สำหรับเรื่องการลาพักร้อนหรือวันหยุดพักผ่อนประจำปี แม้กฎหมายกำหนดไว้ว่าเป็นสิทธิให้ลูกจ้างลาหยุดได้ก็ตาม แต่อย่างที่บอกไว้ในหลาย ๆ บทความว่าระเบียบขั้นตอนในการยื่นใบลาหยุด อำนาจในการอนุมัติ อนุญาต เป็นอย่างไรก็ต้องบังคับไปตามระเบียบหลักเกณฑ์ของแต่ละบริษัทหรือองค์กร นั้น ๆ หากยื่นพักร้อนแล้วไม่รอว่านายจ้างอนุมัติหรืออนุญาตหรือเปล่า ลูกจ้างอาจถูกเลิกจ้างได้เพราะการลาโดยไม่ได้รับอนุมัติถือเป็นการละทิ้งการงานได้ เทียบเคียงตามแนวคำพิพากษานี้
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 169/2527
การที่โจทก์ยื่นใบลาหยุดพักผ่อนวันที่ 21 ถึง 25 กุมภาพันธ์ 2526 แต่ผู้จัดการให้โจทก์เลื่อนการลาหยุดพักผ่อนไปก่อนเพราะบริษัทมีงานค้างมาก โจทก์จึงได้แก้วันที่ขอลาหยุดเป็นวันที่ 1 ถึง 7 มีนาคม 2526 ผู้จัดการเซ็นคำสั่งไม่อนุมัติเมื่อวันที่ 25 กุมภาพันธ์ 2526 ภายหลังจากวันโจทก์ยื่นใบลา แล้วโจทก์หยุดงานไปโดยเข้าใจว่าได้รับอนุมัติให้ลาได้ นั้น เมื่อข้อบังคับของจำเลยระบุว่า การขอลาหยุดพักผ่อนประจำปี ลูกจ้างจะหยุดได้ก็ต่อเมื่อได้รับอนุมัติจากผู้จัดการแล้ว ฉะนั้น การที่โจทก์หยุดงานไปดังกล่าวจึงเป็นการไม่ปฏิบัติให้ถูกต้องตามข้อบังคับถือได้ว่าเป็นการละทิ้งการงานตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 583 จำเลยมีสิทธิเลิกจ้างโจทก์ได้โดยไม่จำต้องบอกกล่าวล่วงหน้า
เมื่อจำเลยเลิกจ้างโจทก์เนื่องจากโจทก์หยุดพักผ่อนโดยไม่ได้รับอนุมัติจากผู้จัดการ อันเป็นการฝ่าฝืนข้อบังคับของจำเลย และอาจทำให้จำเลยได้รับความเสียหายได้ จึงมิใช่เป็นการเลิกจ้างโดยไม่มีเหตุผลที่สมควรถือไม่ได้ว่าเป็นการเลิกจ้างโดยไม่เป็นธรรม
อุทธรณ์ที่ว่า ศาลแรงงานฟังข้อเท็จจริงขัดแย้งกับเอกสารนั้น เป็นการโต้เถียงดุลพินิจในการรับฟังพยานหลักฐานของศาลแรงงาน จึงเป็นอุทธรณ์ในข้อเท็จจริงศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย