กรุณารอสักครู่

 

บทความแนะนำ

ลีกัล คลินิก แอนด์ เอดดูเคชั่น

กฏหมายแรงงานหากบริษัทเดิมปิดทำการ ต้องการย้ายพนักกงานไปยังบริษัทในเครือ หากพนักงานไม่ไปทำได้หรือไม่

11 May 2021

ในช่วงสถานการณ์ของโรคระบาด COVID 19 ที่ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจเป็นอย่างมาก ทำให้หลายองค์กร หลายบริษัทต้องปรับตัวให้เข้าสถานการณ์ที่เป็นอยู่ บางครั้งต้องมีการโยกย้ายหน้าที่หรือย้ายตำแหน่งงานไปทำงานให้กับบริษัทในเครือของนายจ้าง ประเด็น คือ ลูกจ้างไม่ไปได้หรือไม่ ถ้าไม่ไปจะมีผลอย่างไร

คลินิกกฎหมายแรงงานขอให้ความเห็นดังนี้

 

1.การย้ายตำแหน่งหน้าที่การงานของพนักงานหรือลูกจ้างนั้น เป็นอำนาจในการบริหารจัดการภายในองค์กร หากไม่มีลักษณะเป็นการเปลี่ยนแปลงสภาพการจ้างเดิมที่ไม่เป็นคุณแก่พนักงานหรือลูกจ้างแล้ว นายจ้างมีสิทธิกระทำได้ตามความเหมาะสมและเป็นธรรม

2.โดยทั่วไปสัญญาจ้างแรงงาน แทบจะทุกสัญญาจะมีข้อความระบุว่า “นายจ้างมีสิทธิย้ายตำแหน่งหรือหน้าที่การงานของลูกจ้าง และมีคำสั่งให้ลูกจ้างไปทำงานกับบริษัทในเครือของนายจ้างนั้นได้” ซึ่งหากนายจ้างไม่ได้กลั่นแกล้งและไม่เป็นการใช้สิทธิโดยไม่สุจริต นายจ้างก็มีสิทธิทำได้ตามความเหมาะสม และตามข้อตกลงในสัญญา

3.แต่ในกรณีที่นายจ้างโอนย้ายลูกจ้างไปทำงานกับบริษัทในเครือ (ซึ่งเป็นนิติบุคคลแยกต่างหาก) และให้ตำแหน่งในบริษัทเดิมสิ้นสุดลงนั้นจะต้องได้รับความยินยอมจากลูกจ้างด้วยจึงจะกระทำได้ ตาม ป.พ.พ.มาตรา 577 หากลูกจ้างไม่ยินยอม ถือว่าเป็นการเลิกจ้างลูกจ้าง นายจ้างต้องจ่ายค่าชดเชยตามกฎหมาย

 

ศึกษาจากตัวอย่างตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษที่ 3-6/2563

ศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษ วินิจฉัยว่า การที่จำเลย(นายจ้าง)โอนย้ายโจทก์(ลูกจ้าง)กับพวกไปทำงานกับบริษัท A และบริษัท B โดยอ้างว่าเป็นบริษัทในเครือจำเลย แต่บริษัทดังกล่าวเป็นนิติบุคคลแยกต่างหากจากจำเลย จึงเป็นการโอนสิทธิของนายจ้างไปยังบุคคลภายนอกตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 577 จะต้องได้รับความยินยอมจากลูกจ้างด้วยจึงจะกระทำได้ แม้สัญญาจ้างแรงงานจะระบุให้นายจ้างมีสิทธิโอนย้ายตำแหน่งหรือหน้าที่การงานของลูกจ้างในบริษัทหรือบริษัทในเครือตามที่นายจ้างจะเห็นสมควร ก็เป็นเพียงข้อตกลงที่ให้สิทธินายจ้าง แต่ยังถือไม่ได้ว่า โจทก์ทั้งสี่ผู้เป็นลูกจ้างซึ่งทำสัญญาจ้างแรงงานดังกล่าวให้ความยินยอมไว้ล่วงหน้าโดยปริยายแล้ว ที่ศาลแรงงานกลางวินิจฉัยว่า จำเลยโอนย้ายโจทก์กับพวกไปทำงานกับบริษัทในเครือ โดยโจทก์กับพวกไม่ยินยอม จึงไม่ชอบด้วยกฎหมาย เป็นการเลิกจ้างแล้ว ศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษเห็นพ้องด้วย อุทธรณ์ของจำเลยข้อนี้ฟังไม่ขึ้น พิพากษายืน (นายจ้างต้องจ่ายค่าชดเชยตามกฎหมาย)

 

————- 💙

 

ติดต่องานขอทราบค่าบริการ

✅คดีความ

✅ที่ปรึกษากฎหมาย

✅ร่างข้อบังคับและสัญญาทั้ง Thai/Eng

✅งานบรรยายกฎหมายแรงงาน PDPA

✅VISA & WORKPERMIT

สอบถามค่าบริการได้ทาง

Info@legalclinic.co.th

 

และสำหรับท่านใดที่เห็นว่าบทความนี้เป็นประโยชน์ สามารถแชร์ หรือนำไปอ้างอิงก็สามารถนำไปใช้ได้เลยนะคะ แต่ช่วยใส่ Link Page ต้นทางของคลินิกกฎหมายแรงงานให้ด้วยน้า