ประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรงเป็นเหตุให้นายจ้างต้องเสียหาย นายจ้างสามารถเลิกจ้างได้ โดยไม่ต้องจ่ายค่าชดเชย
พูดถึงเรื่องลูกจ้างทำให้เกิดความเสียหายนี้ หลายบริษัทก็เคยต้องเจอ แต่การจะเลิกจ้างโดยไม่ต้องจ่ายค่าชดเชยเลยนั้น ก็ต้องพิจารณาว่าพฤติกรรมที่ลูกจ้างประมาทเลินเล่อมันร้ายแรงหรือไม่อย่างไรและทำให้นายจ้างเสียหายมากน้อยแค่ไหน
เรามาดูตัวอย่างที่นายจ้างสามารถเลิกจ้างได้นะคะ
ลูกจ้างปฎิบัติหน้าที่หัวหน้าชุดฝ่ายบริหารเงินสด มีหน้าที่เติมเงินตู้ ATM และรับส่งทรัพย์สิน ได้ทำการเบิกอาวุธปืนพร้อมด้วยกระสุนปืนเพื่อใช้ป้องกันดูแลทรัพย์สินจากการถูกโจรกรรมระหว่างที่ลูกจ้างปฏิบัติหน้าที่รับส่งทรัพย์สิน ต่อมาเมื่อลูกจ้างปฏบัติหน้าที่ของตนเองเสร็จสิ้นแล้ว กลับไม่ได้เอาอาวุธปืนที่เบิก คืนให้กับนายจ้างตามระเบียบ เมื่อนายจ้างได้ตรวจสอบก็ได้พบว่า ลูกจ้างนั้นทำอาวุธปืนหาย นายจ้างจึงเลิกจ้างลูกจ้าง เนื่องจากทำทรัพย์สินที่สำคัญของบริษัทหาย เป็นความผิดร้ายแรง ลูกจ้างไม่ยอมและร้องต่อศาลว่านายจ้างทำเกินกว่าเหตุ เป็นการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรม
โดยคดีนี้ศาลมองว่าอาวุธปืนนี้เป็นอาวุธโดยสภาพประกอบกับลูกจ้างมีตำแหน่งเป็น หัวหน้าชุดบริหารเงินสดมีหน้าที่ในการรักษาความปลอดภัย อาวุธปืนที่เบิกไปใช้นั้นก็จำเป็นจะต้องใช้เพื่อปกป้องทรัพย์สินของนายจ้าง และใช้ไปในทางที่ไม่ระมัดระวัง ปล่อยปละ ละเลย มิใช้ความระมัดระวังดูแลอาวุธปืนที่มีอานุภาพร้ายแรง สามารถทำร้ายผู้อื่นได้ถึงชีวิต การกระทำของลูกจ้างดังกล่าว จึงเป็นกรณีประมาทเลินเล่อ เป็นเหตุให้นายจ้างได้รับความเสียหายอย่างร้ายแรง และเป็นการฝ่าฝืนระเบียบข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงาน
(ฎีกาที่ 2654/2561)
เมื่ออ้างอิงจากฎีกาข้างต้นแล้วเราจะมีความจำเป็นที่จะต้องพิจารณาถึงเรื่องตำแหน่งหน้าที่และความเสียหายที่ลูกจ้างก่อให้เกิดด้วยนะคะ จะบอกว่าทุกเรื่องเป็นความเสียหายอันนี้ก็มีความสุ่ทเสี่ยงที่ลูกจ้างฟ้องและนายจ้างจะต้องจ่ายค่าชดเชยดังนั้นในเรื่องนี้ต้องดูเป็นกรณีไปค่ะ