หากศาลมีคำสั่งแล้ว บริษัทนายจ้างยังดื้อแพ่งไม่ยอมจ่ายเงิน ลูกจ้างจะทำอย่างไร?
ถ้าบริษัทนายจ้าง (ลูกหนี้) ยังไม่ปฏิบัติตามคำสั่งศาล ขั้นตอนต่อไป ลูกจ้าง(เจ้าหนี้ตามคำพิพากษา) สามารถยื่นคำร้องต่อศาล ตาม ปวิพ. ม.321 (ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง | มาตรา 321 | การขอให้ศาลบังคับบุคคลภายนอกชำระหนี้ตามสิทธิเรียกร้อง)
“ถ้าบุคคลภายนอกไม่ชำระหนี้ตามคำสั่งอายัดของศาลหรือเจ้าพนักงานบังคับคดีตามมาตรา 316 ให้เจ้าพนักงานบังคับคดีแจ้งให้เจ้าหนี้ตามคำพิพากษาทราบ ในกรณีเช่นว่านี้ เจ้าหนี้ตามคำพิพากษาอาจยื่นคำร้องต่อศาลให้บังคับบุคคลภายนอกนั้นปฏิบัติการชำระหนี้ตามที่เจ้าพนักงานบังคับคดีมีคำสั่งหรือชำระค่าสินไหมทดแทนเพื่อการไม่ชำระหนี้แก่เจ้าพนักงานบังคับคดีก็ได้ เมื่อศาลทำการไต่สวนแล้วถ้าเป็นที่พอใจว่าสิทธิเรียกร้องของลูกหนี้ตามคำพิพากษานั้นมีอยู่จริงและอาจบังคับได้ จะมีคำสั่งให้บุคคลภายนอกปฏิบัติการชำระหนี้ตามที่เจ้าพนักงานบังคับคดีมีคำสั่งหรือให้ชำระค่าสินไหมทดแทนตามจำนวนที่เห็นสมควรก็ได้ ถ้าบุคคลภายนอกนั้นมิได้ปฏิบัติตามคำสั่งของศาล เจ้าหนี้ตามคำพิพากษาอาจร้องขอให้ศาลบังคับคดีแก่บุคคลภายนอกนั้นเสมือนหนึ่งว่าเป็นลูกหนี้ตามคำพิพากษาก็ได้”
สรุปก็คือ ศาลจะออกหมายตั้งเจ้าพนักงานบังคับคดี เพื่อให้ลูกจ้าง(เจ้าหนี้ตามคำพิพากษา)มีสิทธิยึดอายัดทรัพย์สินของบริษัทนายจ้าง เช่น อายัดเงินฝากในบัญชีธนาคาร หรืออายัดเงินค่าจ้าง เสมือนบริษัทนายจ้างเป็นลูกหนี้ตามคำพิพากษานั้นเอง