แฟนเพจอินบ๊อกมาสอบถามว่า นายจ้างหักเงินค่าคอมมิชชัน 50 % โดยอ้างว่ายังเก็บเงินจากลูกค้าไม่ได้ ต่อมาเก็บเงินจากลูกค้าได้ แต่นายจ้างก็ยังไม่ยอมจ่ายเงินค่าคอมมิชชันคืนให้ แบบนี้ลูกจ้างมีสิทธิอย่างไร ฟ้องได้หรือไม่ ?
1.ในเรื่องหลักเกณฑ์การจ่ายเงินค่าคอมมิชชั่นนั้น ต้องพิจารณาถึงหลักเกณฑ์ เงื่อนไข การจ่ายว่า ตกลงกันอย่างไร??
หากตกลงกันโดยจ่ายให้ตามอัตราจำนวน โดยคำนวณจากยอดขายที่ลูกจ้างขายได้ในแต่ละเดือน และกำหนดจ่ายให้ทุกวันสิ้นเดือน โดยไม่มีเงื่อนไขอื่น ดังนี้ นายจ้างก็ต้องจ่ายให้กับลูกจ้างตามข้อตกลง ที่กำหนดไว้ นายจ้างจะมาอ้างเหตุอื่น ๆ โดยหักเงินค่าคอมฯ ไม่ได้ เช่น นายจ้างตกลงจ่ายค่าคอมฯ ให้ 1.5% จากยอดขายจำนวน 600,000 บาท ซึ่งเป็นยอดขายสินค้าของลูกจ้างในเดือนนั้น กำหนดจ่ายให้ทุกวันสิ้นเดือน เมื่อถึงกำหนดจ่าย นายจ้างก็ต้องจ่ายค่าคอมฯ ให้กับลูกจ้าง แต่ ถ้าในสัญญาหรือตามข้อตกลง กำหนดหลักเกณฑ์เงื่อนไขการจ่ายค่าคอมฯ ไว้ว่า จะจ่ายค่าคอมให้จำนวน 50% ในวันสิ้นเดือน ส่วนอีก 50% จะจ่ายให้ต่อเมื่อนายจ้างเก็บเงินค่าขายสินค้าจากลูกจ้างได้ครบจำนวน ดังนี้ นายจ้างก็สามารถทำได้ ซึ่งเป็นไปตามสัญญา ตามข้อตกลง
2. หากนายจ้างไม่จ่ายค่าคอมฯ ให้ตามที่ตกลงกัน ลูกจ้างมีสิทธิอย่างไร ?
ลูกจ้างมีสิทธิฟ้องคดีต่อศาลแรงงาน หรือยื่นคำร้องต่อพนักงานตรวจแรงงานแห่งท้องที่ ที่ลูกจ้างทำงานอยู่
3. แต่ถ้าเป็นเงินอันเป็นลักษณะการจูงใจ เงินรางวัล เช่น กำหนดว่าหากทำยอดขายได้ตามเป้า 1-5 ล้าน ได้ 10 % , 6 – 10 ล้าน ได้ 15 % อันนี้จะไม่ใช่ค่าจ้าง แต่เป็นเงินรางวัลจูงใจ หากนายจ้างไม่จ่ายต้องฟ้องเรื่องผิดสัญญาจ้างแรงงาน ต่อศาลแรงงาน
**ข้อสังเกตุ**
ค่าคอมมิชชัน ที่ตกลงจ่ายเป็นค่าตอบแทนโดยคำนวณจากยอดขายที่ลูกจ้างสามารถขายได้ จะได้รับมากน้อยเพียงใดขึ้นอยู่กับจำนวนยอดขายที่ลูกจ้างขายได้ จึงถือได้ว่าค่าตอบแทนการขายเป็นเงินส่วนหนึ่งที่นายจ้างจ่ายให้แก่ลูกจ้างเป็นการตอบแทนในการทำงาน ถือเป็นค่าจ้าง ที่มีกำหนดอายุความเรียกร้อง ภายในกำหนด 2 ปี ตาม ป.พ.พ 193/34
ฎีกาที่ 1181/2540
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า คดีมีปัญหาที่จะต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของจำเลยเพียงข้อเดียวว่าคดีโจทก์ขาดอายุความหรือไม่ ข้อเท็จจริงยุติตามที่ศาลแรงงานกลางฟังมาว่า โจทก์เป็นลูกจ้างของจำเลยมีหน้าที่ขายสินค้าโดยมีข้อตกลงกันว่าหากโจทก์ขายสินค้าได้โจทก์มีสิทธิได้รับค่าตอบแทนการขายอัตราร้อยละ 1.5 ของยอดขายแต่หากโจทก์เป็นเพียงผู้ประสานงานภายหลังการขายโจทก์ไม่มีสิทธิได้รับค่าตอบแทน ค่าตอบแทนการขายตามฟ้องเป็นค่าตอบแทนงวดเดือนธันวาคม 2535 โจทก์มีสิทธิได้รับตามข้อตกลงที่กล่าวแล้ว จำเลยอุทธรณ์ว่า ค่าตอบแทนการขายสินค้าเป็นค่าจ้างอย่างหนึ่งซึ่งโจทก์จะต้องฟ้องเรียกภายใน 2 ปี เมื่อโจทก์ฟ้องเกิน 2 ปี คดีโจทก์จึงขาดอายุความ
พิเคราะห์แล้วเห็นว่า โจทก์เป็นลูกจ้างของจำเลยมีหน้าที่ขายสินค้า หรืออีกนัยหนึ่งคือพนักงานขายนอกจากโจทก์จะได้รับเงินเดือนเป็นค่าจ้างประจำแล้วหากโจทก์เป็นผู้ขายสินค้าได้เองโจทก์ยังมีสิทธิได้รับคำตอบแทนการขายในอัตราร้อยละ 1.5 ของยอดขายด้วยค่าตอบแทนการขายนี้โจทก์จะได้รับมากน้อยเพียงใดขึ้นอยู่กับจำนวนยอดขายที่โจทก์สามารถขายได้ จึงเห็นได้ว่าค่าตอบแทนการขายเป็นเงินส่วนหนึ่งที่จำเลยจ่ายให้แกโจทก์เป็นการตอบแทนในการทำงาน โดยคิดตามผลงานที่โจทก์ทำได้ตามประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การคุ้มครองแรงงาน ได้ให้บทนิยามคำว่าค่าจ้างไว้ว่าเงินหรือเงินและสิ่งของที่นายจ้างจ่ายให้แก่ลูกจ้างเป็นการตอบแทนการทำงานในเวลาทำงานปกติของวันทำงานหรือจ่ายให้โดยคำนวณตามผลงานที่ลูกจ้างทำได้ เมื่อคำตอบแทนการขายจำเลยจ่ายให้แก่โจทก์เป็นการตอบแทนในการทำงานโดยคำนวณตามผลงานที่โจทก์ทำได้และมีกำหนดงวดเวลาจ่ายไว้แน่นอนเงินค่าตอบแทนการขายจึงเป็นค่าจ้างตามความหมายของประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การคุ้มครองแรงงาน ตามที่กล่าวแล้ว ค่าตอบแทนการขายในคดีนี้ศาลแรงงานกลางฟังข้อเท็จจริงว่าเป็นค่าตอบแทนที่จำเลยจะต้องจ่ายให้แก่โจทก์ในงวดเดือนธันวาคม 2535 ดังนั้น โจทก์จึงมีสิทธิเรียกร้องให้จำเลยชำระเงินค่าตอบแทนการขายดังกล่าว ตั้งแต่เดือน มกราคม 2536 เป็นต้นมา เมื่อโจทก์ฟ้องคดีนี้ในวันที่ 3 กุมภาพันธ์ 2538 จึงเกิน2ปีนับแต่โจทก์สามารถใช้สิทธิเรียกร้องได้ คดีโจทก์จึงขาดอายุความตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 193/34 (9) พิพากษากลับ ให้ยกฟ้องโจทก์