กรุณารอสักครู่

 

บทความแนะนำ

ลีกัล คลินิก แอนด์ เอดดูเคชั่น

กฎหมายกฏหมายแรงงานค่าเดินทางที่เข้าพร้อมค่าจ้างเป็นประจำ นายจ้างยกเลิกได้หรือไม่?

2 September 2023

ค่าเดินทางที่เข้าพร้อมค่าจ้างเป็นประจำ นายจ้างยกเลิกได้หรือไม่?

ปกติทำงานที่ต้องเดินทาง แต่มาวันนึงโดนโยกย้ายให้อยู่ประจำบริษัทฯ ไม่ต้องเดินทางแล้ว นายจ้างจึงจะยกเลิก ค่าเดินทางที่เข้าพร้อมค่าจ้างเป็นประจำ ทำได้หรือไม่

พระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 มาตรา 5 บัญญัติว่า “ค่าจ้าง” หมายความว่า เงินที่นายจ้าง และลูกจ้างตกลงกันจ่ายเป็นค่าตอบแทนในการทำงานตามสัญญาจ้างสำหรับระยะเวลาทำ งานปกติเป็นรายชั่วโมง รายวัน รายสัปดาห์ รายเดือน หรือระยะเวลาอื่น หรือจ่ายให้โดยคำนวณตามผลงานที่ลูกจ้างทำได้ในเวลาทำงานปกติของวันทำงาน และให้หมายความรวมถึงเงินที่นายจ้างจ่ายให้แก่ลูกจ้างในวันหยุด และวันลาที่ลูกจ้างมิได้ทำงานแต่ลูกจ้างมีสิทธิได้รับตามพระราชบัญญัตินี้

ค่าน้ำมันรถถ้าเป็นการเหมาจ่าย ไม่ต้องแสดงใบเสร็จรับเงิน ได้รับเงินเท่าๆ กันทุกเดือน ถือว่าค่าน้ำมันรถเป็นค่าจ้างเช่นกัน ดังนั้นหากมีการยกเลิกถือเป็นการเปลี่ยนแปลงสภาพการจ้างเกี่ยวกับจำนวนค่าจ้างและเป็นการเปลี่ยนแปลงที่ไม่เป็นคุณกับลูกจ้าง ตามหลักกฎหมายแล้วนายจ้างจะกระทำไม่ได้ เว้นแต่จะได้รับความยินยอมจากลูกจ้างเสียก่อน

คำพิพากษาฎีกาที่ 11679-11682/2553

1. โจทก์ทั้งสี่ฟ้องว่า ได้รับค่าจ้างอัตราเดือนละ 7,490 บาท 7,420 บาท 7,420 บาท และ7,420 บาท ตามลำดับ ต่อมาเมื่อวันที่ 30 มิถุนายน 2550 จำเลยมีคำสั่งลดค่าจ้างโจทก์ทั้งสี่ลงเหลือเดือนละ 7,000 บาทต่อคน โดยโจทก์ทั้งสี่ไม่ยินยอมอันเป็นการเปลี่ยนแปลงสภาพการจ้าง ขอให้ศาลมีคำสั่งเพิกถอนคำสั่งลดค่าจ้างของจำเลยและให้จำเลยปฏิบัติตามข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างเดิม พร้อมดอกเบี้ยในอัตรา ร้อยละ 15 ต่อปี นับจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ทั้งสี่ตามลำดับ

2. จำเลยให้การว่า จำเลยรับโจทก์ทั้งสี่ ซึ่งเป็นบริษัทรับเหมาแรงงานมาเป็นพนักงานของจำเลย เดิมโจทก์ทั้งสี่ได้รับค่าจ้างเป็นรายวันจากบริษัท วันละ 260 บาท เมื่อเป็นพนักงานของจำเลยแล้ว ได้รับค่าจ้างเดือนละ 7,000 บาท เมื่อผ่านการทดลองงานจะไม่มีการปรับค่าจ้างจนกว่าอายุงานครบหลักเกณฑ์การปรับค่าจ้างประจำปี ก่อนที่จะรับโจทก์ทั้งสี่จำเลยได้ชี้แจงให้โจทก์ทั้งสี่ทราบแล้ว แต่โจทก์ทั้งสี่ได้รับค่าจ้างเกินกว่าสิทธิที่จะได้รับ ซึ่งเกิดจากการผิดพลาดของจำเลย ขอให้ยกฟ้อง

3. ศาลแรงงานกลางพิพากษาให้เพิกถอนคำสั่งจำเลยที่ลดค่าจ้างของโจทก์ทั้งสี่ และให้จำเลยปฏิบัติตามข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างเดิมหรือไม่ต่ำกว่าเดิม ให้จำเลยชำระค่าจ้างแก่โจทก์ทั้งสี่เป็นเงิน 980 บาท 840 บาท 840 บาท และ 840 บาทตามลำดับ พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 15 ต่อปี นับแต่วันฟ้อง (ฟ้องวันที่ 28 สิงหาคม 2550) เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ

4. ศาลฎีกาพิพากษายืน

สำหรับการเปลี่ยนแปลงข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างให้สอดคล้องและเป็นไปตามบทบัญญัติแห่งกฎหมายนั้น เห็นว่า การแก้ไขเปลี่ยนแปลงข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างในทางที่ไม่เป็นคุณต่อลูกจ้างตามพระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ พ.ศ. 2518 นั้น กระทำได้สองแนวทางด้วยกัน คือ
แนวทางที่หนึ่งโดยการแจ้งข้อเรียกร้องต่อลูกจ้างตามมาตรา 13 แห่งพระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ พ.ศ.2518 หรือแนวทางที่สองโดยได้รับความยินยอมจากลูกจ้าง

ดังนั้นหากตัวลักษณะงานไม่มีความจำเป็นที่ต้องจ่ายค่าเดินทาง นายจ้างจะต้องพูดคุยทำความเข้าใจให้ลูกจ้างยินยอม และจะยกเลิกได้ต่อเมื่อได้รับความยินยอมจากลูกจ้างเท่านั้น