กรุณารอสักครู่

 

บทความแนะนำ

ลีกัล คลินิก แอนด์ เอดดูเคชั่น

กฏหมายแรงงานข้อบังคับบริษัทและสัญญาจ้าง หากขัดกับกฎหมายถือเป็นโมฆะ

5 September 2021

เนื่องจากมีคำถามว่า ข้อบังคับบริษัทและสัญญาจ้างแรงงานมีเนื้อหาที่ขัดกับกฎหมาย และเราเซ็นยอมรับไปแล้ว จะมีผลอย่างไร

คลินิกกฎหมายแรงงานมีคำตอบค่ะ

1.เนื่องจากกฎหมายแรงงานเป็นกฎหมายที่เกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน นายจ้าง กับลูกจ้าง จะตกลงให้ขัดหรือแย้งกับกฎหมายในทางที่ไม่เป็นคุณกับลูกจ้างไม่ได้ ข้อตกลงนั้นตกเป็นโมฆะ ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 150

 

2.ตัวอย่าง คดีที่ศาลวินิจฉัยว่าข้อตกลงในสัญญาจ้างและข้อบังคับเป็นโมฆะ มีอะไรบ้างวันนี้มาดูกัน พอสังเขป

 

***ข้อตกลงให้ทำงานโดยไม่มีวันหยุดประจำสัปดาห์ ข้อตกลงนี้ใช้บังคับไม่ได้ เพราะพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 มาตรา 28 วรรคหนึ่งบัญญัติว่า “ให้นายจ้างจัดให้ลูกจ้างมีวันหยุดประจำสัปดาห์สัปดาห์หนึ่งไม่น้อยกว่าหนึ่งวัน…” ดังนี้ การที่บริษัทตกลงกันกับลูกจ้างไว้ในใบสมัครงานว่า ไม่มีวันหยุดประจำสัปดาห์จึงขัดต่อกฎหมายดังกล่าว (คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7670/2547)

 

***ข้อตกลงให้เลิกจ้างลูกจ้างหญิงเมื่อตั้งครรภ์ ไม่มีผลใช้บังคับ เพราะพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 มาตรา 43 กำหนดว่า ห้ามเลิกจ้างลูกจ้างหญิงเพราะเหตุมีครรภ์ ข้อบังคับนี้จึงตกเป็นโมฆะ ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 150 (คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1394/2549)

 

***ข้อตกลงกำหนดเกษียณอายุของลูกจ้างชายกับลูกจ้างหญิงแตกต่างกัน ไม่มีผลใช้บังคับ เพราะพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 มาตรา 15 กำหนดให้นายจ้างปฏิบัติต่อลูกจ้างชายและหญิงโดยเท่าเทียมกัน ในการจ้างงาน เว้นแต่ ลักษณะหรือสภาพของงานไม่อาจปฏิบัติเช่นนั้นได้ การที่นายจ้างกำหนดการเกษียณอายุให้ลูกจ้างชายเกษียณเมื่ออายุ 55 ปี ลูกจ้างหญิงเกษียณอายุ 50 ปี โดยไม่ปรากฏว่า ลักษณะหรือสภาพของงานไม่อาจปฏิบัติเช่นนั้นได้ นับได้ว่าเป็นการเลือกปฏิบัติ เนื่องจากเพศ ฝ่าฝืนกฎหมายดังกล่าวตกเป็นโมฆะ ไม่มีผลใช้บังคับ (คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6011-6017/2545)

 

***ข้อตกลงสละสิทธิ์ไม่รับ คืนเงินประกันใหม่มีผลใช้บังคับ เพราะ พรบ.คุ้มครองพ.ศ. 2541 มาตรา 10 วรรคสอง บัญญัติว่า “ในกรณีที่นายจ้างเรียกหรือรับเงินประกันหรือทำสัญญาประกันกับลูกจ้างเพื่อชดใช้ความเสียหายที่ลูกจ้างเป็นผู้กระทำเมื่อนายจ้างเลิกจ้างหรือลูกจ้างลาออก หรือสัญญาประกันสิ้นสุดให้นายจ้างคืนเงินประกันพร้อมดอกเบี้ยถ้ามีให้แก่ลูกจ้าง…” ดังนั้น ข้อตกลงสละสิทธิ์ไม่รับคืนเงินประกัน ขัดกับกฎหมายมาตราดังกล่าว จึงตกเป็นโมฆะ (คำพิพากษา ศาลฎีกาที 8211/2547)

 

***ข้อตกลงให้ทำงานล่วงเวลาโดยไม่จ่ายค่าล่วงเวลา หรือให้ชดเชยกับการขาดงาน หรือเหมาค่าล่วงเวลา ไม่มีผลใช้บังคับ เพราะพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงานมาตรา 61 และ 63 กำหนดให้นายจ้างจ่ายค่าล่วงเวลาให้กับลูกจ้างเป็นเงิน เมื่อลูกจ้างทำงานล่วงเวลาตามที่ลูกจ้างทำงานจริง (คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1390/2537 , 898/2520 , 5978/2550)

 

***ข้อตกลงไม่ต้องบอกกล่าวล่วงหน้าก่อนเลิกจ้าง กรณีไม่ผ่านทดลองงาน ไม่มีผลใช้บังคับ เพราะ ในการบอกเลิกสัญญาจ้าง ไม่ว่าจะเป็นการลาออกหรือนายจ้างเลิกจ้าง ก็จะต้องบอกกล่าวล่วงหน้าไม่น้อยหนึ่งคราวการจ่ายค่าจ้าง เพื่อให้มีผลเป็นการเลิกจ้างในคราวถัดไป ตาม ป.พ.พ. มาตรา582 และมาตรา 17 วรรคสอง พรบ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 ข้อตกลงดังกล่าวจึงตกเป็นโมฆะ (คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5249/2545)

 

***ข้อตกลงให้เลิกจ้างโดยไม่ต้องจ่ายค่าชดเชยและค่าเสียหายใดๆไม่มีผลใช้บังคับ เพราะเมื่อลูกจ้างถูกเลิกจ้างโดยที่ลูกจ้างไม่ได้กระทำความผิด ตาม พรบ.คุ้มครองแรงงานฯมาตรา 119 ลูกจ้างย่อมมีสิทธิได้รับค่าชดเชยตามมาตรา 118 พรบ.เดียวกัน ข้อตกลงดังกล่าวตกเป็นโมฆะ

 

ข้อตกลงที่ยกขึ้นมาเป็นตัวอย่างนั้นเป็นเพียงบางส่วนเท่านั้น สำหรับองค์กรหรือหน่วยงานใดยังมีข้อตกลงที่มีลักษณะดังกล่าวหรือขัดกับกฎหมายในลักษณะที่ไม่เป็นคุณกับลูกจ้าง พึงระลึกไว้ว่าตกเป็นโมฆะ หากมีข้อพิพาทกันขึ้นมา ข้อตกลงดังกล่าวใช้บังคับไม่ได้

 

ดังนั้น นายจ้างอย่าคิดว่าทุกอย่างในสัญญาบังคับได้ แต่ควรเข้าใจเงื่อนไขกฎหมายก่อน และร่างสัญญาให้สอดคล้องกับกฎหมายและใช้ในทางปฏิบัติได้จริงด้วยนะคะ

 

————- 💙

ติดต่องานจ้าง

✅ คดีความ

✅ ที่ปรึกษากฎหมาย

✅ร่างข้อบังคับและสัญญาทั้ง Thai/Eng

✅งานบรรยายกฎหมายแรงงาน PDPA

✅VISA & WORKPERMIT

สอบถามค่าบริการได้ทาง

Info@legalclinic.co.th

และสำหรับท่านใดที่เห็นว่าบทความนี้เป็นประโยชน์ สามารถแชร์ หรือนำไปอ้างอิงก็สามารถนำไปใช้ได้เลยนะคะ แต่ช่วยใส่ Link Page ต้นทางของคลินิกกฎหมายแรงงานให้ด้วยน้า