แสดงความเห็นยังไงไม่ให้ถูกฟ้องหมิ่นประมาท
ในปัจจุบันมีตัวอย่างให้เห็นมากมายกับการคอมเม้นต์แสดงความคิดเห็น บางคนก็ไปว่าให้เขาเสียหายทั้งทั้งที่ไม่รู้ข้อเท็จจริง ว่ากันสนุกปาก บางคนก็ถูกฟ้องมาแล้วก็เข็ดหลาบแต่บางคนมันก็อดไม่ได้จริงๆ
จึงเกิดเป็นข้อสงสัยมาว่าเราต้องคอมเม้นต์แบบไหนล่ะถึงจะไม่เข้าข่ายหมิ่นประมาท โพสต์นี้มีคำตอบมาลองอ่านนะ
ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 329 ผู้ใดแสดงความคิดเห็นหรือข้อความใดโดยสุจริต
(1) เพื่อความชอบธรรม ป้องกันตนหรือป้องกันส่วนได้เสียเกี่ยวกับตนตามคลองธรรม
(2) ในฐานะเป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติการตามหน้าที่
(3) ติชม ด้วยความเป็นธรรม ซึ่งบุคคลหรือสิ่งใดอันเป็นวิสัยของประชาชนย่อมกระทำ หรือ
(4) ในการแจ้งข่าวด้วยความเป็นธรรม เรื่องการดำเนินการอันเปิดเผยในศาลหรือในการประชุม
ผู้นั้นไม่มีความผิดฐานหมิ่นประมาท
เช่น
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3546/2558 ข่าวเกี่ยวกับทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมเรื่องการบุกรุกพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติและมีการออกโฉนดที่ดินทับซ้อนพื้นที่สวนป่าเป็นข่าวที่สังคมให้ความสนใจเพราะมีผลกระทบต่อคุณภาพชีวิตของทุกคนในสังคม และข้อเท็จจริงตามที่จำเลยที่ 1 นำมาตีพิมพ์ในหนังสือพิมพ์ของตนเป็นข้อเท็จจริงที่ปรากฏจากการสืบสวนและสอบสวนของเจ้าหน้าที่ผู้เกี่ยวข้องทั้งในส่วนของกรมป่าไม้ กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช รวมถึงเจ้าพนักงานตำรวจ
เมื่อจำเลยทั้งสองในฐานะสื่อมวลชนมีหน้าที่เสนอข่าวสารที่เกิดขึ้นในบ้านเมืองให้ประชาชนทราบโดยเสนอข้อมูลไปตามข้อเท็จจริงที่ปรากฏตามที่เจ้าหน้าที่ผู้เกี่ยวข้องสืบสวนและสอบสวนได้ความ หาใช่เป็นข้อเท็จจริงที่จำเลยทั้งสองสร้างขึ้นมาเองไม่ แม้ข้อความบางส่วนอาจทำให้ผู้อ่านเกิดความเข้าใจว่าโจทก์มีส่วนเกี่ยวข้องในการกระทำความผิดด้วยอันเป็นการใส่ความโจทก์ให้ได้รับความเสียหาย โดยที่โจทก์ยังมิได้ถูกเรียกไปแจ้งข้อกล่าวหาหรือดำเนินคดี แต่การดำเนินคดีก็เป็นเรื่องที่เจ้าพนักงานผู้เกี่ยวข้องสามารถดำเนินการได้ภายในกำหนดอายุความ
อีกทั้งการนำเสนอข่าวสารเชิงวิเคราะห์ของจำเลยทั้งสอง ก็เป็นการติชมวิพากษ์วิจารณ์ และแสดงความคิดเห็นไปตามข้อเท็จจริงที่ได้ความมาจากการสืบสวนสอบสวนของเจ้าหน้าที่ผู้เกี่ยวข้องโดยสุจริตและติชมด้วยความเป็นธรรมอันเป็นวิสัยของประชาชนย่อมกระทำ ดังนั้นจำเลยทั้งสองจึงไม่มีความผิดฐานหมิ่นประมาทตาม ป.อ. มาตรา 329 (3)
จากคำพิพากษาศาลฎีกา แม้จะเห็นได้ว่าการเผยแพร่ข้อความใดๆ โดยสุจริตตามมาตรา 329 จะไม่มีความผิดฐานหมิ่นประมาทก็ตาม แต่ก็ไม่ตัดสิทธิผู้เสียหายหรือผู้ที่ถูกกระทบกระเทือนสิทธิจากการเผยแพร่ข้อความดังกล่าวดำเนินการตามกฎหมาย และผู้เผยแพร่ข่าวอาจต้องเสียเวลาจ้างททนายความเพื่อต่อสู้คดีและพิสูจน์ข้อเท็จจริงกันในชั้นศาลต่อไป