สหภาพแรงงานคืออะไร สำคัญอย่างไรกับลูกจ้างและนายจ้าง?
อธิบายง่าย ๆ ด้วยภาษาบ้าน ๆ เลยก็คือ… สหภาพแรงงานก็คือกลุ่มของลูกจ้างอย่างน้อย 10 คน ที่รวมตัวกันมาจัดตั้งเป็น “องค์กรที่ทำหน้าที่คุ้มครองผลประโยชน์ให้ลูกจ้าง และรักษา ส่งเสริมความสัมพันธ์ระหว่างลูกจ้างกับนายจ้าง หรือลูกจ้างกับลูกจ้าง” นั่นเอง นอกจากนี้ การที่ลูกจ้างตั้งสหภาพแรงงานนั้นไม่ใช่ว่าลูกจ้างจะต้องลาออกจากงานเพื่อมารับหน้าที่ ลูกจ้างสามารถทำหน้าที่เป็นพนักงานสหภาพแรงงานควบคู่ไปกับงานประจำได้เลย
ซึ่งจากคำอธิบายดังกล่าว ทุกคนอาจจะสงสัยว่า อ้าว ถ้าอย่างนั้นสหภาพแรงงานในประเทศไทยก็มีหลายที่เลยสิ เพราะแค่ลูกจ้าง 10 คนมารวมตัวกันก็จัดตั้งได้แล้วนี่ คำตอบก็คือ…ใช่ค่ะ ลูกจ้างในองค์กรจะรวมตัวกันแล้วจัดตั้งกันในองค์กรกันเองก็ได้ แต่พอรวมตัวกันแล้วต้องไปจดทะเบียนกับนายทะเบียนสหภาพแรงงานด้วยนะคะ
ส่วนหน้าที่ของสหภาพแรงงานนั้นก็ค่อนข้างหลากหลาย หลัก ๆ ที่พบเห็นได้บ่อยก็จะเป็นงานช่วยไกล่เกลี่ยข้อพิพาทระหว่างลูกจ้างด้วยกัน ทำข้อตกลงกับนายจ้างเพื่อเรียกร้องสิทธิประโยชน์ต่าง ๆ หรือถ้าหากเรื่องใหญ่หน่อยอย่างเช่นเรื่องชักชวนลูกจ้างให้ลูกจ้างนัดหยุดงานก็สามารถทำได้เช่นกัน
จะเห็นได้ว่าหน้าที่ของสหภาพแรงงานนั้นสำคัญมากใช่ไหมคะ เพราะนอกจากจะเป็นทั้งนิติบุคคลที่สามารถช่วยลดปัญหาความขัดแย้งต่าง ๆ ในองค์กรไปได้แล้ว ก็ยังเป็นนิติบุคคลที่ช่วยมอบความเป็นธรรมเบื้องต้นให้กับลูกจ้างอีกด้วยเนอะ