กรุณารอสักครู่

 

บทความแนะนำ

ลีกัล คลินิก แอนด์ เอดดูเคชั่น

กฎหมายกฏหมายแรงงานลูกจ้างทำให้นายจ้างเกิดความเสียหาย แต่ไม่ได้จงใจ นายจ้างเลิกจ้าง ต้องจ่ายค่าชดเชยแก่ลูกจ้าง

15 June 2023
ลูกจ้างทำให้นายจ้างเกิดความเสียหาย แต่ไม่ได้จงใจ นายจ้างเลิกจ้าง
ต้องจ่ายค่าชดเชยแก่ลูกจ้าง
 
การเลิกจ้างลูกจ้างกรณีจงใจทำให้นายจ้างได้รับความเสียหาย มาตรา 119 (2) ตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 นายจ้างมีสิทธิเลิกจ้างโดยไม่ต้องจ่ายค่าชดเชยนั้น คือการที่ลูกจ้างตั้งใจหรือมีเจตนากระทำการโดยรู้ว่าการกระทำของตนจะก่อให้เกิดความเสียหายแก่นายจ้างเท่านั้น มิได้มุ่งเน้นที่ความเสียหายว่าได้เกิดขึ้นจริงหรือไม่ ลูกจ้างต้องรู้สำนึกและคาดหมายถึงผลของการกระทำของตนกับพวกได้อย่างชัดเจนอยู่แล้วว่าจะส่งผลกระทบกระเทือนต่อกิจการของจำเลยและทำให้จำเลยได้รับความเสียหาย
 
ตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษที่ 2563/2565 โจทก์จ้างจำเลยร่วมเป็นลูกจ้างตำแหน่งผู้จัดการฝ่ายบำรุงดูแลรักษาสนาม จำเลยร่วมปฏิบัติหน้าที่บกพร่องโดยเป็นผู้บังคับบัญชาแต่ไม่สามารถควบคุมดูแลการทำงานของผู้ใต้บังคับบัญชาของตนได้อย่างทั่วถึงจึงเป็นกรณีที่โจทก์มิได้ปฏิบัติหน้าที่ให้ครบถ้วนตามหน้าที่ทำให้เครื่องจักรไม่สามารถทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพตามอายุการใช้งานปกติของคุณภาพเครื่องจักร อันเป็นการทำประการอื่นอันไม่สมแก่การปฏิบัติหน้าที่ของตนให้ลุล่วงไปโดยถูกต้องและสุจริตตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 583 แต่การกระทำของจำเลยร่วมเกิดความเสียหายต่อเครื่องจักร ซึ่งมีเพียงน้ำมันเครื่องแห้งทำให้อ่างน้ำมันแตก โจทก์จึงต้องสั่งซื้อมาซ่อมเท่านั้น กรณีจึงยังไม่พอที่จะถือว่าทำให้โจทก์เสียหายร้ายแรงที่จะเข้าข้อยกเว้นไม่ต้องจ่ายค่าชดเชยตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 มาตรา 119
การกระทำของลูกจ้างเพียงแต่บกพร่องต่อหน้าที่ไม่ควบคุมดูแลผู้ใต้บังคับบัญชาให้ทำงานมีประสิทธิภาพ เป็นการฝ่าฝืนระเบียบข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานไม่ถึงขั้นกรณีที่ร้ายแรง ส่วนที่ลูกจ้างสั่งให้ผู้ใต้บังคับบัญชาแจ้งเท็จต่อผู้บริหารว่าได้ดำเนินการควบคุมและตรวจตราเครื่องจักรเป็นอย่างดีแล้วทุกวัน ก็เป็นส่วนหนึ่งของการบกพร่องต่อหน้าที่ ยังไม่ถือว่าตั้งใจให้เกิดความเสียหายแก่นายจ้าง จึงไม่เป็นการจงใจทำให้นายจ้างได้รับความเสียหาย นายจ้างเลิกจ้างจึงต้องจ่ายค่าชดเชยแก่ลูกจ้าง
 
จากข้อเท็จจริงและตัวอย่างคำพิพากษาเป็นการตัดสินใจเลิกจ้างของนายจ้าง เนื่องจากการบกพร่องต่อหน้าที่ นายจ้างควรกระทำตามขั้นตอน ต้องมีการสอบสวน การลงโทษให้เป็นไปตามระเบียบข้อบังคับด้วยนะคะ