ลงลายมือชื่อว่าจะไม่เรียกร้องสิทธิประโยชน์ใดๆ จากนายจ้าง อาจทำให้หมดสิทธินำคดีมาฟ้องค่าเสียหายจากการเลิกจ้างไม่เป็นธรรม
ในกรณีนี้หลายคนอาจอ่านเจอฎีกามาในสองแบบ สองลักษณะ อย่างแรกคือแบบที่ แม้ลงชื่อสละสิทธิก็ยังฟ้องได้ อ่ะ แบบนั้นก็ไม่ผิด เพราะต้องดูพฤติการณ์ในแต่ละคดี การนำสืบให้ศาลเห็นด้วย โดยแบบที่ ล็อคคอเซนไม่ให้เวลาทบทวนตัดสินใจ แม้มีลายเซ็นว่าลูกจ้างไม่ติดใจเรียกร้อง ลูกจ้างก็ยังฟ้องได้ ก็มีในคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 10265/2558
แต่แบบที่ฟ้องไม่ได้ก็มี เช่น คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1977/2557 ที่นำสืบได้ไปในแนวทางที่ว่า หลังเลิกจ้าง ลูกจ้างได้รับค่าชดเชย ค่าตกใจ โดยในวันมารับค่าชดเชยค่าตกใจ ลูกจ้างได้บันทึกข้อตกลงสละสิทธิซึ่งเกิดขึ้นหลังจาก ออกจากงานพ้นการเป็นลูกจ้างของจำเลยแล้ว ลูกจ้างมีอิสระแก่ตนพ้นพันธะกรณีและไม่อยู่ใต้อำนาจบังคับ บัญชาของนายจ้างโดยสิ้นเชิง การสละสิทธิเรียกร้องในเงินดังกล่าวจึงไม่ขัดต่อความสงบเรียบร้อยของประชาชน และไม่เป็นโมฆะ ดังนั้นเมื่อลงลายมือชื่อไปแล้วว่าสละสิทธิจึงมาฟ้องอีกไม่ได้