นายจ้างสั่งโยกย้ายถ้าเป็นคำสั่งโดยชอบและลูกจ้างไม่ไป สามารถเลิกจ้างได้ไม่ใช่การเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรม
หลายคนอาจจะคุ้นเคยกับ ฎีกา และเรื่องราวที่ว่านายจ้างสั่งย้ายตำแหน่ง ย้ายสถานที่ทำงาน เมื่อเป็นการเปลี่ยนสภาพการจ้าง ลูกจ้างมีสิทธิไม่ไปนายจ้างต้องจ่ายค่าชดเชย และเป็นการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรม
หากใครที่จำอย่างนั้นอยู่ต้องเข้าใจใหม่นะคะ ว่าจริงๆแล้วอำนาจหน้าที่ในการโยกย้ายตำแหน่ง หรือแม้แต่สถานที่ทำงานเป็นของนายจ้าง
แต่ๆๆ การโยกย้ายนั่นจะต้องเป็นไปตามความจำเป็นของธุรกิจนายจ้าง+ ตำแหน่งที่ให้ย้ายและผลตอบแทนก็ต้องไม่ลดลง คือต้องเป็นธรรมกับลูกจ้างด้วย และ นายจ้างมีคำสั่งย้ายที่เป็นธรรมตามหลักเกณฑ์ดังกล่าวข้างต้นแต่ลูกจ้างอ้างที่จะไม่ไปอย่างเดียว อาจเข้าข่ายฝ่าฝืนคำสั่งโยกย้ายที่เป็นเหตุให้นายจ้างเลิกจ้างได้
มาดูตัวอย่างคำพิพากษาฎีกาที่ 13940/2557 เป็นกรณีฝ่าฝืนคำสั่งโยกย้าย เลิกจ้างได้ ถือเป็นการเลิกจ้างที่เป็นธรรม
การที่บริษัทโยกย้ายลูกจ้างไปทำงานที่จังหวัดชัยนาท เป็นการย้ายลูกจ้างจากตำแหน่งผู้จัดการฝ่ายผลิตไปดำรงตำแหน่งผู้จัดการฝ่ายคลังสินค้าซึ่งเป็นตำแหน่งผู้บริหารระดับเดียวกัน แม้จะต้องเปลี่ยนสถานที่ทำงานจากกรุงเทพมหานครไปทำงานที่จังหวัดชัยนาทและต้องทำงานเพิ่มในวันเสาร์เป็น 6 วันทำงาน ( แตกต่างจากตำแหน่งเดิมของลูกจ้างที่ทำงานเพียง 5 วันทำงานก็ตาม
**แต่เมื่อพิจารณาข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงาน กำหนดให้ พนักงานทุกท่าน ต้องทำงานสัปดาห์ละ 6 วันทำงาน และนายจ้างมีอำนาจโอนย้ายลูกจ้างไปทำงานในสถานที่ทำงานอื่นได้ ตามสัญญาจ้างแรงงาน
ดังนั้น นายจ้างจึงมีอำนาจโยกย้ายลูกจ้างไปทำงานที่สำนักงานใหญ่จังหวัดชัยนาทได้โดยไม่ถือเป็นการเปลี่ยนแปลงสภาพการจ้าง เมื่อลูกจ้างไม่ปฏิบัติตามคำสั่งโยกย้ายของจึงเป็นการขัดคำสั่งนายจ้างอันชอบด้วยกฎหมายถือเป็นการไม่สมแก่การปฏิบัติหน้าที่ของตนให้ลุล่วงไปโดยถูกต้องและสุจริตตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 583 และเป็นการเลิกจ้างที่มีเหตุอันสมควรแล้วไม่เป็นการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรม ( แต่ค่าชดเชยต้องได้นะ ค่าชดเชยกับค่าเสียหายจากการเลิกจ้างไม่เป็นธรรมเป็นคนละเรื่อง อันนี้มีรายละเอียดปลีกยอดอื่นๆด้วยลองไปอ่านในฎีกาเต็มดู)
สรุปว่า แม้อำนาจในการโยกย้ายและบริหารการทำงานจะเป็นของนายจ้างก็ตาม แต่การโยกย้ายแบบนี้ก็จะต้องมี ค่าตอบแทนที่เพิ่มขึ้นให้ด้วยเช่นถ้าเกิดว่าเขามีภูมิลำเนาอยู่ที่จังหวัดกรุงเทพฯ การให้ไป ทำงาน ที่อื่นไม่ได้จำเป็นและสมควร ก็ต้องมีค่าตอบแทนอย่างเป็นธรรมให้เขาด้วย ที่สำคัญต้องเป็นไปโดยสุจริตไม่มีเจตนาที่จะกลั่นแกล้งหรือเลือกปฏิบัติต่อลูกจ้าง