กรุณารอสักครู่

 

HomeBlog

ลูกจ้างไม่ยอมลงชื่อในหนังสือเลิกจ้าง..จะเลิกจ้างได้มั้ยคะ ?

ลูกจ้างไม่ยอมลงชื่อในหนังสือเลิกจ้าง..จะเลิกจ้างได้มั้ยคะ?? น้อง HR ที่เข้ามาถามคำถามนี้มีความกังวลว่า ถ้าเกิดว่าลูกจ้างไม่ยอมลง ชื่อในหนังสือเลิกจ้างการเลิกจ้างจะมีผลหรือไม่ และผลในอนาคตต่อไปจะเป็นยังไงคะ ก่อนอื่นอยากให้น้องเข้าใจก่อนว่าการที่นายจ้างเลิกจ้าง ลูกจ้าง ไม่จำเป็นต้องให้ลูกจ้างยินยอม แต่เป็นความประสงค์ฝ่ายเดียวของนายจ้าง… ซึ่งการเลิกจ้างนี้ลูกจ้างจะได้ค่าชดเชยหรือไม่ก็ต้องดูว่านายจ้างเลิกจ้างเนื่องด้วยเหตุอะไร หากเป็นการเลิกจ้างที่เข้าองค์ประกอบความผิดตามมาตรา 119 แห่งพรบคุ้มครองแรงงานนายจ้างก็มีสิทธิที่จะไม่จ่ายค่าชดเชย การลาออกก็เช่นกันไม่จำเป็นต้องได้รับการอนุมัติจากนายจ้างก่อน อย่างเดียวที่ต้องเห็นตรงกันในการทำงานคือ แรกเริ่มในการร่วมงานด้วยกันนายจ้าง ก็ต้องตกลงลูกจ้างก็ต้องตกลงกันทั้งสองฝ่ายถึงวันเวลาทำงานลักษณะหน้าที่เงินเดือนสภาพการจ้างต่างๆ ถ้าให้จำง่ายๆ ก็เหมือนความรักนั่นแหละ แรกเริ่มเมื่อตอนจะคบกันก็ต้องตกลงกันทั้งสองฝ่าย แต่ตอนเลิกกัน ไม่จำเป็นต้องตกลงก็ได้แค่ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง บอกเลิก ก็จบแล้ว มีผลเหมือนกัน บางคนบอกว่าอ้าวบางคู่ก็ตกลงเลิกกันได้นี่ไม่จำเป็นต้องฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งเป็นคนบอกเลิกตกลงเลิกกันทั้งคู่ได้. แบบนี้การเลิกจ้างเหมือนกันไหมคะ คำตอบคือก็ทำได้เหมือนกันค่ะทำเป็นบันทึกข้อตกลงร่วมกัน ว่าจะสิ้นสุดการทำงานด้วยกันแล้วแบบนี้ก็ได้เช่นกัน การทำงานก็เหมือนความรักแหละ ไม่ใช่ดีอย่างเดียว เหนื่อยด้วย ติดต่องานบรรยาย ที่ปรึกษากฎหมาย คดีความ Info@legalclinic.co.th

ถูกกดดันให้เขียนใบลาออก สามารถฟ้องเรียกค่าชดเชยได้!!

ถูกกดดันให้เขียนใบลาออก สามารถฟ้องเรียกค่าชดเชยได้!! เชื่อว่าหลายคนคงเคยได้ยินเรื่องนี้มาบ้าง ว่า ถ้าถูกกดดันให้เขียนใบลาออกสามารถฟ้องเรียกค่าชดเชยได้ …. ซึ่งถูกต้องค่ะ แต่ประเด็นพิจารณาหลายๆกรณีคือแบบไหนถึงเรียกว่าถูกกดดันให้ลาออก เรามาดูตัวอย่างคำพิพากษาศาลฎีกาที่ศาลวินิจฉัยว่ากรณีแบบนี้ถือว่าเป็นการกดดันให้เขียนใบลาออกนะคะ คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4052/2548 จำเลยเป็นฝ่ายบีบบังคับให้โจทก์ยื่นใบลาออก โดยพูดว่าหากไม่ยื่นใบลาออกจะเลิกจ้างโดย ไม่จ่ายค่าชดเชย ในภาวะเช่นนั้นโจทก์ซึ่งอยู่ใน ฐานะลูกจ้างย่อมเกิดความกลัวและยอมทำ ใบลาออกให้แก่จำเลย การเขียนใบลาออกของ โจทก์จึงเกิดขึ้นเพราะการพูดข่มขู่ของจำเลย พฤติการณ์ดังกล่าวประกอบกับการที่จำเลย อนุมัติให้โจทก์ลาออกทันทีฟังได้ว่า จำเลยมี เจตนาจะไม่ให้โจทก์ทำงานกับจำเลยต่อไปและจะไม่จ่ายค่าจ้าง ดังนั้นพฤติการณ์เช่นนี้ถือได้ ว่าเป็นการเลิกจ้าง ส่วนจะมีกรณีใดพฤติการณ์ไหนอีกบ้างรอติดตามกันในโพสต์ต่อไปค่ะ ติดต่อ งานบรรยาย งานคดีความและที่ปรึกษากฎหมาย info@legalclinic.co.th

ตัวแทนขายสินค้า ถือว่าเป็นผู้ครอบครองสินค้าหรือเงินค่าสินค้าของตัวการ หากเบียดบังสินค้าหรือเงินไป จะมีความผิดอาญาฐานยักยอกทรัพย์ 

ตัวแทนขายสินค้า ถือว่าเป็นผู้ครอบครองสินค้าหรือเงินค่าสินค้าของตัวการ หากเบียดบังสินค้าหรือเงินไป จะมีความผิดอาญาฐานยักยอกทรัพย์ คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 445/2536 ส. ภรรยาจำเลยมีหน้าที่จำหน่ายสินค้าและรับเงินค่าสินค้าของโจทก์ร่วม ได้รับเงินสดค่าสินค้าจากลูกค้าของโจทก์ร่วมไว้แล้วไม่นำเงินสดที่รับไว้ส่งมอบให้แก่แคชเชียร์ แต่เบียดบังเอาเงินสดนั้นไปเป็นของตนเองหรือบุคคลที่สามโดยทุจริต จึงเป็นการยักยอกทรัพย์ของโจทก์ร่วม บัญชีกระแสรายวันของจำเลยมีรายการหมุนเวียนทางการเงินมากการนำเงินเข้าฝากและถอนเงินจากบัญชีแต่ละรายการมีจำนวนมากกว่ารายได้ตามปกติของจำเลยและส.ส.นำเงินฝากเข้าบัญชีจำเลยช่วงระยะเวลาเดียวกับที่ ส.ยักยอกเงินของโจทก์ร่วมและเมื่อส.นำเงินเข้าฝากแล้ว จำเลยได้ออกเช็คสั่งจ่ายเงินจากบัญชีใกล้เคียงกับจำนวนเงินที่ ส. นำเข้าฝาก การถอนเงินโดยสั่งจ่ายเช็คบางฉบับจำเลยก็สั่งจ่ายเพื่อชำระค่าที่ดินพร้อมตึกแถวที่จำเลยกับ ส. ไปติดต่อซื้อด้วยกัน โดยที่ดินพร้อมตึกแถวดังกล่าว มีราคาสูงเกินกว่าฐานะและรายได้ตามปกติของจำเลยกับ ส.ที่จะซื้อได้ พฤติการณ์ถือได้ว่าจำเลยได้รับเอาเงินฝากนั้นไว้ทุกคราวที่ ส.นำเข้าฝากโดยจำเลยรู้ว่าส. ได้เงินนั้นมาจากการยักยอกโจทก์ร่วม จำเลยจึงมีความผิดฐานรับของโจร ส. นำเงินเข้าฝากในบัญชีของจำเลยต่างวันเวลากัน จำเลยจึงมีความผิดหลายกรรมต่างกัน ข้อเท็จจริงไม่ปรากฏชัดว่าการบังคับคดี ส. ได้เงินมาชำระหนี้ให้โจทก์ร่วมเท่าใด ครบถ้วนแล้วหรือไม่ จะฟังว่าจำเลยไม่ต้องรับผิดต่อโจทก์ร่วมหาได้ไม่และหากโจทก์ร่วมบังคับคดี ส.แล้วจะบังคับคดีจำเลยได้อีกเพียงใดนั้นเป็นปัญหาในชั้นบังคับคดี

นายจ้างเฉลี่ย ให้ใช้ลากิจ 4 เดือนได้ 1 ครั้ง แบบนี้ทำไม่ได้!!

นายจ้างเฉลี่ย ให้ใช้ลากิจ 4 เดือนได้ 1 ครั้ง แบบนี้ทำไม่ได้!! คำถาม inbox วันนี้เป็นคำถามที่ต้องเปิดอ่านซ้ำ เพราะมีเพื่อน HR ท่านนึงถามว่า “นายจ้างให้กำหนดสัดส่วนวันลากิจ เช่นใน 4 เดือนได้ 1 ครั้ง รวมเป็น 1 ปีลากิจได้ 3 ครั้ง บอกว่าเป็นไปตามกฎหมาย” เป็นไปตามกฎหมายอะไรอ่ะ ฮืออออ… “ตามพพรบ.คุ้มครองแรงงาน มาตรา 34 ประกอบมาตรา 57/1 กำหนดให้ลูกจ้างสามารถลาเพื่อกิจธุระอันจำเป็นได้ไม่น้อยกว่า 3 วันทำงานต่อปี โดยมีสิทธิ์ได้รับค่าจ้างเท่ากับค่าจ้างในวันทำงานปกติตลอดระยะเวลาที่ลา แต่ไม่เกิน 3 วันทำงานต่อปี ” กำหนดแค่นี้เลยไม่ได้กำหนดสัดส่วนไว้ นายจ้างเองอาจจะต้องพิจารณาด้วยนะบางเรื่องที่มันเป็นกิจธุระอันจำเป็นมันทำวันเดียวไม่เสร็จกฎหมายเขาก็กำหนดระยะเวลาไว้ชัดเจนแล้วว่า ให้ลูกจ้างรายได้ไม่น้อยกว่า 3 วันทำงานต่อปี ที่นี้ในมุมนึงนายจ้างก็บอกว่างั้นหมายความว่าเข้ามาเดือนนึงก็ลากิจได้ 3 วันเลยหรอ?? ” ใช่ค่ะถ้ามันเป็นกิจธุระอันจำเป็นที่คนอื่นทำแทนไม่ได้ รวมถึงกิจธุระส่วนตัวของครอบครัวที่คนอื่นไม่สามารถทำแทนได้ “ คือในการตีความกฎหมายเรามองว่าอย่าตีความอย่างแคบนักเลย บางเรื่องกฎหมายกำหนดมาให้แล้วก็ยังไปตีความยังแคบเพื่อตัดสิทธิ์จำกัดสิทธิ์กันอีกแน่นอนค่ะในมุมนายจ้างเราเข้าใจว่าอยากให้ทุกคนทำงานให้คุ้มเงินเดือน แต่นายจ้างก็ต้องคำนึงถึงสิทธิความเป็นมนุษย์ของลูกจ้างด้วย...

นายจ้างไม่คืนหลักประกันทำไงดี รึกว่าจะได้คืนก็โคตรนาน เรียกดอกเบี้ยไหมคะพี่ทนาย ?

นายจ้างไม่คืนหลักประกันทำไงดี รึกว่าจะได้คืนก็โคตรนาน เรียกดอกเบี้ยไหมคะพี่ทนาย ? นอกจากเรื่องเรียกหลักประกัน ไม่ถูกต้องแล้ว เรื่องปัญหาการคืนหลักประกันก็เป็นปัญหาหนึ่งที่มีคน inbox เข้ามาเยอะ โดยก่อนอื่นควรจะต้องทราบก่อนว่านายจ้างมีหน้าที่คือหลักประกันเมื่อใด โดยพรบ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มาตรา 10 วรรคสอง กำหนดว่า “ในกรณีที่นายจ้างเรียกหรือรับหลักประกัน หรือทำสัญญาประกันกับลูกจ้างเพื่อชดใช้ความเสียหายที่ลูกจ้างเป็นผู้กระทำ เมื่อนายจ้างเลิกจ้าง หรือลูกจ้างลาออกหรือสัญญาประกันสิ้นอายุให้นายจ้างคืนหลักประกันพร้อมดอกเบี้ย ถ้ามี ให้แก่ลูกจ้างภายใน7 วันนับแต่วันที่นายจ้างเลิกจ้างหรือวันที่ลูกจ้างลาออก หรือวันที่สัญญาประกันสิ้นอายุ แล้วแต่กรณี” ดังนั้น หากนายจ้างไม่คืนหลักประกัน ภายในกำหนดเวลา 7 วันนับแต่วันเลิกจ้าง กฎหมายกำหนดให้นายจ้างต้องเสียดอกเบี้ยให้แก่ลูกจ้างในระหว่างเวลาผิดนัด ในอัตราร้อยละ 15 ต่อปี และถ้าการไม่คืน เป็นความจงใจหรือไม่มีเหตุผลอันสมควร นายจ้างจะต้องเสียเงินเพิ่มอีกในอัตราร้อยละ 15 ของทุกระยะเวลา 7 วัน จนกว่าจะจ่ายครบ ส่วนนายจ้างที่บอกว่าในสัญญาก็เขียนไว้ว่าจะคืนภายใน 6 เดือนหรือภายใน 1 ปีแบบนี้ยังต้องคืนภายใน 7 วันอีกหรือไม่เพราะลูกจ้างก็เซ็นรับทราบไปแล้ว กรณีนี้ถือได้ว่าเป็นการทำสัญญาที่ขัดกับความสงบเรียบร้อยจึงไม่มีผลบังคับใช้นายจ้างยังต้องคืนภายใน 7 วันนะคะ

ลูกจ้างขับรถชนคนอื่น นายจ้างต้องร่วมรับผิดกับลูกจ้างหรือไม่?

ลูกจ้างขับรถชนคนอื่น นายจ้างต้องร่วมรับผิดกับลูกจ้างหรือไม่? ความรับผิดของนายจ้างกับลูกจ้าง สำหรับกรณีที่ผู้ทำละเมิดนั้นเป็นลูกจ้าง เนื่องจากนายจ้างมีหน้าที่จะต้องรับผิดในผลแห่งละเมิดที่ลูกจ้างได้กระทำไปในทางการที่จ้างเท่านั้น ดังนั้น จึงต้องพิจารณาต่อไปว่า การกระทำละเมิดของลูกจ้างนั้นได้กระทำไปในทางการที่จ้างหรือไม่ หรือการทำละเมิดของลูกจ้างนั้นเป็นผลมาจากการปฏิบัติงานหรือไม่ โดยจะเกิดละเมิดในเวลาปฏิบัติงานหรือนอกเวลาปฏิบัติงานก็ได้ แต่ต้องเป็นงานตามที่มอบหมายให้ปฏิบัติไปตามหน้าที่ แต่หากมอบหมายงานให้ทำนอกหน้าที่แล้วลูกจ้างยอมทำก็ถือว่าเป็นทางการที่จ้างเหมือนกัน หรือลูกจ้างทำเกินหน้าที่แต่นายจ้างยินยอมให้ทำ ก็ถือว่าทางการที่จ้างเช่นกัน ตัวอย่างเช่น ลูกจ้างขับรถชนผู้อื่น ในเวลาทำงานหากเป็นฝ่ายผิด นายจ้างต้องร่วมรับผิดกับลูกจ้างต่อผู้เสียหายด้วย โดยประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิช์ มาตรา 425 ได้กำหนดไว้ว่า “นายจ้างต้องร่วมกันรับผิดกับลูกจ้างในผลแห่งละเมิด ซึ่งลูกจ้างได้กระทำไปในทางการที่จ้าง” อ้างถึงคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4786/2558 ความหมายของคำว่า “ในทางการที่จ้าง” มิได้จำกัดอยู่แต่เฉพาะในเวลาทำงานของนายจ้างหรือระหว่างเวลาที่ต่อเนื่องคาบเกี่ยวใกล้ชิดกันกับการปฏิบัติหน้าที่ในทางการที่จ้างดังที่จำเลยที่ 3 กล่าวอ้างมาเท่านั้น หากแต่เมื่อลูกจ้างที่มีหน้าที่ขับรถและได้กระทำไปในทางการที่จ้างแล้ว หลังจากนั้นแม้ลูกจ้างจะได้ขับรถไปทำธุรกิจส่วนตัวหรือประการใดก็ตาม ตราบใดที่ลูกจ้างยังมิได้นำรถกลับคืนสู่ความครอบครองของนายจ้าง ก็ยังคงถือว่าอยู่ในระหว่างทางการที่จ้างหรือต่อเนื่องกับทางการที่จ้างซึ่งนายจ้างยังคงต้องรับผิดในการกระทำละเมิดของลูกจ้าง ดังนั้น แม้ขณะเกิดเหตุคดีนี้จะเป็นเวลา 2 นาฬิกา นอกเวลาทำงานปกติและ ว. ขับรถยนต์กระบะคันเกิดเหตุออกไปเที่ยว ก็ถือได้ว่า ว. ขับรถยนต์กระบะคันเกิดเหตุไปในทางการที่จ้างของจำเลยที่ 3 ซึ่งจำเลยที่ 3 เป็นนายจ้างจึงต้องร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 1 และที่ 2 ในความเสียหายที่เกิดจากการกระทำละเมิดของ ว. นั้นด้วย...

นายจ้างแต่งตั้งลูกจ้างเป็นผู้บริหารและมีคำสั่งย้อนหลัง กรณีเช่นนี้ ลูกจ้างจะเบิกโอทีในช่วงก่อนถูกแต่งตั้งได้หรือไม่ ?

นายจ้างแต่งตั้งลูกจ้างเป็นผู้บริหารและมีคำสั่งย้อนหลัง กรณีเช่นนี้ ลูกจ้างจะเบิกโอทีในช่วงก่อนถูกแต่งตั้งได้หรือไม่ ? กรณีนี้เป็นเรื่องเกิดขึ้นในองค์กรรัฐวิสาหกิจแห่งหนึ่ง เรื่องมีอยู่ว่า ขณะที่ลูกจ้างดำรงตำแหน่งนักบริหาร 7 ยังไม่มีคำสั่งแต่งตั้งเป็นนักบริหาร 8 ลูกจ้างยังมีสิทธิเบิกค่าล่วงเวลาและค่าทำงานในวันหยุด ต่อมานายจ้างจะแต่งตั้งให้ลูกจ้างเป็นนักบริหารระดับ 8 โดยให้มีผลย้อนหลัง โดยกรณีเช่นนี้ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า แม้จะมีคำสั่งแต่งตั้งให้มีผลย้อนหลังก็ย่อมไม่กระทบสิทธิในการเบิกค่าล่วงเวลา ซึ่งลูกจ้างมีอยู่ก่อนและไม่อาจมีผลในทางเป็นคุณแก่ลูกจ้างได้ ดังนั้นนายจ้างจึงไม่มีสิทธิหักเงินค่าโอทีที่ลูกจ้างได้เบิกไปออกจากค่าจ้างของลูกจ้าง (คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 17604-17605/2557)

ลูกจ้างถูกเลิกจ้างก่อนเริ่มทำงานให้กับนายจ้าง ลูกจ้างมีสิทธิได้รับค่าจ้างหรือไม่ ?

ลูกจ้างถูกเลิกจ้างก่อนเริ่มทำงานให้กับนายจ้าง ลูกจ้างมีสิทธิได้รับค่าจ้างหรือไม่ ? เมื่อลูกจ้างมิได้ทำงานให้แก่นายจ้าง เนื่องจากถูกเลิกจ้างเสียก่อนเริ่มต้นทำงาน ลูกจ้างจึงไม่มีสิทธิได้รับค่าจ้างในวันนั้น และเมื่อลูกจ้างมีผลการปฏิบัติงานไม่เป็นไปตามเป้าทั้งปี ระดับผลการปฏิบัติงานต้องปรับปรุง บกพร่องในเรื่องการอนุมัติการขายสินค้า ผลการสำรวจภาวะผู้นำ ประเมินศักยภาพทักษะการทำงานร่วมกันเป็นกลุ่ม ได้คะแนนต่ำกว่าร้อยละ 50 ซึ่งต่ำกว่าเกณฑ์มาตรฐาน การเลิกจ้างจึงมีเหตุผลอันสมควร ไม่เป็นการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรม (คำพิพากษาศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษ 820/2562)

นายจ้าง…หักค่าธรรมเนียมธนาคารออกจากค่าจ้างได้หรือไม่ ?

นายจ้างหักค่าธรรมเนียมธนาคารออกจากค่าจ้างได้หรือไม่ ? ในคดีเรื่องหนึ่ง นายจ้างได้หักค่าจ้าง 10 บาท เป็นเวลา 21 เดือน เป็นค่าธรรมเนียมแก่ธนาคารในการโอนเงินเข้าบัญชีลูกจ้างแต่ละคน กรณีเช่นนี้ ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า การหักเงินดังกล่าวไม่ใช่หนี้ที่เป็นไปเพื่อสวัสดิการอันเป็นประโยชน์แก่ลูกจ้างฝ่ายเดียว ตามมาตรา 76 (3) พรบ.คุ้มครองแรงงานฯ นายจ้างจะหักค่าจ้างของลูกจ้างไม่ได้ การหักค่าจ้างดังกล่าวจึงไม่ชอบ ต้องคืนค่าจ้างพร้อมดอกเบี้ยร้อยละ 15 ต่อปี ให้กับลูกจ้าง คำพิพากษาฎีกาที่ 14541-14551/2557

นายจ้างเปลี่ยนแปลงสภาพการจ้างฝ่ายเดียว ได้หรือไม่ ?

นายจ้างเปลี่ยนแปลงสภาพการจ้างฝ่ายเดียว ได้หรือไม่ ? เนื่องจากในคดีหนึ่ง นายจ้างลดค่าจ้าง และปรับเปลี่ยนตำแหน่งลูกจ้างมาโดยตลอดหลายปี และลูกจ้างก็ไม่ได้โต้แย้ง คัดค้านหรือไปร้องพนักงานตรวจแรงงาน ส่วนรถยนต์ประจำตำแหน่งพร้อมคนขับ นายจ้างไม่ได้จัดหาให้ตั้งแต่ลูกจ้างเข้าทำงาน โดยลูกจ้างใช้รถยนต์โจทก์เองตลอดเวลากว่า 10 ปี จากพฤติการณ์ ถือได้ว่านายจ้างและลูกจ้างต่างตกลงกันโดยปริยายเปลี่ยนแปลงข้อตกลงการจ้างแล้ว (คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3017/2561) ดังนั้นเป็นอุทธาหรณ์ว่า หากนายจ้างปรับเปลี่ยนสภาพการจ้างใดๆ ฝ่ายเดียวและลูกจ้างไม่เห็นด้วย ลูกจ้างต้องใช้สิทธิโต้แย้งคัดค้าน มิเช่นนั้นหากปล่อยไประยะเวลานึง จะถือว่าลูกจ้างคกลงยอมรับโดยปริยายดังคดีดังกล่าวข้างต้น