กรุณารอสักครู่

 

HomeBlog

การทำสัญญาประนีประนอมยอมความในศาลเพื่อให้ศาลมีคำพิพากษาตามยอมต้องทำอย่างรอบครอบและรัดกุม เพราะหากนำคดีเรื่องเดิมมารื้อร้องฟ้องกันใหม่จะเป็น “ฟ้องซ้ำ”

การทำสัญญาประนีประนอมยอมความในศาลเพื่อให้ศาลมีคำพิพากษาตามยอมต้องทำอย่างรอบครอบและรัดกุม เพราะหากนำคดีเรื่องเดิมมารื้อร้องฟ้องกันใหม่จะเป็น “ฟ้องซ้ำ” คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6221/2537 จำเลยเคยฟ้องโจทก์ขอให้ส่งมอบสินส่วนตัวและแบ่งสินสมรสโจทก์ให้การว่าโจทก์เป็นหนี้ธนาคารซึ่งโจทก์กู้มาใช้ในครอบครัว หากต้องแบ่งสินสมรสให้จำเลยแล้วต้องหักเงินดังกล่าวกึ่งหนึ่งให้โจทก์ด้วย ต่อมาโจทก์จำเลยทำสัญญาประนีประนอมยอมความโดยไม่ได้กล่าวถึงหนี้ดังกล่าวศาลชั้นต้นพิพากษาตามยอม คดีถึงที่สุด การที่โจทก์นำหนี้สินซึ่งเป็นประเด็นข้อพิพาทในคดีก่อนมาฟ้องเป็นคดีนี้อีก จึงเป็นการรื้อร้องฟ้องกันอีกในประเด็นที่ได้วินิจฉัยโดยอาศัยเหตุอย่างเดียวกันเป็นฟ้องซ้ำตาม ป.วิ.พ. มาตรา 148 วรรคแรก คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4801/2546 คดีก่อนโจทก์ฟ้องว่าจำเลยอาศัยอยู่ในที่ดินและบ้านของโจทก์ขอให้ขับไล่ แต่เมื่อโจทก์และจำเลยได้ตกลงทำสัญญาประนีประนอมยอมความและศาลพิพากษาตามยอมว่าโจทก์ตกลงโอนที่ดินและบ้านพิพาทให้จำเลย โดยจำเลยยอมชำระเงินจำนวน 600,000 บาท ข้อโต้แย้งสิทธิตามคำฟ้อง คำให้การและฟ้องแย้งได้ถูกแปลงเป็นสัญญาประนีประนอมยอมความ ถือว่าประเด็นแห่งคดีได้มีการวินิจฉัยเสร็จเด็ดขาดไปแล้วโดยคำพิพากษาตามยอม โจทก์จำเลยมีหน้าที่ปฏิบัติตามนั้น จำเลยจึงครอบครองที่ดินและบ้านพิพาทโดยอาศัยสัญญาประนีประนอมยอมความ เมื่อจำเลยผิดสัญญาฯ โจทก์ย่อมมีสิทธิบังคับคดีให้จำเลยชำระเงินจำนวน 600,000 บาทในคดีดังกล่าว แต่การที่โจทก์ฟ้องจำเลยเป็นคดีนี้อ้างว่าจำเลยผิดสัญญาประนีประนอมยอมความ ขอให้บังคับจำเลยและบริวารออกจากที่ดินและบ้านพิพาท เป็นคำฟ้องที่มีสภาพแห่งข้อหาและข้ออ้างที่อาศัยเป็นหลักแห่งข้อหาที่เกิดขึ้นใหม่จากการที่จำเลยทำสัญญาประนีประนอมยอมความในคดีก่อน ซึ่งจำเลยผิดสัญญาและเป็นเรื่องที่โจทก์โต้แย้งสิทธิของจำเลยนอกเหนือจากการบังคับคดีตามคำพิพากษาตามคำฟ้องคดีนี้จึงมีประเด็นที่ต้องวินิจฉัยโดยอาศัยเหตุคนละอย่างกับคดีก่อน ฟ้องโจทก์คดีนี้จึงไม่เป็นฟ้องซ้ำ

หากศาลมีคำพิพากษาตามยอมแล้ว จำเลยผิดนัดไม่ชำระหนี้ให้ตรงตามกำหนด แม้ภายหลังจำเลยจะนำเงินมาชำระหนี้ โจทก์ก็มีสิทธิบังคับคดีได้

หากศาลมีคำพิพากษาตามยอมแล้ว จำเลยผิดนัดไม่ชำระหนี้ให้ตรงตามกำหนด แม้ภายหลังจำเลยจะนำเงินมาชำระหนี้ โจทก์ก็มีสิทธิบังคับคดีได้ คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4355/2539 คำพิพากษาตามสัญญาประนีประนอมยอมความ ได้กำหนดวันและจำนวนหนี้ที่ต้องชำระไว้แน่นอน เมื่อจำเลยไม่ชำระหนี้ภายในกำหนด ถือว่าจำเลยผิดนัดไม่ปฏิบัติให้ถูกต้องตามคำพิพากษา โจทก์มีอำนาจที่จะบังคับคดีในยอดเงินที่จำเลยค้างชำระพร้อมดอกเบี้ยได้ทันที แม้ว่าหลังผิดนัดไม่กี่วันจำเลยได้ชำระหนี้ให้โจทก์และงวดต่อไปก็ชำระให้โจทก์ตรงตามคำพิพากษาก็ไม่ทำให้จำเลยพ้นจากการเป็นผู้ผิดนัด โจทก์มีสิทธิที่จะบังคับคดียึดทรัพย์ขายทอดตลาดได้ ถ้าทรัพย์ที่ยึดเป็นของ ธ.ก็เป็นเรื่องของ ธ.ผู้ได้รับความเสียหายที่จะดำเนินการตามสิทธิของตนที่มีอยู่มิใช่เป็นเรื่องของจำเลยที่จะมาร้องขอให้เพิกถอนการยึด

ถ้าลูกหนี้ไม่มีทรัพย์สินให้ยึดทรัพย์บังคับคดีได้เลย เจ้าหนี้จะทำยังไง ?

ถ้าลูกหนี้ไม่มีทรัพย์สินให้ยึดทรัพย์บังคับคดีได้เลย เจ้าหนี้จะทำยังไง? จ้างสืบทรัพย์ก็แล้วแต่ลูกหนี้ไม่มีอะไรจะให้ยึดหรืออายัด ทรัพย์สินก็ไม่มี เงินเดือนก็ไม่เกิน 20,000 หรืออาชีพอิสระไม่ได้มีรายได้ประจำเป็นเงินเดือนที่แน่นอน หรือเป็นข้าราชการก็ห้ามอายัดเงินเดือนอีก แล้วจะทำอย่างไรต่อ? เรื่องน่าปวดหัวของการบังคับคดีเจ้าหนี้ยังไม่จบ แต่ลูกหนี้ก็อย่างเพิ่งดีใจไป เมื่อเจ้าหนี้ได้เริ่มกระบวนการบังคับคดีภายใน 10 ปีนับตั้งแต่วันพิพากษาตามที่กฎหมายกำหนด เจ้าพนักงานบังคับคดีก็สามารถดำเนินการยึดหรืออายัดทรัพย์สินดังกล่าวได้ โดยไม่มีกำหนดเวลาหมดอายุจนกว่าลูกหนี้จะชำระเงินครบตามจำนวน แปลว่าเจ้าพนักงานบังคับคดีสามารถยึดทรัพย์ลูกหนี้ได้ตลอด ขอแค่เจ้าหนี้ร้องขอให้บังคับคดีภายใน 10 ปีนับแต่วันพิพากษาก็พอ เอาแล้วสิคุณลูกหนี้อย่าเข้าใจผิด คิดว่า 10 ปีแล้วเจ้าหนี้จะหมดสิทธิยึดทรัพย์นะ เข้ารอยึดได้ตลอดนะฉะนั้นเป็นหนี้ก็ต้องใช้นะคะ

โดนบังคับคดีแล้วยังไกล่เกลี่ยได้อยู่ไหม ?

โดนบังคับคดีแล้วยังไกล่เกลี่ยได้อยู่ไหม ?? แม้ว่าจะมีคำพิพากษาแล้ว ตั้งเรื่องบังคับคดีแล้ว แต่เรายังอยากขอเจรจากับเจ้าหนี้อีกครั้ง เผื่อว่าเจ้าหนี้จะเห็นใจลดหนี้บางส่วนหรือให้ผ่อนชำระได้บ้าง เราก็ยังสามารถไกล่เกลี่ยข้อพิพาทนั้นได้ที่ศูนย์ไกล่เกลี่ยข้อพิพาทของกรมบังคับคดี โดยเราสามารถยื่นคำร้องแสดงความประสงค์เพื่อขอให้ศูนย์ไกล่เกลี่ยดำเนินการให้ได้ทั้งก่อนและหลังมีการดำเนินการบังคับคดี 1) การไกล่เกลี่ยก่อนการบังคับคดี คือ การไกล่เกลี่ยก่อนที่จะมีการบังคับคดียึดทรัพย์ อายัดทรัพย์ ของลูกหนี้ เพื่อชำระหนี้ตามคำพิพากษา คู่กรณีสามารถขอให้มีการไกล่เกลี่ยได้ โดยไม่ให้ดำเนินการบังคับคดี เพื่อนำไปสู่การถอนการบังคับคดีต่อไปได้ 2) การไกล่เกลี่ยภายหลังการบังคับคดีแล้ว คือ การไกล่เกลี่ยภายหลังจากที่มีการบังคับคดียึดทรัพย์ อายัดทรัพย์ หรือขายทอดตลาดทรัพย์ของลูกหนี้แล้ว ซึ่งหากคู่ความสามารถตกลงกันได้จะมีผลให้มีการ ถอนการยึดทรัพย์ ถอนการอายัดทรัพย์ หรือถอนการบังคับคดีต่อไป แล้วทำบันทึกข้อตกลงระหว่างกัน เพื่อใช้บังคับตามที่ตกลง หรือหากตกลงกันได้เพียงบางส่วน ประเด็นที่ตกลงกันไม่ได้ก็สามารถดำเนินการบังคับคดีต่อไปได้

ลูกจ้างลางานไปสอบคัดเลือกเป็นข้าราชการ โดยใช้สิทธิลาป่วย ลากิจ ถือว่าลูกจ้างจงใจทำให้นายจ้างได้รับความเสียหายหรือไม่ ?

ลูกจ้างลางานไปสอบคัดเลือกเป็นข้าราชการ โดยไม่ได้ทำบันทึกแจ้งขออนุญาตกับนายจ้าง และใช้สิทธิลาป่วย ลากิจเพื่อไปสอบคัดเลือก การที่ลูกจ้างอ้างเหตุผลในการลาป่วย ลากิจไม่ตรงตามธุระที่ลูกจ้างไปกระทำ ถือว่าลูกจ้างจงใจทำให้นายจ้างได้รับความเสียหายหรือไม่ ? คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8483/2559 วางหลักไว้ว่า ในกรณีที่ลูกจ้างลางานไปสอบคัดเลือกเป็นข้าราชการโดยไม่ทำบันทึกแจ้งขออนุญาตนายจ้าง และใช้สิทธิลาป่วย ลากิจไปโดยอ้างเหตุไม่ตรงกับธุระที่ลูกจ้างไปกระทำ เป็นเรื่องที่ลูกจ้างต้องการใช้สิทธิลาไปทำธุระส่วนตัวมากกว่าคิดจะทำให้นายจ้างได้รับความเสียหาย ประกอบกับขณะนั้นลูกจ้างไม่อาจคาดหมายว่าจะสอบคัดเลือกได้หรือไม่ เช่นนี้ ไม่อาจถือได้ว่าลูกจ้างจงใจหรือเจตนาโดยประสงค์ให้นายจ้างได้รับความเสียหาย แม้ลูกจ้างจะมีความผิดอยู่บ้างในเรื่องไม่ปฏิบัติตามคำสั่งเรื่องบันทึกขออนุญาตไปสอบบรรจุข้าราชการ และแจ้งเหตุลาป่วย ลากิจไม่ตรงความจริง แต่การกระทำดังกล่าวไม่เป็นความผิดร้ายแรง นายจ้างอาจลงโทษได้แต่ยังไม่สมควรที่จะเลิกจ้าง เมื่อนายจ้างมีคำสั่งเลิกจ้างลูกจ้างด้วยเหตุผลดังกล่าว จึงเป็นการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรม นายจ้างต้องจ่ายค่าชดเชย สินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า และค่าเสียหายจากการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรม

เลิกจ้างด้วยวาจาก็มีผลตามกฎหมาย แต่ในการฟ้อง ลูกจ้างจะต้องมีหลักฐาน!!

เลิกจ้างด้วยวาจาก็มีผลตามกฎหมาย แต่ในการฟ้อง ลูกจ้างจะต้องมีหลักฐาน!! อย่างที่เคยบอกไปก่อนหน้านี้ว่าสัญญาจ้างแรงงานแม้ไม่มีเป็นลายลักษณ์อักษรก็ถือว่าเป็นการจ้างกันแล้วการที่ไม่มีสัญญาว่าจ้างไม่ได้ทำให้ไม่เกิด ข้อยกที่ทำให้นายจ้างกับลูกจ้าง ไม่ต้องปฏิบัติตามกฎหมายคุ้มครองแรงงานแต่อย่างใด นายจ้างบ้านๆบางคนเข้าใจว่าเมื่อไม่ทำสัญญากฎหมายก็ไม่คุ้มครอง…ท้าทายให้ฟ้อง บอกเลย..เดี๋ยวจะเจอดี เพราะฟ้องมาเป็น 20 คดีแล้วมั้งสำหรับการว่าจ้างที่ไม่มีสัญญาจ้างไม่ว่าจะเป็นฝ่ายนายจ้างหรือลูกจ้างก็ตาม ฟ้องได้หากมีหลักฐานในการทำงานร่วมกันและหลักฐานการจ่ายค่าจ้าง เช่นเดียวกันกับการเลิกจ้างที่ลูกจ้างได้มาปรึกษาใน inbox ว่า นายจ้างได้เลิกจ้างด้วยวาจาผ่าน zoom meeting ลูกจ้างจึงไม่ไปทำงาน เพราะถูกเลิกจ้างด้วยวาจาแล้ว แต่ต่อมานายจ้างกลับออกหนังสือเลิกจ้าง โดยส่งเป็นจดหมายมาที่บ้านว่า “ลูกจ้างขาดงานต่อเนื่องกัน 3 วัน จึงเลิกจ้าง!” เมื่อลูกจ้างติดต่อสอบถามเข้าไปยังบริษัท กลับได้รับคำตอบว่าที่พูดไปในการประชุมนั้นไม่ได้มีเจตนาไล่ออก เพียงพูดว่า ” กลับมาเก็บของออกไปพี่ไม่สามารถร่วมงานกับคนแบบเธอได้อีก ออกไปหางานใหม่ ที่มันเหมาะกับเธอจะดีกว่า” เอาจริงๆพูดมาขนาดนี้ใครจะไม่คิดว่าเป็นการไล่ออกบ้าง เพียงแต่การไล่ออกทางวาจานั้นหากไม่มีหลักฐานก็สู้กันในชั้นศาลยากเพราะไม่รู้ว่าตกลงนายจ้างพูดอย่างไรหรือลูกจ้างขาดงานต่อเนื่อง 3 วันหรือไม่ เพราะอะไร โชคดีที่ในคดีนี้ลูกจ้างได้ อันบันทึกการประชุมไว้จึงมีข้อความทั้งหมดในการประชุมรวมถึงประโยชน์ดังกล่าว ทำให้มีหลักฐานในการฟ้องคดี ส่วนคดีที่มีการเลิกจ้างไม่วาจานั้นไปอ่านกันได้ที่ฎีกา 4077-4079/2561

ลดตำแหน่งแต่ให้เงินเดือนเท่าเดิม ลูกจ้างมีสิทธิ ปฏิเสธและไม่ทำงานก็ได้

ลดตำแหน่งแต่ให้เงินเดือนเท่าเดิม แบบนี้ ลูกจ้างมีสิทธิ ปฏิเสธและไม่ทำงานก็ได้ วันนี้มีคำถามจาก inbox ถามว่าเดินตนเองมี ตำแหน่งเป็น ผู้จัดการส่วนแต่ต่อมานายจ้างได้เปลี่ยนแปลงตำแหน่งเป็น เจ้าหน้าที่อาวุโสซึ่งเป็นตำแหน่งงานที่ลงแต่นายจ้างยังให้เงินเดือนเท่าเดิมอยู่จึงเกิดเป็นคำถามว่ากรณีเช่นนี้นายจ้างสามารถทำได้หรือไม่ ก่อนอื่นต้องบอกว่าการ โยกย้ายตำแหน่งในทางการจ้างเพื่อการบริหารงานนายจ้างสามารถทำได้แต่การโยกย้ายตำแหน่งนั้นก็ต้องไม่เป็นไปในเชิงกลั่นแกล้งหรือโยกย้ายไปในตำแหน่งที่ต่ำลงกว่าเดิม เช่นในฎีกานึง นายจ้างย้ายลูกจ้างในตำแหน่งเลขานุการสำนักงานใหญ่ฝ่ายจัดซื้อซึ่งทำงานธุรการในฝ่ายจัดซื้อไปดำรงตำแหน่งพนักงานทั่วไปประจำแผนกผักและผลไม้ของบริษัท ซึ่งย้ายพนักงานจากตำแหน่งเลขานุการ ที่เป็นพนักงานระดับ 4 ไปเป็นพนักงานทั่วไปประจำแผนกผักและผลไม้ ซึ่งหัวหน้าแผนกดังกล่าวเป็นพนักงานระดับ 3 จึงเป็นการย้ายที่ลดตำแหน่งของลูกจ้างลง แม้จะจ่ายค่าจ้างเท่าเดิมก็เป็นคำสั่งย้ายที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายและไม่เป็นธรรมแก่ลูกจ้าง การที่ลูกจ้างปฏิเสธไม่ยอมไปทำงานในตำแหน่งใหม่ที่ต่ำกว่าเดิมนั้น ไม่ถือเป็นการฝ่าฝืนคำสั่งอันชอบด้วยกฎหมายและเป็นธรรมของนายจ้าง นายจ้างจึงไม่อาจออกหนังสือเตือนในการกระทำของโจทก์ดังกล่าวได้ การที่ลูกจ้างปฏิเสธไม่ยอมไปทำงานในตำแหน่งใหม่จึงไม่ใช่เป็นการกระทำผิดซ้ำคำเตือนตาม พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 มาตรา 119 (4) เมื่อจำเลยเลิกจ้างจึงเป็นการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรม หรือจะอีกฎีกานึงที่ศาลได้โปรดวินิจฉัยไว้ว่า แม้เป็นการลดตำแหน่งจากหัวหน้า รปภ เป็นรปภ ธรรมดา โดยค่าจ้างเท่าเดิมก็ถือว่าคำสั่งลดตำแหน่งที่ลูกจ้างไม่ยินยอมนั้นไม่ชอบด้วยกฎหมาย แม้ลูกจ้างฝ่าฝืนไม่ไปทำในหน้าที่ใหม่ก็มีเหตุสมควร จะถือว่าละทิ้งหน้าที่ไม่ได้ (ฎีกาที่ 5073/2546) นอกจากเดือนเงินเดือนแล้วตำแหน่งก็สัมพันธ์สำหรับลูกจ้างหลายๆรายเพราะเป็นการแสดงถึงความก้าวหน้าในอาชีพ ดังนั้นหากองค์กรมีความจำเป็นจะต้องเปลี่ยนแปลงตำแหน่งไม่ว่าด้วยสาเหตุใดๆก็ควรเรียกลูกจ้างมาคุยและทำความเข้าใจกันให้เรียบร้อยเสียก่อน ใจเขาใจเราเนอะ

ลูกจ้างทำผิดสัญญารักษาความลับทางการค้า ที่มีข้อห้ามลูกจ้างทำงานหรือประกอบกิจการแข่งขันกับนายจ้างในเขตกรุงเทพและปริมณฑลภายใน 2 ปี นายจ้างฟ้องได้หรือไม่?

ลูกจ้างทำผิดสัญญารักษาความลับทางการค้า ที่มีข้อห้ามลูกจ้างทำงานหรือประกอบกิจการแข่งขันกับนายจ้างในเขตกรุงเทพและปริมณฑลภายใน 2 ปี นายจ้างฟ้องได้หรือไม่? คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3892/2557 นายจ้างฟ้องลูกจ้างซึ่งเป็นลูกจ้างให้รับผิดตามสัญญาที่ห้ามจำเลยเข้าทำงานหรือทำการแข่งขันกับโจทก์ในเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑลเป็นเวลา 2 ปี นับแต่พ้นสภาพการเป็นพนักงาน ต้องจ่ายค่าเสียหายตามความเป็นจริงแต่ไม่น้อยกว่า 100,000 บาท ศาลแรงงานกลางพิพากษาให้จำเลยชำระเงิน แต่นายจ้างและลูกจ้างอุทธรณ์ ศาลฎีกาเห็นว่า เมื่อพิจารณาประเภทธุรกิจการค้าและตำแหน่งลูกจ้างดังกล่าว นายจ้างจึงมีสิทธิตามสมควรที่จะป้องกันสงวนรักษาข้อมูลและความลับในทางการค้าเพื่อประโยชน์ทางธุรกิจและสัญญาไม่ตกเป็นโมฆะ ซึ่งการกำหนดค่าเสียหายจากการผิดสัญญาไว้ล่วงหน้าเป็นเบี้ยปรับตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 379 ถ้าสูงเกินส่วนศาลย่อมมีอำนาจลดลงได้โดยคำนึงถึงทางได้เสียของนายจ้างด้วยกฎหมายตามมาตรา 383

ลูกจ้างไม่ควบคุมอารมณ์ แสดงการกระทำที่ไม่เหมาะสม นายจ้างเลิกจ้างได้!!! และไม่ถือเป็นการเลิกจ้างไม่ธรรม

ลูกจ้างไม่ควบคุมอารมณ์ แสดงการกระทำที่ไม่เหมาะสม นายจ้างเลิกจ้างได้!!! และไม่ถือเป็นการเลิกจ้างไม่ธรรม โกรธคือโง่ โมโหคือบ้า ท่องไว้ แล้วใจเย็นๆ ไม่ใช่เฉพาะลูกจ้างด่านายจ้างแล้วจะถูกเลิกจ้างได้นะคะ ในบางครั้งการแสดงของลูกจ้างที่ไม่เหมาะสมก็อาจจะถูกเลิกจ้างได้เช่นกัน คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4045/2560 นายจ้างเลิกจ้างเนื่องจากลูกจ้างเป็นผู้บริหารระดับสูง แต่ไม่ควบคุมอารมณ์จนแสดงออกทางการกระทำที่ไม่เหมาะสม โดยพูดในทำนองว่าหากผิดลูกจ้างจะลงโทษตัวเอง พร้อมตบหน้าตัวเอง 2 – 3 ครั้ง และตบโต๊ะใส่ผู้อำนวยการฝ่ายบุคคล การเลิกจ้างจึงมีเหตุอันควรไม่เป็นการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรม โดยศาลฎีกาเห็นว่า การวางตัวของลูกจ้างให้เหมาะสมและเป็นที่เคารพนับถือของผู้ร่วมงานนับว่าเป็นส่วนสำคัญที่ทำให้งานในความรับผิดชอบลูกจ้างดำเนินไปด้วยความเรียบร้อยและบรรลุผลตามเป้าหมาย การที่ลูกจ้างไม่สามารถควบคุมอารมณ์จนเป็นเหตุให้แสดงออกทางการกระทำที่ไม่เหมาะสมในการทำงาน ย่อมทำให้เพื่อนร่วมงานหรือผู้ใต้บังคับบัญชาอึดอัดใจ ส่งผลโดยตรงที่ทำให้การทำงานในความรับผิดชอบของลูกจ้างขาดประสิทธิภาพและทำให้การประสานงานกับหน่วยงานอื่นของนายจ้างขาดประสิทธิภาพ ย่อมทำให้การผลิตล่าช้าจนเป็นเหตุให้ธุรกิจเสียหายได้ การที่นายจ้างเลิกจ้างลูกจ้าง เพราะเหตุดังกล่าวจึงเป็นการเลิกจ้างที่มีเหตุอันสมควรและเพียงพอแล้ว ไม่เป็นการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรม ทั้งนายจ้างก็อย่าเพิ่งด่วนตัดสินใจเลิกจ้างนะคะ จะต้องพิจารณาจากพฤติการณ์ ตำแหน่ง หน้าที่ของลูกจ้างร่วมด้วยนะคะ

เงินค่าบริการ (service charge) เป็นค่าจ้างหรือไม่ ?

เงินค่าบริการ (service charge) เป็นค่าจ้างหรือไม่ ? เงินค่าบริการ (Service Charge) เป็นเงินที่นายจ้างตกลงจ่ายให้แก่ลูกจ้าง หากเป็นกรณีที่นายจ้างเรียกเก็บจากผู้ที่มาใช้บริการแล้วรวบรวมเพื่อแบ่งเฉลี่ยให้แก่ลูกจ้างจำนวนเท่าๆกัน มีการประกันค่าบริการขั้นต่ำที่ลูกจ้างจะได้รับในแต่ละเดือน โดยหากแบ่งจ่ายให้กับลูกจ้างแล้วได้รับน้อยกว่าประกันขั้นต่ำที่กำหนดนายจ้างจะจ่ายส่วนที่ขาดให้ครบ เงินค่าบริการ (Service Charge) จึง ไม่ใช่เงินเฉพาะที่เรียกเก็บจากผู้มาใช้บริการเท่านั้นแต่ส่วนหนึ่งเป็นเงินที่นายจ้างเป็นผู้จ่ายโดยมีจำนวนขั้นต่ำแน่นอนและจ่ายเป็นประจำทุกเดือน ดังนั้น เงินค่าบริการ (Service Charge) จึงถือเป็นค่าจ้างตาม พรบ.คุ้มครองแรงงานฯ แต่ถ้าการจ่ายค่าบริการ (Service Charge) ดังกล่าวนายจ้างเรียกเก็บจากผู้มาใช้บริการแล้วนำมาเฉลี่ยจ่ายให้ลูกจ้างในแต่ละเดือน ลูกจ้างจะได้รับมากน้อยเพียงใดขึ้นอยู่กับจำนวนค่าใช้จ่ายของลูกค้าเป็นสำคัญโดยไม่มีการประกันเงินค่าบริการขั้นต่ำต่อเดือนให้ลูกจ้าง เป็นกรณีที่นายจ้างทำแทนลูกจ้างเพื่อความสะดวกและเพื่อให้กิจการดำเนินไปด้วยความเรียบร้อยเท่านั้น เงินค่าบริการดังกล่าวไม่ใช่ค่าจ้างที่นาวจ้างจ่ายเพื่อตอบแทนการทำงานของลูกจ้าง กรณีเช่นนี้ค่าบริการ (Sercive Charege) ก่อนจึงไม่เป็นค่าจ้างตาม พรบ.คุ้มครองแรงงานฯ (ข้อหารือกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน ที่ รง1504/01445 ลงวันที่ 8 สิงหาคม 2555)