มาสาย…เลิกจ้างได้ ไม่ถือว่าเลิกจ้างไม่เป็นธรรม
ในกรณีลูกจ้างมาสาย แต่นายจ้างไม่เคยออกหนังสือเตือน วันนึงจะเลิกจ้างก็ต้องจ่ายค่าชดเชย แต่ไม่ถือว่าเลิกจ้างไม่เป็นธรรม
ตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษที่ 1823/2564 มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของโจทก์ว่า จำเลยเลิกจ้างโจทก์ไม่เป็นธรรม และต้องจ่ายค่าเสียหายจากการเลิกจ้างไม่เป็นธรรมแก่โจทก์หรือไม่ เพียงใด เห็นว่า การที่จะพิจารณาว่าการเลิกจ้างไม่เป็นธรรมตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. 2522 มาตรา 49 นั้นจะต้องพิจารณาถึงสาเหตุแห่งการเลิกจ้างอันแท้จริงของนายจ้างว่า มีเหตุแห่งการเลิกจ้างหรือไม่ และเหตุดังกล่าวเพียงพอแก่การเลิกจ้างหรือไม่เป็นสำคัญ แม้จำเลยจะมีข้อบังคับการทำงานระบุว่า หากพนักงานกระทำผิดเกี่ยวกับการทำงานจะมีวินัยและโทษก็ตาม แต่การมาทำงานสายของโจทก์ ปรากฏชัดอยู่ในประวัติการทำงานของโจทก์ซึ่งเป็นผู้บันทึกเวลาทำงานด้วยตนเอง นอกจากนี้รายงานประวัติการทำงานของโจทก์ การมาทำงานสายของโจทก์ ตั้งแต่เดือนธันวาคม 2559 ถึงเดือนมีนาคม 2560โจทก์จะมาทำงานสายอยู่ในช่วงเวลา 9 นาฬิกา ถึง ๑๐ นาฬิกา แต่ช่วงเดือนเมษายน 2560 โจทก์มาทำงานสายมากขึ้นเรื่อยๆ ตั้งแต่ 10 นาฬิกา จนถึง 13 นาฬิกา เป็นพฤติการณ์ที่ทำงานสายอย่างต่อเนื่องและมาสายมากขึ้นเรื่อย ๆ เกือบทุกวันในแต่ละเดือน ทั้งเมื่อโจทก์ได้รับตำแหน่งผู้จัดการฝ่ายขายต่างประเทศแล้วซึ่งโจทก์ควรมาทำงานให้เร็วกว่านี้เพื่อไม่ส่งผลกระทบต่อการทำงานการปกครอง การบังคับบัญชํา เป็นแบบอย่างแกพนักงานคนอื่น จากพฤติการณ์ของโจทก์ดังกล่าว เป็นการไม่เคารพเวลาทำงาน เป็นแบบอย่างที่ไม่ดีแก่ลูกจ้างรายอื่น อันอาจส่งผลถึงการปกครองบังคับบัญชาลูกจ้างคนอื่นของจำเลย มิใช่วิสัยของลูกจ้างที่ดีที่พึงปฏิบัติ อันเป็นการกระทำที่ไม่สมแก่การปฏิบัติหน้าที่ของตนให้ลุล่วงไปโดยถูกต้องและสุจริต การที่จำเลยมีหนังสือเลิกจ้างโจทก์จึงมีเหตุอันสมควรและเพียงพอ มิใช่การเลิกจ้างไม่เป็นธรรม ตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. 2522 มาตรา 49
กรณีนี้โจทก์ทำงานกับจำเลยตั้งแต่เดือนกันยายน 2552 ต่อเนื่องมาโดยตลอดจนถึงวันที่ 13 ธันวาคม 2562 ติดต่อกันครบ 10 ปี แต่ไม่ครบ 20 ปี ทั้งการที่จำเลยจะปล่อยปละละเลยเพิกเฉยให้โจทก์มาทำงานสายต่อเนื่องมาโดยตลอดเป็นเวลานานถึง 3 ปี โดยมิได้ดำเนินมาตรการลงโทษทางวินัยตามที่ระบุไว้ในข้อบังคับการทำงาน การมาทำงานสายของโจทก์จึงไม่ใช่กรณีร้ายแรง จำเลยจึงต้องจ่ายค่าชดเชยแก่โจทก์
จากฎีกาตัวอย่างจะเห็นได้ว่า ลูกจ้างมาสายตลอดแต่นายจ้างก็ปล่อยปละละเลยไม่เคยออกหนังสือเตือนเลย ถ้าเลิกจ้างโดยไม่จ่ายค่าชดเชยเลยก็ยกเหตุการมาสายนี้ขึ้นมาภายหลังไม่ได้อีก ดังนั้น พฤติกรรมที่ไม่เหมาะสมของลูกจ้าง นายจ้างก็ต้องเตือนด้วยนะคะ