กรุณารอสักครู่

 

HomeBlog

กำหนดหลักการ “ลา” ของลูกจ้าง

กำหนดหลักการลาของลูกจ้าง 1. ลูกจ้างมีสิทธิลาป่วยได้ตามจริง โดยได้รับค่าจ้างตามปกติไม่เกิน 30 วันต่อปี 2. หากการลาป่วยนั้นเกินกว่า 3 วันนายจ้างมีสิทธิขอดูใบรับรองแพทย์จากลูกจ้าง หากลูกจ้างไม่สามารถแสดงใบรับรองแพทย์ได้ ลูกจ้างสามารถแจ้งเป็นกรณีไป 3. ลูกจ้างที่ตั้งครรภ์สามารถลาคลอดได้ไม่เกิน 98 วัน โดยได้รับค่าจ้างตามปกติ 45 วันและจากรับจากประกันสังคมอีก 45 วัน 4. ลูกจ้างมีสิทธิทำหมันและหยุดทำงานได้ตามคำวินิจฉัยของแพทย์ โดยได้รับค่าจ้างตามปกติ 5. ลูกจ้างสามารถลากิจ เพื่อกิจธุระอันจำเป็น โดยได้รับค่าจ้างตามปกติ 6. ลูกจ้างที่แจ้งลาเพื่อรับราชการทหาร ไม่เกินปีละ 60 วัน โดยได้รับค่าจ้างตามปกติ 7. ลูกจ้างที่แจ้งลาเพื่อฝึกอบรม สามารถทำได้ โดยการจ่ายค่าจ้างจะเป็นไปตามเงื่อนไขที่บริษัทกำหนด

ค่าล่วงเวลา คิดจากอะไร ?

ค่าล่วงเวลา : ลูกจ้างที่ทำงานในช่วงเวลาทำงานในวันจันทร์ – ศุกร์ ตั้งแต่เวลา 17.30 / 18.00 น. (เวลาหลังเลิกงานที่แต่ละบริษัทกำหนด) เป็นต้นไป จะได้รับค่าจ้างจำนวน 1.5 เท่าของค่าจ้างเป็นรายชั่วโมง ค่าทำงานในวันหยุด : ลูกจ้างที่ทำงานในวันหยุดประจำสัปดาห์ หรือวันหยุดนักขัตฤกษ์ 0-8 ชั่วโมงแรก (ไม่รวมเวลาพัก 1 ชั่วโมง) จะได้รับค่าจ้างจำนวน 1 เท่าของค่าจ้างเป็นรายชั่วโมง ค่าล่วงเวลาในวันหยุด : ลูกจ้างที่ทำงานในวันหยุดประจำสัปดาห์ หรือวันหยุดนักขัตฤกษ์ ตั้งแต่ชั่วโมงที่ 9 เป็นต้นไป (ไม่รวมเวลาพัก 1 ชั่วโมง) จะได้รับค่าจ้างจำนวน 3 เท่าของค่าจ้างเป็นรายชั่วโมง

บอกว่าจะจ้างแต่ไม่จ้าง ลาออกจากที่เก่ามาแล้วด้วย ฟ้องได้ไหม??

บอกว่าจะจ้างแต่ไม่จ้าง ลาออกจากที่เก่ามาแล้วด้วย ฟ้องได้ไหม?? ตอบไวไวเลยว่า”ได้ค่ะ” แต่ก่อนก็ไปขยายความว่าฟ้องได้ด้วยฐานอะไรอย่างไร ต้องขอถามฝั่งตัวแทนนายจ้างก่อนว่าเป็นอะไรหรอ บทจะเรียกมาสัมภาษณ์รับเข้าทำงาน ก็ตกลงรับปากเป็นมั่นเป็นเหมาะบทจะไม่เอาแล้วปฏิเสธเฉยเฉยแถมยังมาบอกว่าน้องก็ไม่ได้เสียหายอะไร รีบกลับไปคุยกับที่เก่าสิเผื่อเค้ายังไม่ได้คนใหม่มาแทน…แหม่ ใจเขาใจเราหน่อยเถอะค่ะ พูดอะไรนึกถึงว่าเหตุการณ์แบบนี้เกิดขึ้นกับตัวเองจะทำอย่างไร ส่วนลูกจ้างท่านใดที่โดนแบบนี้สามารถฟ้องได้โดย การที่ลูกจ้างจะฟ้องนั้น ต้องบรรยายเกี่ยวกับความเสียหายไว้โดยแจ้งชัดในสภาพแห่งข้อหาและคำขอบังคับทั้งข้ออ้างที่อาศัยเป็นหลักแห่งข้อหาแล้วตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 172 วรรคสอง ประกอบพรบ.จัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน มาตรา 31 แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าเรียกเท่าไหร่ก็ได้นะคะศาลจะเป็นคนใช้ดุลพินิจซึ่งใช้ดุลพินิจจากอะไรก็มาจากเอกสารหลักฐานต่างๆที่แสดงให้ศาลเห็นถึงความเสียหายของลูกจ้างค่ะ

“เจ้าหนี้” ก็ถือว่าเป็นผู้มีส่วนได้เสีย สามารถร้องจัดการมรดกของลูกหนี้ได้

เจ้าหนี้ ก็ถือว่าเป็นผู้มีส่วนได้เสีย สามารถร้องจัดการมรดกของลูกหนี้ได้ คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5644/2545 ศาลชั้นต้นเคยยกคำร้องขอของผู้ร้องมาครั้งหนึ่งเพราะเห็นว่าการที่หุ้นของผู้ตายตกเป็นของแผ่นดินมิใช่เหตุขัดข้องในการจัดการมรดกที่จะร้องขอให้ตั้งผู้ร้องเป็นผู้จัดการมรดก โดยเห็นว่าผู้ร้องยังสามารถขวนขวายหาทางร้องขอเพื่อรับชำระหนี้จากกระทรวงการคลังได้ แต่ประเด็นสำคัญในคดีนี้มีอยู่ว่า ภายหลังต่อมาผู้ร้องได้ร้องขอรับชำระหนี้ต่อกระทรวงการคลังแล้ว แต่กระทรวงการคลังปฏิเสธไม่ยอมชำระหนี้และแจ้งให้ผู้ร้องไปดำเนินการตามขั้นตอนของกฎหมายก่อน อันเป็นเรื่องใหม่ที่เกิดขึ้นหลังจากที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งยกคำร้องขอของผู้ร้องแล้ว เหตุขัดข้องในการจัดการมรดกของผู้ตายตามคำร้องขอในคดีนี้ เป็นคนละเหตุกับที่ผู้ร้องยกขึ้นอ้างในการขอจัดการมรดกในคดีก่อน และศาลชั้นต้นในคดีก่อนยังมิได้วินิจฉัยถึงเหตุขัดข้องอันเกิดแต่การที่กระทรวงการคลังปฏิเสธไม่ยอมชำระหนี้แก่ผู้ร้อง ดังนี้ คำสั่งของศาลชั้นต้นในคดีก่อนที่วินิจฉัยถึงเหตุที่ผู้ร้องอ้างว่าเป็นข้อขัดข้องในการจัดการมรดกของผู้ตาย ซึ่งเป็นการวินิจฉัยถึงเหตุอื่นซึ่งไม่ใช่เหตุขัดข้องตามคำร้องขอในคดีนี้ คำร้องขอของผู้ร้องในคดีนี้จึงไม่เป็นการรื้อร้องฟ้องกันอีกในประเด็นที่ได้วินิจฉัยโดยอาศัยเหตุอย่างเดียวกันอันจะเป็นฟ้องซ้ำ ผู้ตายไม่มีทายาทและไม่มีผู้รับพินัยกรรม หุ้นของผู้ตายย่อมตกทอดแก่แผ่นดินตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1753 แผ่นดินหาใช่ทายาทของผู้ตายไม่ดังนั้นแม้หุ้นของผู้ตายจะตกเป็นของแผ่นดิน แต่หากไม่มีผู้จัดการมรดกอยู่ตราบใดผู้ร้องซึ่งเป็นเจ้าหนี้ของผู้ตายย่อมไม่สามารถบังคับชำระหนี้ของตนได้ จึงต้องถือว่าผู้ร้องเป็นผู้มีส่วนได้เสียและมีสิทธิร้องขอต่อศาลให้ตั้งตนเป็นผู้จัดการมรดกได้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1713 หลักกฎหมายที่ได้จากคำพิพากษาฎีกาที่ 5644/2545 1.ผู้ตายไม่มีทายาทและไม่มีผู้รับพินัยกรรม ทรัพย์มรดกของผู้ตายย่อมตกทอดแก่แผ่นดินตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1753 2.เหตุขัดข้องในการจัดการมรดกของผู้ตายตามคำร้องขอในคดีนี้ เป็นคนละเหตุกับที่ผู้ร้องยกขึ้นอ้างในการขอจัดการมรดกในคดีก่อน คำสั่งของศาลชั้นต้นในคดีก่อนที่วินิจฉัยถึงเหตุที่ผู้ร้องอ้างว่าเป็นข้อขัดข้องในการจัดการมรดกของผู้ตาย ซึ่งเป็นการวินิจฉัยถึงเหตุอื่นซึ่งไม่ใช่เหตุขัดข้องตามคำร้องขอในคดีนี้ คำร้องขอของผู้ร้องในคดีนี้จึงไม่เป็นฟ้องซ้ำ ตาม ป.วิแพ่ง มาตรา 148 3.แม้ทรัพย์ของผู้ตายจะตกเป็นของแผ่นดิน แต่หากไม่มีผู้จัดการมรดกอยู่ตราบใดผู้ร้องซึ่งเป็นเจ้าหนี้ของผู้ตายย่อมไม่สามารถบังคับชำระหนี้ของตนได้ จึงต้องถือว่าผู้ร้องเป็นผู้มีส่วนได้เสียและมีสิทธิร้องขอต่อศาลให้ตั้งตนเป็นผู้จัดการมรดกได้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1713 ติดต่องาน

บริษัทแบ่งจ่ายโบนัส 2 รอบ ลาออกก่อนกำหนด จ่ายรอบ 2 ก็หมดสิทธิได้

บริษัทแบ่งจ่ายโบนัส 2 รอบ ลาออกก่อนกำหนด จ่ายรอบ 2 ก็หมดสิทธิได้ ก่อนอื่นมาดูที่หลักก่อน ว่าเรามีสิทธิได้รับโบนัสอย่างไร “ เงินโบนัสต้องมีสภาพการเป็นพนักงานจนถึงวันกำหนดจ่าย” ดังนั้นหากออกก่อนจึงไม่มีสิทธิได้รับ บางคนอ่านแล้วร้อง อ้าววว!! ทำไมละ ก็ตอนที่ประเมิน ฉันก็ทำงานมาให้อย่างดีเลยตลอดนะแต่ในเมื่องวดแรกจ่ายให้แล้วงวดที่สองแม้ฉันจะลาออกไปแล้วก็ควรจะต้องจ่ายสิเพราะเป็นการประเมินตามผลการทำงานของปีที่ผ่านมา ใครที่คิดแบบนี้ในใจอยู่เรามาคิดอีกมุมนึงนะ ก็จริงอยู่ที่การประเมินเพื่อจ่ายโบนัสเป็นการประเมินผลการทำงานจากการปฎิบัติงานในปีที่ผ่านมาแต่ก็ต้องอย่าลืมว่าเจตนารมย์ของการจ่ายโบนัสคือการจ่ายให้พนักงานที่ยังทำงานกับบริษัทให้พนักงานได้มีขวัญและกำลังใจในการทำงานกับบริษัทต่อไปดังนั้นเมื่อพนักงานลาออกไปก่อนถึงกำหนดการจ่ายโบนัสจึงไม่มีสิทธิ์ได้รับเงินโบนัส ในคดีนึงมีการนำขึ้นสู่ศาลในกรณีที่ว่าบริษัทแบ่งกันจ่ายโบนัสออกเป็นหกงวดพนักงานได้รับไปแล้วห้างวดแต่ละงวดที่หกพนักงานลาออกก่อนถึงกำหนดการจ่ายจึงเป็นประเด็นโต้แย้งว่าพนักงานจะได้โบนัสหรือไม่ซึ่งตรงนี้ศาลฎีกาได้พิจารณาจากข้อบังคับของบริษัทและมีคำพิพากษาว่า บริษัทไม่ต้องจ่ายเงินโบนัสให้กับพนักงาน เพราะพนักงานพ้นสภาพการเป็นพนักงาน ก่อนถึงกำหนดงวดจ่ายโบนัส ทำให้พนักงานไม่มีสิทธิรับเงินโบนัส อ้างอิงข้อมูล : คำพิพากษาฎีกาที่ 15187/56

การปฐมนิเทศ สิ่งที่ควรแจ้งให้พนักงานใหม่ทราบ

การปฐมนิเทศ เป็นหลักสูตรที่จัดขึ้นสำหรับพนักงานที่เข้างานใหม่กับองค์กร โดยมีวัตถุประสงค์ให้พนักงานรู้จักองค์กรมากขึ้น สามารถปรับตัวให้เข้ากับองค์กรได้ง่ายและเร็วมากขึ้น พร้อมที่จะทำงานให้กับองค์กร สิ่งที่ควรแจ้งแก่พนักงานใหม่ ได้แก่ 1.ความรู้ทั่วไปเกี่ยวกับองค์กร หรือความรู้เกี่ยวกับสิทธิ์ต่าง ๆที่พนักงานได้รับ เช่น ประวัติองค์กร การเข้างาน หรือแบบฟอร์มต่าง ๆ เงินเดือนและสวัสดิการ การคำนวณค่าล่วงเวลา กฎระเบียบและวินัย สิทธิ์การลา เวลาทำงาน เวลาพัก ฯลฯ เป็นต้น 2.ความรู้เกี่ยวกับมาตรฐาน หรือระบบที่องค์กรได้รับการรับรอง ทั้งนี้ก็ขึ้นอยู่กับระบบหรือมาตรฐานของแต่ละองค์กรที่ได้รับการรับรอง เช่น องค์กรได้รับการรับรองระบบ ISO ซึ่งมีข้อกำหนดในการอบรม พนักงานในความรู้ที่เกี่ยวข้องกับสิ่งแวดล้อม เป็นต้น 3.ความรู้ที่กฎหมายกำหนด เช่น เรื่องการอบรมลูกจ้างตาม พ.ร.บ.ความปลอดภัย อาชีวอนามัยและสภาพแวดล้อมในการทำงาน พ.ศ. 2554ที่กฎหมายกำหนดให้ต้องมีการอบรมให้ความรู้ด้านความปลอดภัยในการทำงานแก่ลูกจ้างทุกคนเป็นเรื่องสำคัญและจำเป็นสำหรับสถานประกอบกิจการทุกแห่งเนื่องจากเป็นกิจกรรมที่ให้ความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับอันตรายที่อาจเกิดเนื่องจากการทำงานและเพื่อเป็นการป้องกันไม่ให้ลูกจ้างได้รับบาดเจ็บ สูญเสียชีวิตจากอุบัติเหตุ หรือเกิดการเจ็บป่วยจากโรคจากการทำงาน เป็นต้น 4. Basic Technical SKill การให้ความสำคัญกับการปูพื้นฐานความรู้เรื่อง Basic Technical Skill ให้กับพนักงานใหม่ก่อนส่งพนักงานให้หน่วยงานต้นสังกัด ทั้งนี้ช่วยให้หน่วยงานต้นสังกัดไม่ต้องเสียเวลาในการปูความรู้พื้นฐานทางเทคนิคให้พนักงานใหม่สามารถเข้าใจถึงกระบวนการทำงานได้เลย 5.ความรู้ หรือสิ่งที่องค์กรต้องการเน้นย้ำ เช่น...

กรณีที่นายจ้างกำหนดการเกษียณอายุไว้ แล้วลูกจ้างยังไม่ใช้สิทธิเกษียณ ยังทำงานต่อไปเรื่อย ๆ แบบนี้ยังได้ค่าชดเชยหรือไม่ ?

“ กรณีที่นายจ้างกำหนดการเกษียณอายุไว้ แล้วลูกจ้างยังไม่ใช้สิทธิเกษียณ ยังทำงานต่อไปเรื่อย ๆ แบบนี้ยังได้ค่าชดเชยหรือไม่ ??” คำตอบ คือ นายจ้างยังคงต้องจ่ายค่าชดเชยให้แก่ลูกจ้างคะ แต่ตอบสั้นไปเดี๋ยวจะคาใจ ดังนั้นขอขยายความนิดนึง เพราะเมื่อครบกำหนดอายุเกษียณแต่นายจ้างยังคงให้ลูกจ้างทำงานต่อไป ถือเป็นการที่นายจ้าง ตกลงขยายระยะเวลาการเกษียณอายุออกไป ไม่ใช่เป็นการสละสิทธิการเกษียณอายุ ซึ่งมีแนวคำพิพากษาของศาล ตัดสินไว้ดังนี้ คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1617/2547 : ตามข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานของนายจ้าง กำหนดให้พนักงานพ้นสภาพจากการเป็นพนักงานเมื่อเกษียณอายุเมื่อพนักงานมีอายุ 60 ปีบริบูรณ์ ยกเว้นกรณีนายจ้างอนุมัติต่ออายุการจ้างแรงงานก่อนการเกษียณอายุ และพนักงานที่เกษียณอายุมีสิทธิได้รับค่าชดเชย การที่นายจ้างอนุมัติให้ลูกจ้างทำงานภายหลังจากมีอายุครบ 60 ปีบริบูรณ์แล้ว โดยมิได้จ่ายค่าชดเชยตามสิทธิให้แก่ลูกจ้างในขณะนั้น นอกจากจะเป็นการต่ออายุสัญญาจ้างแรงงานแล้ว ยังเป็นการตกลงขยายระยะเวลาการเกษียณอายุสำหรับลูกจ้างต่อไปด้วย มิใช่เป็นการสละสิทธิการเกษียณอายุ ต่อมาเมื่อ ลูกจ้างขอใช้สิทธิเกษียณอายุและนายจ้างอนุมัติ นายจ้างจึงต้องจ่ายค่าชดเชยให้แก่ลูกจ้าง สำหรับการเกษียณอายุ นั้น หากนายจ้างกำหนดข้อบังคับเรื่องหลักเกณฑ์การเกษียณอายุไว้อย่างไรก็บังคับไปตามนั้น แต่ถ้าบริษัทไม่กำหนดหลักเกณฑ์การเกษียณอายุไว้หรือกำหนดการเกษียณอายุไว้เกินกว่า 60 ปี กฎหมายก็กำหนดไว้ว่า ลูกจ้างที่มีอายุเกินกว่า 60 ปี มีสิทธิแสดงเจตนาขอเกษียณอายุได้ และนายจ้างต้องจ่ายค่าชดเชยให้กับลูกจ้าง ด้วยรักและนิ้วล็อก

เกร็ดความรู้กฎหมาย “การหักกลบลบหนี้”

เกร็ดความรู้กฎหมาย!! หลายคนคงเคยได้ยินเรื่อง การหักกลบลบหนี้ เดี๋ยววันนี้จะมาอธิบายให้ฟังว่าการหักกลบลบหนี้ คืออะไร? “การหักกลบลบหนี้” เป็นวิธีการที่ทำให้หนี้ระงับไปวิธีหนึ่ง เป็นเรื่องระหว่างบุคคลหรือคู่สัญญา 2 ฝ่าย ที่ต่างฝ่ายต่างเป็นลูกหนี้เจ้าหนี้ของและกัน ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ได้กำหนดให้ ลูกหนี้เจ้าหนี้สามารถระงับหนี้ของตนด้วยวิธีการหักกลบลบหนี้ได้ ทำให้หนี้ทั้ง 2 รายระงับไปในส่วนที่เท่ากัน โดยไม่ต้องจ่ายเงินชำระหนี้กันไปมาให้เสียเวลาและค่าใช้จ่าย ทั้งนี้ การหักกลบลบหนี้ที่จะทำให้หนี้ระงับต้องเป็นไปตามหลักเกณฑ์ เงื่อนไข และวิธีการตามที่บัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 341 ถึง มาตาร 348

เจ้าของบ้านเซ็นรับมอบงานจากผู้รับเหมาแล้ว ต่อมาไม่นานหลังคารั่ว ถือเป็นความชำรุดบกพร่องซึ่งไม่พึงพบได้ ขณะรับมอบงาน ผู้รับเหมายังคงต้องรับผิด

เจ้าของบ้านเซ็นรับมอบงานจากผู้รับเหมาแล้ว ต่อมาไม่นานหลังคารั่ว ถือเป็นความชำรุดบกพร่องซึ่งไม่พึงพบได้ ขณะรับมอบงาน ผู้รับเหมายังคงต้องรับผิด ป.พ.พ. มาตรา 598 ถ้าผู้ว่าจ้างยอมรับมอบการที่ทำนั้นแล้วทั้งชำรุดบกพร่องมิได้อิดเอื้อนโดยแสดงออกชัดหรือโดยปริยาย ผู้รับจ้างก็ไม่ต้องรับผิด เว้นแต่ความชำรุดบกพร่องนั้นเป็นเช่นจะไม่พึงพบได้ในขณะเมื่อรับมอบหรือผู้รับจ้างได้ปิดบังความนั้นเสีย คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5201/2549 โจทก์ส่งมอบงานติดตั้งหลังคาอาคารให้แก่จำเลยที่ 1 แล้ว หลังจากนั้นเมื่อฝนตกหลังคารั่วและเปิดออกเมื่อถูกลมตี อันเป็นความชำรุดบกพร่องซึ่งไม่พึงพบได้ในขณะเมื่อรับมอบ โจทก์จึงต้องรับผิดต่อจำเลยที่ 1 ตาม ป.พ.พ. มาตรา 598 โดยจำเลยที่ 1 มีสิทธิยึดหน่วงค่าจ้างไว้ได้เพียงเพื่อให้โจทก์แก้ไขซ่อมแซมการชำรุดบกพร่องดังกล่าว เมื่อโจทก์ยังซ่อมแซมไม่แล้วเสร็จ จำเลยที่ 1 จึงชอบที่จะยึดหน่วงสินจ้างไว้ได้ ทั้งนี้จะต้องดูข้อสัญญาการประกันผลงานและอายุความในการฟ้องร้องคดีประกอบ ติดต่อจ้าง Info@legalclinic.co.th #อสังหา #อสังหาริมทรัพย์ #สัญญาเช่า3ปี #สัญญาเช่า #findmylawyer #ยักยอกทรัพย์ #ทนายความ #ฟ้องร้อง #สัญญา #ผู้รับเหมา #ผู้รับเหมาก่อสร้าง

เลิกจ้างได้โดยไม่ต้องตักเตือนเป็นหนังสือ

เลิกจ้างได้โดยไม่ต้องตักเตือนเป็นหนังสือ ข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างให้สิทธินายจ้างที่จะเลิกจ้างลูกจ้างเพราะเหตุขาดสมรรถภาพ โดยมีสาระว่า “ในกรณีที่พนักงานไม่สามารถจะปฏิบัติงานให้เป็นไปตามมาตรฐานของบริษัทโดยที่บริษัทได้ให้การอบรม หรือฝึกสอนแล้วก็ตาม หรือจากการขาดงานบ่อย ๆ หรือจากการขาดความรับผิดชอบ ไม่สนใจในงาน หรือได้รับการประเมินต่ำจากผู้บังคับบัญชาหลายครั้งและบริษัทได้ตักเตือนเป็นหนังสือหรือลงโทษอย่างอื่นมาแล้ว” จากการประเมินผลงานของลูกจ้างหลายครั้ง ผลงานของลูกจ้างก็ยังอยู่ในเกณฑ์ต่ำและยังไม่ได้มาตรฐานของนายจ้าง อันเป็นกรณีลูกจ้างไม่สามารถปฏิบัติงานให้เป็นไปตามมาตรฐานได้ นายจ้างจึงมีสิทธิเลิกจ้างได้โดยไม่จำต้องตักเตือนเป็นหนังสือหรือลงโทษอย่างอื่นมาก่อน การที่นายจ้างเลิกจ้างแม้จะไม่ได้ตักเตือนเป็นหนังสือหรือลงโทษลูกจ้างมาก่อนจึงชอบด้วยข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างแล้ว และมีเหตุผลสมควรเพียงพอที่จะเลิกจ้างได้ จึงมิใช่การเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรม (คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7096/2550)