กรุณารอสักครู่

 

HomeBlog

จะฟ้องใครฐานฉ้อโกง ให้ดูว่าครบตามองค์ประกอบนี้ไหม !!

จะฟ้องใครฐานฉ้อโกงให้ดูว่าครบตามองค์ประกอบตามนี้ไหม!! ความผิดฐานฉ้อโกงประชาชน ไม่ได้ถือเอาจำนวนผู้เสียหายที่ถูกหลอกลวงว่ามากหรือน่้อย แต่ถือเอาเจตนาแสดงข้อความอันเป็นเท็จต่อประชาชนเป็นสำคัญ และต้องกระทำการดังกล่าวด้วยตนเองมาแต่ต้นทุกครั้งเพียงแต่จำเลยแสดงข้อความอันเป็นเท็จแก่ผู้เสียหายบางคนแล้วมีการบอกกันต่อๆไปเป็นทอดๆ เมื่อผู้เสียหายคนหลังทราบข่าวและมาสอบถามจำเลย จำเลยได้ยืนยันแสดงข้อความอันเป็นเท็จนั้น และให้ผู้เสียหายไปติดต่อที่แฟลตทุกครั้ง อันถือได้ว่าเป็นสำนักงานของจำเลยกับพวก แม้ไม่มีประกาศรับสมัครงานปิดไว้ก็ตาม ก็เป็นการฉ้อโกงประชาชน คำพิพากษาฏีกา ๕๒๙๒/๒๕๔๐ ข้อสังเกต ๑. ฉ้อโกงประชาชนไม่ได้ถือเอาจำนวนคนมาเป็นเกณท์พิจารณาว่ามีคนเท่าใดจึงถือเป็นประชาชน แต่ถือเอาลักษณะการกระทำว่ามีการแสดงข้อความเท็จที่ประชาชนโดยทั่วไปอาจทราบและหลงเชื่อและอาจถูกหลอกได้ ๒.การหลอกลวงดังกล่าวไม่จำต้องกระทำด้วยตัวเองมาตั้งแต่ต้น อาจมาทำในช่วงหลัง โดยมีการพูดต่อๆกันมาถึงการหลอกลวงดังกล่าว แต่เมื่อจำเลยมายืนยันข้อความดังกล่าวแม้จะไม่ได้กระทำมาตั้งแต่ต้น ก็เป็นความผิดฐานฉ้อโกงประชาชนได้ ๓.ในสำนักงานของจำเลยแม้ไม่มีการปิดประกาศข้อความอันเป็นการหลอกลวงประชาชนก็ตาม แต่พฤติการณ์ที่ยืนยันด้วยปากเปล่าถึงข้อความหลอกลวงอันเป็นเท็จที่มุ่งหลอกลวงคนทั่วไป ก็เป็นการฉ้อโกงประชาชนได้ ๔.ความผิดดังกล่าวเป็นความผิดที่เป็นความผิดอาญาแผ่นดิน ไม่ใช่ความผิดต่อส่วนตัว ๕.การหลอกลวงดังกล่าวหากมีการหลอกลวงผ่านทางสื่อสาธารณะต่างๆ ไม่ว่าเป็นหนังสือพิมพ์ วิทยุหรือโทรทัศน์ แล้วผู้เสียหายหลงเชื่อ และการหลงเชื่อ ได้ไปซึ่งเงินของผู้เสียหาย ทุกท้องที่ซึ่งผ่านทางสื่อเป็นสถานที่ความผิดเกิดได้หมดเหมือนการลงหนังสือพิมพ์ด้วยข้อความหมิ่นประมาททุกท้องที่ซึ่งหนังสือพิมพ์ไปถึงเป็นท้องที่เกิดเหตุได้หมด เป็นกรณีที่ความผิดส่วนหนึ่งเกิดในท้องที่หนึ่งความผิดอีกส่วนหนึ่งเกิดในอีกท้องที่หนึ่งและเป็นความผิดต่อเนื่องและกระทำการต่อเนื่องในท้องที่ต่างๆกันมากกว่าท้องที่หนึ่งขึ้นไป พนักงานสอบสวนทุกท้องที่มีอำนาจในการสอบสวน แต่หากยังจับผู้กระทำผิดไม่ได้ พนักงานสอบสวนท้องที่ที่พบความผิดก่อน เป็นพนักงานสอบสวนผู้รับผิดชอบในการสอบสวน แต่หากยังจับผู้กระทำผิดแล้วได้ พนักงานสอบสวนในท้องที่ที่จับกุมได้ เป็นพนักงานสอบสวนที่รับผิดชอบ ในกรณีนี้พนักงานอัยการจะรวมสำนวนเพื่อพิจารณาสั่งในคราวเดียวกัน

เป็นผู้จัดการมรดกแต่ไม่แบ่งทรัพย์มรดก ระวังคุก !!

เป็นผู้จัดการมรดกแต่ไม่แบ่งทรัพย์มรดก ระวังคุก !! ผู้จัดการมรดกตามคำสั่งศาล รู้ว่าทรัพย์มรดกต้องแบ่งให้ทายาททุกคนเท่าๆกัน แต่ไม่ยอมแบ่งทรัพย์มรดกให้ แต่กลับโอนเป็นของตนแล้วโอนต่อให้นาย ส. เป็นกรณีได้รับมอบหมายให้จัดการทรัพย์สินของผู้อื่นตามคำสั่งศาล กระทำผิดหน้าที่ด้วยการโอนทรัพย์สินนั้นเป็นของตัวเองและโอนต่อให้คนอื่นโดยทุจริต เป็นเหตุให้เกิดความเสียหายในลักษณะที่เป็นทรัพย์สินแก่ทายาท มีความผิดฐานยักยอกทรัพย์ ตาม ป.อ. มาตรา ๓๕๒,๓๕๔ คำพพิพากษาฏีกา ๑๒๘/๒๕๓๗ ข้อสังเกต ๑. ผู้จัดการมรดกเป็นเพียงตัวแทนของทายาทที่จะเก็บรวบรวมทรัพย์คนตายเพื่อโอนให้แก่ทายาทโดยธรรม แต่คนทั่วไปเข้าใจว่า เมื่อตนเป็นผู้จัดการมรดกแล้วสามารถนำทรัพย์ออกจำหน่ายได้ ๒. การที่ผู้จัดการมรดกเบียดบังเอาทรัพย์มรดกเป็นของตนเองอันเป็นความผิดตามกฏหมายแล้ว ถือได้ว่าการกระทำดังกล่าวละเลยไม่กระทำการตามหน้าที่ของผู้จัดการมรดก เป็นเหตุให้ผู้มีส่วนได้เสียคนหนึ่งคนใดร้องขอต่อศาลเพื่อสั่งถอนผู้จัดการมรดกได้ แต่การร้องขอต้องกระทำก่อนมีการแบ่งปันทรัพย์มรดกเสร็จ ๓.ผู้จัดการมรดกกฏหมายให้รับผิดทางแพ่งเสมือนเป็นตัวแทนของทายาท จึงต้องรับผิดต่อทายาทเนื่องจากเหตุที่ตนไม่กระทำการตามหน้าที่ในความเสียหายใดๆที่พึงเกิดขึ้น

สินส่วนตัว vs สินสมรส

สินส่วนตัว vs สินสมรส สินส่วนตัว ได้แก่ ทรัพย์สิน ๑.มีอยู่ก่อนสมรส(ก่อนจดทะเบียนสมรส ) ๒.เครื่องใช้สรอยส่วนตัว เครื่องแต่งกาย เครื่องประดับกายตามควรแก่ฐานะ เครื่องมือเครื่องใช้ที่จำเป็นในการประกอบอาชีพหรือวิชาชีพของคู่สมรสฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง ๓.ได้มาระหว่างสมรสโดยการรับมรดกหรือการให้โดยเสนหา ๔.ที่เป็นของหมั้น สินสมรสได้แก่ทรัพย์สิน ๑.ที่คู่สมรสได้มาระหว่างสมรส ๒.ได้มาระหว่างสมรสโดยพินัยกรรมหรือการยกให้เป็นหนังสือ เมื่อหนังสือยกให้หรือพินัยกรรมระบุให้เป็นสินสมรส(หากไม่ได้ระบุก็เป็นสินส่วนตัว) ๓.ดอกผลสินส่วนตัว(ก่อนจดทะเบียนสมรสมีสวนมะม่วง พอจดทะเบียนสมรสมะม่วงออกผล ผลที่เกิดเป็นสิ่งที่เกิดตามธรรมชาติของทรัพย์ซึ่งได้มาจากตัวทรัพย์คือต้นมะม่วง โดยการมีและใช้ทรัพย์นั้นตามปกตินิยม สามารถถือเอาได้เมื่อขาดจากตัวทรัพย์คือต้นมะม่วง ผลมะม่วงจึงเป็นดอกผลของสินส่วนตัวจึงเป็นสินสมรสแม้ต้นมะม่วงเป็นสินส่วนตัวก็ตาม เมื่อขายมะม่วงได้เงิน เงินดังกล่าวจึงเป็นสินสมรส หรือกรณีมีเงินฝากธนาคารก่อนจดทะเบียนสมรส เมื่อมีดอกเบี้ยเกิดหลังวันจดทะเบียนสมรส ดอกเบี้ยเงินฝากเป็นทรัพย์หรือประโยชน์ที่ได้มาเป็นครั้งตราวแก่เจ้าของทรัพย์จากผู้อื่น(ธนาคาร)เพื่อที่การได้ใช้ทรัพย์นั้น(คือเอาเงินฝากเราไปหมุนให้ได้กำไรเกิดดอกเบี้ยเอามาให้เรา) ซึ่งสามารถคำนวณและถือเอาได้เป็นรายวันหรือตามระยะเวลาที่กำหนด(คือระยะเวลาที่ฝากเช่นครบ ๑ ปีจะได้ดอกเบี้ย) ดอกเบี้ยเงินฝากจึงเป็นดอกผลนิตินัย เมื่อเป็นดอกผลที่ได้มาระหว่างสมรส ดอกเบี้ยจึงเป็นสินสมรสในขณะที่ต้นเงินยังคงเป็นสินส่วนตัวอยู่ กรณีที่เป็นข้อสงสัยว่าทรัพย์สินบางอย่างเป็นสินสมรสหรือไม่ ให้ัสันนิษฐานไว้ก่อนว่าเป็นิสินสมรส(คือใช้คำว่าสันนิษฐานหากมีหลักฐานว่าไม่ใช่สินสมรสก็เป็นสินส่วนตัวครับ) ดอกเบี้ยสินส่วนตัว เป็นสินสมรส เช่น ฝ่ายชายมีเงินฝากในธนาคาร ๑ ล้านบาท ครั้นแต่งงานแล้วจดทะเบียนสมรสดอกเบี้ยของเงิน ๑ ล้านบาทที่เกิดภายหลังจดทะเบียนสมรสเป็นสินสมรส ส่วนต้นเงิน ๑ ล้านบาทยังคงเป็นสินส่วนตัวของฝ่ายชาย

เตือนด้วยวาจาไม่ถือเป็นการเตือน เลิกจ้างต้องจ่ายค่าชดเชย

เตือนด้วยวาจาไม่ถือเป็นการเตือน เลิกจ้างต้องจ่ายค่าชดเชย ความเกรงใจเป็นสมบัติที่ดี แต่ใช่ให้ถูกที่ถูกเวลาจะลดปัญหาเยอะมากกก โดยเฉพาะในการทำงานร่วมกัน ซึ่งกรณีที่จะนำมาเล่าในวันนี้ก็เกี่ยวกับความเกรงใจแต่เกรงใจเป็นพักๆพักแรกเกรงใจพักต่อมาอยากเลิกจ้างก็เลิกเลย กับกรณี นายจ้างเตือนลูกจ้างที่ทำความผิดเกี่ยวกับวินัยด้วยวาจาหลายครั้ง และไม่เคยออกเป็นหนังสือเลยเพราะรู้สึกว่าออกหนังสือมันรุนแรงไป เกรงใจ และรู้สึกว่าเตือนด้วยวาจาก็เพียงพอ แต่ลูกจ้างก็ยังทำซ้ำๆ จนในที่สุด นายจ้างทนไม่ไหว ขอเลิกจ้าง จึงเป็นประเด็นว่า เมื่อลูกจ้างทำผิดจริง แต่นายจ้างไม่เคยเตือนเป็นหนังสือเลย เตือนด้วยวาจาตลอด แบบนี้เลิกจ้างได้หรือไม่?? มาดูหลักกฎหมายกัน 1. เมื่อลูกจ้างทำผิด นายจ้างต้องออกหนั่งสือเตือน และคนออกหนังสือจะต้องเป็นนายจ้างหรือตัวแทนที่มีอำนาจว่าจ้างหรือเลิกจ้างเท่านั้น 2.การเตือนต้องเป็นลายลักษณ์อักษร การเตือนด้วยวาจาไม่ว่าจะกี่ครั้งก็ตาม ก็ไม่ใช่ตักเตือนเป็นหนังสือ ไม่ถือเป็นการตักเตือนตามกฎหมายคุ้มครองแรงงาน ที่จะมีผลทำ ให้นายจ้างเลิกจ้างเพราะทำผิดซ้ำคำเตือนโดยไม่ต้องจ่ายค่าซดเซยได้ (อ้างอิงฎีกาที่ 2158/2557) 3.ข้อยกเว้นที่ไม่ต้องออกหนังสือเตือนนั้น ต้องปรากฏว่าลูกจ้างฝ่าฝืนข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานหรือระเบียบหรือคำสั่งของนายจ้าง “ในกรณีที่ร้ายแรง” นายจ้างไม่ ต้องตักเตือนโดยทำเป็นหนังสือ สามารถบอกเลิกจ้างได้ทันทีโดยไม่ต้องบอกกล่าวล่วงหน้า ตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มาตรา 17 วรรคท้าย และ มาตรา 119(4) ดังนั้น ในการทำงานร่วมกันการติเพื่อ เตือนเพื่อเปลี่ยนแปลงย่อมทำให้อยู่ร่วมกันได้นานมากขึ้น ที่สำคัญการเตือนเป็นหนังสือ ไม่ได้ทำให้ความสัมพันธ์แย่ลงเสมอไป เราสามารถทำได้โดยไม่ทำลายน้ำใจ เพียงแต่เลือกใช้ถ้อยคำให้เหมาะสม

ประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรงเป็นเหตุให้นายจ้างต้องเสียหาย นายจ้างสามารถเลิกจ้างได้ โดยไม่ต้องจ่ายค่าชดเชย

ประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรงเป็นเหตุให้นายจ้างต้องเสียหาย นายจ้างสามารถเลิกจ้างได้ โดยไม่ต้องจ่ายค่าชดเชย พูดถึงเรื่องลูกจ้างทำให้เกิดความเสียหายนี้ หลายบริษัทก็เคยต้องเจอ แต่การจะเลิกจ้างโดยไม่ต้องจ่ายค่าชดเชยเลยนั้น ก็ต้องพิจารณาว่าพฤติกรรมที่ลูกจ้างประมาทเลินเล่อมันร้ายแรงหรือไม่อย่างไรและทำให้นายจ้างเสียหายมากน้อยแค่ไหน เรามาดูตัวอย่างที่นายจ้างสามารถเลิกจ้างได้นะคะ ลูกจ้างปฎิบัติหน้าที่หัวหน้าชุดฝ่ายบริหารเงินสด มีหน้าที่เติมเงินตู้ ATM และรับส่งทรัพย์สิน ได้ทำการเบิกอาวุธปืนพร้อมด้วยกระสุนปืนเพื่อใช้ป้องกันดูแลทรัพย์สินจากการถูกโจรกรรมระหว่างที่ลูกจ้างปฏิบัติหน้าที่รับส่งทรัพย์สิน ต่อมาเมื่อลูกจ้างปฏบัติหน้าที่ของตนเองเสร็จสิ้นแล้ว กลับไม่ได้เอาอาวุธปืนที่เบิก คืนให้กับนายจ้างตามระเบียบ เมื่อนายจ้างได้ตรวจสอบก็ได้พบว่า ลูกจ้างนั้นทำอาวุธปืนหาย นายจ้างจึงเลิกจ้างลูกจ้าง เนื่องจากทำทรัพย์สินที่สำคัญของบริษัทหาย เป็นความผิดร้ายแรง ลูกจ้างไม่ยอมและร้องต่อศาลว่านายจ้างทำเกินกว่าเหตุ เป็นการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรม โดยคดีนี้ศาลมองว่าอาวุธปืนนี้เป็นอาวุธโดยสภาพประกอบกับลูกจ้างมีตำแหน่งเป็น หัวหน้าชุดบริหารเงินสดมีหน้าที่ในการรักษาความปลอดภัย อาวุธปืนที่เบิกไปใช้นั้นก็จำเป็นจะต้องใช้เพื่อปกป้องทรัพย์สินของนายจ้าง และใช้ไปในทางที่ไม่ระมัดระวัง ปล่อยปละ ละเลย มิใช้ความระมัดระวังดูแลอาวุธปืนที่มีอานุภาพร้ายแรง สามารถทำร้ายผู้อื่นได้ถึงชีวิต การกระทำของลูกจ้างดังกล่าว จึงเป็นกรณีประมาทเลินเล่อ เป็นเหตุให้นายจ้างได้รับความเสียหายอย่างร้ายแรง และเป็นการฝ่าฝืนระเบียบข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงาน (ฎีกาที่ 2654/2561) เมื่ออ้างอิงจากฎีกาข้างต้นแล้วเราจะมีความจำเป็นที่จะต้องพิจารณาถึงเรื่องตำแหน่งหน้าที่และความเสียหายที่ลูกจ้างก่อให้เกิดด้วยนะคะ จะบอกว่าทุกเรื่องเป็นความเสียหายอันนี้ก็มีความสุ่ทเสี่ยงที่ลูกจ้างฟ้องและนายจ้างจะต้องจ่ายค่าชดเชยดังนั้นในเรื่องนี้ต้องดูเป็นกรณีไปค่ะ

ลูกจ้างประสบอุบัติเหตุในช่วงปีใหม่ลาป่วย 30 วันนายจ้างเลิกจ้างได้หรือไม่?

ลูกจ้างประสบอุบัติเหตุในช่วงปีใหม่ลาป่วย 30 วันนายจ้างเลิกจ้างได้หรือไม่? เรื่องอุบัติเหตุ เจ็บป่วย คงเป็นเรื่องที่ไม่มีใครอยากจะให้เกิดขึ้น นอกจากเสียเวลาแล้วอาจจะบาดเจ็บ เสียทรัพย์สินอื่นๆอีกด้วย มี Fanpage รายหนึ่งสอบถามเข้ามาว่า “ลูกจ้างประสบอุบัติเหตุในช่วงปีใหม่ และลาป่วยโดยมีใบรับรองแพทย์ซึ่งปัจจุบันมาทำงานไม่ได้กว่า 30 วันแล้ว บริษัทจะสามารถเลิกจ้างได้หรือไม่ เพราะบริษัทเองก็ไม่สามารถ แบกรับค่าใช้จ่ายได้เช่นกัน?” คลินิกกฎหมายแรงงาน ขอเรียนตอบดังนี้ค่ะ 1. ตามกฎหมายแล้วลูกจ้างมีสิทธิลาปวยได้เท่าที่ป่วยจริง ตามมาตรา 32 และมีสิทธิได้รับค่าจ้างตลอดเวลา ลาป่วย ปีหนึ่งไม่เกิน 30 วันทำงาน ตามมาตรา 57 2.หากลูกจ้างลาป่วยมากไปกว่านั้น จะไม่มีสิทธิได้รับค่าจ้างในวันที่ลาป่วยเกิน 30 วัน รวมถึงลูกจ้างย่อมไม่มีสิทธิ์ได้รับค่าจ้างในวันหยุดประจำสัปดาห์และวันหยุดตาม ประเพณีภายหลังจากวันลาป่วยพันระยะเวลา 30 วัน ทำงานดังกล่าว โดยอาจถือได้ว่าสิทธิได้รับค่าจ้างในวันหยุดประจำสัปดาห์และวันหยุดตามประเพณีภายหลังวันลาป่วย 30 วันทำงาน ได้เกลื่อนกลืนกันไปในวันลาป่วยของลูกจ้าง ที่ลาป่วยโดยไม่มีสิทธิ์รับค่าจ้างแต่อย่างใด ทั้งนี้ เว้นแต่ข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานของนายจ้างกำหนดให้จ่าย (อ้างอิง หนังสือข้อหารือกฎหมายแรงาน ที่รง 0504/0876 ลงวันที่ 9 มิถุนายน 2548)...

ทำผิดวินัยร้ายแรง นายจ้างไล่ออกได้ โดยไม่ต้องเตือน

ทำผิดวินัยร้ายแรง นายจ้างไล่ออกได้โดยไม่ต้องเตือน เราคาดว่าเรื่องมีหลายๆคนก็คงทราบว่าถ้าลูกจ้างทำผิดวินัยร้ายแรง นายจ้างสามารถเลิกจ้างได้แต่ประเด็นคำว่า “ร้ายแรง” ของแต่ละคนแต่ละตำแหน่งก็แตกต่างกันไป แล้วแบบไหนล่ะถึงจะเรียกว่าร้ายแรง มาดูกัน 1. การจะถือว่ากรณีใดเป็นการฝ่าฝืนข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานเป็นกรณีร้ายแรงหรือไม่ ไม่ใช่จะพิจารณาว่า ข้อบังคับการทำงานกำหนดว่าเป็นความผิดร้ายแรงแล้วต้องถือว่าเป็นความผิดเสมอไป จะต้องพิจารณาถึง พฤติการณ์การกระทำของลูกจ้าง ทีเกิดขึ้นเป็นสำคัญ ซึ่งจะต้องดูเป็นกรณีๆ ไป รวมถึงผลเสียหายที่เกิดขึ้นมีมากน้อยเพียงใด (อ้างอิงคำพิพากษาฎีกาที่ 2388/2526, 1701-1708/2528, 1348/255) 2. แต่หากข้อบังคับการทำงาน ระบุว่าการกระทำใดเป็นการทำผิดไม่ร้ายแรง แม้ว่าตามสภาพอาจถือว่าผิดร้ายแรง ต้องถือว่าทำผิดไม่ร้ายแรงตามทีนายจ้างกำหนด เพราะเป็นการกำหนดข้อบังคับที่เป็นคุณกับลูกจ้างยิ่งกว่า (อ้างอิงคำพิพากษาฎีกาที่ 6791/2544) 3.หากลูกจ้างกระทำผิดกรณีร้ายแรง นายจ้างเลิกจ้างลูกจ้างได้ในการกระทำครั้งแรกของลูกจ้างโดยไม่ต้องเตือนเป็นหนังสือ และไม่ต้องจ่ายค่าชดเชย (พระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541มาตรา 119(4)) 4. แต่หากเป็นกรณีไม่ร้ายแรง นายจ้างจะต้องเตือนลูกจ้างเป็นหนังสือก่อน ถ้าลูกจ้างได้กระทำผิดในเรื่องเดียวกันนั้นซ้ำอีกภายใน 1 ปี นับแต่วันที่ลูกจ้างกระทำความผิดครั้งแรก นายจ้างจึงจะเลิกจ้างลูกจ้างได้โดยไม่ต้องจ่ายค่าชดเชย (พระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงานพ.ศ.2541 มาตรา 119(4))

สัญญาจ้างมีกำหนดเวลา แต่เมื่อครบกำหนดลูกจ้างแจ้งไม่ต่อสัญญาจ้าง ไม่ถือเป็นการเลิกจ้าง ไม่มีสิทธิได้รับค่าชดเชย

สัญญาจ้างมีกำหนดเวลา แต่เมื่อครบกำหนดลูกจ้างแจ้งไม่ต่อสัญญาจ้าง ไม่ถือเป็นการเลิกจ้าง ไม่มีสิทธิได้รับค่าชดเชย ในกรณีนี้ต้องทำความเข้าใจก่อนว่า สัญญาจ้างนี้มีกำหนดระยะเวลาสิ้นสุดแน่นอน แต่มีข้อความที่ให้นายจ้างมีสิทธิบอกเลิกสัญญาก่อนครบกำหนดได้ สัญญาจ้างจึงกลายเป็นระยะเวลาการจ้างไม่แน่นอน ไม่เป็นการจ้างที่มีกำหนดเวลาแน่นอนตามมาตรา 118 วรรคสามและวรรคสี่ เมื่อนายจ้างเลิกจ้างลูกจ้าง จึงต้องจ่ายค่าชดเชยแก่ให้ลูกจ้าง แต่ต่อมาเมื่อครบกำหนดสัญญา ลูกจ้างได้แจ้งว่าลูกจ้างไม่ประสงค์จะต่อสัญญาจ้างอีก ถือเป็นการลาออก ไม่ใช่เป็นการเลิกจ้าง ลูกจ้างจึงไม่ได้รับค่าชดเชย ตามคำพิพากษาศาลอุทธณ์คดีชำนัญพิเศษที่ 7076/2562 ตัดสินว่า สัญญาจ้างระหว่างโจทก์ (ลูกจ้าง) กับ จำเลย (นายจ้าง) กำหนดระยะเวลาจ้างและระยะเวลาสิ้นสุดการจ้างที่แน่นอน โดยเริ่มต้นตั้งแต่วันที่ 15 พฤศจิกายน 2559 ถึง 30 พฤศจิกายน 2560 แต่เมื่อสัญญาจ้างข้อที่ 5 ระบุว่า จำเลยมีสิทธิบอกเลิกสัญญาก่อนครบกำหนดได้ ระยะเวลาการจ้างจึงไม่แน่นอน ถือไม่ได้ว่าเป็นสัญญาจ้างที่มีกำหนดระยะเวลาจ้างแน่นอน จำเลยไม่อาจบอกเลิกจ้างสัญญาจ้างได้ เว้นแต่โจทก์กระทำผิดเงื่อนไขเกี่ยวกับสภาพการจ้างตามกฎหมายคุ้มครองแรงงานหรือกฎหมายแรงงานที่เกี่ยวข้องเท่านั้น

ข้อตกลงระหว่างนายจ้างและลูกจ้าง ตามสัญญาจ้างระบุไว้ว่า “หากลูกจ้างตั้งครรภ์ ให้ถือว่าลูกจ้างบอกเลิกสัญญาจ้าง” ข้อตกลงดังกล่าวสามารถใช้ได้จริงหรือไม่ ?

ข้อตกลงระหว่างนายจ้างและลูกจ้าง ตามสัญญาจ้างระบุไว้ว่า “หากลูกจ้างตั้งครรภ์ ให้ถือว่าลูกจ้างบอกเลิกสัญญาจ้าง” ข้อตกลงดังกล่าวสามารถใช้ได้จริงหรือไม่ ? คำพิพากษาฎีกาที่ 1394/2549 วางหลักไว้ว่า ข้อตกลงระหว่างนายจ้างและลูกจ้าง ตามสัญญาจ้างพนักงานต้อนรับบนเครื่องบินที่กำหนดว่า ภายในระยะเวลา 2 ปี นับแต่วันที่เริ่มสัญญาหากลูกจ้างตั้งครรภ์ให้ถือว่าลูกจ้างได้บอกเลิกสัญญาจ้าง โดยในสัญญาได้ระบุว่า “ คู่สัญญาทั้งสองฝ่ายเข้าใจและยอมรับว่าการปฏิบัติงานในตำแหน่งพนักงานต้อนรับบนเครื่องบินมีลักษณะเป็นการเฉพาะ ทั้งเกี่ยวกับภาษาที่ใช้ มีบุคลิกภาพที่ดีและสุขภาพสมบูรณ์ สามารถปฏิบัติงานบนเครื่องขณะทำการบินได้ตามหลักเกณฑ์ที่นายจ้างกำหนด และไม่ถูกจำกัดทางเวชศาสตร์การบิน ซึ่งจะต้องได้รับการศึกษาอบรม การทดสอบและการตรวจร่างกายตามระยะเวลาที่นายจ้างกำหนด พนักงานต้อนรับบนเครื่องจึงจำเป็นต้องมีสภาพร่างกายที่พร้อมจะเข้ารับการฝึกอบรมและปฏิบัติเพื่อเพิ่มพูนความสามารถและประสบการณ์ในช่วงระยะเวลา 2 ปีแรก ของการปฏิบัติงาน การตั้งครรภ์ของพนักงานต้อนรับบนเครื่องบินช่วงเวลาดังกล่าวเป็นอุปสรรคต่อการปฏิบัติงานและเป็นอันตรายต่อสุขภาพ ” ทั้งสองฝ่ายจึงได้ตกลงเงื่อนไขเกี่ยวกับการตั้งครรภ์เป็นข้อหนึ่งของสัญญาจ้าง ที่กำหนดว่า เมื่อลูกจ้างได้กระทำการผิดสัญญาข้อหนึ่งข้อใด หรือฝ่าฝืนระเบียบข้อบังคับคำสั่งต่างๆ ที่กล่าวไว้ กรณีร้ายแรงให้สัญญาจ้างสิ้นสุดลง และข้อตกลงที่กำหนดว่า ภายในระยะเวลา 2 ปี นับแต่วันเริ่มสัญญา หากลูกจ้างตั้งครรภ์ให้ถือว่าลูกจ้างบอกเลิกสัญญานั้น มีข้อความต่อไปอีกด้วยว่า โดยให้สัญญาสิ้นสุดตั้งแต่วันที่แพทย์แผนปัจจุบันชั้นหนึ่งวินิจฉัยหรือเมื่อเห็นได้ชัดว่าลูกจ้างตั้งครรภ์ จึงเห็นได้ว่าข้อตกลงมีวัตถุประสงค์เพื่อให้มีผลเป็นการเลิกจ้างเพราะลูกจ้างมีครรภ์ อันขัดต่อพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงานฯ มาตรา 43 ซึ่งเป็นกฎหมายเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยของประชาชน จึงเป็นโมฆะตาม ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 150 หากนายจ้างระบุข้อสัญญาไว้ในลักษณะดังกล่าว แก้ไขปรับปรุงสัญญาด่วนเลยค่า

การตีความ “ถ้อยคำ” ในประมวลกฎหมายอาญา ต้องตีความโดยเคร่งครัด

การตีความ “ถ้อยคำ” ในประมวลกฎหมายอาญา ต้องตีความโดยเคร่งครัด คำพิพากษาฎีกาที่ 456/2509 คำว่า สืบสันดาน ตามพจนานุกรม หมายความว่า สืบเชื้อสายมาโดยตรงและตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1586, 1587, 1627 แสดงว่าบุตรบุญธรรมย่อมมีฐานะแตกต่างกับบุตรชอบด้วย กฎหมายของผู้รับบุตรบุญธรรมและผู้รับบุตรบุญธรรมก็มีฐานะต่างกับบุพการีโดยตรงของบุตรบุญธรรมอยู่หลายประการ มาตรา 1586, 1627 เป็นบทบัญญัติพิเศษให้สิทธิบางประการแก่บุตรบุญธรรมในทางแพ่งเกี่ยวกับสัมพันธ์ทางครอบครัวและมรดกของผู้รับบุตรบุญธรรมเท่านั้น ต้องใช้โดยเคร่งครัด เฉพาะการตีความถ้อยคำในประมวลกฎหมายอาญาก็ต้องตีความโดยเคร่งครัดจึงหาชอบที่จะนําบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาใช้ตีความคำว่า ผู้สืบสันดาน ตามป.อ.มาตรา 71 วรรค 2 ไม่ บุตรบุญธรรมจึงไม่ใช่ผู้สืบสันดานกระทำต่อบุพการรตาม ป.อ.มาตรา 71 จึงยอมความไม่ได้