ฝึกงานแต่ไม่ได้เบี้ยเลี้ยง ฟ้องศาลแรงงานได้ไหม
อันนี้ถามดี พี่ขอเอามาตอบนะคะ
ก่อนเข้าสู่คำถามนี้ มีคนถามว่าฝึกงานได้เบี้ยเลี้ยงด้วยเหรอ ? ได้ตามกฎหมายไหน ? อะไร ? อย่างไร? มาค่ะจะอธิบายให้ฟัง
ตาม พ.ร.บ.ส่งเสริมการพัฒนาฝีมือแรงงาน พ.ศ. 2545 กำหนดการฝึกอบรมไว้ 3 ประเภท ครือออ
1. การฝึกเตรียมเข้าทํางาน หมายถึงการที่ผู้ประกอบกิจการจัดให้บุคคลทั่วไปได้ฝึกอบรมฝีมือ แรงงาน ก่อนเข้าทํางาน เพื่อให้สามารถทํางานได้ตามมาตรฐานฝีมือแรงงาน
2. การฝึกยกระดับฝีมือแรงงาน
3. การฝึกเปลี่ยนสาขาอาชีพ
ซึ่งการฝึกในการเตรียมเข้าทำงาน ตามข้อ 1 อาทิ การจัดให้บุคคลทั่วไปได้ฝึกงานหรือการรับนักเรียน นิสิตหรือนักศึกษาจากสถานศึกษาและบุคคลที่ทางราชการส่งมาฝึกนั้น กฎหมายได้กำหนดให้สถานประกอบกิจการต้อง
1. . จัดทําสัญญาการฝึกเป็นหนังสือระหว่างผู้ฝึกและผู้รับการฝึก
2. ต้องปฏิบัติตามหลักเกณฑ์เกี่ยวกับการคุ้มครองผู้รับการฝึก (ประกาศกระทรวงแรงงานเรื่อง หลักเกณฑ์เกี่ยวกับการคุ้มครองผู้รับการฝึกเตรียมเข้าทำงาน) เช่น
– ต้องจ่ายเบี้ยเลี้ยงแก่ผู้รับการฝึกในอัตราไม่น้อยกว่าร้อยละ 50 ของอัตราค่าจ้างขั้นต่ำ สูงสุดตามกฎหมายค่าจ้างขั้นต่ำที่ใช้อยู่ในขณะนั้น ตามจํานวนวันฝึกจริง
– ต้องจัดทําประกันอุบัติเหตุจากการฝึกให้แก่ผู้รับการฝึกให้ได้รับประโยชน์ไม่น้อยกว่าที่ กําหนดในกฎหมายว่าด้วยเงินทดแทน
3. จัดทําทะเบียนประวัติผู้รับการฝึกไว้เป็นหลักฐาน
4. ออกหนังสือรับรองแก่ผู้รับการฝึกที่สําเร็จการฝึกภายใน 15 วันนับแต่วันเสร็จสิ้นการวัดผลแล้ว แจ้งให้นายทะเบียนทราบ
5. ห้ามเรียกหรือรับเงินค่าฝึก หรือค่าตอบแทนในลักษณะใดๆ อันเกี่ยวกับการฝึกอบรมฝีมือ แรงงานจากผู้รับการฝึก
กรณีหากฝึกงานแล้วไม่ได้เบี้ยเลี้ยง ฟ้องศาลแรงงานได้หรือไม่?
ผู้เขียนเห็นว่า นิติสัมพันธ์ในการฝึกงานดังกล่าวไม่ใช่การจ้างแรงงาน ดังนั้น ในกรณีที่สถานประกอบกิจการไม่จ่ายค่าเบี้ยเลี้ยง จึงมิใช่ข้อพิพาทตามสัญญาจ้างแรงงาน จึงไม่อาจฟ้องคดีต่อศาลแรงงานได้ หากจะฟ้องผู้เขียนมีความเห็นว่าต้องฟ้องที่ศาลแขวงหรือศาลจังหวัดตามจำนวนทุนทรัพย์ว่าอยู่ในเขตอำนาจศาลใด