ขัดคำสั่งให้ย้ายแผนก ลูกจ้างไม่ปฏิบัติตาม นายจ้างมีหนังสือเตือนแล้ว ถือเป็นการผิดซ้ำคำเตือน นายจ้างเลิกจ้างได้ ไม่ต้องจ่ายค่าชดเชย
อย่างที่เคยบอก การย้ายแผนกการเปลี่ยนตำแหน่งหน้าที่ หากการย้ายและการเปลี่ยนตำแหน่งนั้น เงินเดือน สวัสดิการ หรืออำนาจบังคับบัญชาของลูกจ้างไม่ต่ำกว่าเดิมแล้ว ผู้เขียนคนสวยมีความเห็นว่า นายจ้างทำได้ เพราะเป็นเรื่องอำนาจบริหารจัดการของนายจ้าง ไม่เป็นการเปลี่ยนแปลงสภาพการจ้าง แต่การย้ายนั้น ก็ต้องเป็นธรรม ไม่มีเจตนากลั่นแกล้ง หากนายจ้างมีคำสั่งให้ย้ายแผนกแล้วลูกจ้างขัดคำสั่ง นายจ้างมีหนังสือเตือน และยังขัดคำสั่งถือเป็นการผิดซ้ำคำเตือน ที่นายจ้างเลิกจ้างได้โดยไม่ต้องจ่ายค่าชดเชย เทียบเคียงคำพิพากษาศาลฎีกา
1. คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1511-1512/2557 เรื่อง ขัดคำสั่งให้ย้ายแผนก แต่ลูกจ้างไม่ปฏิบัติตามซึ่งนายจ้างได้เคยเตือนเป็นหนังสือแล้วจึงเป็นการทำผิดซ้ำคำเตือน เลิกจ้างโจทก์ไม่ต้องจ่ายค่าชดเชย
โจทก์เป็นลูกจ้างจำเลย จำเลยยุบแผนกจัดสวน จำเลยจึงสั่งให้โจทก์ทั้งสองไปปฏิบัติหน้าที่ที่แผนกปั่น ฝ่ายผลิต แต่โจทก์ทั้งสองไม่ยอมฝึกงาน จำเลยจึงได้ตักเตือนเป็นหนังสือ ต่อมาจำเลยมีคำสั่งให้โจทก์ทั้งสองปฏิบัติงานช้ำอีกแต่โจทก์ทั้งสองไม่ปฏิบัติตาม จำเลยจึงมีคำสั่งพักงานโจทก์ทั้งสอง ต่อมาวันที่วันที่ 4 พฤศจิกายน 2549 ฝ่ายบุคคลมีคำสั่งให้โจทก์ทั้งสองไปทดลองอีก แต่โจทก์ทั้งสองไม่ปฏิบัติตามอีก จึงเป็นการฝ่าฝืนคำสั่งของจำเลยอีกภายในเวลาไม่เกิน 1 ปี จำเลยย่อมมีสิทธิเลิกจ้างโจทก์ทั้งสองโดยไม่จ่ายค่าชดเชยตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 มาตรา 119 (4) และไม่ต้องจ่ายสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า
2.คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1515/2557 เรื่อง การโยกย้ายย้ายหน้าที่ของลูกจ้าง เป็นอำนาจบริหารจัดการของนายจ้าง ไม่เป็นการเปลี่ยนแปลงสภาพการจ้างโจทก์เป็นกรรมการลูกจ้าง
เดิมโจทก์ทำงานตำแหน่งพนักงานตรวจสอบคุณภาพ เนื่องจากมีลูกค้าร้องเรียนว่าคุณภาพสินค้าของจำเลยไม่ได้มาตรฐาน จำเลยจึงปรับปรุงวิธีการทำงานใหม่ และจำเลยได้เปลี่ยนแปลงระบบการตรวจสอบคุณภาพไปเป็นระบบประกันคุณภาพ โดยระบบตรวจสอบคุณภาพกระทำหลังจากมีการผลิตแล้ว ส่วนระบบประกันคุณภาพเป็นระบบที่ต้องทำชิ้นงานเองและตรวจสอบเองไปในตัวจนกระทั่งชิ้นงานเสร็จ จำเลยโยกย้ายโจทก์พนักงานกลึงเจาะ โดยมิได้เป็นการกลั่นแกล้งโยกย้ายโจทก์เนื่องจากโจทก์เป็นกรรมการและประธานสหภาพแรงงาน ตามสัญญาจ้างที่ว่าบริษัทมีสิทธิที่จะเปลี่ยนแปลงตำแหน่งหน้าที่หรือโยกย้ายหน่วยงานของพนักงานได้ตามความสามารถและความเหมาะสมหรือตามที่บริษัทเห็นสมควร ดังนั้น โจทก์จึงยินยอมให้จำเลยเปลี่ยนแปลงตำแหน่งหน้าที่ได้ เมื่อยังได้รับเงินเดือนและสวัสดิการเช่นเดิม จึงมีใช่การเปลี่ยนแปลงสภาพการจ้าง
และเช่นเคยสำหรับใครที่ไม่อยากจดจำ ไม่มีเวลาหาข้อมูล แต่มีคำถามในทางปฏิบัติมากมาย อยากหาทนายเคียงข้างธุรกิจ เป็นเพื่อนคู่คิดหรือเป็นมิตรคู่กาย ในการให้คำปรึกษาด้านกฎหมายสักคน สามารถติดต่อมาได้ที่ info@legalclinic.co.th นะคะ
#คลินิกกฎหมายแรงงาน
#ที่ปรึกษากฎหมาย
#คดีแรงงาน #ทนายคดีแรงงาน
#วิทยากรกฎหมายแรงงาน
#วิทยากรสอนกฎหมาย
#วิทยากรPDPA
#วิทยากรอารมณ์ดี