กรุณารอสักครู่

 

HomeBlog

ยุยงปั่นปวนให้เกิดความวุ่นวาย เลิกจ้างได้ “ไม่ต้อง” จ่ายค่าชดเชย !!

ยุยงปั่นปวนให้เกิดความวุ่นวาย เลิกจ้างได้”ไม่ต้อง”จ่ายค่าชดเชย!! เชื่อว่าหลายออฟฟิศคงมี คนที่ช่างยุยง พูดน้ำไหลไฟดับ พูดไปเรื่อย ให้นายจ้างเสียหาย คนแบบนี้เลิกจ้างได้ ไม่ต้องจ่ายชดเชย!! ตัวอย่างจากการยุยง ปั่นป่วนพูดไปเรื่อยจนนายจ้างเกิดความเสียหายมีมาแล้ว ในฎีกาที่ 13587/2556 โดยยุยงส่งเสริมให้เกิดความปั่นป่วนในหมู่พนักงานเกี่ยวกับการย้ายสถานประกอบการ โดยไปบอกพนักงานแผนกอื่นๆว่า บริษัทจะย้ายสำนักงานใหม่ ถ้าไม่ยอมไป เมื่อถึงเวลาย้ายจะถูกฟ้องนะ จนทำให้ผู้บริหารต้องประชุมชี้แจงว่าไม่เป็นความจริง พฤติการณ์ดังกล่าวเป็นการเล็งเห็นผลได้ว่าอาจก่อให้เกิดความหวาดระแวงระหว่างพนักงานกับบริษัท ทำให้เกิดความปั่นป่วนในหมู่พนักงานอันจะส่งผลกระทบต่อการย้ายสถานประกอบกิจการของบริษัท เกิดความยุ่งยากมากขึ้น เป็นการกระทำอันไม่สมแก่การปฏิบัติหน้าที่ของตนให้ลุล่วงไปโดยถูกต้องและสุจริตแล้ว ยังเป็นการจงใจทำให้นายจ้างได้รับความเสียหายอีกด้วย จึงเลิกจ้างได้โดยไม่ต้องจ่ายค่าจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 583 และไม่ต้องจ่ายค่าชดเชยให้แก่โจทก์ตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มาตรา 119 ( 2 ) จากฎีกาดังกล่าว จะเห็นแล้วว่าการพูดโดยไม่กลั่นกรอง อาจส่งผลเสียให้ตัวเองอย่างมาก [นี่สรุปแบบดีๆ] แต่ใฟ้สรุปแบบคนที่เพิ่งเจอสถานการณ์นี้ และต้องไปแก้ไขข่าวมา ก็อยากบอกพวกที่พูดไปเรื่อยว่า …. ปากอ่ะ ถ้าพูดเรื่องดีๆไม่ได้แนะนำให้เงียบ เก็บไว้ทาสีผึ้งแม่เลียบ หรือเก็บไว้กินข้าวนะ

ลูกจ้างลาไปเลือกตั้ง นายจ้างไม่ยอมให้ลาได้หรือไม่ ?

ลูกจ้างลาไปเลือกตั้ง นายจ้างไม่ยอมให้ลาได้หรือไม่ ? คดีเรื่องนึง ลูกจ้างได้ขออนุญาตลาเพื่อไปใช้สิทธิเลือกตั้ง ส.ส. วันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2557 ที่จังหวัดนครราชสีมา แต่นายจ้างกลับไม่ยอมให้ลาเนื่องจากเป็นวันอาทิตย์ หากลูกจ้างจะลาจะต้องถูกหักค่าแรง 3 แรง แต่ลูกจ้างไม่ยอมให้หักและยืนยันจะไปเลือกตั้ง นายจ้างจึงตัดสินใจเลิกจ้างลูกจ้าง ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า การที่นายจ้างเลิกจ้างโจทก์เป็นการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรม เพราะไม่เป็นการจงใจขัดคำสั่งนายจ้าง ลูกจ้างไม่ได้นำพาต่อคำสั่งเป็นอาจิณหรือกระทำความผิดร้ายแรง เทียบเคียงจากคำพิพากษาดังกล่าวจะเห็นได้ว่า นายจ้างไม่สามารถไม่อนุญาตให้ลูกจ้างไปเลือกตั้งได้ เพราะหากคิดตามหลักกฎหมายการเลือกตั้งเป็นสิทธิของประชาชนตามรัฐธรรมนูญอันเป็นกฎหมายสูงสุด ดังนั้นในการเลือกตั้งที่จะถึงนี้ หากลูกจ้างจะลาไปใช้สิทธิเลือกตั้ง นายจ้างต้องเข้าใจสิทธิและหน้าที่ของลูกจ้างในส่วนนี้ด้วย (คำพิพากษาฎีกาที่ 13028/2558)

นายจ้างหักหนี้ค่าใช้จ่ายในการขอใบขออนุญาตทำงาน (work permit) จากเงินเดือนลูกจ้างได้หรือไม่ ?

นายจ้างหักหนี้ค่าใช้จ่ายในการขอใบขออนุญาตทำงาน (work permit) จากเงินเดือนลูกจ้างได้หรือไม่ ? ในกรณีที่ลูกจ้างไม่ได้มีสัญชาติไทย ส่วนมากเมื่อนายจ้างตกลงว่าจ้างลูกจ้าง นายจ้างจะตกลงออกค่าใช้จ่ายในการขอใบอนุญาตทำงาน ได้แก่ ค่าธรรมเนียมในการยื่นคำขอ ค่าธรรมเนียมใบอนุญาต ค่าประกันสุขภาพแรงงานต่างด้าว ค่าตรวจสุขภาพแรงงานต่างชาติ ให้แก่ลูกจ้างก่อนและมาหักออกจากเงินเดือนของลูกจ้างในภายหลัง จึงมีกรณีที่ต้องพิจารณาว่า นายจ้างจะนำหนี้ค่าใช้จ่ายดังกว่ามาหักจากค่าจ้างของลูกจ้างได้หรือไม่ ศาลได้วินิจฉัยว่าต้องพิจารณาตามหลักเกณฑ์การหักค่าจ้างตามที่ได้กำหนดไว้ในมาตรา 76 พระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 การที่นายจ้างได้ออกค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับการจัดทำใบอนุญาตให้แก่ลูกจ้าง นอกจากจะเป็นประโยชน์แก่ลูกจ้างที่จะสามารถเข้าทำงานให้แก่นายจ้างได้แล้ว นายจ้างเองก็ได้รับประโยชน์จากการทำงานของลูกจ้างเช่นกัน แต่หนี้ค่าใช้จ่ายเหล่านี้ไม่ใช่ค่าใช้จ่ายที่เป็นการจัดสิ่งที่เอื้ออำนวยให้ลูกจ้างมีชีวิตและสภาพความเป็นอยู่ที่ดีและสะดวกสบายอันจะถือได้ว่าเป็นหนี้ที่เป็นไปเพื่อสวัสดิการที่เป็นประโยชน์แก่ลูกจ้างฝ่ายเดียวได้ ดังนั้น หนี้ค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับการจัดทำใบอนุญาตทำงานดังกล่าวจึงไม่เข้าข้อยกเว้นที่นายจ้างจะนำมาหักค่าใช้จ่ายจากเงินเดือนของลูกจ้างตามมาตรา 76 ข้อตกลงในสัญญาที่ยินยอมให้หักค่าจ้างจึงขัดแย้งกับพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 อันเป็นกฎหมายเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย ข้อความในสัญญาไม่มีผลบังคับได้ นายจ้างไม่มีสิทธิหักค่าจ้างของลูกจ้าง (คำพิพากษาฎีกาที่ 14016/2558)

นายจ้างไม่มอบหมายงานหรือสั่งงานให้ลูกจ้างทำ นายจ้างยังต้องจ่ายค่าจ้างให้แก่ลูกจ้าง

นายจ้างไม่มอบหมายงานหรือสั่งงานให้ลูกจ้างทำ นายจ้างยังต้องจ่ายค่าจ้างให้แก่ลูกจ้าง หลายครั้งต่อหลายครั้งที่มักเจอคดีในลักษณะที่ว่า นายจ้างบอกว่าลูกจ้างไม่ทำงานให้แก่นายจ้างแล้วลูกจ้างก็หายไปเลย บางครั้งก็เลิกจ้างเพราะขาดเงินเกินกว่า 3 วันติดต่อกันก็มี แต่พอถามฝั่งลูกจ้างก็จะอ้างว่า นายจ้างบอกว่าให้อยู่บ้านไปก่อนเพราะไม่มีงานให้ทำ เสร็จแล้วก็ทำเนียนหายไปเลย ไม่จ่ายค่าจ้าง ค่าชดเชยใดๆ ทั้งสิ้น กรณีในลักษณะนี้ ศาลฎีกาได้วางหลักไว้ว่า “การมอบหมายหรือสั่งการให้ลูกจ้างทำงานเป็นสิทธิของนายจ้าง การที่นายจ้างไม่อาจมอบหมายงานหรือสั่งงานให้ลูกจ้างทำ ทั้งที่ลูกจ้างมีความพร้อมที่จะทำงานให้แก่นายจ้างนั้น นายจ้างยังต้องจ่ายให้แก่ลูกจ้างตลอดระยะเวลาที่ตกลงจ้างนั้น นายจ้างจะยกขึ้นเป็นเหตุอ้างว่าไม่มีงานให้ลูกจ้างทำจึงไม่จ่ายค่าจ้างไม่ได้” ดังนั้นเมื่อนายจ้างไม่มีงานให้ลูกจ้าง มิใช่กรณีที่ลูกจ้างไม่สามารถทำงานให้แก่นายจ้างได้ เพราะฉะนั้นนายจ้างต้องเข้าใจว่า นายจ้างมีอำนาจบังคับบัญชาลูกจ้างและมีหน้าที่หางานให้ลูกจ้างทำ ดังนั้นการที่นายจ้างไม่มีงานให้ลูกจ้างทำ จะมาอ้างว่าลูกจ้างไม่ทำงานและไม่จ่ายค่าจ้างไม่ได้ (คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 15503/2558)

นายจ้างจ่ายค่าจ้างไม่เต็มจำนวนที่ตกลงกันในช่วงระหว่างทดลองได้หรือไม่?

นายจ้างจ่ายค่าจ้างไม่เต็มจำนวนที่ตกลงกันในช่วงระหว่างทดลองได้หรือไม่? ในคดีนี้นายจ้างและลูกจ้างได้ตกลงอัตราค่าจ้างไว้ 85,000 บาท แต่ได้มีเงื่อนไขเพิ่มเติมว่าในช่วงทดลองงานนายจ้างตกลงจ่ายให้ลูกจ้างดังนี้ เดือนแรกร้อยละ 50 ของ 85,000 บาท เดือนที่สองร้อยละ 60 ของ 85,000 บาท เดือนที่สามร้อยละ 70 ของ 85,000 บาท และเมื่อพ้นทดลองงานแล้วลูกจ้างจะได้รับเงินเดือน 85,000 บาท ตามที่ได้ตกลงกัน แต่ต่อมาลูกจ้างได้ลาออกก่อนครบช่วงทดลองงานพร้อมทั้งเรียกเงินส่วนต่างของค่าจ้างของแต่ละเดือน ในคดีนี้ศาลฎีกาได้พิพากษาว่า การตกลงในลักษณะนี้ใช้บังคับได้ ไม่ถือว่ากรณีที่นายจ้างหักค่าจ้าง ดังนั้นเมื่อลูกจ้างลาออกก่อนครบช่วงทดลองงาน เงื่อนไขดังกล่าวยังไม่สำเร็จ นายจ้างจึงไม่ต้องจ่ายเงินส่วนต่างของเงินดังกล่าว (คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3937/2557)

ลาพักผ่อนประจำปี แต่นายจ้างไม่ได้อนุมัติ ถือว่าขาดงานโดยไม่มีเหตุอันควรหรือไม่ ?

ลาพักผ่อนประจำปี แต่นายจ้างไม่ได้อนุมัติ ถือว่าขาดงานโดยไม่มีเหตุอันควรหรือไม่ ? ถึงแม้ลูกจ้างจะมีสิทธิลาพักผ่อนประจำปีก็ตาม แต่ก่อนใช้สิทธิลาอย่าลืมไปเปิดข้อบังคับของบริษัทดูด้วยว่า บริษัทกำหนดเงื่อนไขไว้อย่างไร หากข้อบังคับเขียนว่า “ต้องได้รับอนุญาตก่อน” ก็ต้องได้รับอนุญาตก่อนลา ไม่ใช่หายไปเฉยๆ ไม่งั้นอาจมีผลให้ละทิ้งหน้าที่โดยไม่มีเหตุอันสมควรได้ และหากละทิ้งหน้าที่เกินกว่า 3 วัน ถือเป็นเหตุเลิกจ้างโดยลูกจ้างไม่มีสิทธิได้รับค่าชดเชย ยกตัวอย่างเป็นอุทธาหรณ์เช่นในคดีนี้ ลูกจ้างได้ลาพักผ่อนประจำปีตั้งแต่วันที่ 9 – 11 ตุลาคม และออกจากงานไปเองตั้งแต่เวลา 12.00 น. ของวันที่ 9 ตุลาคม โดยยังไม่ได้รับอนุญาตจากนายจ้างก่อน และหยุดงานต่อเนื่องไปเองจนถึงวันที่ 11 ตุลาคม รวม 2 วันครั้ง กรณีเช่นนี้ถือว่าลูกจ้างละทิ้งหน้าที่ 2 วันครึ่งโดยไม่มีเหตุอันควร ลูกจ้างไม่มีสิทธิได้รับค่าจ้างในช่วงที่ละทิ้งหน้าที่ แต่เมื่อนายจ้างเลิกจ้างลูกจ้างโดยอ้างเหตุขาดงานติดต่อกันสามวัน จึงไม่เข้าข้อยกเว้นตามมาตรา 119 (5) แห่งพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 นายจ้างต้องจ่ายค่าชดเชยให้แก่ลูกจ้าง บอกได้เลยว่าคดีนี้ถือว่าลูกจ้างแต้มบุญสูงมากจริงๆ ก่อนลาพักผ่อนประจำปี อย่าลืมเช็คให้ดีๆ กันด้วยค่า

นายจ้างหักค่าจ้างเป็นค่าธรรมเนียมแก่ธนาคารในการโอนเงินค่าจ้างเข้าบัญชีลูกจ้างได้หรือไม่?

นายจ้างหักค่าจ้างเป็นค่าธรรมเนียมแก่ธนาคารในการโอนเงินค่าจ้างเข้าบัญชีลูกจ้างได้หรือไม่ ในคดีนี้ นายจ้างได้หักเงินลูกจ้างคนละ 10 บาทต่อเดือน เป็นเวลา 21 เดือน เป็นค่าธรรมเนียมแก่ธนาคารในการจ่ายค่าจ้างผ่านธนาคารโดยนายจ้างอ้างว่า การหักเงินในลักษณะดังกล่าวเป็นการหักเงินอันเป็นประโยชน์แก่ลูกจ้างและกระทำได้ตามมาตรา 76 แห่งพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 อย่างไรก็ตาม ศาลฎีกาได้พิจารณาแล้วเห็นว่า เมื่อนายจ้างมีหน้าที่ต้องจ่ายค่าจ้างให้แก่ลูกจ้าง ณ สถานที่ทำงานตามมาตรา 55 พระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 ดังนั้นการหักค่าจ้างชำระค่าธรรมเนียมการโอนเงินค่าจ้างเข้าบัญชีเงินฝากของลูกจ้างจึงไม่ใช่หนี้ที่เป็นไปเพื่อสวัสดิการอันเป็นประโยชน์แก่ลูกจ้างแต่ฝ่ายเดียวตามมาตรา 76 แห่งพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 ดังนั้นนายจ้างจึงไม่มีสิทธิหักเงินค่าธรรมเนียมธนาคารออกจากค่าจ้างของลูกจ้าง นายจ้างมีหน้าที่คืนค่าจ้างที่หักไว้แก่ลูกจ้าง พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 15 ต่อปี เพราะฉะนั้นนายจ้างคนไหนที่หักค่าธรรมเนียมโอนเงินในลักษณะนี้อยู่ ปรับเปลี่ยนด่วนน! (คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 14541-14551/2557)

นายจ้างบอกเลิกจ้างทางโทรศัพท์ จะอ้างว่าไม่มีผลและลูกจ้างขาดงานเกิน 3 วันจึงเลิกจ้าง ไม่ได้!!!

นายจ้างบอกเลิกจ้างทางโทรศัพท์ จะอ้างว่าไม่มีผลและลูกจ้างขาดงานเกิน 3 วันจึงเลิกจ้าง ไม่ได้!!! การบอกเลิกจ้างไม่มีกฎหมายกำหนดไว้ว่าต้องทำเป็นหนังสือ ดังนั้นการบอกเลิกจ้างด้วยวาจา จึงมีผล และสามารถทำได้ และการบอกเลิกจ้างก็มีผลทันที เมื่อนายจ้างบอกเลิกจ้างโดยไม่ได้แจ้งเหตุที่จะเลิกจ้าง โดยไม่จ่ายค่าชดเชยให้ลูกจ้างทราบ การเลิกจ้างก็มีผลสมบูรณ์ และลูกจ้างเข้าใจว่าถูกเลิกจ้าง ไม่มีสภาพเป็นพนักงานอีกต่อไป ลูกจ้างจึงไม่ทำงานให้นายจ้างอีกต่อไป จึงไม่ใช่เหตุที่นายจ้างจะยกขึ้นอ้างว่าลูกจ้างขาดงานเกิน 3 วัน จึงมีหนังสือเลิกจ้างด้วยเหตุนี้ เพราะการเลิกจ้างมีผลสมบูรณ์ตั้งแต่การบอกเลิกจ้างทางโทรศัพท์แล้ว นายจ้างจึงต้องจ่ายค่าชดเชยในการเลิกจ้างให้ลูกจ้างด้วย ตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษที่ 30/2563 เห็นว่า การที่นายจ้างเลิกจ้างลูกจ้าง “ทางโทรศัพท์” ให้มีผลตั้งแต่วันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2562 การที่ลูกจ้างไม่มาทำงานหลังจากนั้นระหว่างวันที่ 1 – 7 กุมภาพันธ์ 2562 ความเป็นลูกจ้างนายจ้างจึงสิ้นสุดลงก่อนแล้ว การที่นายจ้างมีหนังสือเลิกจ้าง โดยอ้างขาดงานติดต่อกันเกินกว่า 3 วันทำงานจึงไม่มีผลเป็นการเลิกจ้างอีกความเป็นลูกจ้างนายจ้างระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 2 จึงสิ้นสุดลงก่อนแล้ว การที่โจทก์มีหนังสือเลิกจ้าง โดยอ้างเหตุว่าจำเลยที่ 2 ขาดงานตั้งแต่วันที่ 1 – 7 กุมภาพันธ์ 2562 โดยไม่แจ้งเหตุและไม่มีเหตุอันสมควร ถือว่าจำเลยที่...

นายจ้างจะหักเงินเดือนเนื่องจากลูกจ้างทำให้เสียหาย ต้องได้รับความยินยอมจากลูกจ้างก่อน !!!

นายจ้างจะหักเงินเดือนเนื่องจากลูกจ้างทำให้เสียหาย ต้องได้รับความยินยอมจากลูกจ้างก่อน !!! ตามกฎหมายคุ้มครองแรงกำหนดห้ามนายจ้างหักค่าจ้าง ค่าล่วงเวลา ค่าทำงานในวันหยุด และค่าล่วงเวลาในวันหยุดของลูกจ้าง แต่อย่างไรก็ตาม มาตรา 76 (4) ได้กำหนดยกเว้นให้นายจ้างสามารถหักค่าจ้างฯ ของลูกจ้าง ในกรณีเป็นการหักเพื่อชดใช้ค่าเสียหายให้แก่นายจ้าง ซึ่งลูกจ้างได้กระทำโดยจงใจหรือประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรง โดยได้รับความยินยอมจากลูกจ้าง จากข้อกำหนดของกฎหมายจะเห็นได้ว่า กรณีที่นายจ้างจะหักค่าเสียหายจากเงินเดือนของลูกจ้างที่ทำให้นายจ้างเกิดความเสียหายนั้นต้องได้รับความยินยอมจากลูกจ้างด้วย และห้ามมิให้หักเกิน 10% ของเงินที่ลูกจ้างมีสิทธิได้รับ หากจะหักเกิน 10% ต้องได้รับความยินยอมในส่วนนี้เพิ่มเติมด้วย ดังนั้น จะหักเงินลูกจ้างสุ่มสี่สุ่มห้าไม่ได้นะคะ ต้องพิจารณาความเสียหายที่เกิดจากการกระทำของลูกจ้างและลูกจ้างต้องยินยอมให้หักด้วยนะ

นายจ้างต้องจัดให้ลูกจ้าง outsource ต้องได้รับค่าตอบแทน สิทธิประโยชน์ สวัสดิการ เท่ากับลูกจ้างโดยตรง มิเช่นนั้นนายจ้างอาจมีความผิดอาญา

นายจ้างต้องจัดให้ลูกจ้าง outsource ต้องได้รับค่าตอบแทน สิทธิประโยชน์ สวัสดิการ เท่ากับลูกจ้างโดยตรง มิเช่นนั้นนายจ้างอาจมีความผิดอาญา ตามกฎหมายคุ้มครองแรงงาน กำหนดว่า “ให้ผู้ประกอบกิจการดำเนินการให้ลูกจ้างรับเหมาค่าแรงที่ทำงานในลักษณะเดียวกันกับลูกจ้างตามสัญญาจ้างโดยตรง ได้รับสิทธิประโยชน์และสวัสดิการที่เป็นธรรมโดยไม่เลือกปฏิบัติ” แต่ทั้งนี้ การทำงานของลูกจ้าง outsource หรือลูกจ้างรับเหมาค่าแรงตามกฎหมายนั้นต้องเป็นส่วนหนึ่งส่วนใดในกระบวนการผลิตหรือธุรกิจในความรับผิดชอบของนายจ้าง คือต้องทำงานในลักษณะเดียวกัน หน้าที่การงานเป็นอย่างเดียวกันกับกับลูกจ้างโดยตรง จึงต้องได้รับค่าตอบแทนอัตราเดียวกัน สิทธิประโยชน์และสวัสดิการเท่ากันทุกคน หากนายจ้างไม่ได้ปฎิบัติตามกฎหมาย มีความผิดทางอาญาต้องระวางโทษปรับไม่เกิน 100,000 บาท จึงเรียนมาเพื่อทราบและให้นายจ้างปฎิบัติให้เท่าเทียมกันนะคะ ทำงานเหนื่อยเหมือนกันต้องได้เงินเท่ากันค่ะ