กรุณารอสักครู่

 

บทความแนะนำ

ลีกัล คลินิก แอนด์ เอดดูเคชั่น

กฎหมายกฏหมายแรงงานนายจ้างร่วมของลูกจ้าง Subcontract คืออะไร แบ่งกันรับผิดยังไง?

7 October 2023

นายจ้างร่วมของลูกจ้าง Subcontract คืออะไร แบ่งกันรับผิดยังไง?

การจ้างเหมาแรงงาน (Subcontract) เข้ามาทำงานในตำแหน่งที่เกี่ยวข้องกับการผลิตหรือธุรกิจของผู้ประกอบกิจการแล้ว ลูกจ้างเหมาค่าแรงเหล่านี้จะถือเป็นลูกจ้างของผู้ประกอบกิจการไปโดยผลของกฎหมายทันที ซึ่งก็หมายความว่าผู้ประกอบกิจการจะเป็น “นายจ้างร่วม” กับผู้ให้บริการรับเหมาแรงงาน ซึ่งจะต้องร่วมรับผิดกับผู้ให้บริการรับเหมาแรงงานในการปฏิบัติตามกฎหมายคุ้มครองแรงงานต่อลูกจ้างรับเหมาค่าแรงด้วย

ในส่วนของนายจ้างหลัก ซึ่งมีการจ้างแรงงานเป็นสัญญาประเภทหนึ่งประกอบด้วยบุคคลสองฝ่าย ฝ่ายหนึ่งเรียกว่านายจ้าง ส่วนอีกฝ่ายหนึ่งเรียกว่าลูกจ้าง โดยฝ่ายที่เป็นนายจ้างเป็นฝ่ายที่มีสิทธิในการมอบหมาย
การงานให้กับฝ่ายที่เป็นลูกจ้างทำในขอบเขตของงานที่ฝ่ายนายจ้างเป็นผู้กำหนดหรือตามที่ทั้งสองฝ่ายตกลงกัน ตาม ป.พ.พ.มาตรา 575 อันวา่ จ้างแรงงานนั้น คือสัญญา ซึ่งบุคคลคนหนึ่ง เรียกว่าลูกจ้าง ตกลงจะ
ทำงานให้แก่บุคคลอีกคนหนึ่ง เรียกว่านายจ้าง และนายจ้างตกลงจะให้สินจ้างตลอดเวลาที่ทำงานให้ รวมถึงหน้าที่ตามกฎหมายแรงงานบางประการเกี่ยวกับการจ่ายเงินเข้ากองทุนเงินทดแทน กองทุนประกันสังคม รวมทั้งภาระหน้าที่ตามกฎหมายอย่างอื่นที่ผู้ประกอบกิจการในฐานะนายจ้างจะต้องร่วมรับผิดชอบกับลูกจ้าง

ในส่วนของนายจ้างร่วม (นายจ้างที่นายจ้างหลักส่งลูกจ้างไปทำงานให้) มาตรา 11/1 ในกรณีที่ผู้ประกอบกิจการมอบหมายให้บุคคลหนึ่งบุคคลใดเป็นผู้จัดหาคนมาทำงานอันมิใช่การประกอบธุรกิจจัดหางานโดยการทำงานนั้นเป็นส่วนหนึ่งส่วนใดในกระบวนการผลิตหรือธุรกิจในความรับผิดชอบของผู้ประกอบกิจการ และโดยบุคคลนั้นจะเป็นผู้ควบคุมดูแลการทำงานหรือรับผิดชอบในการจ่ายค่าจ้างให้แก่คนที่มาทำงานนั้นหรือไม่ก็ตาม ให้ถือว่าผู้ประกอบกิจการเป็นนายจ้างของคนที่มาทำงานดังกล่าวให้ผู้ประกอบกิจการดำเนินกิจการให้ลูกจ้างรับเหมาค่าแรงที่ทำงานในลักษณะเดียวกันกับลูกจ้างตามสัญญาจ้างโดยตรงได้รับสิทธิประโยชน์ และสวัสดิการที่เป็นธรรมโดยไม่เลือกปฏิบัติ”

เมื่อพิจารณาวรรคที่สอง ผู้ประกอบกิจการจะต้องดำเนินการให้ลูกจ้างรับเหมาค่าแรงได้รับสิทธิประโยชน์และสวัสดิการที่ถูกต้อง ตามระเบียบ เช่นเดียวกับลูกจ้างของตนเองที่ทำงานอย่างเดียวกัน ตัวอย่างเช่น มีโบนัสประจำปี มีสวัสดิการค่าอาหาร ค่ารถค่าครองชีพ เป็นต้น (คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 22326-220404/2555)

กล่าวโดยสรุปคือ นายจ้างหลักจะต้องจ่ายค่าจ้าง ส่วนนายจ้างร่วมจะต้องรับผิดชอบลูกจ้างรับเหมาค่าแรงที่ทำงานในลักษณะเช่นเดียวกับลูกจ้างตามสัญญาจ้าง ให้ได้รับสิทธิประโยชน์และสวัสดิการค่าครองชีพ ค่าอาหาร ค่ารถ เงินโบนัส เหมือนกับลูกจ้างตามสัญญาจ้างโดยตรง อย่างเป็นธรรมโดยไม่เลือกปฏิบัติ