กรุณารอสักครู่

 

บทความแนะนำ

ลีกัล คลินิก แอนด์ เอดดูเคชั่น

กฏหมายแรงงานลาออกก่อนครบกำหนดตามสัญญาจ้าง ต้องทำอย่างไร ?

3 November 2022
ลูกจ้างต้องการที่จะลาออกก่อนครบตามสัญญาจ้าง ต้องรอให้นายจ้างอนุมัติหรือไม่ หากเกิดความเสียหายศาลมีหลักในการพิจารณาอย่างไร
ในเรื่องการสิ้นสุดสัญญาจ้าง ย่อมสิ้นสุดตามระยะเวลาที่กำหนดไว้ในสัญญา หากลูกจ้างต้องการที่จะขอลาออกก่อนครบกำหนด สิ่งแรกที่ต้องพิจารณาคือให้ดูในสัญญาว่ากำหนดเรื่องการสิ้นสุดสัญญาไว้อย่างไร
​1. ถ้าสัญญากำหนดให้คู่สัญญามีสิทธิบอกเลิกสัญญาจ้างได้ นายจ้างหรือลูกจ้างก็มีสิทธิบอกเลิกสัญญาจ้างได้ ตามที่กำหนดไว้ในสัญญา เช่น หากลูกจ้างต้องการสิ้นสุดสัญญาจ้าง/ลาออก ให้บอกกล่าวล่วงหน้าแก่นายจ้างไม่น้อยกว่า 1 เดือน ดังนี้ ลูกจ้างก็ต้องบอกกล่าวล่วงไม่น้อยกว่า 1 เดือน ตามที่กำหนดในสัญญา
2. หากในสัญญาไม่ได้กำหนดให้ลูกจ้างมีสิทธิบอกเลิกสัญญาจ้างได้ หากลูกจ้างต้องการลาออกก่อนกำหนดก็สามารถแสดงเจตนาขอลาออกต่อนายจ้างได้ โดยไม่ต้องรอให้นายจ้างอนุมัติ เพราะการลาออกเป็นการแสดงนิติกรรมฝ่ายเดียวย่อมมีผลเมื่ออีกฝ่ายทราบเจตนา แต่ถ้าหากว่าการลาออกนั้น ทำให้นายจ้างได้รับความเสียหาย นายจ้างก็มีสิทธิฟ้องเรียกค่าเสียหายจากการที่ลูกจ้างผิดสัญญาจ้างแรงงานได้ เช่น หากในสัญญาระบุว่าลูกจ้างต้องทำงานกับนายจ้างเป็นเวลาไม่น้อยกว่า 1 ปี หากลาออกก่อนครบกำหนดลูกจ้างต้องจ่ายค่าเสียหายให้กับนายจ้าง ดังนี้ นายจ้างสามารถฟ้องได้ แต่จะฟ้องได้มากน้อยเพียงไรนั้น ศาลจะพิจารณาว่าเบี้ยปรับนั้นสูงเกินส่วนหรือไม่ ถ้าสูงเกินศาลก็มีอำนาจปรับลดจำนวนลงได้พอสมควร
ตามแนวคำพิพากษาฎีกาที่ 7620/2559 การที่สัญญาเพิ่มเติมแนบท้ายหนังสือสัญญาจ้าง ข้อ 3 ระบุความว่า พนักงานตกลงที่จะทำงานให้กับบริษัทเป็นเวลาไม่น้อยกว่า 2 ปี นับตั้งแต่วันเข้าทำงาน หากพนักงานมีความประสงค์จะลาออกก่อนครบกำหนดเวลา พนักงานยินยอมชดใช้ค่าเสียหายให้กับบริษัทไม่น้อยกว่าเงินเดือนในเดือนสุดท้ายที่พนักงานได้รับ ถือได้ว่าเป็นข้อตกลงกำหนดความเสียหายเพื่อการผิดนัดไม่ชำระหนี้ไว้ล่วงหน้า จึงเป็นข้อตกลงเบี้ยปรับเมื่อโจทก์ไม่ชำระหนี้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 379 และ 380 ซึ่งหากกำหนดไว้สูงเกินส่วนศาลแรงงานกลางมีอำนาจใช้ดุลพินิจลดเบี้ยปรับลงเป็นจำนวนพอสมควรก็ได้โดยให้พิเคราะห์ถึงทางได้เสียของเจ้าหนี้ทุกอย่างอันชอบด้วยกฎหมาย ไม่ใช่เพียงทางได้เสียในเชิงทรัพย์สิน ตาม ป.พ.พ. มาตรา 383 วรรคหนึ่ง