กรุณารอสักครู่

 

บทความแนะนำ

ลีกัล คลินิก แอนด์ เอดดูเคชั่น

กฎหมายกฏหมายแรงงาน“โยกย้ายตำแหน่งเนื่องจากการปรับโครงสร้าง” ลูกจ้างไม่ทำตามได้ไหม

14 September 2023
“โยกย้ายตำแหน่งเนื่องจากการปรับโครงสร้าง” ลูกจ้างไม่ทำตามได้ไหม
คราวก่อนเป็นเรื่องของการโยกย้ายตำแหน่งการทำงานและสถานที่ปฏิบัติงานไปแล้วคราวนี้เป็นเรื่องของการโยกย้ายตำแหน่งงานโดยนายจ้างอ้างว่าเป็นการปรับโครงสร้างกรณีนี้ลูกจ้างจะไม่ทำตามได้ไหม ลองมาอ่านกันค่ะ
การปรับโครงสร้างองค์กร หมายถึง การปรับปรุงหรือเปลี่ยนแปลงโครงสร้างการบริหารงาน หรือกระจายอำนาจหน้าที่ขององค์กรจากโครงสร้างเดิม ตลอดจนเป็นการปรับปรุงโครงสร้างต่าง ๆ และหน้าที่ต่าง ๆ ภายในองค์กร เพื่อให้องค์กรบรรลุเป้าหมายและมีประสิทธิภาพมากขึ้น
เมื่อบริษัทจำเป็นต้องมีการปรับโครงสร้างการทำงาน มีการย้ายตำแหน่งลูกจ้างเพื่อให้เกิดสภาพคล่องตัวขึ้น โดยลูกจ้างยังคงได้รับค่าจ้างและสวัสดิการคงเดิม ไม่มีการลดหรือเปลี่ยนแปลง ไม่สั่งให้ลูกจ้างไปทำในหน้าที่ ที่ไม่ได้มีความรู้ความถนัด ที่ใกล้เคียงจากความสามารถของลูกจ้าง นายจ้างก็สามารถปรับเปลี่ยนโครงสร้างและโยกย้ายได้ทั้งนี้ทั้งนั้น ต้องดูจากการกระทำอันที่ไม่ยุติธรรมต่อลูกจ้าง ถ้าบอกคุณว่าเจตนาเป็นการย้ายจริงลดทอนคุณค่าในการทำงานลดเงินเดือนลดตำแหน่งหรือสิทธิประโยชน์อื่นใด นายจ้างก็เตรียมตัวเตรียมใจ จ่ายค่าชดเชย และค่าเลิกจ้างไม่เป็นธรรมไว้ได้เลย
ใครยังนึกภาพไม่ออกและอยากอ่านแนวฎีกา ลองมาพิจารณาตามแนวคำพิพากษานี้นะคะ
คำพิพากษาที่ 6700/2549
บริษัทจำเลยที่ 1 มีคำสั่งให้โจทก์ไปดำรงตำแหน่งผู้จัดการฝ่ายธุรการและบริการ มีหน้าที่วิเคราะห์ต้นทุน รวบรวมข้อมูลและเอกสาร ซึ่งเป็นตำแหน่งที่ปรับโครงสร้างขึ้นใหม่ เนื่องจากเดิมจำเลยที่ 1 มี 26 สาขา และต้องการเพิ่มอีก 5 สาขา การแบ่งงานดังกล่าวเพื่อให้สภาพคล่องตัวขึ้น โดยโจทก์ยังคงได้รับค่าจ้างและสวัสดิการเหมือนเดิม และเป็นไปตามเงื่อนไขการจ้างงาน โจทก์จะไม่ยอมปฏิบัติตามคำสั่งของจำเลยที่ 1 หาได้ไม่ การที่จำเลยที่ 1 มีคำสั่งให้โจทก์ไปดำรงตำแหน่งผู้จัดการฝ่ายธุรการและบริการเมื่อวันที่ 18 มิถุนายน 2547 แต่โจทก์ขอเวลาวันเสาร์อาทิตย์ และจะให้คำตอบในวันจันทร์ที่ 21 มิถุนายน 2547 ครั้นถึงวันที่ 21 มิถุนายน 2547 โจทก์แจ้งปฏิเสธไม่ยอมไปทำงานในตำแหน่งใหม่ จำเลยที่ 1 โดยจำเลยที่ 2 จึงได้มีหนังสือแจ้งเตือนให้โจทก์ปฏิบัติตามคำสั่ง แต่โจทก์ยังคงปฏิเสธ ถือได้ว่าเป็นการจงใจฝ่าฝืนคำสั่งอันชอบด้วยกฎหมายของนายจ้างในกรณีร้ายแรง จำเลยที่ 1 มีสิทธิเลิกจ้างโจทก์โดยไม่ต้องจ่ายค่าชดเชยตาม พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มาตรา 119 (4)
การโยกย้ายตำแหน่งเนื่องจากการปรับโครงสร้างการทำงานและเป็นไปตามเงื่อนไขการจ้าง นายจ้างสามารถกระทำได้ตามอำนาจในทางบริหารองค์กรที่ไม่ขัดกับสัญญาจ้างแรงงาน ทั้งนี้เพื่อให้การปฏิบัติงานลุล่วงไปตามวัตถุประสงค์ที่วางไว้ หากลูกจ้างไม่ปฏิบัติตามตำแหน่งที่ปรับปรุงใหม่แล้ว ย่อมเป็นไปได้ว่าจะก่อให้เกิดความเสียหายแก่นายจ้าง และนายจ้างได้ตักเตือนแล้วไม่ไป ถือว่าจงใจฝ่าฝืนคำสั่งอันชอบด้วยกฎหมายของนายจ้าง ทำให้นายจ้างมีสิทธิเลิกจ้างลูกจ้างโดยไม่ต้องจ่ายค่าชดเชยตาม พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มาตรา 119 (4)
แต่เดี๋ยวก่อน! ถ้าการโยกย้าย นั่นเป็นการลดตำแหน่ง ลดเงินเดือน และสั่งให้ลูกจ้างไปทำในหน้าที่ ที่ไม่ได้มีความรู้ความถนัด ที่ใกล้เคียงจากความสามารถของลูกจ้างเลย ถึงแม้ว่าจะเป็นอำนาจของนายจ้าง ในการโยกย้าย แต่ดูจากการกระทำอันที่ไม่ยุติธรรมต่อลูกจ้าง นายจ้างก็เตรียมตัวเตรียมใจ จ่ายค่าชดเชย และค่าเลิกจ้างไม่เป็นธรรมไว้ด้วยน้า เพราะฉะนั้นจะปรับโครงสร้างองค์กร ต้องมีการปรับเปลี่ยนตำแหน่ง หรือโยกย้าย ขอให้นายจ้างตั้งมั่นบนพื้นฐานจิตใจดีงาม บริสุทธิ์ ชอบด้วยกฎหมาย เป็นธรรม ถ้าข้อนี้ไม่ผ่าน แสดงว่าเจตนาร้าย ก็ไปต่อไม่ได้