ยังคงอยู่กับเรื่องลาป่วย…เพราะแฟนเพจยังมูฟออนไม่ได้ กับคำถามที่ว่า “ ป่วยจริงมีใบรับรองแพทย์ แต่นายจ้างให้แลกเวรแทนการลาป่วย แบบนี้นายจ้างทำได้หรือไม่??”
ถ้านายจ้างสั่งมาแบบนี้ เท่ากับว่านายจ้างไม่ให้ลูกจ้างลาป่วย แล้วมีผลทางกฎหมายอย่างไร ?
1. สำหรับเรื่องนายจ้างไม่ให้ลูกจ้างลาป่วย ไม่มีบทลงโทษตามกฎหมาย แต่ถ้าหากว่าลูกจ้างป่วยจริง นายจ้างจะมาสั่งให้แลกเวรแทนการใช้วันลาป่วยไม่ได้ ลูกจ้างมีสิทธิปฏิเสธที่จะไม่ปฏิบัติตามคำสั่งดังกล่าวได้ และไม่ถือว่าเป็นการฝ่าฝืนคำสั่งนายจ้างด้วย หากนายจ้างลงโทษทางวินัย หรือหักค่าจ้างระหว่างที่ลาป่วยดังกล่าว ลูกจ้างก็มีสิทธิฟ้องเรียกเงินค่าจ้างที่นายจ้างหักหรือที่นายจ้างไม่จ่ายได้
2. หากถูกเลิกจ้างเพราะเหตุดังกล่าว นายจ้างต้องจ่ายค่าชดเชย ตาม ม.118 และนายจ้างอาจถูกฟ้องเรียกค่าเสียหายจากการเลิกจ้างโดยไม่เป็นธรรมได้
อย่างไรก็ตาม การที่กฎหมายกำหนดให้ลูกจ้างมีสิทธิลาป่วยได้เท่าที่ป่วยจริง หากลูกจ้างลาป่วยเป็นเวลานาน ก็น่าจะเกิดภาระแก่นายจ้างพอสมควร เพราะในขณะที่ลูกจ้างลาป่วยเป็นระยะเวลานาน ลูกจ้างยังมีสภาพเป็นลูกจ้างอยู่ มีสิทธิใช้สวัสดิการของนายจ้างในเรื่องอื่น ๆ เช่น เบิกค่ารักษาพยาบาล เบิกค่าสวัสดิการต่าง ๆ เมื่ออ่านบทความนี้แล้ว ผู้เขียนอยากให้ลองคุยกับนายจ้างด้วยเหตุผล ถ้าการที่ลูกจ้างต้องลาป่วย และงานที่เรารับผิดชอบต้องกระทบและเป็นภาระกับเพื่อนร่วมงานเกินสมควร หรืองานล่าช้าหรืองานอาจเสียหาย ก็อาจจะหาแนวทางในการแก้ไขปัญหาในเรื่องของลาป่วยร่วมกัน เช่น ถ้าป่วยบ่อยบ่อยก็อาจจะเปลี่ยนลักษณะการทำงานเป็นที่ปรึกษาแทน หรือมาทำงานน้อยลงแต่เงินเดือนก็อาจจะลดลงไปบ้างบางส่วน ซึ่งขึ้นอยู่กับข้อตกลงทั้งสองฝ่าย และน่าจะเป็นทางออกที่ดีนะคะ