กรุณารอสักครู่

 

บทความแนะนำ

ลีกัล คลินิก แอนด์ เอดดูเคชั่น

กฎหมายกฏหมายแรงงานลูกจ้างฟ้องเรียกค่าเสียหายจากการเลิกจ้างโดยไม่เป็นธรรม แต่ศาลพิพากษาให้รับกลับเข้าทำงานแบบนี้ก็ได้เหรอออ ?

14 October 2022
ลูกจ้างฟ้องเรียกค่าเสียหายจากการเลิกจ้างโดยไม่เป็นธรรม แต่ศาลพิพากษาให้รับกลับเข้าทำงานแบบนี้ก็ได้เหรอออออ??
เรื่องนี้เป็นประเด็นน่าสนใจนะคะที่มีแฟนเพจสอบถามเข้ามาว่าฟ้องกันแล้วแบบนี้ศาลจะให้รับกลับเข้าไปทำงานได้ยังไงจะร่วมงานกันต่อได้ยังไงพิพากษาแบบนี้ได้ด้วยหรอคะ
คำตอบคือออออ “ได้ค่ะ”
เพราะตาม พระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. 2522 มาตรา 49 บัญญัติ ว่า “การพิจารณาคดีในกรณีนายจ้างเลิกจ้างลูกจ้าง ถ้าศาลแรงงานเห็นว่าการเลิกจ้างลูกจ้างผู้นั้นไม่เป็นธรรมต่อลูกจ้าง ศาลแรงงานอาจสั่งให้นายจ้างรับลูกจ้างผู้นั้นเข้าทำงานต่อไปในอัตราค่าจ้างที่ได้รับในขณะที่เลิกจ้าง ถ้าศาลแรงงานเห็นว่า ลูกจ้างกับนายจ้างไม่อาจทำงานร่วมกันต่อไปได้ ให้ศาลแรงงานกำหนดจำนวนค่าเสียหายให้นายจ้างชดใช้ให้แทน โดยให้ ศาลคำนึงถึงอายุของ ลูกจ้าง ระยะเวลาการทำงานของลูกจ้าง ความเดือดร้อนของลูกจ้างเมื่อ ถูกเลิกจ้าง มูลเหตุแห่งการเลิกจ้างและเงินค่าชดเชยที่ลูกจ้างมีสิทธิได้รับประกอบการพิจารณา”
ซึ่งมาตราดังกล่าว เป็นบทบัญญัติที่ให้อำนาจศาลพิจารณาเกินคำขอหรือต่างจากคำขอท้ายฟ้องได้ โดยให้ศาลพิจารณาไปตามข้อเท็จจริงที่ปรากฏจากทางพิจารณาว่าลูกจ้าง นายจ้าง สามารถทำงานร่วมกันต่อไปได้หรือไม่ โดยไม่จำเป็นต้องมีคำสั่งตามคำขอของโจทก์
อ้างอิง คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5025/2548
บทบัญญัติในมาตรา 49 นั้นเป็นกรณีที่ให้อำนาจศาลแรงานเป็นพิเศษเฉพาะคดีที่นายจ้างเลิกจ้างลูกจ้าง โดยหากศาลแรงงานเห็นว่าการเลิกจ้างลูกจ้างไม่เป็นธรรม ศาลแรงงานจะสั่งให้นายจ้างรับลูกจ้าง ผู้นั้นเข้าทำงานก็ได้แต่หากศาลแรงงานเห็นว่าลูกจ้างกับนายจ้างไม่อาจทำงานร่วมกันต่อไปได้ศาลแรงงานจะกำหนดค่าเสียหายให้นายจ้างชดใช้แทนก็ได้ โดยให้ศาลแรงงานพิพากษาไปตามข้อเท็จจริงที่ปรากฏจากทางพิจารณาว่าลูกจ้างกับนายจ้างจะทำงานร่วมกันต่อไปได้หรือไม่ ซึ่งบทบัญญัติในมาตรานี้เห็นได้ว่าศาลแรงงานไม่จำต้องมีคำสั่งตามคำขอของโจทก์ เพราะหากโจทก์ก็มีคำขอ ศาลแรงงานก็ย่อมมีอำนาจพิพากษาให้ตามคำขอของโจทก์อยู่แล้ว หาจำต้องบัญญัติให้อำนาจศาลแรงงานเป็นพิเศษอีกไม่ มาตรานี้จึงมีความหมายว่าในกรณีที่นายจ้างเลิกจ้างลูกจ้าง แม้โจทก์ซึ่งเป็นลูกจ้างจะมิได้มีคำขอให้จำเลยซึ่งเป็นนายจ้างรับโจทก์กลับเข้าทำงาน คงขอค่าเสียหายจากการเลิกจ้างมาเพียงอย่างเดียวถ้าศาลแรงงานเห็นว่าโจทก์กับจำเลยไม่อาจทำงานร่วมกันต่อไปได้ศาลแรงงานก็มีอำนาจพิพากษาให้จำเลยชดใช้ค่าเสียหายให้แทนได้เช่นกันที่ศาลแรงานกลางวินิจฉัยว่า ไม่ปรากฏว่าโจทก์กระทำผิดวินัยใด ๆ มาก่อนทั้งจำเลยเป็นรัฐวิสาหกิจ จึงเห็นสมควรให้จำเลยรับโจทก์เข้าทำงานต่อไป