ค่าชดเชยจากการเลิกจ้างต้องเสียภาษีหรือไม่ ?
เงินชดเชยที่ได้รับจากการเลิกจ้างถือเป็นเงินได้ตามกฎหมาย ดังนั้นผู้ที่ได้รับเงินชดเชยมีหน้าที่ต้องเสียภาษีด้วย แต่หากได้รับเงินค่าชดเชยที่ไม่เกิน 300,000 บาท จะได้รับการยกเว้นภาษี แต่ถ้าหากเงินชดเชยที่ได้รับมากกว่า 300,000 บาท ส่วนที่เกินจะต้องนำมาคำนวณภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาด้วย
ยกตัวอย่าง เช่น ลูกจ้างได้รับค่าชดเชยจำนวน 600,000 บาท ลูกจ้างจะได้รับยกเว้นไม่ต้องนำเงินชดเชยจำนวน 300,000 บาทแรกไปเสียภาษี แต่นำเพียงส่วนที่เกินจำนวน 300,000 บาทที่เหลือไปคำนวณภาษีรวมกับรายได้ที่ได้รับในปีนั้น
โดยเงินค่าชดเชยในที่นี้ หมายถึง ค่าชดเชยจากการเลิกจ้าง เกษียณอายุ และไล่ออกตามอัตราที่กฎหมายกำหนด ซึ่งรวมเงินช่วยเหลือจากนายจ้างกรณีลูกจ้างสมัครใจลาออกด้วย (เงินอะไรก็ตามที่ได้ชดเชยจากนายจ้างเพราะการสิ้นสุดสัญญาจ้างระหว่างกันนั่นแหละ)
นอกจากนี้แล้วเงินในส่วนอื่นๆ เช่น เงินชดเชยวันหยุดพักร้อนประจำปีที่ไม่ได้ใช้ เงินสมทบที่นายจ้างจ่ายให้เป็นพิเศษ ลูกจ้างต้องนำเงินค่าชดเชยในส่วนนี้มาคำนวณรวมภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาประจำปีด้วยเช่นกัน
อย่างไรก็ตาม สำหรับเงินชดเชยว่างงานจากประกันสังคมจะได้รับยกเว้นภาษีตามกฎหมาย ลูกจ้างไม่ต้องนำเงินชดเชยว่างงานจากประกันสังคมไปคำนวณรวมกับเงินได้ที่ต้องเสียภาษีเงินได้ประจำปีแต่อย่างใด