กรุณารอสักครู่

 

บทความแนะนำ

ลีกัล คลินิก แอนด์ เอดดูเคชั่น

กฏหมายแรงงาน“ใครบ้าง” ไม่อยู่ในความคุ้มครอง ตาม พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน

14 July 2022
สืบเนื่องจากโพสที่แล้ว ที่ว่าข้าราชการไม่อยู่ภายใต้พ.ร.บ คุ้มครองแรงงาน โพสต์นี้จึงเป็นภาคต่อ ขยายความว่าพ.ร.บคุ้มครองแรงงานใช้บังคับกับใคร อะไรยังไงบ้าง มาอ่านกัน …ขี้เกียจอ่านไปฟังในยูทูป ฟังด้วย อัดให้แล้วด้วยความตั้งใจ ทั้งการพูดและการแต่งหน้าทาปากก่อนอัดคลิป
พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน ฯ ใช้บังคับแก่นายจ้าง ลูกจ้างในการจ้างงานทุกราย ไม่ว่าจะประกอบกิจการประเภทใด และไม่ว่าจะมีจำนวนลูกจ้างเท่าใด “ แต่ก็มีนายจ้างหรือกิจการบางประเภทที่กฎหมายบัญญัติไม่ให้นำ พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน มาบังคับใช้” คือ นายจ้างหรือกิจการตามที่บัญญัติไว้ใน ม.4 ดังนี้
1. ราชการส่วนกลาง ราชการส่วนภูมิภาค และราชการส่วนท้องถิ่น ( สาเหตุที่กฎหมายบัญญัติยกเว้นไม่ให้นำกฎหมายคุ้มครองแรงงานมาบังคับใช้ ก็เพราะส่วนราชการเป็นหน่วยงานทางการปกครองที่มีภารกิจหลักในการจัดทำบริการสาธารณะ จึงจำเป็นต้องมีอำนาจเหนือลูกจ้างเพื่อให้การจ้างงานในการจัดทำบริการสาธารณะบรรลุวัตถุประสงค์)
2. รัฐวิสาหกิจ (เนื่องจากหน่วยงานรัฐวิสาหกิจมีกฎหมายที่บังคับใช้เฉพาะแล้ว คือ พ.ร.บ.แรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ฯ จึงไม่นำกฎหมายคุ้มครองแรงงานมาบังคับใช้)
3. ลูกจ้างทำงานเกี่ยวกับงานบ้าน ที่ไม่ได้มีการประกอบธุรกิจร่วมอยู่ด้วย (งานแม่บ้านทำความสะอาดบ้าน,ทำอาหาร ที่ไม่ใช่บริษัทรับจ้างทำความสะอาด) ทั้งนี้ ตามกฎกระทรวง ฉบับที่ 14 (พ.ศ. 2555) บัญญัติให้นำ พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงานฯ มาบังคับใช้เพียงบางมาตรา
4. กิจการหรือองค์การที่ตั้งขึ้นตามกฎหมายเฉพาะและกำหนดยกเว้นมิให้นำ พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงานฯ มาบังคับใช้ในกิจการและองค์การ ของตน
4.1 พ.ร.บ.หลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ฯ ม.29 ที่กำหนดยกเว้นมิให้นำกฎหมายคุ้มครองแรงงานมาใช้บังคับกับ เลขาธิการ พนักงาน และลูกจ้างของสำนักงาน ในส่วนที่เกี่ยวกับค่าชดเชย
4.2 พ.ร.บ.สถาบันพระปกเกล้าฯ ม.5 ที่กำหนดว่ากิจการของสถาบันฯ ไม่อยู่ภายใต้บังคับกฎหมายคุ้มครองแรงงาน
4.3 พ.ร.บ.สถาบันอุดมศึกษาเอกชนฯ ม.23 ที่กำหนดว่า กิจการของสถาบันฯ ไม่อยู่ภายใต้บังคับกฎหมายคุ้มครองแรงงาน ทั้งนี้ ผู้ปฏิบัติงานของสถาบันอุดมศึกษาเอกชนต้องได้รับผลประโยชน์ตอบแทนไม่น้อยกว่าที่กำหนดไว้ในกฎหมายว่าด้วยคุ้มครองแรงงาน
4.4 พ.ร.บ.โรงเรียนเอกชนฯ ม.86 ที่กำหนดว่า กิจการของโรงเรียนในระบบไม่อยู่ภายใต้บังคับกฎหมายคุ้มครองแรงงาน แต่ผู้ปฏิบัติงานของโรงเรียนต้องได้รับผลประโยชน์ตอบแทนไม่น้อยกว่าที่กำหนดไว้ในกฎหมายว่าด้วยคุ้มครองแรงงาน
อย่างไรก็ตาม สำหรับการใช้สิทธิเรียกร้องของผู้ปฏิบัติงานตามกฎหมายพิเศษในข้อ 4.3 และ 4.4 เพื่อให้ได้สิทธิประโยชน์ที่ไม่น้อยกว่า พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน ผู้ปฏิบัติงานจะต้องเรียกร้องโดยอ้างบทมาตราของกฎหมายพิเศษดังกล่าวประกอบ พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงานมาด้วย
จบ..ค่อยๆอ่าน อ่านไม่เจ้าใจในขึ้นไปอ่านใหม่ ด้วยสติอีกรอบ เพราะตอนเขียนก็ 2 รอบเหมือนกัน 😆💙
ติดต่องานขอทราบค่าบริการ : info@legalclinic.co.th