กรุณารอสักครู่

 

บทความแนะนำ

ลีกัล คลินิก แอนด์ เอดดูเคชั่น

กฎหมายกฏหมายแรงงานกรอกข้อความเท็จในใบสมัครงาน นายจ้างเอามาเป็นเหตุในการเลิกจ้างได้ไหม?

2 September 2023

กรอกข้อความเท็จในใบสมัครงาน นายจ้างเอามาเป็นเหตุในการเลิกจ้างได้ไหม?

เมื่อมีการมาสมัครงานข้อมูล บางครั้งผู้สมัครอาจจะมีประวัติอาชญากรรมติดตัวมา แต่เมื่อมาสมัครงาน ผู้สมัครเห็นว่าถ้าระบุอาจจะไม่ผ่านการพิจารณาจากนายจ้าง ทำให้ผู้สมัครปกปิดข้อมูล หรือกรอกข้อความเท็จในใบสมัครงาน เมื่อนายจ้างรับเข้าไปทำงาน และมาตรวจสอบพบทีหลัง นายจ้างเอามาเป็นเหตุในการเลิกจ้างได้ไหม?

คำพิพากษาฎีกา 9096/2546

การยื่นใบสมัครของลูกจ้าง (โจทก์) ที่ระบุว่าไม่เคยต้องคดีใดๆ มาก่อนนั้น เป็นการฝ่าฝืนข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานของจำเลยในกรณีร้ายแรงหรือไม่ เห็นว่าข้อบังคับการทำงานของนายจ้าง (จำเลย) โดยเฉพาะหมวด 10 ว่าด้วยวินัยและโทษทางวินัย ข้อ 3.3 ความซื่อสัตย์สุจริต ข้อ 3.3.2 พนักงานต้องแจ้งข้อมูลส่วนตัวของตนตามที่บริษัทฯ ต้องการแก่บริษัทฯ ตามความเป็นจริง และถ้าข้อมูลที่ได้แจ้งแล้วไม่ถูกต้องตามความเป็นจริง ไม่ว่าด้วยเหตุผลใด พนักงานต้องรายงานข้อมูลที่ถูกต้องให้บริษัทฯ ทราบโดยเร็วที่สุด
จากข้อความที่ระบุไว้ในข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานนั้น ย่อมมีผลใช้บังคับกับคนที่เป็นลูกจ้างแล้วเท่านั้น ไม่มีผลผูกพันไปถึงบุคคลภายนอก ขณะที่ลูกจ้างที่เป็นโจทก์ฟ้องในคดีนี้ ได้กรอกข้อความลงในใบสมัครงาน ตอนนั้นเป็นแค่ผู้สมัครงานเท่านั้น ยังไม่ได้เป็นลูกจ้าง ก็ต้องถือว่าเป็นบุคคลภายนอก ซึ่งไม่มีหน้าที่ต้องมาทำตามข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานของจำเลย
ส่วนที่ตอนท้ายของใบสมัครงานมีข้อความว่า ข้าพเจ้าขอรับรองว่ารายละเอียดดังกล่าวข้างต้นนี้เป็นความสัตย์จริงทุกประการ หากภายหลังที่ได้เข้ามาทำงานแล้ว ปรากฏว่ามีข้อความที่ไม่ตรงกับความจริงหรือเป็นความเท็จ บริษัทฯ มีสิทธิที่จะลงโทษและ/หรือเลิกจ้าง โดยให้ข้าพเจ้าออกจากงานได้ทันทีตามแต่กรณีนั้น ศาลฎีกาท่านมองว่าอาจเป็นเงื่อนไขข้อตกลงในสัญญาว่าจ้าง ที่ให้สิทธิแก่นายจ้างลงโทษลูกจ้างหรือเลิกสัญญาจ้างได้เป็นการเฉพาะรายแต่ก็มิใช่ข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานที่นายจ้างต้องจัดให้มีตามกฎหมายว่าด้วยการคุ้มครองแรงงาน กรณีที่ว่านั้นจึงถือไม่ได้ว่าการกระทำของโจทก์เป็นการฝ่าฝืนต่อระเบียบข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานของจำเลย
เมื่อนายจ้างเลิกจ้างลูกจ้างโดยอาศัยเหตุดังกล่าว ลูกจ้างจึงมีสิทธิได้รับสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าและค่าชดเชย และไม่สูญเสียสิทธิที่จะได้รับประโยชน์ต่างๆ อันพึงมีพึงได้ตามข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างด้วย
ข้อเท็จจริงต่อมาคือ นับตั้งแต่ที่รับโจทก์ เข้ามาทำงานเป็นพนักงานควบคุมเครื่องจักร โจทก์ก็ได้ปฏิบัติหน้าที่ด้วยความซื่อสัตย์และขยันหมั่นเพียร จนได้รับเบี้ยขยันและได้เลื่อนตำแหน่งเป็นถึงหัวหน้าแผนก อันเป็นการแสดงให้เห็นว่ามีคุณสมบัติครบถ้วนที่จะเป็นพนักงานของจำเลยแล้ว
แม้ว่าลูกจ้างจะได้เคยถูกกล่าวหาว่ากระทำผิดอาญามาก่อนแต่ก็เป็นความผิดต่อส่วนตัว ซึ่งผู้เสียหายก็ได้ถอนคำร้องทุกข์และคดีระงับสิ้นลงแล้วด้วยซ้ำ ก่อนที่จะมาเป็นพนักงานของนายจ้างประมาณ 2 ปี ทั้งเป็นความผิดที่ไม่เกี่ยวข้อกับการปฎิบัติหน้าที่ควบคุมเครื่องจักร์ให้แก่จำเลยจึงมิใช่เรื่องร้ายแรง จำเลยอาศัยเหตุดังกล่าวไปเลิกจ้างลูกจ้าง (โจทก์) จึงมิใช่เหตุผลอันสมควร จึงเป็นการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรม

แล้วแบบนี้นายจ้างจะทำยังไงเพื่อป้องกันไม่ให้เกิดเหตุการดังกล่าวล่ะ!!
ส่วนใหญ่นายจ้างควรจะระบุไว้ในใบสมัครเลยว่า ผู้สมัครให้ความยินยอมในการตรวจสอบประวัติ และขอให้ผู้สมัครนำส่งเอกสารก่อนตกลงการจ้างงาน ทั้งนี้นายจ้างควรพิจารณาปัจจัยอื่นๆ เช่น ความเกี่ยวข้องของความผิดต่องาน เวลาที่ล่วงเลยไปตั้งแต่การกระทำความผิด และหลักฐานการฟื้นฟูสมรรถภาพ และอีกสิ่งสำคัญ คือต้องเคารพกฎหมายและระเบียบข้อบังคับด้านความเป็นส่วนตัวเมื่อทำการตรวจสอบประวัติและจัดการข้อมูลส่วนบุคคล

……ชีวิตของเราถูกกำหนดด้วยโอกาส การจ้างงานผู้ที่เคยผิดพลาดก็เป็นหนึ่งในโอกาสที่หยิบยื่นได้นะคะ