กรุณารอสักครู่

 

บทความแนะนำ

ลีกัล คลินิก แอนด์ เอดดูเคชั่น

กฎหมายกฏหมายแรงงานในช่วงนี้มีแฟนเพจหลายคนถามเรื่อง “นายจ้างขอลดเงินเดือน” โดยมีคำถามดังนี้

25 May 2023
ในช่วงนี้มีแฟนเพจหลายคนถามเรื่องนายจ้างขอลดเงินเดือน โดยมีคำถามดังนี้
👉 1. ถ้าเราไม่ยินยอม นายจ้างจะสามารถลดเงินเดือนได้หรือเปล่า
👉2. ถ้าเราไม่ยินยอมและนายจ้างไล่ออกทำอย่างไรได้บ้าง
👉3.ยอมถูกลดเงินเดือนมาตั้งแต่ปลายปีที่แล้วจนถึงปัจจุบัน โดยไม่เคยโต้แย้ง ผลทางกฎหมายเป็นอย่างไร
👉4.นายจ้างแจ้งล่วงหน้าว่าจะลดเงินเดือนถึงเดือนที่เท่าไหร่จำเป็นต้องยอมหรือไม่ และทำอย่างไรได้บ้าง
คลินิกกฎหมายแรงงานขอ รวบรวมคำตอบไว้ในโพสต์นี้เลยนะคะ
1.✅ การลดเงินเดือนหรือลดค่าจ้างนั้น เป็นการเปลี่ยนแปลงสภาพการจ้างเกี่ยวกับจำนวนค่าจ้างและเป็นการเปลี่ยนแปลงที่ไม่เป็นคุณกับลูกจ้าง ตามหลักกฎหมายแล้วนายจ้างจะกระทำไม่ได้ เว้นแต่จะได้รับความยินยอมจากลูกจ้างเสียก่อน
2.✅ดังนั้นลูกจ้างก็มีสิทธิ์ “ยินยอม หรือ ไม่ยินยอมก็ได้” นายจ้างจะบีบบังคับหักคอไม่ได้
3.✅ถ้าลูกจ้างไม่ยินยอมให้ลด แต่นายจ้างยังยืนยันที่จะลดและจ่ายเงินเดือนไม่ครบถ้วนลูกจ้างสามารถไปเรียกร้องสิทธิ์ได้ที่กรมสวัสดิการคุ้มครองแรงงานในเขตพื้นที่ตนทำงานอยู่หรือฟ้องร้องต่อศาลได้
4.✅และหาก ในกรณีที่ลูกจ้างไม่ยินยอมให้ลดเงินเดือน แต่นายจ้างกลับไล่ออกเลย ถือว่าเป็นการไล่ออกโดยที่ลูกจ้างไม่มีความผิด ลูกจ้างมีสิทธิ์ได้รับค่าชดเชยตามอายุการทำงาน สินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า (ค่าตกใจ) ขึ้นอยู่กับกรณีว่านายจ้างให้ออกทันทีหรือมีการแจ้งล่วงหน้าหรือไม่ หากนายจ้างมีการแจ้งล่วงหน้า ไม่น้อยกว่า 1 งวดการจ่ายค่าจ้างนายจ้างก็ไม่ต้องจ่ายค่าตกใจ รวมถึงมีสิทธิฟ้องเรียกค่าเสียหายจากการเลิกจ้างไม่เป็นธรรม(ต้องพิสูจน์)
5.✅กรณีถูกลดเงินเดือนมาตั้งแต่ปลายปีที่แล้วจนถึงปัจจุบันผลทางกฎหมายมีแน่นอนอยู่แล้วเพราะถือว่าลูกจ้างยินยอมให้เปลี่ยนแปลงสภาพการจ้างโดยปริยาย
📌📌 มาถึงตรงนี้หลายคนคงมีคำถามว่า “เวลานานพอสมควรถือว่ายินยอมโดยปริยาย” คำว่าเวลานานพอสมควรแค่ไหน ซึ่งตรงนี้ไม่มีข้อกฎหมายบัญญัติไว้โดยตรงต้องดูเป็นพฤติการณ์และรายกรณีไป จึงขอหยิบยกตัวอย่างการยินยอมโดยปริยายจากคำพิพากษา ที่ว่ากันด้วยเรื่องการให้ความยินยอมโดยปริยายดังนี้
📝 คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1921/2545
” จำเลยประสบวิกฤตการณ์ทางเศรษฐกิจ จึงขอลดค่าจ้างของโจทก์และลูกจ้างอื่น โดยจำเลยเรียกประชุมผู้จัดการทุกฝ่ายรวมทั้งโจทก์เพื่อแจ้งเรื่องการลดเงินเดือน แล้วให้ผู้จัดการแต่ละฝ่ายแจ้งพนักงานในฝ่ายของตนทราบต่อไป ซึ่งหลังจากนั้นได้มีการลดเงินเดือนพนักงานโดยโจทก์และลูกจ้างอื่นไม่คัดค้านและยอมรับเงินเดือนในอัตราใหม่ตลอดมา จึงถือได้ว่าโจทก์และลูกจ้างอื่นต่างตกลงโดยปริยายให้จำเลยแก้ไขเปลี่ยนแปลงข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างในเรื่องอัตราค่าจ้างได้ จำเลยจึงมีสิทธิลดค่าจ้างโจทก์ได้ โดยชอบด้วยกฎหมาย
📝 คำพิพากษาศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษที่ 855-56/2562 วินิจฉัยทำนองเดียวกัน โดยเวลาผ่านไป 9 เดือน ลูกจ้างไม่โต้แย้ง ถือว่ายินยอมโดยปริยายแล้ว
จากที่บอกไปข้างต้น เราขอเสนอ วิธีที่น่าจะดีกับทั้งนายจ้างและลูกจ้าง เช่น
1. นายจ้างและลูกจ้างต้องคุยกันในเรื่องการปรับลดเงินเดือน แต่กำหนดระยะเวลาไว้ว่ากี่เดือนเพื่อที่จะได้ดูสถานการณ์ของบริษัทนายจ้างเองก็ได้ลดรายจ่ายลง ลูกจ้างเองก็จะได้ประเมินและประมาณการค่าใช้จ่ายได้ถูกต้อง
2.ทำความตกลงกับลูกจ้างเกี่ยวกับการจ่ายเงินเดือนในส่วนที่เหลือเช่นเดือน เมษายนจ่าย 75% และ ในเดือน ถัดไปจะจ่ายในส่วนที่เหลือพร้อมดอกเบี้ย เป็นต้น
3.หรืออีกวิธีนึงคือเมื่อลดเงินเดือนแล้วก็ควรลดวันทำงานด้วย ให้สัมพันธ์กันเพื่อที่ลูกจ้างจะได้ไม่ต้องเสียค่าเดินทางในการมาทำงาน
ซึ่งวิธีนี้ก็น่าจะเป็นธรรมกับทั้งสองฝ่าย ลองเอาไปปรับใช้กันดูนะคะ
ไม่ใช่ว่าลูกจ้างไม่เข้าใจสภาพเศรษฐกิจ เราเชื่อว่า ทั้งนายจ้างลูกจ้างตอนนี้ต่างเผชิญกับปัญหาเศรษฐกิจและโรคระบาดซึ่งน่าจะเข้าใจกันดี แต่ในขณะเดียวกัน หนี้รถ- หนี้บ้าน ค่าน้ำ- ค่าไฟ ค่าเทอมลูก-ค่ากินอยู่ ประหยัดสุดๆแล้ว ยังไม่ค่อยอยากจะลดลงเลย จะผัดผ่อนกับธนาคาร รึบางธนาคารก็หมดมาตรการช่วยเหลือไปแล้ว หรือไม่อยู่ในเงื่อนไข นายจ้างก็ต้องพิจารณาความลำบากที่ลูกจ้างจะต้องเจอด้วย ส่วนฝั่งนายจ้างเราก็เข้าใจดีว่ามีทั้งลูกหนี้ทางการค้าที่เรียกเก็บไม่ได้ ปริมาณยอดขายยอดใช้บริการก็ลดลง
ดังนั้น การเจรจาเพื่อหาทางออกร่วมกันย่อมดีกว่าการบีบบังคับและใช้อำนาจต่อรองมาหักคอ
ไปศาลแรงงานไม่สนุกหรอก… เชื่อเถอะ 😊