให้โจทก์ร่วมเท่าใด ครบถ้วนแล้วหรือไม่ จะฟังว่าจำเลยไม่ต้องรับผิดต่อโจทก์ร่วมหาได้ไม่และหากโจทก์ร่วมบังคับคดี ส.แล้วจะบังคับคดีจำเลยได้อีกเพียงใดนั้นเป็นปัญหาในชั้นบังคับคดี

ขอเงินสามีมาซื้อที่ดิน แต่ตั๋วว่าซื้อที่ดินเอง …ถ้าแสดงแหล่งที่มาของเงินไม่ได้ ที่ดินนั้นเป็นกรรมสิทธิ์ร่วม

ขอเงินสามีมาซื้อที่ดิน แต่ตั๋วว่าซื้อที่ดินเอง …ถ้าแสดงแหล่งที่มาของเงินไม่ได้ ที่ดินนั้นเป็นกรรมสิทธิ์ร่วม คู่สมรสชาวไทยซื้อที่ดินและเปิดเผยข้อมูลอันเป็นเท็จว่าเธอนั้นมีสถานะโสด ไม่ได้เปิดเผยว่าเธอสมรสกับชาวต่างชาติ ดังนั้นเนื่องจากคู่สมรสชาวไทยไม่สามารถยืนยันได้ว่ามีแหล่งที่มาของเงินทุนที่ใช้ในการซื้อที่ดิน (ในระหว่างการสมรส) เป็นสินส่วนตัวจึงได้รับการสันนิษฐานตามกฎหมายว่าเงินนั้นเป็นสินสมรสตามมาตรา 1474 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ และหากเงินนั้นถูกพิจารณาว่าเป็นสินสมรส คู่สมรสชาวต่างชาติจะมีสถานะเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ร่วมในที่ดิน คู่สมรสชาวต่างชาติได้มาซึ่งที่ดินโดยการละเมิดมาตรา 86 แห่งประมวลกฎหมายที่ดิน และอาจได้รับโทษตามมาตรา 111 แห่งประมวลกฎหมายที่ดิน คู่สมรสชาวไทยที่ถือครองที่ดินในฐานะตัวแทนของชาวต่างชาติโดยฝ่าฝืนมาตรา 96 แห่งประมวลกฎหมายที่ดิน และอาจได้รับโทษตามมาตรา 111 แห่งประมวลกฎหมายที่ดิน นอกจากนั้นคู่สมรสชาวไทยยังมีความผิดในฐานแจ้งข้อมูลเท็จแก่พนักงานเจ้าหน้าที่และเป็นเหตุให้ทางเจ้าหน้าที่บันทึกข้อมูลอันเป็นเท็จลงในเอกสารราชการตามมาตรา 137 และ 267 แห่งประมวลกฎหมายอาญา ที่ดินต้องถูกจำหน่ายจ่ายโอนภายในระยะเวลาที่อธิบดีกรมที่ดินกำหนดตามมาตรา 94 และ 96 แห่งประมวลกฎหมายที่ดิน

คลอดแล้วทิ้ง ศาลถอนอำนาจปกครองได้

คลอดแล้วทิ้ง ศาลถอนอำนาจปกครองได้ คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4323/2540 ในการถอนอำนาจปกครองนั้น กฎหมายให้อำนาจศาลถอนเสียได้โดยลำพังโดยไม่ต้องให้ผู้ใดร้องขอก็ได้ หากมีเหตุตามบทบัญญัติแห่งป.พ.พ.มาตรา 1582 วรรคหนึ่ง ดังนั้น แม้ในขณะผู้ร้องยื่นคำร้องผู้ร้องยังมิได้เป็นบิดาโดยชอบด้วยกฎหมายของผู้เยาว์ก็ตาม แต่เมื่อความปรากฏต่อศาลว่ามารดาของผู้เยาว์ย้ายไปอยู่ที่อื่นและสมรสใหม่ตั้งแต่ผู้เยาว์อายุได้เพียงปีเศษและไม่เคยกลับมาดูแลผู้เยาว์อีกเลย กรณีจึงเป็นการที่มารดาผู้เยาว์ใช้อำนาจปกครองแก่ตัวผู้เยาว์โดยมิชอบ ศาลจึงมีอำนาจพิพากษาถอนอำนาจปกครองจากมารดาผู้เยาว์ และเมื่อปรากฏว่าผู้เยาว์อยู่ในความอุปการะเลี้ยงดูของผู้ร้องมาโดยตลอดการให้ผู้ร้องเป็นผู้ใช้อำนาจปกครองผู้เยาว์ย่อมเหมาะสมกว่า ติดต่องาน info@legalclinic.co.th

นิติกรรมที่ลูกหนี้กระทำต่อบุคคลภายนอกภายหลังศาลสั่งพิทักษ์ทรัพย์ในคดีล้มละลายแล้ว ตกเป็นโมฆะ แม้บุคคลภายนอกสุจริตและเสียค่าตอบแทน

นิติกรรมที่ลูกหนี้กระทำต่อบุคคลภายนอกภายหลังศาลสั่งพิทักษ์ทรัพย์ในคดีล้มละลายแล้ว ตกเป็นโมฆะ แม้บุคคลภายนอกสุจริตและเสียค่าตอบแทน คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5677/2560 ลูกหนี้ที่ 2 จดทะเบียนขายที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างพิพาทให้แก่ผู้คัดค้านที่ 1 และที่ 2 และได้ชำระหนี้เงินกู้ให้แก่ผู้คัดค้านที่ 3 ภายหลังจากที่ลูกหนี้ที่ 2 ถูกศาลพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาดแล้ว โดยไม่ปรากฏว่าลูกหนี้ที่ 2 กระทำตามคำสั่งหรือความเห็นชอบของศาล เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ ผู้จัดการทรัพย์หรือที่ประชุมเจ้าหนี้ การจดทะเบียนโอนขายที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างพิพาทย่อมเป็นการฝ่าฝืนต่อ พ.ร.บ.ล้มละลาย พ.ศ.2483 มาตรา 22 , 24 และเป็นนิติกรรมที่มีวัตถุประสงค์เป็นการต้องห้ามชัดแจ้งโดยกฎหมายตกเป็นโมฆะ ตามป.พ.พ.มาตรา 150 แม้จะมีการทำนิติกรรมนั้นโดยสุจริต เสียค่าตอบแทนและได้จดทะเบียนโดยสุจริตก็ตาม ผู้คัดค้านที่ 1 และที่ 2 ก็ไม่อาจยกความสุจริตและเสียค่าตอบแทนขึ้นอ้างเพื่อให้มีผลลบล้างบทกฎหมายได้

การชักชวน หลอกมาลงทุน ไม่ว่าจะเป็น forex-3d อาจเข้าข่ายความผิดตามกฎหมายเรื่องนี้

การชักชวน หลอกมาลงทุน ไม่ว่าจะเป็น forex-3d อาจเข้าข่ายความผิดตามกฎหมายเรื่องนี้ พ.ร.ก.การกู้ยืมเงินที่เป็นการฉ้อโกงประชาชน พ.ศ.2527 มาตรา 4 วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า “ผู้ใดโฆษณาหรือประกาศให้ปรากฏต่อประชาชน หรือกระทำด้วยประการใด ๆ ให้ปรากฏแก่บุคคลตั้งแต่สิบคนขึ้นไปว่าในการกู้ยืมเงิน ตนหรือบุคคลใดจะจ่ายผลประโยชน์ตอบแทนให้ตามพฤติการณ์แห่งการกู้ยืมเงิน ในอัตราที่สูงกว่าอัตราดอกเบี้ยสูงสุดที่สถาบันการเงินตามกฎหมายว่าด้วยดอกเบี้ยเงินให้กู้ยืมของสถาบันการเงินจะพึงจ่ายได้โดยที่ตนรู้หรือควรรู้อยู่แล้วว่าตนหรือบุคคลนั้นจะนำเงินจากผู้ให้กู้ยืมเงินรายนั้นหรือรายอื่นมาจ่ายหมุนเวียนให้แก่ผู้ให้กู้ยืมเงิน หรือโดยที่ตนรู้หรือควรรู้อยู่แล้วว่าตนหรือบุคคลนั้นไม่สามารถประกอบกิจการใด ๆ โดยชอบด้วยกฎหมายที่จะให้ผลประโยชน์ตอบแทนพอเพียงที่จะนำมาจ่ายในอัตรานั้นได้ และในการนั้นเป็นเหตุให้ตนหรือบุคคลใดได้กู้ยืมเงินไป ผู้นั้นกระทำความผิดฐานกู้ยืมเงินที่เป็นการฉ้อโกงประชาชน” การโฆษณาหรือประกาศให้ปรากฏต่อประชาชนหรือการกระทำด้วยประการใด ๆ ให้ปรากฏแก่บุคคลตั้งแต่สิบคนขึ้นไป อันจะทำให้เป็นความผิดสำเร็จฐานกู้ยืมเงินที่เป็นการฉ้อโกงประชาชน ไม่จำเป็นที่จำเลยทั้งสองจะต้องกระทำการดังกล่าวต่อผู้เสียหายแต่ละคนด้วยตนเองทุกครั้งเป็นคราว ๆ ไป เพียงแต่จำเลยทั้งสองแสดงข้อความดังกล่าวให้ปรากฏแก่ผู้เสียหายแม้เพียงบางคน แล้วเป็นผลให้ประชาชนหลงเชื่อนำเงินมาให้จำเลยทั้งสองกู้ยืม ก็ถือว่าเป็นการกระทำความผิดแล้ว ข้อสำคัญที่ทำให้ความผิดสำเร็จอยู่ที่ในการนั้นเป็นเหตุให้ตนหรือบุคคลใดได้เงินกู้ยืมไปจากผู้ถูกหลอกลวง ทั้งการกระทำดังกล่าวโดยสภาพเป็นการกระทำต่อบุคคลหลายคนจึงอาจกระทำต่อบุคคลเหล่านั้นต่างวาระกันได้ การกระทำที่จะเป็นความผิดกรรมเดียวหรือหลายกรรมย่อมขึ้นอยู่กับลักษณะของการกระทำที่มีเจตนามุ่งกระทำเพื่อให้เกิดผลต่อบุคคลตั้งแต่สิบคนขึ้นไปหรือประชาชนเพียงครั้งเดียวหรือหลายครั้ง มิได้พิจารณาจากองค์ประกอบความผิดที่ต้องกระทำต่อบุคคลตั้งแต่สิบคนขึ้นไปเพียงอย่างเดียวเป็นเครื่องชี้เจตนาของผู้กระทำเมื่อข้อเท็จจริงรับฟังเป็นยุติว่า จำเลยทั้งสองกู้ยืมเงินจากโจทก์ร่วมทั้งสิบเจ็ด ผู้เสียหายที่ 11 และที่ 14 คนละวันเวลาและในสถานที่แตกต่างกัน โดยเจตนาให้เกิดผลต่อโจทก์ร่วมและผู้เสียหายแยกต่างหากจากกัน ดังนั้น การกระทำของจำเลยทั้งสองแต่ละครั้งถือว่าเป็นความผิดสำเร็จสำหรับโจทก์ร่วมและผู้เสียหายแต่ละคนแล้ว จึงเป็นความผิดหลายกรรมตามจำนวนโจทก์ร่วมและผู้เสียหายที่จำเลยทั้งสองร่วมกันหลอกลวง

ผู้เช่าซื้อรถ ผ่อนค่างวดไม่ไหว จะคืนรถไฟแนนซ์โดยไม่เสียค่าส่วนต่าง ต้องทำอย่างไร ?

ผู้เช่าซื้อรถผ่อนค่างวดไม่ไหว จะคืนรถไฟแนนซ์โดยไม่เสียค่าส่วนต่าง ต้องทำอย่างไร ? 1. ผู้เช่าซื้อจะต้องเป็นฝ่ายคืนรถเอง โดยต้องดำเนินการคืนรถให้ไฟแนนซ์ก่อนที่จะผิดนัดชำระค่างวดครบ 3 งวด 2. รถต้องอยู่ในสภาพที่ซ่อมแซมเรียบร้อยและใช้การได้ดี 3. ผู้ให้เช่าซื้อ (ไฟแนนซ์) ยอมรับรถคืน โดยที่ไม่มีการทำบันทึกข้อตกลงหรือโต้แย้งเกี่ยวกับค่าส่วนต่าง ซึ่งหากมีข้อตกลงฯ เพิ่มเติม ผู้เช่าซื้ออาจจะยังคงต้องรับผิดในค่าส่วนต่างอยู่ คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4607/2562 แม้ตามสัญญาเช่าซื้อ ข้อ 12 จะให้สิทธิผู้เช่าซื้อในการบอกเลิกสัญญาเช่าซื้อเสียเมื่อใดก็ได้ โดยผู้เช่าซื้อจะต้องส่งคืนและส่งมอบรถยนต์ในสภาพที่ซ่อมแซมเรียบร้อยและใช้การได้ดีในสภาพเช่นเดียวกับวันที่รับมอบรถยนต์ไปจากเจ้าของพร้อมทั้งอุปกรณ์ และอะไหล่ทั้งหมดให้แก่เจ้าของ ณ สำนักงานของเจ้าของ แต่สัญญาข้อดังกล่าวยังระบุเงื่อนไขต่อไปอีกว่า “และชำระเงินทั้งปวงที่ถึงกำหนดชำระหรือเป็นหนี้ตามสัญญานี้อยู่ในเวลานั้นทันที…” แสดงให้เห็นว่า กรณีที่จะถือว่าเป็นการเลิกสัญญาตามสัญญาเช่าซื้อข้อดังกล่าว ก็ต่อเมื่อจำเลยที่ 1 ต้องส่งมอบรถยนต์ที่เช่าซื้อคืนโจทก์พร้อมกับชำระเงินทั้งปวงที่ถึงกำหนดชำระหรือเป็นหนี้ตามสัญญานี้อยู่ในเวลาที่ส่งมอบรถยนต์ที่เช่าซื้อคืนแก่โจทก์แล้ว เมื่อโจทก์มิได้นำสืบให้เห็นว่า นอกจากจำเลยที่ 1 จะส่งมอบรถยนต์ที่เช่าซื้อคืนแก่โจทก์แล้ว จำเลยที่ 1 ได้ชำระเงินทั้งปวงที่ถึงกำหนดชำระหรือเป็นหนี้ตามสัญญาแก่โจทก์ทันที อันเป็นการปฏิบัติตามข้อตกลงในสัญญาเพื่อใช้สิทธิเลิกสัญญา กรณีจึงยังถือไม่ได้ว่าเป็นการบอกเลิกสัญญาเช่าซื้อตามสัญญาข้อ 12 ที่จะทำให้โจทก์มีสิทธิเรียกค่าขาดราคาตามสัญญาข้อ 13 พฤติการณ์ที่จำเลยที่ 1 ส่งมอบรถยนต์ที่เช่าซื้อคืนโจทก์โดยไม่ปรากฏข้อโต้แย้งคัดค้านของโจทก์ ถือว่าโจทก์และจำเลยที่ 1 ต่างสมัครใจเลิกสัญญาต่อกันโดยปริยาย โจทก์ย่อมไม่มีสิทธิเรียกค่าขาดราคาอันเป็นค่าเสียหายตามข้อตกลงในสัญญาเช่าซื้อได้

ลูกหนี้โอนย้ายทรัพย์สินของตนภายหลังได้รับหนังสือทวงหรือถูกฟ้อง อาจมีความผิดอาญาฐาน “โกงเจ้าหนี้”

ลูกหนี้โอนย้ายทรัพย์สินของตนภายหลังได้รับหนังสือทวงหรือถูกฟ้อง อาจมีความผิดอาญาฐาน “โกงเจ้าหนี้” คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 16070-16072/2555 ตาม ป.อ. มาตรา 350 บัญญัติไว้ชัดเจนว่า ผู้ใดเพียงแต่รู้ว่าเจ้าหนี้ของตนหรือของผู้อื่นจะใช้สิทธิเรียกร้องทางศาลให้ชำระหนี้ แล้วย้ายไปเสีย ซ่อนเร้นหรือโอนไปให้แก่ผู้อื่นซึ่งทรัพย์ใด แกล้งให้ตนเองเป็นหนี้จำนวนใดอันไม่เป็นความจริง ก็ถือว่าเป็นความผิดตามมาตราดังกล่าวแล้ว เมื่อข้อเท็จจริงได้ความว่าโจทก์เป็นเจ้าหนี้จำเลยที่ 1 ตามคำพิพากษาในคดีแพ่งที่โจทก์ฟ้องให้จำเลยที่ 1 รับผิดในเรื่องผิดสัญญาและเรียกค่าเสียหาย จำเลยที่ 1 ไม่มีทรัพย์สินอื่นใดพอชำระหนี้แก่โจทก์ ขณะที่คดีแพ่งดังกล่าวอยู่ระหว่างบังคับคดีตามคำพิพากษา จำเลยที่ 1 จดทะเบียนโอนที่ดิน 3 แปลง ให้แก่จำเลยที่ 2 โดยเสน่หา แม้คดีแพ่งดังกล่าวจำเลยที่ 1 ได้ฟ้องแย้ง และผลคดีอาจจะเปลี่ยนแปลงโดยศาลฎีกาอาจพิพากษาให้จำเลยที่ 1 ชนะคดีตามฟ้องแย้ง ซึ่งไม่แน่ว่าโจทก์จะเป็นเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาในชั้นที่สุดหรือไม่ก็ตาม ก็ถือว่าจำเลยที่ 1 กระทำความผิดฐานโกงเจ้าหนี้แล้ว ไม่จำต้องถือเอาคำพิพากษาของศาลที่พิพากษาให้จำเลยที่ 1 รับผิดในทางแพ่งมาเป็นองค์ประกอบของความผิดฐานดังกล่าว แต่อย่างไรก็ดีการที่ลูกหนี้จะมีความผิดฐานโกงเจ้าหนี้หรือไม่ ก็ต้องพิจารณาข้อเท็จจริงอื่นๆ ประกอบกับต้องพิจารณาเจตนาพิเศษว่าการโอนย้ายทรัพย์สินของลูกหนี้นั้นทำไปเพื่อไม่ให้เจ้าหนี้ของตนได้รับชำระหนี้ดังกล่าวหรือไม่ด้วย

คดีบัตรเครดิต จะเริ่มนับอายุความเมื่อใด ?

คดีบัตรเครดิต จะเริ่มนับอายุความเมื่อใด ? ในคดีบัตรเครดิตโดยทั่วไปเมื่อเจ้าหนี้ได้แจ้งกำหนดการชำระหนี้ให้แก่ลูกหนี้ทราบแล้ว เมื่อถึงกำหนดลูกหนี้ไม่ชำระหนี้ตามกำหนด อายุความจะเริ่มนับทันทีในวันถัดไป โดยมีอายุความทั้งสิ้น 2 ปีนับจากผิดนัดชำระหนี้ ถ้าหากธนาคารไม่ได้ฟ้องร้องในเวลา 2 ปี คดีก็เป็นอันขาดอายุความ ซึ่งส่งผลให้ธนาคารหมดสิทธิเรียกร้องต่อลูกหนี้ ทั้งนี้ถึงขะขาดอายุความไปแล้ว ทางฝ่ายเจ้าหนี้สามารถยื่นฟ้องได้ โดยศาลก็จะดำเนินการไปตามกระบวนการของกฎหมายต่อไป เช่น ถ้าจะให้ศาลหยิบยกเอาเรื่องการขาดอายุความขึ้นมาพิจารณานั้น ลูกหนี้ต้องยื่นคำให้การต่อสู้คดีในเรื่องของการขาดอายุความ ขึ้นเป็นข้อต่อสู้ในชั้นศาล ซึ่งศาลก็จะนำมาพิจารณาตรวจสอบดูข้อเท็จจริง และถ้าหากเป็นจริงตามที่ลูกหนี้ยื่นคำให้การต่อสู้มา ทางศาลก็จะทำการ”ยกฟ้อง” คือพิพากษาให้คดีตกไป โดยไม่บังคับให้เป็นไปตามคําฟ้องของเจ้าหนี้ต่อไป ซึ่งในเรื่องนี้ได้มีกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ตามมาตรา 193/29 กำหนดไว้ว่า เมื่อไม่ได้ยกอายุความขึ้นเป็นข้อต่อสู้ ศาลจะอ้างเอาอายุความมาเป็นเหตุยกฟ้องไม่ได้ ติดต่องาน Info@legalclinic.co th #ดำเนินคดี #อายุความ #คดีอาญา #สินสมรส #ฟ้องชู้ #อสังหา #ทนายความ #วิทยากรสอนกฎหมาย #ลูกหนี้ #มรดก #หมิ่นประมาท #เจ้าหนี้ #สืบทรัพย์ #ชู้สาว #บัตรเครดิต

หญิงหม้ายจะจดทะเบียนสมรสใหม่ได้เมื่อหย่าหรือสามีเสียชีวิตครบ 310 วัน !!!

หญิงหม้ายจะจดทะเบียนสมรสใหม่ได้เมื่อหย่าหรือสามีเสียชีวิตครบ 310 วัน !!! เอาละ! หลายๆคนคงสงสัยว่ากฎหมายจะมายุ่งอะไรก็กับคนจะจดทะเบียนสมรสมีสามีใหม่ ในเมื่อก็หย่าแล้ว หรือสามีเก่าก็เสียชีวิตแล้ว ฟังก่อนนน กฎหมายกำหนดไว้เพื่อป้องกันปัญหาเกี่ยวกับบุตรที่อาจจะเกิดมาว่าเป็นบุตรของสามีเก่าหรือสามีใหม่ หากยอมให้ฝ่ายหญิงสมรสกับชายคนใหม่ทันที และในระหว่างนี้เกิดตั้งครรภ์ขึ้นมา อาจมีข้อโต้แย้งได้ว่าใครเป็นพ่อของเด็ก ทำให้ยากต่อการเลี้ยงดูบุตรและจัดการแบ่งมรดกต่าง ๆ ดังนั้นตามกฎหมาย ผู้หญิงจึงต้องเว้นระยะก่อนจดทะเบียนสมรสใหม่ เป็นเวลาไม่น้อยกว่า 310 วัน แต่กฎหมายก็มีข้อยกเว้นให้หญิงหม้ายจะสามารถจดทะเบียนสมรสใหม่ได้เลยก็ต่อเมื่อ 1. คลอดบุตรแล้วในระหว่างนั้น 2. สมรสกับคู่สมรสเดิม 3. มีใบรับรองแพทย์ว่าไม่ได้ตั้งครรภ์ 4. ศาลมีคำสั่งให้สมรสได้ กฎหมายอาจจะยุ่งยากไปบ้างแต่เขาก็กำหนดไว้เพื่อป้องกันปัญหาในภายหน้านะคะ

ผู้ให้เช่าจะขึ้นค่าเช่า จะต้องมีหลักฐานเป็นหนังสือลงลายมือชื่อผู้เช่า

ผู้ให้เช่าจะขึ้นค่าเช่า จะต้องมีหลักฐานเป็นหนังสือลงลายมือชื่อผู้เช่า การเช่าอสังหาริมทรัพย์กฎหมายกำหนดว่าต้องมีหลักฐานเป็นหนังสือลงลายมือชื่อฝ่ายที่ต้องรับผิดเป็นสำคัญ มิฉะนั้นจะฟ้องร้องบังคับคดีไม่ได้ ดังนั้นการขึ้นค่าเช่าก็ต้องมีหลักฐานเป็นหนังสือลงลายมือชื่อผู้เช่า ผู้ให้เช่าจึงจะฟ้องร้องบังคับคดีผู้เช่าให้รับผิดตามค่าเช่าที่ขึ้นได้ ถ้าไม่มีก็บังคับได้เพียงค่าเช่าตามสัญญาเช่าเดิม คำพิพากษาฎีกาที่ 5387/2549 ตามสัญญาเช่าอาคารกำหนดอัตราค่าเช่าไว้เดือนละ 17,000 บาท เมื่อครบกำหนดการเช่า 1 ปี จำเลยยังคงอยู่ในตึกแถวพิพาทต่อมา ตาม ป.พ.พ. มาตรา 570 ให้ถือว่าโจทก์จำเลยเป็นอันได้ทำสัญญาใหม่ต่อไปไม่มีกำหนดเวลาซึ่งหมายความว่าข้อตกลงเกี่ยวกับกำหนดเวลาไม่มีผลบังคับกันต่อไป ส่วนสัญญาข้ออื่นคงเป็นไปตามสัญญาเช่าเดิม รวมทั้งอัตราค่าเช่าด้วย และโดยเหตุที่การเช่าอสังหาริมทรัพย์นี้ ป.พ.พ. มาตรา 538 บังคับให้มีหลักฐานเป็นหนังสืออย่างหนึ่งอย่างใดลงลายมือชื่อฝ่ายที่ต้องรับผิดเป็นสำคัญ มิฉะนั้นจะฟ้องร้องบังคับคดีไม่ได้ ดังนั้นเมื่อโจทก์จะขอบังคับให้จำเลยชำระค่าเช่า ซึ่งเป็นอัตราค่าเช่าที่สูงกว่าที่กำหนดไว้ในหนังสือสัญญาเช่าอาคาร โจทก์ต้องมีหลักฐานเป็นหนังสืออย่างหนึ่งอย่างใดลงลายมือชื่อจำเลยมาแสดงว่าได้มีการตกลงขึ้นค่าเช่าดังที่โจทก์อ้าง การที่โจทก์นำสืบพยานบุคคลว่าได้มีการตกลงขึ้นค่าเช่าในอัตราเดือนละ 20,000 บาท จึงเป็นการต้องห้ามตาม ป.วิ.พ. มาตรา 94 จำเลยคงต้องรับผิดชำระค่าเช่าที่ค้างชำระเดือนละ 17,000 บาท ตามอัตราค่าเช่าในสัญญาเช่าเดิม