ลูกจ้างขับรถชนคนอื่น นายจ้างต้องร่วมรับผิดกับลูกจ้างหรือไม่?
ความรับผิดของนายจ้างกับลูกจ้าง
สำหรับกรณีที่ผู้ทำละเมิดนั้นเป็นลูกจ้าง เนื่องจากนายจ้างมีหน้าที่จะต้องรับผิดในผลแห่งละเมิดที่ลูกจ้างได้กระทำไปในทางการที่จ้างเท่านั้น ดังนั้น จึงต้องพิจารณาต่อไปว่า การกระทำละเมิดของลูกจ้างนั้นได้กระทำไปในทางการที่จ้างหรือไม่ หรือการทำละเมิดของลูกจ้างนั้นเป็นผลมาจากการปฏิบัติงานหรือไม่ โดยจะเกิดละเมิดในเวลาปฏิบัติงานหรือนอกเวลาปฏิบัติงานก็ได้ แต่ต้องเป็นงานตามที่มอบหมายให้ปฏิบัติไปตามหน้าที่ แต่หากมอบหมายงานให้ทำนอกหน้าที่แล้วลูกจ้างยอมทำก็ถือว่าเป็นทางการที่จ้างเหมือนกัน หรือลูกจ้างทำเกินหน้าที่แต่นายจ้างยินยอมให้ทำ ก็ถือว่าทางการที่จ้างเช่นกัน
ตัวอย่างเช่น ลูกจ้างขับรถชนผู้อื่น ในเวลาทำงานหากเป็นฝ่ายผิด นายจ้างต้องร่วมรับผิดกับลูกจ้างต่อผู้เสียหายด้วย โดยประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิช์ มาตรา 425 ได้กำหนดไว้ว่า “นายจ้างต้องร่วมกันรับผิดกับลูกจ้างในผลแห่งละเมิด ซึ่งลูกจ้างได้กระทำไปในทางการที่จ้าง”
อ้างถึงคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4786/2558 ความหมายของคำว่า “ในทางการที่จ้าง” มิได้จำกัดอยู่แต่เฉพาะในเวลาทำงานของนายจ้างหรือระหว่างเวลาที่ต่อเนื่องคาบเกี่ยวใกล้ชิดกันกับการปฏิบัติหน้าที่ในทางการที่จ้างดังที่จำเลยที่ 3 กล่าวอ้างมาเท่านั้น หากแต่เมื่อลูกจ้างที่มีหน้าที่ขับรถและได้กระทำไปในทางการที่จ้างแล้ว หลังจากนั้นแม้ลูกจ้างจะได้ขับรถไปทำธุรกิจส่วนตัวหรือประการใดก็ตาม ตราบใดที่ลูกจ้างยังมิได้นำรถกลับคืนสู่ความครอบครองของนายจ้าง ก็ยังคงถือว่าอยู่ในระหว่างทางการที่จ้างหรือต่อเนื่องกับทางการที่จ้างซึ่งนายจ้างยังคงต้องรับผิดในการกระทำละเมิดของลูกจ้าง ดังนั้น แม้ขณะเกิดเหตุคดีนี้จะเป็นเวลา 2 นาฬิกา นอกเวลาทำงานปกติและ ว. ขับรถยนต์กระบะคันเกิดเหตุออกไปเที่ยว ก็ถือได้ว่า ว. ขับรถยนต์กระบะคันเกิดเหตุไปในทางการที่จ้างของจำเลยที่ 3 ซึ่งจำเลยที่ 3 เป็นนายจ้างจึงต้องร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 1 และที่ 2 ในความเสียหายที่เกิดจากการกระทำละเมิดของ ว. นั้นด้วย
ติดต่องาน บรรยาย งานคดี ที่ปรึกษา