กรุณารอสักครู่

 

บทความแนะนำ

ลีกัล คลินิก แอนด์ เอดดูเคชั่น

กฎหมายกฏหมายแรงงานโพสต์ social media ต่อว่าคนในบริษัท ด้วยข้อความหยาบคาย นำมาสู่การเลิกจ้าง ไม่จ่ายค่าชดเชยได้ด้วยเหรอ?

21 August 2023

โพสต์ social media ต่อว่าคนในบริษัท ด้วยข้อความหยาบคาย นำมาสู่การเลิกจ้าง ไม่จ่ายค่าชดเชยได้ด้วยเหรอ?

ทุกวันนี้ผู้คนพร้อมที่จะเปิดเผยความรู้สึกส่วนตัว และใช้โซเชียลมีเดียเป็นพื้นที่ในการแสดงออกตัวตน โดยคิดว่าเป็นพื้นที่ส่วนตัว จะทำอะไรหรือโพสต์อะไรได้อย่างอิสระ แต่ในความเป็นจริงการแสดงทัศนคติผ่านโซเชียลมีเดียนั้นสามารถบ่งบอกถึงความเป็นตัวคุณเองได้ และสามารถส่งผลกระทบได้อย่างกว้างขวาง บางทีอาจจะทำให้กลายเป็นคนตกงานแบบไม่ตั้งตัว

คำพิพากษาศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษที่ 73/2562
การที่โจทก์เข้าใจว่าตนเองถูกแย่งที่จอดรถจึงถ่ายภาพนายดำและพิมพ์ข้อความ ว่า “ผู้ชายหน้าตัวเมีย…” ส่งเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ ด้วยโทรศัพท์มือถือผ่านโปรแกรมเฟสบุ๊คไปยังเพื่อนร่วมงานในบริษัทและบริษัทในเครือของจำเลย ทั้งที่ไม่เคยรู้หรือทราบมาก่อนว่านายดำเป็นใคร อันเป็นการประจานนายดำ ต่อสื่อสังคมออนไลน์ ที่มีคนนิยมใช้กันอย่างแพร่หลาย โดยไม่สนใจไยดีในความเดือดร้อนของนายดำ ว่าจะถูกสังคมดูถูก เหยียดหยาม สบประมาท หรือทำให้อับอายมากเพียงใด แม้จะได้ความว่าโจทก์ลบโพสต์ดังกล่าวออกไป ซึ่งถือว่าข้อความที่โจทก์ส่งลงระบบคอมพิวเตอร์ดังกล่าวเป็นช่วงระยะเวลาสั้นๆ ก็ตาม แต่ก็เป็นที่ทราบและรู้ทั่วไปว่าสื่อดังกล่าวสามารถแพร่ข่าวสารไปได้อย่างรวดเร็วในระยะเวลาสั้น
พฤติการณ์แห่งการกระทำของโจทก์ดังกล่าวถือเป็น การขาดสติความรับผิดชอบและความยับยั้งชั่งใจย่อมไม่สมควรที่จะกระทำอย่างยิ่ง ถือได้ว่าเป็นการกระทำความผิดร้ายแรงอยู่ในตัวจำเลยย่อมเลิกจ้าง
ได้โดยไม่ต้องบอกกล่าวล่วงหน้าตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 583 ไม่ต้องจ่าย
ค่าชดเชยตามมาตรา 119 (4) แห่งพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 ทั้งมิใช่การเลิกจ้างอัน
ไม่เป็นธรรมตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. 2522 มาตรา 49
พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยไม่ต้องจ่ายค่าชดเชย สินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า และค่าเสียหายจากการเลิกจ้างอันไม่เป็นธรรม นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลแรงงานกลาง

การโพสข้อความต่อว่าคนในบริษัทด้วยข้อความหยาบคาย ถึงแม้จะไม่ได้พูดหรือสื่อถึงนายจ้างก็ตาม กรณีนี้ถือเป็นการดูหมิ่นผู้อื่นด้วยการโฆษณา อันเป็นการประจานผู้อื่นต่อสื่อสังคมออนไลน์ที่มีคนนิยมใช้กันอย่ำงแพร่หลาย โดยไม่สนใจไยดีในความเดือดร้อนของผู้อื่นว่าจะถูกสังคมดูถูกเหยียดหยาม เป็นความผิดร้ายแรง นำมาสู่การเลิกจ้างโดยไม่ต้องจ่ายค่าชดเชย มาตรา 119 (4) ฝ่าฝืนข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานหรือระเบียบหรือคำสั่งของนายจ้างอันชอบด้วยกฎหมายและเป็นธรรม และนายจ้างได้ตักเตือนเป็นหนังสือแล้ว เว้นแต่กรณีที่ร้ายแรงนายจ้างไม่จำเป็นต้องตักเตือน หนังสือเตือนให้มีผลบังคับได้ไม่เกินหนึ่งปีนับแต่วันที่ลูกจ้างได้กระทำผิด

เมื่อคุณเลือกที่จะโพสบางอย่างลง social media มันจะไม่ใช่เรื่องส่วนตัวอีกต่อไปแล้วล่ะ