ก่อนอื่นขอแสดงความห่วงใยไปยังเพื่อนพี่น้องแฟนเพจในทุกจังหวัดที่ได้รับผลกระทบ สำหรับเป็นเหตุการณ์น้ำท่วม… คลินิกกฎหมายแรงงาน ขอเป็นกำลังใจให้กับทุกท่าน ขอให้ทุกท่านปลอดภัย และเข้มแข็งทั้งกายใจนะคะ
ในส่วนคำถามวันนี้ขออนุญาตหยิบยกคำถามที่เคยเกิดในช่วงน้ำท่วมและเกี่ยวข้องกับกฎหมายแรงงาน โดยแยกออกเป็น 2 ส่วน ดังนี้
1.กรณีพนักงานไม่สามารถไปทำงานได้เนื่องจากน้ำท่วมถนนถูกตัดขาด แบบนี้ควรใช้ลาอะไร
ความเห็นของเรานะ : ถ้าการลาเนื่องจากน้ำท่วมถนนที่เป็นทางสัญจรถูกตัดขาดทำให้ไม่สามารถมาทำงานได้ ไม่เข้าลักษณะการลาทั้ง 3 ประเภท
แน่นอนว่าไม่ใช่ลาป่วย ไม่ใช่ลากิจและไม่ใช่ลาพักร้อน แต่เป็นเหตุสุดวิสัยตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิย์มาตรา 219 ที่ลูกจ้างไม่สามารถไปทำงานได้ ลูกจ้างหลุดพ้นในการทำงานให้กับนายจ้าง ไม่ถือว่าเป็นการขาดงาน แต่ลูกจ้างก็ไม่มีสิทธิ์ได้รับค่าจ้างเช่นกัน
2. ในกรณีโรงงานถูกน้ำท่วมก็เช่นกัน ถ้าเป็นเหตุสุดวิสัยที่ทางโรงงานและลูกจ้างไม่อาจปัดป้องได้ ถือว่านายจ้างหลุดพ้นจากการชำระหนี้นายจ้างไม่ต้องรับผิดชอบจ่ายค่าจ้าง(คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 118/2525)
แต่ในทางกลับกัน กรณีพื้นที่อื่นๆท่วมไม่ได้ท่วมโรงงานโรงงานยังสามารถประกอบกิจการได้แต่โรงงานสั่งหยุดการผลิตชั่วคราวเนื่องจากไม่มียอดสั่งซื้อในช่วงน้ำท่วมแบบนี้ไม่ถือเป็นเหตุสุดวิสัยและหากลูกจ้างยังมีความพร้อมในการปฏิบัติงานอยู่นายจ้างยังมีหน้าที่ต้องจ่ายค่าจ้างให้แก่ลูกจ้าง (คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1277 – 1278/2529)
เป็นกำลังใจให้ทุกท่าน
และขอให้ผ่านพ้นไปได้นะคะ
——-
ติดต่องานจ้าง
สอบถามค่าบริการได้ทาง
Info@legalclinic.co.th