สัญญากำหนดว่า หลังลาออก"ห้าม" ไปทำธุรกิจประเภทเดียวกัน เกินไปมั้ยพี่ทนาย บังคับใช้ได้จริงเหรอ
ข้อตกลงจำกัดสิทธิในการทำสัญญาจ้างแรงงานนั้น โดยทั่วไปสามารถทำได้ เพราะความสัมพันธ์ระหว่างนายจ้างและลูกจ้าง นอกจากมีหน้าที่ทำงานตามคำสั่งนายจ้างแล้ว ลูกจ้างยังหน้าที่งดเว้นไม่กระทำการใด ๆ ที่ไม่สมควรแก่การปฏิบัติหน้าที่ของตนให้ลุล่วงไปโดยถูกต้องและสุจริต เช่น ลูกจ้างต้องไม่เปิดเผยความลับทางการค้าของนายจ้าง ไม่ทำให้ทรัพย์สินของนายจ้างได้รับความเสียหาย ไม่ไปทำงานหรือเข้าเป็นหุ้นส่วน ผู้ถือหุ้น เป็นผู้บริหารในสถานประกอบการที่มีลักษณะเป็นอย่างเดียวกันและเป็นการแข่งขันกับนายจ้าง ซึ่งการจำกัดสิทธิดังกล่าวนั้น กำหนดได้ทั้งระหว่างที่เป็นลูกจ้าง และหลังพ้นสภาพไปแล้ว
กรณีที่ลูกจ้างลาออกไปประกอบกิจการค้าแข่ง หากในสัญญามีข้อตกลงว่าห้ามลูกจ้างประกอบกิจการค้าแข่ง ดังนี้ นายจ้างสามารถฟ้องเรียกค่าเสียหายได้ หากข้อสัญญานั้นจำกัดสิทธิหรือนายจ้างได้เปรียบเกินสมควร ศาลมีอำนาจปรับลดได้ โดยหลักในการพิจารณาของศาลนั้น ประกอบด้วย
1.ข้อตกลงจำกัดสิทธินั้น ต้องไม่เป็นการตัดการประกอบอาชีพของลูกจ้างเลยทีเดียว เช่น กำหนดว่าห้ามประกอบกิจการค้าแข่งตลอดระยะเวลาที่ลาออกไปหรือพ้นสภาพจากการเป็นพนักงาน
ไม่ได้
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3597/2561 บันทึกข้อตกลงการทำงานและการอบรมการทำงาน แม้เป็นการจำกัดสิทธิหรือเสรีภาพของจำเลยทั้งสองในการประกอบอาชีพ แต่คงห้ามเฉพาะไม่ให้ไปทำงานในบริษัทคู่แข่งหรือไม่ไปทำงานกับบริษัทอื่นใดที่ประกอบธุรกิจประเภทเดียวกันกับโจทก์ รวมทั้งไม่ทำการใดอันเป็นการแข่งขันกับธุรกิจของโจทก์เฉพาะที่อาศัยข้อมูลทางการค้า อันเป็นความลับทางการค้าของโจทก์ไม่ว่าทางตรงหรือทางอ้อม ตลอดจนไม่กระทำหรือช่วยเหลือหรือยินยอมให้บุคคลใดกระทำการดังกล่าวตลอดระยะเวลาของสัญญานี้และภายในกำหนดระยะเวลาสองปีนับแต่สัญญานี้สิ้นสุดลงเท่านั้น มิได้เป็นการตัดการประกอบอาชีพของจำเลยทั้งสองโดยสิ้นเชิง ตำแหน่งหน้าที่ของจำเลยทั้งสองมีโอกาสนำข้อมูลความลับทางการค้าของโจทก์ไปใช้ในการประกอบอาชีพ ซึ่งอาจทำให้โจทก์ต้องเสียประโยชน์ทางการค้า ประกอบกับเมื่อคำนึงถึงทางได้เสียทุกอย่างอันชอบด้วยกฎหมายของโจทก์และจำเลยทั้งสองแล้ว การจำกัดสิทธิในการประกอบอาชีพของจำเลยทั้งสองอันเป็นการแข่งขันกับโจทก์ เป็นระยะเวลาเพียงสองปีนับแต่วันที่สัญญานี้สิ้นสุด ไม่ทำให้จำเลยทั้งสองผู้ถูกจำกัดสิทธิต้องรับภาระมากกว่าที่จะพึงคาดหมายได้ตามปกติ จำเลยทั้งสองยังประกอบอาชีพอื่นๆได้โดยไม่มีข้อจำกัด จึงไม่เป็นข้อสัญญาที่ไม่เป็นธรรม
2. หากจำกัดสูงเกินสมควร หรือทำให้นายจ้างได้เปรียบเกินสมควร ศาลมีอำนาจปรับลดข้อตกลงให้เป็นธรรมแก่คู่กรณีได้
3. เนื่องจากข้อตกลงเป็นเรื่องการจำกัดสิทธิ ในการบังคับใช้และการตีความ ต้องตีความอย่างเคร่งครัด เช่น ห้ามมิให้ประกอบกิจการค้าแข่ง แต่ไม่ได้ห้ามว่าให้ไปทำงานกับนายจ้างอื่นแม้จะเป็นกิจการประเภทเดียวกัน อันนี้ลูกจ้างสามารถทำได้ เทียงเคียงคำพิพากษาฎีกาที่ 2169/2557 เรื่อง ข้อตกลงห้ามมิให้ประกอบกิจการอันเป็นการแข่งขันกับธุรกิจของนายจ้างภายใน 1 ปี
ไม่ได้ตีความรวมถึงการที่ลูกจ้างไปทำงานกับนายจ้างอื่นด้วยแม้จะเป็นกิจการประเภทเดียวกันโจทก์ประกอบธุรกิจจำหน่ายสินค้าจำพวกวัสดุอุปกรณ์ก่อสร้าง อุปกรณ์ตกแต่งบ้าน ฯลฯ ใช้ซื้อว่า”ห้างโฮมโปร” จำเลยเป็นลูกจ้างตำแหน่งผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ จำเลยมีข้อตกลงว่าจะไม่ประกอบกิจการหรือเข้าร่วมในการประกอบกิจการใดๆ อันเป็นการแข่งขันกับธุรกิจของโจทก์ภายใน 1 ปี นับแต่วันที่จำเลยพ้นสภาพการเป็นพนักงาน เห็นว่า ข้อตกลงในการห้ามจำเลยหลังจากพ้นสภาพการเป็นลูกจ้างของโจทก์นั้น เป็นข้อตกลงในการจำกัดสิทธิของจำเลย จึงต้องตีความในข้อตกลงดังกล่าวอย่างเคร่งครัด เมื่อเงื่อนไขในข้อตกลงนั้นเป็นการห้ามมิให้ประกอบกิจการหรือเข้าร่วมในการประกอบกิจการใดๆ เอง ดังนั้นการที่จำเลยเข้าไปเป็นเพียงลูกจ้างของบริษัท ช. แม้บริษัทที่เป็นนายจ้างใหม่ของจำเลยจะเป็นบริษัทที่แข่งขันกับธุรกิจของโจทก์ก็ตาม ก็ถือไม่ได้ว่าจำเลยประกอบกิจการหรือเข้าร่วมในการประกอบกิจการอันเป็นการแข่งขันกับธุรกิจของโจทก์ด้วยตนเอง จำเลยจึงไม่ได้ผิดสัญญาตามนั้น โจทก์จึงไม่มีสิทธิเรียกค่าเสียหาย
และเช่นเคยสำหรับใครที่ไม่อยากจดจำ ไม่มีเวลาหาข้อมูล แต่มีคำถามในทางปฏิบัติมากมาย อยากหาทนายเคียงข้างธุรกิจ เป็นเพื่อนคู่คิดหรือเป็นมิตรคู่กาย ในการให้คำปรึกษาด้านกฎหมายสักคน สามารถติดต่อมาได้ที่ inbox
#ลาออก #ค้าแข่ง #แรงงาน #ลาป่วย #ไล่ออก #Onlinetraining #กฎหมายแรงงาน #เจ้านาย #ลูกจ้าง #ลูกน้อง #ที่ปรึกษากฎหมาย #อบรมpdpa #บริษัท #เลิกจ้าง #เงินเดือน #ot #HR