กรุณารอสักครู่

 

บทความแนะนำ

ลีกัล คลินิก แอนด์ เอดดูเคชั่น

กฎหมายกฏหมายแรงงานกฎบริษัทอยู่เหนือกฎหมายจริงหรือไม่!!

2 July 2023

กฎบริษัทอยู่เหนือกฎหมายจริงหรือไม่!!

ถ้าให้ตอบตามตัวบทกฎหมายแล้วในโลกของ ตัวอักษรก็ต้องตอบว่าไม่จริงค่ะ กฎบริษัทไม่สามารถอยู่เหนือกฎหมายได้ ไม่ว่าจะเป็นการให้ลูกจ้างเซ็นสัญญาที่มีข้อความตัดสิทธิ์ลูกจ้างเอง เช่น ลูกจ้างตกลงไม่รับค่าชดเชย ลูกจ้างตกลงให้บอกเลิกจ้างเมื่อไหร่ก็ได้โดยไม่ต้องบอกกล่าวล่วงหน้า กฎเหล่านี้ไม่สามารถใช้บังคับได้เลยและหากจะถามอีกว่าอ้างอิงกฎหมายอะไรก็อ้างอิงตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 150 ค่ะ หรือถ้าใครอยากเห็นฎีกาที่เกี่ยวข้องกับเรื่องแบบนี้ลองไปเปิดดูฎีกาที่ 5245/45 นะคะ

แต่อย่างที่บอกไปค่ะ โลกทุกวันนี้ขับเคลื่อน ด้วยระบบทุนนิยม เมื่ออำนาจการต่อรองของลูกจ้างน้อยกว่าแม้จะรู้ว่าไม่ถูกต้องตามกฎหมายแต่ลูกจ้างก็ต้องยอมไปก่อน ไม่กล้าทักท้วงไม่กล้าหืออืออะไรเพราะ ถ้ากล้าแข็งข้อขึ้นมาก็อาจจะตกงานได้

แล้วแบบนี้จะต้องศึกษากฎหมายไปทำไมล่ะ??
.
.
เพื่อนๆเคยได้ยินเรื่องอายุความไหมคะ??

อายุความหมายถึงระยะเวลาที่เรายังมีสิทธิ์เรียกร้องตามกฎหมายอยู่ค่ะ

ในกรณีที่เราลาออกไปแล้วอายุความในการดำเนินการในเรื่องต่างๆหรือเรียกร้องสิทธิ์ของเราในเรื่องต่างๆก็ยังมีอยู่เช่นหากเป็นค่าจ้าง ค่าล่วงเวลา ที่เราควรจะได้รับแต่นายจ้างกลับหักไป อายุความเหล่านี้มีระยะเวลา 2 ปีในการเรียกค่าจ้างเหล่านั้นคืน เช่นฝ้ายทำงานที่บริษัท A มา 10 ปี ในทุกๆปีนายจ้างไม่เคยคำนวณค่าจ้างตามกฎหมายเลยแล้วมีการหักค่าจ้างที่ไม่ถูกต้องทำโอทีก็ไม่เคยให้ค่าจ้าง เมื่อฝ้ายลาออก หรือถูกเลิกจ้าง อายุความในการ เรียกร้อง ค่า จ้างและโอทีก็ยังมีอยู่อีกถึง 2 ปีเพียงแต่ฝ้ายต้องเก็บหลักฐานแล้วมาพิสูจน์

ส่วนอายุความอื่นๆ เช่น ค่าเสียหายจากการเลิกจ้างไม่เป็นธรรมค่าชดเชยมีอายุความถึง 10 ปีค่ะ

ดังนั้นหากเราไม่รู้กฎหมายไม่ทราบเรื่องพวกนี้เลย เราก็จะถูกเอาเปรียบอยู่ร่ำไป ดังนั้นในความเห็นฝ้ายการรู้ข้อกฎหมายไว้ก่อนเป็นเรื่องดีค่ะ แต่จะใช้สิทธิ์หรือไม่มันก็ขึ้นอยู่กับความพร้อมของเราด้วย

ซึ่งหากเราปิดหูปิดตาและปักใจไว้ว่าการรู้กฎหมายไว้ไม่มีประโยชน์อะไรหรอก เราก็จะไม่ทราบแม้แต่สิทธิเบื้องต้นของเราที่ควรจะมีและควรจะได้รับนะคะ แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นนอกจากสิทธิที่เรามีแล้วก็อย่าลืมหน้าที่ที่เราต้องปฏิบัติด้วยนะคะ

ส่วนนายจ้างเอง ก็ต้องเรียนรู้เรื่องเหล่านี้ไว้ค่ะวางแผนการจ้างงานให้ดีให้ถูกประเภทก็จะลดปัญหาเรื่องเหล่านี้ไปได้ โดยไม่ต้องเอาเปรียบ หรือใช้อำนาจทางเศรษฐกิจมาต่อรองทำให้เกิดความขุ่นข้องหมองใจกันแบบนี้

ส่วนใครอ่านมาถึงตรงนี้แล้วยังมีคำถามในใจว่า” ไม่ต้องมาพูดดี ทนายก็เข้าข้างนายจ้างอยู่ดีนั่นแหละ” แต่ inbox มาถามเคสตัวเอง ไม่ต้องหวังว่าจะตอบนะคะ ดูเป็นคนย้อนแย้งเหลือเกิน คุยแล้วปวดหัวค่ะบอกตรงๆ

ติดต่องาน info@legalclinic.co.th