กรุณารอสักครู่

 

HomeBlog

ตกลงเขียนใบลาออกเพื่อขอรับเงินสนับสนุน ไม่ถือเป็นการเลิกจ้าง นำมาฟ้องอีกไม่ได้

ตกลงเขียนใบลาออกเพื่อขอรับเงินสนับสนุน ไม่ถือเป็นการเลิกจ้าง นำมาฟ้องอีกไม่ได้ บอกตรงๆบางทีคุยกับลูกจ้างบางท่านก็รู้สึกสงสารจนสะเทือนใจแต่กับบางท่านคุยด้วยแล้วก็ต้องดมยาดมไปด้วยกับในกรณีที่ว่า ” นายจ้างให้เงินสนับสนุน 6 เดือนและขอให้พิจารณาลาออก” คุณลูกจ้างรายนี้ก็ลาออกแต่โดยดีและรับเงินจำนวน 6 เดือนนั้นมา แต่ต่อมาไม่รู้เพราะอะไรถึงอยากฟ้องนายจ้างว่านั่นคือการบีบให้เขียนใบลาออกเป็นการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรมลูกจ้างต้องได้ค่าชดเชยและสามารถเรียกค่าเสียหายจัดการเลิกจ้างไม่เป็นธรรมได้อีกด้วย… คุณทนายรับฟ้องไหมคะ สาวววว…ฟังก่อนน คือถ้าเขาให้มาพิจารณาตัวเองว่าเหมาะจะทำงานไหมแล้วเสนอเงินสนับสนุนมาก้อนนึง จะได้จบกันด้วยดี หากเราพิจารณาแล้วและยอมรับเงินสนับสนุนของเขาเซ็นใบลาออกแต่โดยดีมันก็ไม่ใช่เลิกจ้างค่ะ อันนี้ก็คืออยากให้สาวมีสติก่อน..เงิน 6 เดือนนั้นก็รับของเขามาแล้ว พอใช้หมดแล้วบอกว่าถูกบีบให้ออกสาวลองไปอ่านฎีกาก่อนหน้าที่โพสต์โพสต์ไว้นะการที่นายจ้างให้มาไตร่ตรองแล้วเราลาออกเองแถมยังไปรับเงินเขามาด้วยเนี่ยบอกว่าบีบออกเนี่ยฟังได้ยากมากเลยเว้นแต่สาวจะสามารถนำสืบถึงพฤติการณ์ ที่เรียกว่าบีบออกได้อันนั้นก็อาจเป็นไปได้ แต่หากพูดเพียงว่าให้พิจารณาตัวเอง และหากจะออกก็ยังยินดีให้เงินสนับสนุนในกรณีนี้เนี่ย ใกล้เคียงกับฎีกาที่ 872/2561 มากก ซึ่งศาลก็ตัดสินไว้ว่าไม่ใช่การเลิกจ้างลูกจ้างก็ไม่ได้มีสิทธิ์ได้รับค่าชดเชยอีก เพราะถือว่าเป็นการสมัครใจลาออก ลองอ่านแล้วพิจารณาดูไม่เชื่อก็ไม่เป็นไรแต่จะฟ้องหรือจะใช้สิทธิ์อะไรก็อย่าดูแค่สิทธิ์ของตัวเอง โปรดดูหน้าที่และสิ่งที่ตัวเองได้รับมาก่อนหน้านี้แล้วด้วยนะคะ

“ตั้งแต่พรุ่งนี้ไปไม่ต้องมาทำงานแล้วนะ” นายจ้างพูดแบบนี้ถือว่า “เลิกจ้างแล้ว”

“ตั้งแต่พรุ่งนี้ไปไม่ต้องมาทำงานแล้วนะ” นายจ้างพูดแบบนี้ถือว่าเลิกจ้างแล้ว คนเรามีวิธีการสื่อสารที่หลากหลายและมีความเข้าใจหรือการรับสารที่แตกต่างกันไป… บางคนนายจ้างบอกว่า “ลองไปพิจารณาตัวเองดูว่าเหมาะสมกับตำแหน่งนี้หรือเปล่า คิดว่าเหมาะกับบริษัทนี้หรือเปล่า ” เพียงเท่านี้ก็คิดว่าไล่ออกแล้ว.. จึงไม่ไปทำงานกลายเป็นว่าถูกเลิกจ้างโดยไม่ได้ค่าชดเชยไปอีก แต่สำหรับกรณี ที่มาปรึกษานี้นายจ้างพูดว่า “ต่อไปนี้ไม่ต้องทำงานแล้วนะ” เลยสงสัยว่าแบบนี้เขาไล่ออกหรือยังครับพี่?? ตอบได้เลยว่า “ใช่จ้า” เขาเลิกจ้างเธอแล้วจ้า… เพราะการไล่ออกมันก็พูดได้หลายแบบไงไม่ใช่เดินมาบอกว่าออกไปต่อไปนี้เธอไม่ต้องเข้ามาในบริษัทฉันอีกแล้ว!! และชี้นิ้วผายมือไปที่ประตูอันนั้นก็ละครไปหน่อย ( แต่อาจจะมีจริงๆก็ได้นะเพราะว่าโลกนี้คือละคร) การที่นายจ้างพูดว่าต่อจากนี้ไม่ต้องมาทำงานแล้วนะ ความหมายมันก็ชัดเจนว่าต่อจากนี้ไม่ให้มาทำงานแล้วเมื่อไม่ให้มาทำงานแล้วก็คือการเลิกจ้างนั่นแหละค่ะ …. และถ้าเลิกจ้างโดยไม่มีความผิดลูกจ้างก็มีสิทธิ์ได้ค่าชดเชยซึ่งได้เท่าไหร่นั้นก็เป็นไปตามมาตรา 118 หรือได้ตามระยะเวลาการทำงานที่กำหนดไว้ตามมาตราดังกล่าว โดยในเรื่องนี้ศาลก็เคยตีความไว้ใน ฎีกาที่ 6415/2557 ใครอยากอ่านก็ลองไป search ดูได้นะ

ตกลงสละสิทธิ์เรียกร้องค่าเสียหาย ภายหลังเลิกจ้าง ใช้บังคับได้ “ไม่เป็นโมฆะ”

ตกลงสละสิทธิ์เรียกร้องค่าเสียหาย ภายหลังเลิกจ้าง ใช้บังคับได้ “ไม่เป็นโมฆะ” หลายคนเข้าใจผิดเพราะเคยได้ยินมาว่าแม้เซ็น สละสิทธิ์ไม่ติดใจฟ้องร้องแล้วก็ยังสามารถฟ้องร้องที่ศาลแรงงานได้… เรื่องนี้ไม่ได้มีคำตอบให้ตายตัวนะคะ ต้องดูจากหลายอย่างพิจารณาร่วมกันเพราะถ้าดูตามแนวคำพิพากษาฎีกาก็จะมีทั้งในกรณีที่เซ็นไปแล้วแต่ก็ยังฟ้องร้องได้กับในกรณีที่เซ็นไปแล้วก็ฟ้องร้องไม่ได้แล้ว ซึ่งถ้าจะให้อธิบายสั้นๆฝ้ายจะสรุปแบบนี้ค่ะ ในขั้นถ้าในขณะที่เซ็นยังมีฐานะเป็นนายจ้างลูกจ้างไม่ว่าจะเป็นสภาพแวดล้อมสภาวะความกลัวของจิตใจหรือแม้แต่ข้อถ้อยคำที่ใช้ในการเจรจาเพื่อให้ลงนามในสัญญาสละสิทธิ์เรียกร้องเงินค่าชดเชยหากเป็นเช่นนั้นกรณีที่ลูกจ้างจะไปฟ้องเรียกเงินชดเชยก็ยังทำได้อยู่แต่ลูกจ้างก็ต้องนำสืบให้ได้ว่าการเซ็นนั้นไม่ได้เต็มใจ แต่ในกรณีกลับกัน ถ้าวันที่เซ็นนั้น พ้นสภาพจากการเป็นลูกจ้างแล้วไม่ได้อยู่ภายใต้การครอบงำไม่ได้อยู่ภายใต้คำสั่งไม่ได้อยู่ภายใต้การให้คุณให้โทษของนายจ้างแล้วเช่นนี้บันทึกนั้นก็สามารถบังคับได้ค่ะดูจากคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2841/57 อันนี้ก็เป็นหลักการพิจารณาแบบกว้างๆนะคะถ้าอยากทราบโดยละเอียดลงเรียนได้ค่ะ เสาร์ที่ 4 มีนาคม ยังว่าง

ให้ลูกจ้างพิจารณาตัวเอง ลูกจ้างเลยหายไปพิจารณา 7 วัน !! เช่นนี้ ไม่ถือว่านายจ้างเลิกจ้าง

ให้ลูกจ้างพิจารณาตัวเอง ลูกจ้างเลยหายไปพิจารณา 7 วัน !! เช่นนี้ไม่ถือว่านายจ้างเลิกจ้าง หัวจะปวดอ่ะเธอฉันฟังคำปรึกษา Inbox ของลูกจ้างรายนี้และฉันหัวจะปวด.. คือนายจ้างเขาให้พิจารณาตัวเองว่าทำงานในตำแหน่งเนี้ยลูกจ้างน่าจะไม่ถนัดนะไปพิจารณาตัวเองดูว่าจะเพิ่มทักษะความสามารถได้อย่างไรให้มันอยู่ร่วมกับองค์กรได้ต่อไปหรือจะลองหางานใหม่ที่เหมาะสมไหมให้ไปคิดดูนะ เธอออออ.. แค่นี้เขายังไม่ได้ไล่ออกจ้าและการที่เธอหายไปคิด 7 วัน โดยไม่โทรมาแจ้งเหตุไม่บอกไม่กล่าวและนายจ้างเขาเลยออกหนังสือเลิกจ้างแบบนี้นายจ้างเขาก็ทำถูกต้องแล้ว จะบอกว่าเขาเลิกจ้างคงไม่ได้ พูดกันแบบตรงไปตรงมานะการที่เขาให้พิจารณาตัวเอง ว่าเหมาะสมกับตำแหน่งไหมหรือรองพิจารณาหางานอื่นๆไหมคำพูดมันยังไม่ใช่ไล่ออกและยังไม่มีพฤติการณ์ไหนที่บอกว่าเขาไล่ออกพฤติการณ์ไล่ออกคืออะไรเช่นการที่เขาตัดบัตรไม่ให้เธอเข้าออฟฟิศได้ไม่ให้ทำงานแล้วไม่จ่ายเงินเดือน พฤติการณ์ใดๆที่หมายความว่าจะไม่ให้เธอทำงานกับเขาแล้วเป็นต้นซึ่งการให้ไปพิจารณาตัวเองมันยังไม่ถึงขั้นของการไล่ออก ถ้าใครเจอแบบนี้แล้วไม่แน่ใจว่าเขาไล่ออกหรือเปล่า LINE ถามไปเลยค่ะอีเมลก็ได้ถามไปว่าไล่ออกหรือเปล่าถ้าเขายังยืนยันอยู่ว่าเขาให้พิจารณาตัวเองและเราก็พิจารณาแล้วว่าเราเหมาะสมที่จะทำงานต่อไปหรือพิจารณาแล้วว่าเราจะพยายามปรับปรุงตัวให้ดีขึ้นและร่วมงานต่อไปก็ให้ทำงานไปตามปกติ… แต่ไม่ใช่หายไปเลยโดยไม่บอกไม่กล่าวแล้วเพราะเขาเลิกจ้างก็มาบอกว่าเขาไล่ออก..เธอออ ใจเขาใจเราทั้งสองฝ่ายนะหลายปัญหาแก้ได้ด้วยการคุยกันไม่ใช่หนีเงียบหรือปล่อยให้คิดไปเองหรือไม่ถามเพื่อความเข้าใจ การอยู่ร่วมกันที่ดีคือการสื่อสารอย่างตรงไปตรงมา ปล. การพูดตรงกับการพูดแรงไม่เหมือนกันใครชอบพูดแรงแล้วบอกว่าฉันเป็นคนตรงๆก็เข้าใจซะใหม่นะ ย้ำพูดตรงไม่จำเป็นต้องใช้คำรุนแรง คนที่ใช้คำรุนแรงก็ไม่ได้หมายความว่าเนื้อหาจะพูดตรง แล้วถ้าอ่านมาถึงตรงนี้ใครที่ยังคิดว่าทนายรู้ได้ยังไงคิดไปเองตีความไปเองหรือเปล่า. ไปค่ะ ไปอ่านกรณีเทียบเคียงในฎีกาที่ 5959/2557 นะ

ค้ำใครระวังให้ดี ถ้าไม่ระบุระยะเวลาค้ำประกันไว้ อาจจะต้องค้ำประกันตลอดไป

ค้ำใครระวังให้ดี ถ้าไม่ระบุระยะเวลาค้ำประกันไว้อาจจะต้องค้ำประกันตลอดไป พอพูดถึงเรื่องค้ำประกันนี้เชื่อว่าหลายคนคงเจอมากับตัวไม่ว่าจะเป็นค้ำประกันการกู้ยืมเงินค่าประกันการซื้อรถหรือแม้แต่ค้ำประกันการทำงาน ในชีวิตนี้ตั้งแต่ลืมตาดูโลกมาจนเกือบจะ 40 ปีฝ้ายเคยค้ำประกันให้แค่ 1 คนนั่นคือค้ำประกันการทำงานให้แก่น้องรหัส นอกนั้นไม่ว่าจะเป็นเพื่อนฝูง ญาติพี่น้องมาขอให้ค้ำประกันใดๆฝ้ายจะปฏิเสธแบบที่ไม่กลัวเสียเพื่อน… เพราะหลายครั้งที่เราค้ำประกันให้คนอื่นแรกๆความสัมพันธ์ก็อาจจะยังดีอยู่แต่แน่นอนเรื่องเงินทองมันไม่เคยเข้าใครออกใค รและอนาคตก็เป็นสิ่งไม่แน่นอน วันนี้เพื่อนเราญาติเราอาจจะยังมีพฤติกรรมทางการเงินที่ดีแต่ในอนาคตอาจจะไม่ใช่ ถึงวันนั้นเราอาจจะเสียทั้งเพื่อนและเสียทั้งเงินก็เป็นได้ อ่ะเข้าเรื่องเดี๋ยวจะไปไกลไปมากกว่านี้… ในเรื่องของการค้ำประกันการทำงานนั้. หากเรามีความจำเป็นจะต้องค้ำ ก็ให้ระบุให้ชัดเจนว่าเราค้ำประกัน เพื่อนพี่น้องของเรา ในตำแหน่งไหน ระบุไปให้ชัดเจนว่าถ้าไปทำงานในตำแหน่งอื่นเราก็ไม่ได้ค้ำประกันแล้วและการค้ำประกันของเราจะค้ำประกันกี่ปี วงเงินเท่าไหร่ หลายคนอ่านมาถึงตรงนี้อาจจะบอกว่าจะไปขอต่อรองแก้ไขได้ยังไงนั่นมันสัญญาของบริษัท. . โดยหลักการนะคะ ถ้าเราจะต้องค้ำประกันให้กับใครคนนึงเราควรต่อรองค่ะ ไม่ใช่เพื่อเขาแต่เพื่อตัวเราเอง เพราะหากไม่กำหนดระยะเวลาไว้ สัญญาค้ำประกันการทำงานนั้นต้องรับผิดชอบตลอดไป (คำพิพากษาฎีกาที่ 1376/57 ) ลองไปพิจารณาดูนะคะอย่าเอ็นดูเขา จนเอ็นเราขาด ถ้าจะเป็นหนี้อะไรก็ควรเป็นหนี้ที่เราก่อขึ้นมาเองจะค้ำประกันใครก็ควรมีกำหนดระยะเวลาและวงเงินที่ชัดเจน.. ไม่ใช่เพื่อใครเลยค่ะเพื่อตัวเองทั้งนั้น ด้วยความปรารถนาดีจากทนายคนน่ารักคนเดิม

นายจ้างปรับเปลี่ยนระเบียบข้อบังคับรวมถึง “เงินจูงใจ” เมื่อลูกจ้างไม่โต้แย้ง ถือว่ายอมรับ

นายจ้างปรับเปลี่ยนระเบียบข้อบังคับรวมถึง ค่าเงินจูงใจเมื่อลูกจ้างไม่โต้แย้ง ถือว่ายอมรับ น่าจะเป็นที่ฮู้กันดีอยู่แล้วว่า หากมีการปรับเปลี่ยนระเบียบข้อบังคับหรือประกาศใดๆที่มีการแก้ไขและไม่เป็นคุณกับลูกจ้างลูกจ้างจะต้องให้ความยินยอมก่อน แต่ในทางกลับกัน ถ้าเกิดมีการเปลี่ยนแปลงระเบียบข้อบังคับรวมถึงประกาศต่างๆและลูกจ้างไม่เคยโต้แย้ง และปฏิบัติตามระเบียบข้อบังคับหรือแนวทางตามประกาศดังกล่าวมาเป็นระยะเวลานานนนน เช่นนี้จะถือว่ายอมรับหรือไม่ ตามฎีกาที่ 15162/2557 ศาลท่านก็ได้โปรดวางหลักไว้ว่า กรณีที่นายจ้างมีการเปลี่ยนแปลงระเบียบข้อบังคับรวมถึงประกาศในการคำนวณเงินจูงใจก็ปรากฏว่าพนักงานไม่เคยโต้แย้งและยังปฏิบัติงานโดยคำนวณเงินจูงใจตามนั้นมาโดยตลอดกรณีเช่นนี้ก็ถือว่าลูกจ้างได้ยอมรับแล้ว แม้จะไม่มีการเซ็นยอมรับเป็นลายลักษณ์อักษรก็ถือว่ายอมรับแล้วเช่นกัน ดังนั้น เพื่อเป็นการบริหารการทำงานร่วมกันทั้งสองฝ่ายหากจะมีการเปลี่ยนแปลงระเบียบข้อบังคับหรือประกาศอะไรก็ควรทำความเข้าใจร่วมกันก่อนว่าที่มาที่ไปเป็นอย่างไรเกิดปัญหาอย่างไรจึงอยากเปลี่ยนแปลงระเบียบข้อบังคับการทำงานรวมทั้งประกาศ แล้วเมื่อทำความเข้าใจร่วมกันมีการสื่อสารอย่างตรงไปตรงมาฝ้ายเชื่อว่าการทำงานก็จะได้ประสิทธิผลและเกิดความเข้าใจในการอยู่ร่วมกันค่ะ

เลิกจ้าง…เพราะปรับโครงสร้างองค์กร แต่กำหนดรายชื่อลูกจ้างไว้ล่วงหน้า ถือเป็นการเลิกจ้างไม่เป็นธรรม

เลิกจ้างเพราะปรับโครงสร้างองค์กรแต่กำหนดรายชื่อลูกจ้างไว้ล่วงหน้าถือเป็นการเลิกจ้างไม่เป็นธรรม กรณีนี้เป็นอีกกรณีนึงที่เราได้รับจ้างจากฝั่งลูกจ้างบ่อยมากๆกับกรณีที่นายจ้างอ้างว่าปรับโครงสร้างองค์กรไม่ว่าจะด้วยเศรษฐกิจหรือผลประกอบการก็ตามแต่ในทางปฏิบัติแล้วกลับมีการกำหนดรายชื่อไว้ล่วงหน้า พูดง่ายๆก็คือมีเป้าหมายที่จะเลิกจ้างพนักงานตามรายชื่อที่ทำไว้ก่อนอยู่แล้ว แม้จะทำทรงโครงการเกษียณอายุก่อนกำหนดให้พนักงานเหล่านั้นสมัครเข้าร่วมโครงการ แต่เมื่อกลุ่มคนตามรายชื่อไม่ยอมสมัครเข้าร่วมด้วย ต่อมาก็ยังถูกเลิกจ้างอยู่ดี และถ้ายิ่งได้ทนายน่ารักแบบทนายฝ้าย นำสืบได้ว่า กระบวนการคัดเลือกรายชื่อพนักงานตามรายชื่อดังกล่าว ก็ไม่พอให้รับฟังว่า พนักงานไม่มีความเหมาะสมอย่างไรที่ไม่อาจจะจ้างต่อไปได้อีก หากมีข้อเท็จจริงดังนี้ จึงไม่อาจถือได้ว่าการเลิกจ้างโจทก์เป็นการปรับลดพนักงานตามผังปรับโครงสร้างองค์กรเพื่อให้สอดคล้องกับงาน กำลังคน รายได้ และความเหมาะสมตามที่บริษัทอ้าง และเมื่อไม่มีเหตุผลอันสมควรประการอื่นที่จะเลิกจ้าง การเลิกจ้างจึงเป็นการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรม ( คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 14098/2557)

กรณีที่ทรัพย์สินมีชื่อเจ้าของหลายคน หากจะทำนิติกรรม ต้องอาศัยความยินยอมจากเจ้าของทุกคนเสมอ

กรณีที่ทรัพย์สินมีชื่อเจ้าของหลายคน หากจะทำนิติกรรม ต้องอาศัยความยินยอมจากเจ้าของทุกคนเสมอ หากไม่สามารถตกลงหรือยินยอม เจ้าของคนใดคนหนึ่งต้องยื่นฟ้องต่อศาลขอแบ่งกรรมสิทธิ์ 1 แบ่งทรัพย์สินดังกล่าวกันเองก่อน 2 เมื่อไม่สามารถแบ่งได้ให้ประมูลราคาระหว่างกันเอง 3 ถ้าตกลงกันไม่ได้ก็ให้นำทรัพย์สินดังกล่าวออกขายทอดตลาด และได้เงินสุทธิเท่าใดให้แบ่งกันคนละครึ่ง หรือตามส่วนของเจ้าของรวม

อำนาจปกครองบุตรผู้เยาว์ หลังจากสามีภริยาหย่าขาดจากกันแล้ว แบ่งออกเป็น 2 กรณี

คดีเพิกถอนอำนาจปกครองบุตรผู้เยาว์ อำนาจปกครองบุตรผู้เยาว์ หลังจากสามีภริยาหย่าขาดจากกันแล้ว แบ่งออกเป็น 2 กรณี ดังนี้ 1 กรณีหย่าด้วยความยินยอม ให้สามีภริยาทำความตกลงเป็นหนังสือท้ายทะเบียนหย่า ณ สำนักงานเขตหรือที่ว่าการอำเภอ ว่าฝ่ายใดจะเป็นผู้ใช้อำนาจปกครองบุตรคนใด ถ้ามิได้ตกลงหรือตกลงกันไม่ได้ ให้ศาลเป็นผู้ชี้ขาด แต่ถ้าตกลงกันว่าให้ฝ่ายใดเป็นผู้อุปการะเลี้ยงดูบุตร ย่อมมิใช่ข้อตกลงให้ฝ่ายนั้นเป็นผู้ใช้อำนาจปกครองด้วย แต่ต้องถือว่าอำนาจปกครองยังอยู่กับบิดาและมารดา หากคนใดคนหนึ่งถึงแก่ความตาย อำนาจปกครองก็ยังตกอยู่อีกคนหนึ่ง 2 กรณีหย่าโดยคำพิพากษาศาล ให้ศาลซึ่งพิจารณาคดีฟ้องหย่านั้นชี้ขาดด้วยว่าฝ่ายใดจะเป็นผู้ใช้อำนาจปกครองบุตรคนใด โดยศาลมีอำนาจถอนอำนาจปกครองบุตรของคู่สมรสนั้นได้ ตามมาตรา 1582 และสั่งให้บุคคลภายนอกเป็นผู้ปกครองได้ ทั้งนี้ ให้ศาลคำนึงถึงความผาสุกและประโยชน์ของบุตรเป็นสำคัญ โดยไม่ต้องพิจารณาว่าเป็นการเกินพิพากษาคำขอหรือไม่ แม้โจทก์ไม่ได้ขอมาในคำขอท้ายฟ้อง ศาลก็พิพากษาเกินคำขอในเรื่องนี้ได้ แต่ถ้าปรากฎว่าผู้ใช้อำนาจปกครองหรือผู้ปกครองตามมาตรา 1520 ประพฤติไม่เหมาะสมควร หรือภายหลังพฤติการณืได้เปลี่ยนแปลงไป ศาลมีอำนาจสั่งเปลี่ยนตัวผู้ใช้อำนาจปกครองหรือผู้ปกครอง โดยคำนึงถึงความผาสุกและประโยชน์ของบุตรเป็นสำคัญ เหตุในการถอนอำนาจปกครอง 5 กรณี 1 ผู้ใช้อำนาจปกครองถูกศาลสั่งให้เป็นคนไร้หรือคนเสมือนไร้ความสามารถ 2 ใช้อำนาจปกครองโดยมิชอบ ทำให้เกิดความเสียหายแก่บุตรผู้เยาว์ เช่น เฆี่ยนตีบุตรอย่างรุนแรง ยุยงส่งเสริมให้บุตรลักขโมย สอนบุตรสูบบุรี่ ดื่มสุรา ละทิ้ง ไม่เลี้ยงดูเอาใจใส่ ลงโทษบุตรอย่างทารุน หรือปล่อยปละละเลยให้บุตรประพฤติชั่ว...

ส่งหนังสือบอกกล่าวบังคับจำนองให้แก่ผู้จำนอง แม้ไม่มีผู้รับ ก็ถือว่าส่งโดยชอบแล้ว

ส่งหนังสือบอกกล่าวบังคับจำนองให้แก่ผู้จำนองแม้ไม่มีผู้รับก็ถือว่าส่งโดยชอบแล้ว คำพิพากษาฎีกาที่ 2066/2564 แม้ซองจดหมายบอกกล่าวบังคับจำนองที่โจทก์ส่งโดยทางไปรษณีย์ตอบรับระบุภูมิลำเนาจำเลย แต่ส่งไม่ได้โดยมีตราประทับของไปรษณีย์ระบุว่าไม่มีเลขที่บ้านตามจ่าหน้า แสดงว่ายังไม่ได้มีการนำจดหมายไปส่ง ณ ภูมิลำเนาหรือสำนักทำการงานของจำเลย ถือไม่ได้ว่าโจทก์ผู้รับจำนองมีจดหมายบอกกล่าวบังคับจำนองไปถึงจำเลยผู้เป็นลูกหนี้โดยชอบแล้ว ตาม ป.พ.พ.มาตรา 169 วรรคหนึ่ง โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องบังคับจำนอง แม้หนังสือสัญญาจำนองที่ดินระบุว่า จำเลยกู้ยืมเงินโจทก์ไปจำนวน 400,000 บาท จำเลยย่อมนำสืบพยานบุคคลว่าจำเลยกู้ยืมเงินจากโจทก์ไปเพียง 200,000 บาท ไม่เป็นการต้องห้ามตาม ป.วิ.พ.มาตรา 94 เพราะเป็นการนำสืบถึงความไม่บริบูรณ์ขอสัญญากู้เงินตาม ป.พ.พ.มาตรา 640 วรรคสอง ไม่ใช่เป็นการนำสืบเพิ่มเติมเปลี่ยนแปลงแก้ไขข้อความในเอกสารตาม ป.วิ.พ.มาตรา 94(ข) แต่เป็นการนำสืบถึงความไม่สมบูรณ์แห่งหนี้ตาม ป.วิ.พ.มาตรา 94 วรรคท้าย หมายเหตุ : ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า การบอกกล่าวบังคับจำนองเป็นการแสดงเจตนาอย่างหนึ่งตาม ป.พ.พ.มาตรา 169 วรรคหนึ่ง ที่บัญญัติว่า “การแสดงเจตนาที่กระทำต่อบุคคลซึ่งมิได้อยู่เฉพาะหน้าให้ถือว่ามีผลนับแต่เวลาที่การแสดงเจตนานั้นไปถึงผู้รับการแสดงเจตนา….” ถ้อยคำว่า “ไปถึง” นั้น หมายความว่า ต้องมีการแสดงเจตนาโดยมีการนำจดหมายบอกกล่าวบังคับจำนองไปส่งยังลูกหนี้ ณ ภูมิลำนาหรือสำนักทำการงานของลูกหนี้แล้ว แม้ไม่มีผู้ใดรับไว้ ก็ถือได้ว่าผู้รับจำนองมีจดหมายบอกกล่าวบังคับจำนองโดยชอบแล้ว