กรุณารอสักครู่

 

บทความแนะนำ

ลีกัล คลินิก แอนด์ เอดดูเคชั่น

กฏหมายแรงงานสัญญาจ้างมีกำหนดระยะเวลา ไม่ต้องบอกกล่าวล่วงหน้า แต่ต้องจ่ายค่าชดเชย

11 July 2025
สัญญาจ้างมีกำหนดระยะเวลา ไม่ต้องบอกกล่าวล่วงหน้า แต่ต้องจ่ายค่าชดเชย
 
ประเด็นนี้ นายจ้างหลายคนมักเข้าใจผิด และยึดแนวปฏิบัติที่ไม่ถูกต้อง ทำให้ถูกฟ้องร้องกันมาหลายรอบแล้ว คือ ความเข้าใจที่ว่า…
 
“สัญญาจ้างที่มีกำหนดระยะเวลาไม่เกิน 2 ปีไม่ต้องจ่ายค่าชดเชย”
ความเข้าใจดังกล่าว ทำให้เกิดการทำสัญญาลักษณะแบบมีกำหนดระยะเวลา เพื่อเลี่ยงค่าชดเชยกันมาเรื่อยๆ ซึ่งความเข้าใจดังกล่าวไม่ถูกต้องเสียทีเดียว ส่วนไม่ถูกยังไงนั้น มาอ่านกัน
 
1. เมื่อนายจ้างกับลูกจ้างได้ทำสัญญาจ้างแรงงานที่มีกำหนดระยะเวลาการจ้างไว้ เมื่อครบกำหนดระยะเวลาตามสัญญาจ้างดังกล่าว สัญญาจ้างย่อมสิ้นสุดลงทันที นายจ้างหรือลูกจ้าง “ไม่ต้องบอกกล่าวต่อกันว่าสัญญาจ้างเป็นอันสิ้นสุดหรือเป็นอันเลิกกัน”
 
2. การที่สัญญาจ้างสิ้นสุดลงเมื่อครบกำหนดระยะเวลาการจ้างถือว่าเป็นการเลิกจ้างด้วย
ดังนั้น หากลูกจ้างตามสัญญาจ้างดังกล่าวทำงานติดต่อกับครบ 120 วัน นายจ้าง ***ต้องจ่ายค่าชดเชยให้กับลูกจ้าง***
 
3. ส่วนวรรค 3 และ 4 ของมาตรา 118 ที่บอกว่า “ค่าชดเชยตามมาตรา 118 มิให้ใช้บังคับแก่ลูกจ้างที่มีกำหนดระยะเวลาการจ้างไว้แน่นอนและเลิกจ้างตามกำหนดระยะเวลาสำหรับการจ้างงานในโครงการเฉพาะที่มิใช่งานปกติของธุรกิจ หรือการค้าของนายจ้าง ซึ่งต้องมีระยะเวลาเริ่มต้นและสิ้นสุดของงานที่แน่นอนหรือในงานอันมีลักษณะเป็นครั้งคราว…”
 
***ความตามข้อนี้ คือ ต้องไม่ใช่กิจการของนายจ้างจริงๆ เช่น บริษัทรับเหมาก่อสร้างว่าจ้างลูกจ้างทำงานตำแหน่งธุรการตามโครงการที่รับเหมา แม้เป็นสัญญาปีต่อปี ก็ถือว่าจ้างงานในปกติธุรกิจของนายจ้างไม่ใช่งานโครงการเฉพาะ ดังนั้นเมื่อครบกำหนดระยะเวลาการจ้างต้องจ่ายค่าชดเชย
 
เข้าใจให้ถูกต้องก็เป็นส่วนหนึ่งของการวางแผนการบริหารบุคลากรและลดข้อพิพาทระหว่างนายจ้างกับลูกจ้างนะคะ
 
คำพิพากษาศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษที่ 147/2563
ก่อนที่สัญญาจ้างจะครบกำหนดมีการเจรจาต่อสัญญาจ้างระหว่างนายจ้างกับลูกจ้าง ลูกจ้างต้องการให้ต่อสัญญาจ้างอีก 1 ปี แต่นายจ้างต้องการต่อสัญญาอีก 6 เดือน จึงไม่สามารถตกลงกันได้ และไม่ได้มีการทำสัญญาจ้างกันต่อไป เมื่อสัญญาจ้างมีกำหนดระยะเวลาสิ้นสุดของสัญญาไว้ กรณีจึงถือได้ว่าเป็นการเลิกจ้างเพราะเหตุสิ้นสุดสัญญาจ้าง มาตรา 118 วรรคสอง นายจ้างต้องจ่ายค่าชดเชยโดยนับระยะเวลาการทำงานต่อเนื่องของสัญญาทุกฉบับรวมกันเป็นอายุงาน
 
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3866 – 3867/2561
นายจ้างทำสัญญาจ้างลูกจ้างเป็นวิศวกรควบคุมงานก่อสร้างโครงการรวม สอง ฉบับเมื่อครบกำหนดแล้วไม่ได้จ้างทำงานต่อถือเป็นการเลิกจ้างตามความหมายของพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงานพ.ศ. 2541 มาตรา 118 วรรคสอง แล้วเมื่อสัญญาฉบับแรกและฉบับที่ 2 จะเป็นการจ้างให้ทำงานในโครงการต่างกัน แต่สัญญาทั้งสอง ฉบับมีลักษณะงานเดียวกันและมีความต่อเนื่องเกี่ยวพันกัน จึงนับระยะเวลาตามสัญญาจ้างทั้งสองฉบับเพื่อคำนวณค่าชดเชย
 
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 607/2559
นายจ้างทำสัญญาจ้างปีต่อปี เมื่อครบสัญญา 1 ปี แล้วมีการต่อสัญญากันใหม่ เมื่อสิ้นสุดสัญญาฉบับสุดท้ายแล้วไม่มีการจ้างกันต่อไป ลูกจ้างมีสิทธิได้รับค่าชดเชย แต่เป็นการเลิกจ้างเพราะเหตุตามสัญญาจึงไม่ใช่การเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรม เมื่อนายจ้างให้การต่อสู้แล้วการที่ศาลแรงงานไม่ได้ส่งคดีเข้าศูนย์ไกล่เกลี่ยและพิจารณาคดีไปนั้น กระบวนการพิจารณาของศาลชอบแล้ว
 
🏛️ สนใจติดต่องาน ขอทราบค่าบริการ ⚖️
💬 คดีความ
💬 ที่ปรึกษากฎหมาย
💬 ร่างข้อบังคับและสัญญาทั้ง 💬Thai/Eng
💬 งานบรรยาย/อบรม
💼 in-house training
 
สอบถามค่าบริการได้ทาง info@legalclinic.co.th
 
ช่องทางความรู้อื่นๆสามารถติดตามได้ที่
🌐 https://legalclinic.co.th/
 
🌐 https://www.youtube.com/labourlawclinic
 
🌐 https://www.tiktok.com/@labourlawclinic
 
#ลูกจ้าง #hr #คลินิกกฎหมายแรงงาน #มนุษย์เงินเดือนรู้กฎหมาย #ทนายฝ้าย #กฎหมายแรงงาน #วันหยุด #โอที #ot #ค่าจ้าง #ค่าแรง #ค่าทำงาน
#คดีแรงงาน #ทนายคดีแรงงาน #ทนายด้านแรงงาน #HR #เงินเดือน #ลาออก #เลิกจ้าง #PROFESSIONAL #บริษัท #นายจ้าง #ค่าชดเชย #ที่ปรึกษากฎหมาย #ลูกน้อง #ลูกจ้าง #เจ้านาย #กฎหมายแรงงาน #สัญญาจ้าง
#ONLINETRAINING #ไล่ออก #ระบบระเบียบPDPA #PDPA #แรงงาน #กฎหมาย #ประกันสังคม
#PARTTIMEJOBS #PARTTIME