กรุณารอสักครู่

 

HomeBlog

มาทำงานสายประจำ นายจ้างเลิกจ้างได้ โดยไม่ต้องบอกกล่าวล่วงหน้า!

มาทำงานสายประจำ นายจ้างเลิกจ้างได้ โดยไม่ต้องบอกกล่าวล่วงหน้า! ปัญหามาสายนี่เป็นปัยหาที่มีแทบทุกออฟฟิต นายจ้างบางรายเตือนลูกจ้างสองครั้ง เพราะเหตุมาสายแล้วไล่ออกเลยก็มี ซึ่งอันนี้ทำได้ไหม ตอบว่า ได้ แต่เสี่ยง เช่น จันทร์สาย 5 นาที ออกหนังสือเตือน อังคารมาสาย 10 นาทีออกหนังสือเลิกจ้างเลย เพราะไม่ใช่ความผิดร้ายแรง แต่ ถ้ามาสาย “เป็นประจำ” แม้จะเป็นความผิดที่ไม่ร้ายแรงแต่ก็เข้าข่ายตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 583 และพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 มาตรา 119 และเข้าข้อยกเว้นตามมาตรา 17 วรรคท้าย ที่ทำให้บริษัท หรือนายจ้างไม่จำต้องมีหนังสือบอกกล่าวล่วงหน้าไปยังลูกจ้างก่อนที่จะมีหนังสือเลิกจ้างได้ด้วย แต่ในความเห็นส่วนตัวของอาจารย์ อาจารย์มองว่า ถ้ามาสาย “เป็นประจำ” ฝ่ายบุคคลอาจจะเรียกมาคุยเพื่อสอบถามปัญหา ว่าเกิดจากอะไร ถ้าเป็นเหตุอันจำเป็นจริงๆ อาจจะทำบันทึกเปลี่นแปลงเวลาเข้างานเพื่อให้โอกาสในการทำงานต่อไป แต่ถ้าปรากฏว่าดูทรงแล้ว ดูซีรี่ย์หนักหน่วง หรือกลิ่นละมุดหึ่งมาเชียว แบบนี้ก็ควรออกหนังสือเตือนรอบแรกก่อนและระบุให้ครบว่า การมาสายนั้นส่งผลกระทบยังไงบ้าง เพราะมาสาย ไม่แค่การสายไง แต่ฝ่ายอื่นติดต่อไม่ได้ ลูกค้าติดต่อไม่ได้ ทำให้การทำงานขัดข้องยังไง และเสียหายอย่างไร และถ้ายังประจำอยู่เรื่อยๆ...

ไม่มีสัญาจ้างก็ฟ้องได้ ถ้า……

ไม่มีสัญาจ้างก็ฟ้องได้ ถ้า…… วันนี้เจอคำถามที่น่าสนใจจาก inbox ว่าเริ่มงานมา สองเดือนแล้ว แต่นายจ้าง ยังไม่ส่งสัญญาจ้างให้ แบบนี้มันผิดกฎหมายหรือเปล่า ตอบแบบไวๆเลยคือ “ไม่ผิดกฎหมาย” เพราะในกฎหมายแรงงาน การจ้างไม่ต้องเป็นหนังสือ เพราะ สัญญาจ้าง หมายความว่า สัญญาไม่ว่าเป็นหนังสือหรือด้วยวาจาระบุชัดเจนหรือเป็นที่เข้าใจโดยปริยายซึ่งบุคคลหนึ่งเรียกว่าลูกจ้างตกลงจะทำงานให้แก่บุคคลอีกบุคคลหนึ่งเรียกว่านายจ้างและนายจ้างตกลงจะให้ค่าจ้างตลอดเวลาที่ทำงานให้ เทียบเคียงจาก คำพิพากษาฎีกาที่ 9985/2557 ที่มีข้อเท็จจริงได้ความว่านายจ้างว่าจ้างนายเอทำงานในหน้าที่ที่ปรึกษาด้านการตลาด โดยจ่ายค่าจ้างให้เป็นรายเดือน เดือนละ 20,000 บาท ตลอดเวลาที่ทำงานให้โดยไม่กำหนดปริมาณงานว่าต้องทำมากน้อยเพียงใด และยังนำสืบได้เพิ่มเติมว่า นายเอต้องปฏิบัติตามคำสั่งของนายจ้างที่ให้ทำรายงานการซื้อขายสินค้ารวมทั้งทำบัญชีรายรับรายจ่ายให้นายจ้างตรวจสอบทุกเดือน เป็นการแสดงให้เห็นว่านายจ้างมีอำนาจบังคับบัญชาเหนือนายเอตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 583 แล้ว แม้นายเอไม่ต้องปฏิบัติตามระเบียบข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานของนายจ้างในเรื่องอื่นก็ตาม จึงถือได้ว่านายเอเป็นลูกจ้างของบริษัทแล้ว ข้อสังเกตุนะคะ ต่อให้มีสัญญาและสัญญาเขียนว่าเป็นสัญญาจ้างที่ปรึกษา สัญญาจ้างผู้เชี่ยวชาญ หรืออแม้แต่สัญญาจ้างทำของ แต่หาก้ข้าองค์ประกอบที่ว่า ขาดลามาสายต้องบอก นายจ้างมีอำนาจบังคับบัญชา ต้องปฏิบัติตามคำสั่งของนายจ้าง เช่นนี้ก็เป็นการจ้างแรงงานและอยู่ภายใต้ พรบ.คุ้มครองแรงงานแล้ว

หญิงหม้ายจะจดทะเบียนสมรสใหม่ได้เมื่อหย่าหรือสามีเสียชีวิตครบ 310 วัน !!!

หญิงหม้ายจะจดทะเบียนสมรสใหม่ได้เมื่อหย่าหรือสามีเสียชีวิตครบ 310 วัน !!! เอาละ! หลายๆคนคงสงสัยว่ากฎหมายจะมายุ่งอะไรก็กับคนจะจดทะเบียนสมรสมีสามีใหม่ ในเมื่อก็หย่าแล้ว หรือสามีเก่าก็เสียชีวิตแล้ว ฟังก่อนนน กฎหมายกำหนดไว้เพื่อป้องกันปัญหาเกี่ยวกับบุตรที่อาจจะเกิดมาว่าเป็นบุตรของสามีเก่าหรือสามีใหม่ หากยอมให้ฝ่ายหญิงสมรสกับชายคนใหม่ทันที และในระหว่างนี้เกิดตั้งครรภ์ขึ้นมา อาจมีข้อโต้แย้งได้ว่าใครเป็นพ่อของเด็ก ทำให้ยากต่อการเลี้ยงดูบุตรและจัดการแบ่งมรดกต่าง ๆ ดังนั้นตามกฎหมาย ผู้หญิงจึงต้องเว้นระยะก่อนจดทะเบียนสมรสใหม่ เป็นเวลาไม่น้อยกว่า 310 วัน แต่กฎหมายก็มีข้อยกเว้นให้หญิงหม้ายจะสามารถจดทะเบียนสมรสใหม่ได้เลยก็ต่อเมื่อ 1. คลอดบุตรแล้วในระหว่างนั้น 2. สมรสกับคู่สมรสเดิม 3. มีใบรับรองแพทย์ว่าไม่ได้ตั้งครรภ์ 4. ศาลมีคำสั่งให้สมรสได้ กฎหมายอาจจะยุ่งยากไปบ้างแต่เขาก็กำหนดไว้เพื่อป้องกันปัญหาในภายหน้านะคะ

ผู้ให้เช่าจะขึ้นค่าเช่า จะต้องมีหลักฐานเป็นหนังสือลงลายมือชื่อผู้เช่า

ผู้ให้เช่าจะขึ้นค่าเช่า จะต้องมีหลักฐานเป็นหนังสือลงลายมือชื่อผู้เช่า การเช่าอสังหาริมทรัพย์กฎหมายกำหนดว่าต้องมีหลักฐานเป็นหนังสือลงลายมือชื่อฝ่ายที่ต้องรับผิดเป็นสำคัญ มิฉะนั้นจะฟ้องร้องบังคับคดีไม่ได้ ดังนั้นการขึ้นค่าเช่าก็ต้องมีหลักฐานเป็นหนังสือลงลายมือชื่อผู้เช่า ผู้ให้เช่าจึงจะฟ้องร้องบังคับคดีผู้เช่าให้รับผิดตามค่าเช่าที่ขึ้นได้ ถ้าไม่มีก็บังคับได้เพียงค่าเช่าตามสัญญาเช่าเดิม คำพิพากษาฎีกาที่ 5387/2549 ตามสัญญาเช่าอาคารกำหนดอัตราค่าเช่าไว้เดือนละ 17,000 บาท เมื่อครบกำหนดการเช่า 1 ปี จำเลยยังคงอยู่ในตึกแถวพิพาทต่อมา ตาม ป.พ.พ. มาตรา 570 ให้ถือว่าโจทก์จำเลยเป็นอันได้ทำสัญญาใหม่ต่อไปไม่มีกำหนดเวลาซึ่งหมายความว่าข้อตกลงเกี่ยวกับกำหนดเวลาไม่มีผลบังคับกันต่อไป ส่วนสัญญาข้ออื่นคงเป็นไปตามสัญญาเช่าเดิม รวมทั้งอัตราค่าเช่าด้วย และโดยเหตุที่การเช่าอสังหาริมทรัพย์นี้ ป.พ.พ. มาตรา 538 บังคับให้มีหลักฐานเป็นหนังสืออย่างหนึ่งอย่างใดลงลายมือชื่อฝ่ายที่ต้องรับผิดเป็นสำคัญ มิฉะนั้นจะฟ้องร้องบังคับคดีไม่ได้ ดังนั้นเมื่อโจทก์จะขอบังคับให้จำเลยชำระค่าเช่า ซึ่งเป็นอัตราค่าเช่าที่สูงกว่าที่กำหนดไว้ในหนังสือสัญญาเช่าอาคาร โจทก์ต้องมีหลักฐานเป็นหนังสืออย่างหนึ่งอย่างใดลงลายมือชื่อจำเลยมาแสดงว่าได้มีการตกลงขึ้นค่าเช่าดังที่โจทก์อ้าง การที่โจทก์นำสืบพยานบุคคลว่าได้มีการตกลงขึ้นค่าเช่าในอัตราเดือนละ 20,000 บาท จึงเป็นการต้องห้ามตาม ป.วิ.พ. มาตรา 94 จำเลยคงต้องรับผิดชำระค่าเช่าที่ค้างชำระเดือนละ 17,000 บาท ตามอัตราค่าเช่าในสัญญาเช่าเดิม

เลิกพูดซะทีว่า ทำสัญญาปีต่อปี ไม่ต้องจ่ายค่าชดเชย

เลิกพูดซะทีว่า ทำสัญญาปีต่อปี ไม่ต้องจ่ายค่าชดเชย เหนื่อยจนท้อกับการอธิบายกับผู้คนที่มีธงอยู่ในใจว่า “ทำสัญญาปีต่อปี ไม่ต้องจ่ายค่าชดเชย” ทั้งๆที่งานปีต่อปีนั้น ก็งานบริษัทนั่นแหละ ชั้นเหนื่อยชั้นเพลีย ชั้นท้อ เมื่อถามว่าอะไรทำให้คิดแบบนั้น ก็ได้เข้าใจว่า “ก็ ม.118 กำหนดในวรรคก่อนสุดท้ายว่า ความในวรรคหนึ่งมิให้ใช้บังคับแก่ลูกจ้างที่มีกำหนดระยะเวลาการจ้างไว้แน่นอน และเลิกจ้างตามกำหนดระยะเวลานั้น” ดังนั้น เลยเข้าใจว่าทำสัญญาปีต่อปีไม่เกินสองปี จึงไม่ต้องจ่ายค่าชดเชย ต่อไปเรื่อยๆ และที่สำคัญ เห็นหลายออฟฟิตละ ทำแบบนี้ก้ไม่ต้องจ่ายนะคะ ขอสะบัดหัวตัวเองทีนึง และจะพยายามอธิบายให้เข้าใจง่ายๆว่า 1. แม้จะมีระยะเวลาเริ่มต้นและสิ้นสุดการจ้างกันไว้แน่นอน เมื่อสัญญาจ้างสิ้นสุดครบตามวัน ก็ต้องถือว่าเป็นการเลิกจ้าง มีการกำหนดการเลิกจ้างไว้ล่วงหน้าแล้ว เมื่อมีการเลิกจ้าง ต้องจ่ายค่าชดเชย 2. แม้สัญญาจะแยกกี่ฉบับก็ตาม แต่กฎหมายมาตรา 20 ให้เอาระยะเวลาทุกฉบับมานับต่อกัน (มาตรา 20 การที่ลูกจ้างไม่ได้ทำงานติดต่อกันโดยนายจ้าง มีเจตนาที่จะไม่ให้ลูกจ้างนั้นมีสิทธิใดตามพระราชบัญญัตินี้ ไม่ว่า นายจ้างจะให้ลูกจ้างทำงานในหน้าใด และการจ้างแต่ละช่วงมี ระยะเวลาห่างกันเท่าใดก็ตาม ให้นับระยะเวลาการทำงานทุกช่วงเข้าด้วยกันเพื่อประโยชน์ในการได้สิทธิของลูกจ้างนั้น) 3. ส่วนความเข้าจในวรรค ม.118 วรรคก่อนสุดท้ายนั้น กฎหมายหมายถึงงานที่ไม่ใช่ปกติธุรกิจการค้า เช่น ออฟฟิตเปิดเป็นขายของ จ้างพนักงานมาแพคของ...

หนังสือเตือนที่เอามาเป็นเหตุเลิกจ้างได้ ต้องเป็นความผิดเดียวกัน ภายใน 1 ปีนับตั้งแต่กระทำความผิดครั้งแรก!!

หนังสือเตือนที่เอามาเป็นเหตุเลิกจ้างได้ ต้องเป็นความผิดเดียวกัน ภายใน 1 ปีนับตั้งแต่กระทำความผิดครั้งแรก!! ในการอบรมครั้งล่าสุดก็มีผู้เข้าเรียนมาปรึกษาว่าในบริษัทแห่งหนึ่งมีการออกหนังสือเตือนโดยที่ไม่ได้สนใจว่าเป็นความผิดเดียวกันหรือไม่ แต่หากเตือนไปแล้ว 2 ครั้งก็จะเลิกจ้างโดยไม่จ่ายค่าชดเชย… นั่งฟังอยู่ 2 รอบได้แต่คิดในใจว่าอิหยังวะ…ออกมาแบบนี้ยังไม่เคยโดนฟ้องสินะ นอกจากหลักกฎหมายที่บอกไปว่า กรณีที่นายจ้างจะเลิกจ้างลูกจ้างได้นั้นต้องมีการตักเตือนลูกจ้างเป็นหนังสือมาแล้วแต่ต่อมาไม่เกิน 1 ปีนับแต่วันที่ลูกจ้างกระทำความผิดลูกจ้างนั้นได้ฝ่าฝืนความผิดในลักษณะเดียวกันกับที่เคยถูกนายจ้างเตือนในครั้งก่อนอีกกรณีเช่นนี้เป็นการทำผิดซ้ำคำเตือนที่สามารถเลือกจ้างได้ (คำพิพากษาฎีกาที่ 3456/2549) แต่ในทางกลับกันถ้ามีการเตือนลูกจ้างคนละเรื่อง แม้จะเป็นการกระทำความผิดในปีเดียวกัน ก็ต้องจ่ายค่าชดเชย ยกตัวอย่าง ในคดีนึงที่นายจ้างได้ตักเตือนลูกจ้างเป็นหนังสือครั้งแรกเกี่ยวกับการปฏิบัติงานว่าเป็นการปฏิบัติงานบกพร่อง ไม่ได้ป้องกันให้ทรัพย์สินสูญหายต่อมาครั้งที่ 2 เป็นการตักเตือนเรื่องดื่มสุราและใช้ถ้อยคำไม่สุภาพการตอบโจทย์ทั้ง 2 ครั้งจึงเป็นความผิดคนละเหตุการณ์การเลิกจ้างลูกจ้างด้วยความผิดคนละเหตุแบบนี้นายจ้างซึ่งยังต้องจ่ายค่าชดเชยอ้างอิงคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 800/2532 เห็นไหมคะว่าถ้าเตือนคนละเรื่องเดียวกันไม่เป็นผลดีกับนายจ้างเลย ดังนั้นในฝ่ายนายจ้างเองก็ต้องศึกษาข้อกฎหมายให้ดีนะคะ ส่วนลูกจ้างเองก็อย่าย่ามใจไป เพราะการกระทำความผิดนั้นบางทีนายจ้างอาจจะไม่อยากจ่ายค่าชดเชยให้เลยก็ได้อาจจะต้องไปเจอกันในชั้นศาลอีกทีนึงซึ่งก็ไม่ใช่เรื่องสนุกแน่นอน

รู้หรือไม่ !! นอกจากฟ้อง ขอให้นายจ้างจ่ายค่าชดเชยแล้ว ยังขอให้นายจ้างรับกลับเข้าทำงานได้อีกด้วย

รู้หรือไม่ !! นอกจากฟ้อง ขอให้นายจ้างจ่ายค่าชดเชยแล้ว ยังขอให้นายจ้างรับกลับเข้าทำงานได้อีกด้วย ในคดีแรงงานนอกจากจะฟ้องขอให้นายจ้างจ่ายค่าชดเชยจ่ายค่าเสียหายจากการเลิกจ้างไม่เป็นธรรมได้แล้ว หากลูกจ้างยังอยากกลับเข้าทำงานก็สามารถขอให้ศาลมีคำสั่งให้ได้จ้างรับกลับเข้าทำงานได้ด้วยเหมือนกัน แต่อย่างไรก็ตามในกรณีที่นายจ้างได้จ่ายเงินชดเชยจากการเลิกจ้างไปแล้วแต่ต่อมาลูกจ้างไปฟ้องคดีต่อศาลแรงงานและมีคำขอให้นายจ้างรับลูกจ้างกลับเข้าทำงานในตำแหน่งเดิมหากตกลงกันได้ลูกจ้างก็ต้องคืนเงินที่ได้รับจากการเลิกจ้างให้แก่นายจ้างตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 1336 อ้างอิงคำพิพากษาฎีกาที่ 9211/2559 อย่างไรก็ตามก็ไม่ใช่ลูกจ้างขออะไรแล้วจะได้อย่างนั้นเสมอนะคะ ศาลก็จะพิจารณาด้วยว่านายจ้างและลูกจ้างสามารถร่วมงานกันต่อไปได้หรือไม่.. แต่ส่วนมากที่เราเคยเห็นมาน้อยรายนักเมื่อมีการฟ้องร้องกันแล้วจะอยากกลับไปร่วมงานกันอีก ดังนั้นการตกลงกันให้ดีสื่อสารให้เข้าใจจ่ายให้ถูกต้องตามกฎหมายก็เป็นอีกวิธีหนึ่งที่ดีนะคะ

ห้ามสั่งให้คนท้องทำ OT !!!

ห้ามสั่งให้คนท้องทำ OT !!! ตามกฎหมายคุ้มครองแรงงาน กำหนดห้ามมิให้นายจ้างให้ลูกจ้างซึ่งเป็นหญิงมีครรภ์ทำงานในระหว่างเวลา 22.00 น. ถึงเวลา 06.00 น. ทำงานล่วงเวลา หรือทำงานในวันหยุด แต่กฎหมายก็มีข้อยกเว้นให้สามารถทำงานล่วงเวลาได้แต่ต้องทำงานในตำแหน่งที่ไม่เป็นอันตรายหรือใช้แรงงานหนัก และต้องได้รับความยินยอมก่อน คือ ในกรณีที่ลูกจ้างซึ่งเป็นหญิงมีครรภ์ทำงานในตำแหน่งผู้บริหาร งานวิชาการ งานธุรการ หรืองานเกี่ยวกับการเงินหรือบัญชี (รวมถึงงานออฟฟิศ) นายจ้างอาจให้ลูกจ้างนั้นทำงานล่วงเวลาในวันทำงานได้เท่าที่ไม่มีผลกระทบต่อสุขภาพของลูกจ้างซึ่งเป็นหญิงมีครรภ์โดยได้รับความยินยอมจากลูกจ้างก่อนเป็นคราวๆ ไป สิทธตามกฎหมายที่คุณแม่ตั้งครรภ์ควรรู้ไว้นะคะ เพื่อจะได้ใช้เวลาพักผ่อนได้อย่างเต็มที่ค่ะ

ค่าฝึกอบรมและการหักค่าจ้างของลูกจ้าง

ค่าฝึกอบรมและการหักค่าจ้างของลูกจ้าง นายจ้างได้ส่งลูกจ้างไปฝึกอบรม/เรียนเพื่อฝึกอาชีพในการทำงาน และลูกจ้างตกลงยอมใช้เงินค่าฝึกอบรมให้แก่นายจ้าง โดยตกลงให้นายจ้างหักเงินค่าจ้างเพื่อชำระค่าฝึกอบรมให้แก่นายจ้าง กรณีเช่นนี้แม้นายจ้างจะมีสิทธิเรียกร้องให้ลูกจ้างชําระค่าใช้จ่ายในการฝึกอบรมได้ตามกฎหมายก็ตาม แต่นายจ้างจะหักเอาจากค่าจ้างของลูกจ้างเพื่อชําระเงินดังกล่าวมิได้ เพรําะไม่เข้าข้อยกเว้นตามที่บัญญัติไว้ใน พรบ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 มาตรา 76 (1) – (5) ดังนั้นแม้มีข้อตกลงหรือได้รับความยินยอมจากลูกจ้างก็ใช้บังคับไม่ได้ นายจ้างจึงต้องคืนค่าจ้างที่หักไป (คำพิพากษาศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษ 15/2563)

แม้มีข้อตกลงให้นายจ้างโอนย้ายตำแหน่งงานลูกจ้างได้ตามสมควร แต่ต้องได้รับความยินยอมจากลูกจ้าง

แม้มีข้อตกลงให้นายจ้างโอนย้ายตำแหน่งงานลูกจ้างได้ตามสมควร แต่ต้องได้รับความยินยอมจากลูกจ้าง แม้สัญญาจ้างแรงงานระบุให้นายจ้างมีสิทธิโอนย้ายตําแหน่งหรือหน้าที่การงานของลูกจ้างในบริษัทหรือบริษัทในเครือตามที่นายจ้างจะเห็นสมควรได้ เช่น ย้ายจากบริษัท A ไปยังบริษัท B ซึ่งเป็นบริษัทในเครือ และลูกจ้างจะทราบเงื่อนไขดังกล่าวก็ตาม แต่ข้อตกลงดังกล่าวเป็นเพียงข้อตกลงที่ให้สิทธินายจ้าง แต่ยังถือไม่ได้ว่าลูกจ้างให้ความยินยอมไว้ล่วงหน้าโดยปริยายแล้ว เพราะเป็นการโอนสิทธิตามสัญญาจ้างแรงงานไปยังบุคคลภายนอก ต้องได้รับความยินยอมจากลูกจ้างก่อนตามมาตรา 577 ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ดังนั้นเมื่อนายจ้างโอนย้ายลูกจ้างไปทำงานกับบริษัทในเครือและให้ตําแหน่งในบริษัทสิ้นสุดลง โดยลูกจ้างไม่ยินยอม ตามกฎหมายแรงงานจึงเป็นการเลิกจ้างลูกจ้าง โดยลูกจ้างมิได้กระทําความผิด นายจ้างต้องจ่ายสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า ค่าชดเชย ค่าเสียหายจากการเลิกจ้างไม่เป็นธรรมให้แก่ลูกจ้าง (คำพิพากษาศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษ 3-6/2563)