กรุณารอสักครู่

 

บทความแนะนำ

ลีกัล คลินิก แอนด์ เอดดูเคชั่น

กฎหมายกฏหมายแรงงานจ้างนักเรียน นักศึกษาให้ทำงานตามช่วงเวลาเสาร์ อาทิตย์ วันหยุดนักขัตฤกษ์ และช่วงปิดภาคเรียน ต้องนำส่งประกันสังคมหรือไม่?

21 August 2023

จ้างนักเรียน นักศึกษาให้ทำงานตามช่วงเวลาเสาร์ อาทิตย์ วันหยุดนักขัตฤกษ์
และช่วงปิดภาคเรียน ต้องนำส่งประกันสังคมหรือไม่?

“ลูกจ้าง” ตามมาตรา ๕ แห่งพระราชบัญญัติประกันสังคม พ.ศ. ๒๕๓๓ หมายความว่า ผู้ซึ่งทำงานให้นายจ้างโดยรับค่าจ้าง ไม่ว่าจะเรียกชื่ออย่างไร แต่ไม่รวมถึงลูกจ้างซึ่งทำงานเกี่ยวกับงานบ้านอันมิได้มีการประกอบธุรกิจรวมอยู่ด้วย
แต่การที่จะพิจารณาว่าความสัมพันธ์ของบุคคลดังกล่าวว่าเป็นนายจ้างลูกจ้างกันหรือไม่ นอกจากจะพิจารณาว่าบุคคลทั้งสองฝ่ายดังกล่าวมีความสัมพันธ์กันดังที่บัญญัติไว้ในพระราชบัญญัติประกันสังคม พ.ศ. 2533 มาตรา 5 แล้ว ยังต้องปรากฏข้อเท็จจริงด้วยว่าบุคคลที่เป็นลูกจ้างอยู่ในอำนาจบังคับบัญชาโดยต้องปฏิบัติตามคำสั่ง ระเบียบ และข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานของบุคคลที่เป็นนายจ้าง ซึ่งเป็นความสัมพันธ์ตามความเป็นจริงของความเป็นนายจ้างและลูกจ้างดังที่บัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 575

คำพิพากษาศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษที่ 141/2562
คดีนี้โจทก์ฟ้องว่าโจทก์ประกอบกิจการบริการพนักงานศูนย์อาหารและสวนสนุกในห้างสรรพสินค้าจำเลยโดยสำนักงานประกันสังคมกรุงเทพมหานครพื้นที่มีคำสั่งให้โจทก์ชำระเงินสมทบเพิ่มเติมเข้ากองทุนเงินทดแทนและกองทุนประกันสังคมว่าโจทก์ไม่นำค่าจ้าง(ไม่เต็มเวลา) ของนักเรียนนักศึกษาที่ทำงานให้โจทก์รวมเป็นฐานในการคำนวณเงินสมทบ
โจทก์จ้างนักเรียนนักศึกษาให้ไปทำงานตามช่วงเวลาที่ระบุไว้ในวันเสาร์ อาทิตย์ วันหยุดนักขัตฤกษ์ และช่วงวันปิดภาคเรียนแต่จะไปทำงานหรือไม่ไปก็ได้ หากไม่ไปก็เพียงแต่แจ้งทางโทรศัพท์ให้โจทก์ทราบโดยไม่ต้องยื่นใบลา นักเรียนและนักศึกษาที่มาทำงานจะได้รับค่าตอบแทนตามจำนวนชั่วโมงทำงานที่ทำได้ในแต่ละวัน โดยโจทก์จะจ่ายค่าตอบแทนในวันสุดสัปดาห์ถัดไป หากไม่ไปทำงานจะไม่ได้รับค่าตอบแทน ไม่มีการกำหนดวันหยุด วันลา และสวัสดิการสำหรับนักเรียนและนักศึกษา ตามข้อเท็จจริงดังกล่าว แสดงว่านักเรียนนักศึกษามีอิสระในการทำงานให้แก่โจทก์ ไม่อยู่ในอำนาจบังคับบัญชา และไม่ต้องปฏิบัติตาม
คำสั่ง ระเบียบ หรือข้อบังคับฯ การตกลงกันปฏิบัติงานตามช่วงเวลาที่ประสงค์ แม้โจทก์จะเป็น
คนจ่ายค่าจ้างตามจำนวนชั่วโมงที่ลงเวลาทำงานไว้ก็มิใช่กรณีที่โจทก์ใช้อำนาจบังคับบัญชา แต่เป็น
การวางกฎเกณฑ์เพื่อให้การทำงานและการคำนวณจำนวนชั่วโมงได้ถูกต้องและมีประสิทธิภาพ ดังนั้น นิติสัมพันธ์ระหว่างโจทก์กับนักเรียนนักศึกษาจึงมิได้อยู่ในฐานะนายจ้างและลูกจ้างกันดังที่ศาลแรงงานกลางวินิจฉัยนั้นชอบแล้ว พิพากษายืน

ดังนั้นหากการจ้างนักเรียน นักศึกษาให้ทำงานตามช่วงเวลาเสาร์ อาทิตย์ วันหยุดนักขัตฤกษ์
และช่วงปิดภาคเรียน ลูกจ้างมีอิสระในการทำงาน ไม่อยู่ในอำนาจบังคับบัญชา และไม่ต้องปฏิบัติตาม
คำสั่ง ระเบียบ หรือข้อบังคับฯ นิติสัมพันธ์จึงไม่ใช่นายจ้างลูกจ้างตามพระราชบัญญัติประกันสังคม พ.ศ. 2533 ไม่ต้องส่งเงินสมทบ