วันนี้มีมาศาลด้วยเรื่อง นายจ้างให้ลูกจ้างกู้ยืมเงินส่วนตัว มีดอกเบี้ยและกำหนดชำระชัดเจนแน่นอนต่อมาลูกจ้างไม่ยอมคืนเงิน ทวงถามแล้วก็ไม่จ่าย จะหักเงินออกจากค่าจ้างเอามาใช้หนี้ก็ทำไม่ได้
จึงเป็นคำถามว่าต้องไปศาลอะไร ระหว่างศาลแรงงานกับศาลแพ่ง?? แล้วทำไมถึงหักค่าจ้างเอามาชำระหนี้ไม่ได้?? ลองทายกันในใจก่อนที่จะเฉลย 🤔🤔
การที่นายจ้างให้เงินส่วนตัวลูกจ้างในการกู้ยืมโดยมีกำหนดระยะเวลาชัดเจนในการคืนเงินมีดอกเบี้ยที่แน่นอน เมื่อลูกจ้างผิดนัดชำระ “นายจ้างไม่สามารถหักเอากับค่าจ้างของลูกจ้างได้” เพราะอะไรนะรึ เราขออธิบาย ดังเน๊
1.นายจ้างให้ลูกจ้างกู้ยืม เป็นการส่วนตัวและมีดอกเบี้ยนั้น แม้ลูกจ้างจะผิดนัดชำระหนี้ “นายจ้างก็จะหักค่าจ้างมาชำระหนี้ไม่ได้” เพราะ พรบ.คุ้มครองแรงงาน มาตรา 76 กำหนด “กฎหมายห้ามมิให้นายจ้างหักค่าจ้าง ค่าล่วงเวลา ค่าทำงานในวันหยุด” เว้นแต่เป็นการหักเพื่อ…
(3) ชำระหนี้สินสหกรณ์ออมทรัพย์ หรือสหกรณ์อื่นที่มีลักษณะเดียวกันกับสหกรณ์ออมทรัพย์หรือหนี้ที่เป็นไปเพื่อสวัสดิการที่เป็นประโยชน์แก่ลูกจ้างฝ่ายเดียวโดยได้รับความยินยอมล่วงหน้าจากลูกจ้าง…
ดังนั้น จากข้อยกเว้นข้างต้น จะเห็นได้ว่าหากหนี้ที่เป็นไปเพื่อสวัดิการที่เป็นประโยชน์แก่ลูกจ้างฝ่ายเดียว และลูกจ้างให้ความยินยอม นายจ้างก็หักค่าจ้างได้
แต่ข้อเท็จจริงในคดีนี้คือ นายจ้างให้ลูกจ้างกู้ยืมเงินส่วนตัวแถมมีดอกเบี้ย การกู้ยืมเงินไม่ได้เป็นไปเพื่อประโยชน์ลูกจ้างฝ่ายเดียว และเป็นเงินส่วนตัวของนายจ้างอีกไม่ได้เป็นเงินของบริษัท ต่อให้ลูกจ้างยินยอมให้หัก ก็ไม่สามารถทำได้ เพราะผิดข้อกฎหมายตามที่กล่าวไปเบื้องต้นนายจ้างจะต้องจ่ายค่าจ้างเต็มจำนวน
ส่วนการแก้ไขปัญหาของนายจ้างรายนี้เมื่อทวงก็ไม่ได้ หักเงินก็ไม่ได้ เงินเดือนออกทีไร ต่อให้ไปรอหน้าตู้ให้พนักงานกดมาให้เลย กลับปรากฏว่าพนักงานโอนเข้าบัญชีอื่นไปแล้วเรียบร้อย จะให้ออกโดยไม่มีความผิดก็เสียค่าชดเชยอีก จึงจำเป็นจะต้องมาใช้สิทธิ์ทางศาลแพ่งต่อไป
ใครที่มีปัญหาหนี้สินอยู่ในช่วงนี้ หากเป็นไปได้ ลองเจรจากับเจ้าหนี้ดูนะคะขอให้การขึ้นศาลเป็นทางออกสุดท้ายนะคะ
ด้วยรักและห่วงใย