ในกรณีที่มีหมายบังคับคดีส่งมาถึงนายจ้างให้อายัดเงินเดือน ค่าจ้างต่าง ๆ ของลูกจ้างซึ่งเป็นลูกหนี้ตามคำพิพากษา ให้ส่งเงินดังกล่าวไปยังสำนักงานบังคับคดี นายจ้างหรือ HR บริษัท จะต้องดำเนินการอย่างไร ? จะไม่หักนำส่งได้หรือไม่?
คลินิกกฎหมายแรงงานขอตอบดังนี้
เมื่อได้รับหมายบังคับคดีให้อายัดเงินเดือน หรือ เงินโบนัส นายจ้างต้อง “นำส่งเงินดังกล่าว” ไปยังสำนักงานบังคับคดี แต่ทั้งนี้ เงินส่วนที่ไม่ได้อายัดในขณะนั้นต้องคงเหลือไม่น้อยกว่า 20,000 บาท เนื่องจากเป็นจำนวนเงินที่ไม่อยู่ในความรับผิดแห่งการบังคับคดีตามที่กฎหมายกำหนด ตาม ป.วิ.แพ่ง. ม.302(3) แต่หากลูกหนี้มีเงินเดือนเกินกว่า 20,000 บาท เมื่อเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาขอให้อายัดเงินเดือน เจ้าพนักงานบังคับคดีจะอายัดให้ตามจำนวนที่เจ้าหนี้ตามคำพิพากษาร้องขอ แต่ต้องคงเหลือเงินเดือนให้ลูกหนี้ไว้ใช้จ่ายไม่น้อยกว่า 20,000 บาท ตัวอย่างเช่น ถ้าลูกหนี้ได้รับเงินเดือน ๆ ละ 35,000.- บาท เจ้าพนักงานบังคับคดีจะดำเนินการอายัดให้ 15,000 บาท คงเหลือให้ลูกหนี้ไม่น้อยกว่า 20,000 บาท
หากนายจ้างไม่หักเงินนำส่ง ผลจะเป็นอย่างไร ?
ตอบ : เจ้าหนี้ตามคำพิพากษาจะยื่นคำร้องต่อศาลเพื่อขอให้นายจ้างรับผิดชำระเงินตามคำสั่งของเจ้าพนักงานบังคับคดีแทนลูกจ้าง ตาม ป.วิ.แพ่ง ม.321
หากลูกจ้างถูกอายัดเงินเดือน เงินค่าจ้างต่างๆ ลูกจ้างขอลดยอดจำนวนเงินที่ถูกอายัดได้หรือไม่
ตอบ : ลูกจ้างสามารถยื่นคำร้องขอลดยอดลงได้ โดยไปยื่นคำร้องต่อเจ้าพนักงานบังคับคดี และชี้แจงถึงความจำเป็นที่ต้องขอลด เช่น ต้องเลี้ยงดูบุตร ครอบครัว ต้องผ่อนบ้าน จ่ายค่าน้ำค่าไฟ ฯลฯ โดยต้องระบุว่าขอลดเหลือเท่าไร และให้แนบสลิปเงินเดือน หนังสือรับรองเงินเดือน ใบเสร็จค่าใช้จ่ายต่าง ๆ หากมีบุตรให้นำสูติบัตรบุตรไปแนบ เพื่อให้เจ้าพนักงานบังคับคดีพิจารณาต่อไป
และเช่นเคยสำหรับใครที่ไม่อยากจดจำ ไม่มีเวลาหาข้อมูล แต่มีคำถามในทางปฏิบัติมากมาย อยากหาทนายเคียงข้างธุรกิจ เป็นเพื่อนคู่คิดหรือเป็นมิตรคู่กาย ในการให้คำปรึกษาด้านกฎหมายสักคน สามารถติดต่อมาได้ที่ info@legalclinic.co.th นะคะ
#คลินิกกฎหมายแรงงาน
#ที่ปรึกษากฎหมาย
#คดีแรงงาน #ทนายคดีแรงงาน
#วิทยากรกฎหมายแรงงาน
#วิทยากรสอนกฎหมาย
#วิทยากรPDPA
#วิทยากรอารมณ์ดี